×
SCB Omnibus Fund 2024

ส่องนโยบาย ‘แบงก์ชาติทั่วโลก’ เมื่อ ‘วิกฤตเงินเฟ้อ’ กลายเป็นวิกฤตระดับโลกที่ทุกประเทศไม่อาจหลีกเลี่ยง

22.09.2022
  • LOADING...
วิกฤตเงินเฟ้อ

ภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายสิบปีไม่ได้เป็นเพียงปัญหาที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมในอีกแทบทุกประเทศทั่วโลก เช่น เงินเฟ้อในอังกฤษที่พุ่งสูงสุดในกลุ่มประเทศ G7 ขณะที่เงินเฟ้อในตุรกีและอาร์เจนตินา ซึ่งมีปัญหาเงินเฟ้ออยู่แล้ว ก็พุ่งขึ้นจากเดิมไปมากกว่า 80%

 

บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นผลพวงที่เกิดจาก ‘Perfect Storm’ ของสารพัดนโยบายกระตุ้นของภาครัฐหลังการระบาดของโรคโควิด บวกกับความต้องการบริโภคสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ระบบห่วงโซ่อุปทานการผลิตยังไม่อาจฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังเกิดความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์จากสงครามขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้บรรดาธนาคารกลางทั้งหลาย ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลเงินเฟ้อและนโยบายการเงินโดยตรง ต่างรับบทหนักในการจัดการเงินเฟ้อ ซึ่งเครื่องมือที่นำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในขณะนี้ก็คือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 

 

ดังนั้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่เพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% เป็นระลอกที่ 3 จึงไม่ใช่ธนาคารกลางชาติเดียวที่ดำเนินการดังกล่าว โดยสถานีโทรทัศน์ CNN ได้รวบรวบความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางทั้งหลายที่เร่งเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ 

 

โดยธนาคารกลางอังกฤษซึ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 6 ครั้ง ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายอังกฤษในขณะนี้อยู่ที่ 1.75% ทว่าอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่สูงถึง 9.9% ทำให้คาดการณ์ว่าผลการประชุมของแบงก์ชาติอังกฤษในวันนี้ (22 กันยายน) จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง 

 

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปีเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลังอัตราเงินเฟ้อของภูมิภาคพุ่งแตะ 9.1% โดยล่าสุดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของยูโรโซนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.75% มีผลครอบคลุมกลุ่มประเทศผู้ใช้เงินยูโร 19 ประเทศ ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งแสดงความกังวลต่อประเทศที่มีหนี้สูงอย่างอิตาลีกับตุรกีจะได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าประเทศอื่นๆ 

 

ด้านธนาคารกลางแคนาดาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และเพิ่งปรับขึ้นล่าสุดในเดือนกันยายนอีก 0.75% ทำให้อัตราดอกเบี้นนโยบายล่าสุดอยู่ที่ 3.25% แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะส่งสัญญาณชะลอตัวจาก 7.3% มาอยู่ที่ 7% แต่ก็ยังสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของธนาคารกลางแคนาดาที่ 2%

 

ส่วนธนาคารกลางอาร์เจนตินา ซึ่งเผชิญอัตราเงินเฟ้อสูงถึง 78.5% ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 9 ครั้งในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้ดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ที่ 75% แต่ก็ยังไม่สามารถสกัดเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในขาขึ้นได้ ทำให้ธนาคารกลางมีแนวโน้มต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ธนาคารกลางชาติตะวันตกเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ธนาคารกลางจีน (PBOC) กลับปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 1 ใน 10 จาก 2.1% เป็น 2% เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา โดยเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในปีนี้ ขณะที่ในเดือนกันยายน ธนาคารกลางจีนยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมแม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะขยับขึ้นก็ตาม

 

บรรดานักวิเคราะห์มองว่าแบงก์ชาติจีนกำลังพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากเผชิญกับภาวะซบเซาอย่างต่อเนื่อง บวกกับการว่างงานที่เพิ่มขึ้น และวิกฤตด้านอสังหาริมทรัพย์ แม้จะเสี่ยงกับการที่ต้องเผชิญความเสี่ยงที่หนี้จะสูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อจะกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคและค่าเงินหยวนก็ตาม 

 

ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ก็เดินหน้าปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน โดยญี่ปุ่นหวังให้เงินเฟ้อขยับขึ้นมานานแล้ว โดย ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ ระบุชัดเจนว่าทางธนาคารกลางไม่มีแผนที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแน่นอน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยของ BOJ ในเดือนกรกฎาคมล่าสุดยังรักษาไว้ที่ระดับเดิมคือ -0.1%


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising