×

บริษัทในอาเซียนแห่ขาย ‘หุ้นไอพีโอ’ เพิ่มขึ้น 40% สวนทางเทรนด์โลก ขณะที่ไอพีโอไทยเกือบ 3 ใน 4 ให้ผลตอบแทนติดลบในปีนี้

19.07.2023
  • LOADING...
ขายหุ้น ไอพีโอ

บริษัทหลายแห่งทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นไอพีโอในช่วงครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้น 40% สวนทางกระแสโลกที่ลดลง 30% โดยหุ้นที่เสนอขายส่วนใหญ่เป็นหุ้นบริษัทที่เน้นอุปสงค์ในประเทศ เช่น อสังหาริมทรัพย์และผลิตภัณฑ์อาหาร รวมถึงบริษัททรัพยากร พลังงานหมุนเวียน ขณะที่บริษัทเทคโนโลยียังมีน้อย

 

ข้อมูลจาก Nikkei พบว่า การระดมทุนผ่านการขายหุ้นไอพีโอในอาเซียนคิดเป็นมูลค่า 4.1 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 1.43 แสนล้านบาท ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2023 เพิ่มขึ้น 43% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และจำนวนหุ้นที่ถูกเสนอขายมีถึง 79 รายการ เพิ่มขึ้น 14%

 

ทั้งจำนวนการเสนอขายหุ้นและจำนวนเงินที่ระดมทุนได้เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ปี 2019 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด แม้มูลค่าจะยังเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาและยุโรป แต่นับเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นกว่า 80%

 

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีการเสนอขายหุ้นไอพีโอถึง 41 บริษัท ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นไอพีโอในช่วงครึ่งปีแรกทั้งหมดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผู้ระดมทุนสูงสุด 4 อันดับแรก คือบริษัทสัญชาติอินโดนีเซีย โดยแต่ละบริษัทเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจ EV และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทหลายแห่งที่มีการเสนอขายหุ้นไอพีโอในอาเซียนส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ดำเนินการมาหลายปีแล้ว การตกต่ำของตลาดที่มีการเติบโตเช่นในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ประกอบกับการประเมินมูลค่าที่สูงเกินไปของบริษัทต่างๆ ส่งผลให้นักลงทุนในสหรัฐอเมริกาและยุโรปยังระงับการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ทาคาฮิโระ ซูซูกิ หุ้นส่วนผู้จัดการของ Genesia Ventures ระบุว่า “ยังคงมีความหวังว่าอินโดนีเซียจะยังเติบโตเป็นตลาดที่ยูนิคอร์นจะเข้าจดทะเบียน แต่สภาพแวดล้อมการเสนอขายหุ้นของสตาร์ทอัพในปัจจุบันยังคงเป็นเรื่องยาก”

 

ด้วยจำนวนรายชื่อสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นที่ลดลงในปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อุดมไปด้วยบริษัทขนาดกลางและบริษัทที่เป็นเครือของกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่มากกว่า ด้านผู้บริหารขององค์กรการเงินแห่งหนึ่งในไทยระบุว่า “หุ้นไอพีโอบางส่วนมีความต้องการเงินทุนเนื่องจากความหวาดกลัวถึงความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจที่แพร่กระจายในยุโรปและสหรัฐฯ”

 

เช็กสุขภาพไอพีโอไทย พบเกือบ 3 ใน 4 ให้ผลตอบแทนติดลบ

สำหรับสถิติหุ้นไอพีโอของไทยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน มีหุ้นไอพีโอเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งในส่วนของดัชนี SET และ mai รวมกัน 19 บริษัท แบ่งเป็น SET จำนวน 7 บริษัท ได้แก่ PHG, BLC, GABLE, MGC, PRTR, CHASE และ PQS

 

ส่วน mai จำนวน 12 บริษัท ได้แก่ TPL, TBN, PLT, DEXON, ITTHI, READY, BVG, MEB, NTSC, SVR, MASTER และ SAF

 

บริษัททั้ง 19 แห่ง ระดมทุนรวม 1.55 หมื่นล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคาไอพีโอรวม 7.43 หมื่นล้านบาท

 

จากหุ้นเข้าใหม่ทั้ง 19 บริษัท ปรากฏว่ามีเพียง 5 บริษัทเท่านั้นที่ราคาปิด ณ วันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ยืนอยู่สูงกว่าราคาขายไอพีโอ ได้แก่ READY +105%, BVG +86%, MASTER +73%, TBN +30% และ MEB +25% โดยทั้ง 5 หุ้น เป็นหุ้นไอพีโอที่เข้าจดทะเบียนในตลาด mai ทั้งหมด

 

นอกจากหุ้นไอพีโอทั้ง 19 บริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดไปแล้ว ปัจจุบันยังมีบริษัทที่ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) อยู่ในระบบอีก 37 แห่ง แบ่งเป็น SET 18 บริษัท และ mai 19 บริษัท ซึ่งคาดว่าจะเข้าระดมทุนได้ในปีนี้ และยังไม่รวมบริษัทอีกบางแห่งที่อาจจะยื่นไฟลิ่งหลังจากนี้ เพื่อเข้าจดทะเบียนในช่วงที่เหลือของปีนี้

 

เบญจพล สุทธิ์วนิช ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) มองว่า จำนวนหุ้นไอพีโอที่เพิ่มขึ้นของไทยมาจากกฎระเบียบที่ค่อนข้างเอื้อต่อการเข้าจดทะเบียน รวมทั้งประเด็นการปรับกฎเกณฑ์เรื่องของการจัดทำงบการเงินจาก 1 ปี เป็น 3 ปี ทำให้เราเห็นหลายบริษัทเร่งเข้าจดทะเบียนตั้งแต่ปลายปีก่อนจนถึงปีนี้

 

“สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนดาบสองคม อีกด้านหนึ่งอาจเป็นการเร่งกระบวนการให้เร็วเกินไป และทำให้การประเมินมูลค่าหุ้นค่อนข้างสูง ประกอบกับภาวะตลาดภาพรวม ทำให้ผลตอบแทนของหุ้นไอพีโอปีนี้ไม่ดีนัก”

 

เบญจพลกล่าวต่อว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ความน่าสนใจของหุ้นไอพีโออาจจะลดลง และตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้ อาจเริ่มเห็นจำนวนการเข้าจดทะเบียนลดลง

 

“แม้ว่าตลาดหุ้นภาพรวมอาจจะเริ่มฟื้นตัวได้ในครึ่งปีหลัง แต่การฟื้นตัวจะไปกระจุกที่หุ้นใหญ่มากกว่า ส่วนการหลีกเลี่ยงหุ้นไอพีโอที่ราคาสูงเกินไปนั้นต้องกลับมาที่เรื่องพื้นฐาน โดยหลีกเลี่ยงหุ้นที่ P/E สูง แต่อัตราการเติบโตหรือความสามารถในการทำกำไรไม่ได้สูงตาม”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising