×

ASIA7 กับการปรุงแต่งรสชาติทางดนตรี และตัวตนที่เติบโตขึ้นจากวันแรกที่ออกเดินบนเส้นทาง

12.10.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ASIA7 คือวงดนตรี Asian Pop แห่งค่าย Gene Lab ที่หยิบดนตรีพื้นบ้านอีสานมาผสมผสานเข้ากับดนตรีสากล โดยเป็นการรวมตัวกันของพี่ๆ น้องๆ ที่รู้จักกันในคณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 8 คน ได้แก่ ออย-อมรภัทร เสริมทรัพย์ (ร้องนำ), โอม-กฤตเมธ กิตติบุญญาทิวากร (แซกโซโฟน), สุนทร ด้วงแดง (กีตาร์), บูม-ปรีดา เกศดี (คีย์บอร์ด), ดิว-ภูวิช ทวาสินชนเดช (เบส), โยเย-นริศรา ศักดิ์ปัญจโชติ (ซอ), ต้น-ต้นตระกูล แก้วหย่อง (เครื่องดนตรีอีสาน) และ โน้ต-ฐิติรัฐ ดิลกหัตถการ (กลอง)
  • ในช่วงแรกของการทำเพลง ASIA7 ตั้งเป้าหมายว่าอยากออกเดินทางไปเล่นดนตรีบนเวทีต่างประเทศ ซึ่งในปี 2017 พวกเขาก็ได้รับโอกาสให้เดินทางไปแสดงดนตรีให้ชาวต่างชาติได้ชมเป็นครั้งแรก ที่งาน ACC World Music Festival 2017 ประเทศเกาหลีใต้
  • นอกจากซิงเกิลล่าสุดที่เพิ่งปล่อยออกมาอย่าง ลืม (Fade Away) ASIA7 กำลังจะมีอัลบั้มใหม่ออกมาให้แฟนเพลงได้ฟังกันในเร็วๆ นี้ ซึ่งพวกเขาได้ให้คำนิยามว่า อัลบั้มนี้เปรียบเสมือนบทเริ่มต้นของการเดินทางครั้งใหม่ของ ASIA7 ในฐานะศิลปินค่าย Gene Lab

จากซ้ายไปขวา: ต้น-ต้นตระกูล แก้วหย่อง (เครื่องดนตรีอีสาน), โอม-กฤตเมธ กิตติบุญญาทิวากร (แซกโซโฟน), บูม-ปรีดา เกศดี (คีย์บอร์ด), ออย-อมรภัทร เสริมทรัพย์ (ร้องนำ), โยเย-นริศรา ศักดิ์ปัญจโชติ (ซอ), สุนทร ด้วงแดง (กีตาร์), ดิว-ภูวิช ทวาสินชนเดช (เบส) และ โน้ต-ฐิติรัฐ ดิลกหัตถการ (กลอง)

 

 

ค่าย Gene Lab นับว่าเป็นอีกหนึ่งค่ายเพลงของเมืองไทยที่คับคั่งไปด้วยศิลปินมากฝีมือ ที่ต่างก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและสไตล์ดนตรีที่โดดเด่นแตกต่างกันไป จนสามารถเอาชนะใจผู้ฟังได้อย่างอยู่หมัด หนึ่งในนั้นคือ ASIA7 วงดนตรี Asian Pop ที่หยิบดนตรีพื้นบ้านอีสานมาผสมผสานกับดนตรีสากลออกมาได้อย่างกลมกล่อม ประกอบด้วย 8 สมาชิกมากฝีมือ ได้แก่ ออย-อมรภัทร เสริมทรัพย์ (ร้องนำ), โอม-กฤตเมธ กิตติบุญญาทิวากร (แซกโซโฟน), สุนทร ด้วงแดง (กีตาร์), บูม-ปรีดา เกศดี (คีย์บอร์ด), ดิว-ภูวิช ทวาสินชนเดช (เบส), โยเย-นริศรา ศักดิ์ปัญจโชติ (ซอ), ต้น-ต้นตระกูล แก้วหย่อง (เครื่องดนตรีอีสาน) และ โน้ต-ฐิติรัฐ ดิลกหัตถการ (กลอง)

 

และแม้ว่า ASIA7 จะเริ่มเปิดตัวในฐานะศิลปินภายใต้สังกัด Gene Lab ด้วยซิงเกิลเดบิวต์อย่าง กล่อม (Lullaby) ในปี 2021 ก็ตาม แต่นั่นไม่ใช่ผลงานเพลงแรกของพวกเขา เพราะหากย้อนเวลากลับไป ASIA7 ได้เปิดตัวในฐานะศิลปินอิสระและเริ่มผลิตผลงานเพลงอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2016 ด้วยผลงานเพลงบรรเลงและเพลงร้อง ก่อนที่พวกเขาจะออกเดินทางไปแสดงในเทศกาลดนตรีต่างประเทศอีกหลายแห่ง เพื่อนำเสนอสไตล์ดนตรี Asian Pop อันมีเอกลักษณ์ให้ผู้ฟังในต่างแดนได้ทำความรู้จัก พร้อมทั้งจัดคอนเสิร์ตเดี่ยวครั้งแรกของวงในชื่อ MAY I COME IN และปล่อยอัลบั้มเต็มชุดแรกอย่าง EIGHT ออกมาในปี 2019 

 

THE STANDARD POP มีโอกาสชวนวง ASIA7 มาร่วมพูดคุยถึงการเดินทางบนเส้นทางดนตรีของพวกเขา ทั้งแนวคิดในการผสมผสานดนตรีพื้นบ้านและดนตรีสากลที่เปรียบเสมือนการปรุงอาหารให้กลมกล่อม ประสบการณ์ในการออกเดินทางไปแสดงดนตรีในต่างประเทศที่ค่อยๆ ปลูกปั้นให้พวกเขาเติบโตขึ้น และการตบเท้าเข้าสู่ศิลปินภายใต้สังกัด Gene Lab ที่เปรียบเสมือนการเดินทางบทใหม่ของพวกเขา 

 

 

จุดเริ่มต้นของ ASIA7 

 

ออย: เริ่มต้นมาจากพี่ต้นตระกูลค่ะ พวกเราเป็นพี่ๆ น้องๆ ที่รู้จักกันในคณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล แล้วพี่ต้นก็เป็นคนชวนแต่ละคนมาทำวงด้วยกัน แต่ว่าตอนแรกสมาชิกวงมีทั้งหมด 7 คนค่ะ ก็เลยเป็น ASIA7 ซึ่งช่วงแรกๆ ASIA7 จะเน้นเป็นวงดนตรีบรรเลงร่วมสมัย ที่นำดนตรีพื้นบ้านมาผสมผสานกับดนตรีโมเดิร์น ส่วนออยเป็นสมาชิกที่เข้ามาเป็นตำแหน่งนักร้องนำทีหลังสุดค่ะ

 

ในมุมมองของแต่ละคน ดนตรีพื้นบ้านมีมนตร์เสน่ห์อะไรที่ทำให้เราชื่นชอบบ้าง

 

โยเย: ถ้าเป็นในฐานะคนที่เล่นอยู่แล้ว เราเริ่มเล่นเพราะเราเห็นแล้วชอบ เราเลยเล่นเครื่องดนตรีชิ้นนี้ ถามว่าทำไมมันมาผสมกันได้ ทำไมต้องเป็นซอ ทำไมต้องเป็นพิณ ก็เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เราเล่นอยู่แล้ว เราไม่ได้วางแผนว่าถ้าเราทำวงขึ้นมาแล้วจะต้องมีดนตรีเครื่องนี้นะ ไม่ใช่แบบนั้น แต่เพราะมันเป็นสิ่งที่เราเริ่มเรียน เริ่มเล่นมาตั้งแต่แรก แล้วก็คิดว่าน่าจะทำมันได้ดีที่สุด 

 

ต้น: “จริงๆ เราชอบดนตรีพื้นบ้านเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะเรียนดนตรีพื้นบ้านมา แต่เราชอบอะไรที่เป็นโมเดิร์นด้วย” เราชอบอะไรที่เป็นโมเดิร์น เราจึงอยากจะเอาเครื่องที่เราเล่นได้ไปแจมกับเขา ไปลองทำอะไรใหม่ๆ ให้มันเกิดขึ้นในแวดวงที่มีอยู่ ไอดอลของเราอาจจะเป็นครูบาอาจารย์ วงประสมประสาน ทั้งวงไทย วงต่างประเทศที่เป็น World Music เราเลยรู้สึกว่าเครื่องดนตรีชิ้นนี้เราน่าจะเล่นได้ดีที่สุด ถ้าเล่นแบบนั้นโดยใช้เครื่องดนตรีนี้ มันน่าจะน่าสนใจดีนะ เพลงของ ASIA7 จึงเริ่มมาจากประมาณนั้นครับ

 

สุนทร: ถ้าเป็นฝั่งของดนตรีสากล ผมรู้สึกว่ามันเหมือนเป็นท่วงทำนองของเพลงที่เราคุ้นหูกันตั้งนานแล้ว แต่แค่เราไม่ได้หยิบมาเล่น เพราะเราก็จะฟังหรือเรียนดนตรีในอีกพาร์ตหนึ่ง แล้วคราวนี้พอเราได้หยิบทำนองนั้นมาใส่แล้วทำไปเรื่อยๆ ก็เริ่มสนุก ได้ลองเติมคอร์ด เติมริทึมที่เรามีเรเฟอเรนซ์ ที่เราเคยศึกษามา แล้วมันก็เกิดเป็นมิติใหม่ เหมือนเป็นเพลงเพลงเดิมที่เป็นรูปแบบใหม่ที่เราช่วยกันครีเอตขึ้นมา

 

ในช่วงแรกของการทำเพลง การนำดนตรีพื้นบ้านกับดนตรีสากลมาผสมผสานกันมีความยากง่ายอย่างไรบ้าง 

 

ต้น: ถ้าในมุมดนตรีพื้นบ้าน สำหรับผมไม่ยากขนาดนั้นครับ เพราะตอนที่เราเรียนที่มหิดล เราได้เจอแมตทีเรียลที่เป็นแจ๊ส คลาสสิก ดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้าน ซึ่งเด็กดนตรีไทยเองก็ได้ฟังดนตรีคลาสสิก ดนตรีคลาสสิกได้ฟังดนตรีไทย ดนตรีไทยได้ฟังดนตรีแจ๊ส เราเลยไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องแปลกใหม่เสียทีเดียว เราแค่เอาสิ่งที่เราถนัดมาทำในสิ่งที่ข้ามศาสตร์กันแค่นั้นเอง มันก็เลยไม่ได้ยากขนาดนั้น 

 

แต่บนความยากกับความไม่ยาก มันก็มีเส้นบางๆ ระหว่างความลงตัวกับความไม่ลงตัวอยู่ มันก็ขึ้นอยู่กับเทสต์ว่าชอบแบบนี้ ใส่แบบนี้ดี ตรงนั้นเติมหน่อย เอาตรงนี้ออกนิดหนึ่ง ให้มันเกิดความกลมกล่อมมากที่สุด ประสบการณ์ในการเอาเข้าเอาออกว่าอะไรคือพอดีแล้ว อะไรคือมากไป อะไรคือน้อยไป ตรงนี้ยากกว่า 

 

โยเย: น่าจะคล้ายๆ กับการปรุงอาหาร เราต้องชิมเยอะมากที่จะรู้ว่ารสแบบนี้เป็นอย่างไร เค็มแบบนี้คืออะไร แล้วการหยิบจับผสมอันไหนที่จะทำออกมาให้ถูกปากคนชิม 

 

ต้น: แล้วใครชิมด้วย 

 

สุนทร: ผมว่ามันเหมือนการบาลานซ์กันไปเรื่อยๆ ช่วงแรกๆ เราอาจจะรู้สึกว่ามันยาก แต่มันสนุก เพราะเราทำอะไรที่มันก็ไม่ได้ยากด้วย เราทำเท่าที่นึกออกตอนนั้น แต่พอไปเรื่อยๆ เราเริ่มรู้ เริ่มเข้าใจวิธีในการนำเสียงแบบนี้มาใช้ปุ๊บ บวกกับเราก็อยากเติมอะไรที่มันยากขึ้นด้วย มันก็จะบาลานซ์กันไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายสิ่งที่ยากเป็นการลดทอนด้วยซ้ำว่าแค่ไหนที่พอดี เพราะแรกๆ เราก็จะเหมือนอยากได้เพลงนี้มาใส่ดนตรีแบบนี้ ก็เติมๆ กันไป จนสุดท้ายพอมาเป็นเพลงจริงๆ ก็มาช่วยกันลดครับ 

 

 

โยเย: นอกจากการนำสองวัฒนธรรมดนตรีที่ต่างกันมาผสมผสานร่วมกัน เราคิดว่าอีกหนึ่งจุดเด่นของ ASIA7 คือเสียงร้องของออยด้วย คือออยเขาจบโอเปรามาก็จริง แต่การที่เขามาอยู่ในวงดนตรีแบบนี้ เขาก็สามารถปรับสไตล์การร้องได้ มีการร้องที่ปนไทยนิดๆ ปนสากลนิดๆ เรารู้สึกว่าสิ่งที่ออยร้องในเพลงต่างๆ ของเรา มันไม่ใช่แบบที่คนอื่นๆ ร้องกัน ออยสามารถพรีเซนต์ความเป็นสำเนียงพื้นบ้าน ความเป็นไทย รวมถึงความเป็นป๊อปออกมาได้ รวมถึงเนื้อเสียงของออยเองที่เรารู้สึกว่ามันเป็นจุดเด่นของวงเราเหมือนกัน

 

ออย: ด้วยความที่วงเรามีทั้งดนตรีพื้นบ้านและดนตรีสากล เลยกลายเป็นว่าเราคนเดียวต้องไปทั้งสองฝั่ง ถ้าจะไปทางไทยต้องร้องแบบไหน ต้องให้ติดไปทางสากลหน่อย ต้องวางเสียงแบบไหน แต่ออยรู้สึกว่าพอทุกอย่างทำขึ้นมาด้วยกัน มันเป็นความกลมกล่อมที่แปลกประหลาด เรารู้เลยว่าเราจะต้องใช้เสียงแบบไหนในการร้องเพลงเพลงนี้ พอเพลงทำขึ้นมาเสร็จหมดแล้ว เรียบเรียงทุกอย่างแล้ว ทุกอย่างพร้อมส่งให้เราต้องร้องแบบนี้ เรารู้สึกได้ว่ามันเป็นแบบนั้น ดังนั้นการได้มาร้องเพลงกับวงนี้ มันเป็นอะไรที่ท้าทายแล้วก็สนุกมากค่ะ การได้เล่นเสียงนู้นเสียงนี้ ได้ลองอะไรใหม่ๆ บางเพลงยังใช้เสียงโทนแบบโอเปรา ใช้เฮดโทน บางเพลงก็ติดลูกทุ่งไปเลย เหมือนเพลงที่มีความหลากหลายอยู่แล้ว เราก็จะทำให้มันหลากหลายขึ้นไปอีก

 

ในช่วงแรก ASIA7 ได้ตั้งเป้าหมายของวงที่อยากทำให้สำเร็จไว้บ้างไหม

 

โยเย: ช่วงแรกๆ เราตั้งเป้าหมายว่าอยากจะไปเล่นที่งานเทศกาลดนตรีต่างประเทศ เรารู้สึกว่ามันน่าจะเป็นเวทีที่เหมาะสมกับเรา ในการแสดงตัวตนของเราที่เป็นวงดนตรีผสมผสาน แล้วก็ในช่วงเวลาการเดินทางหลายๆ ปี เราก็ยังคงฝันที่จะเป็นแบบนั้นอยู่ 

 

โอม: ด้วยความที่เราทำเพลงด้วยแพสชัน เพราะฉะนั้นแนวคิดของเราแบบนี้มันจึงอาจจะไม่ได้เหมาะกับตลาดบ้านเรา ณ ตอนนั้น เราก็เลยมีเป้าหมายที่จะไปเล่นดนตรีที่เมืองนอกมากกว่า

 

ออย: น่าจะด้วยแนวเพลง ด้วยฟอร์มของวง เหมือนเราเข้าไปอยู่ได้ในหลายๆ พื้นที่ หลายๆ งานในต่างประเทศ เรารู้สึกว่าเราได้ไปตรงนั้นแล้วเราก็น่าจะสนุก

 

ASIA7 ร่วมแสดงในงาน ACC World Music Festival 2017 ประเทศเกาหลีใต้

ภาพ: asia7band / Facebook 

 

ซึ่งหลังจากนั้น ASIA7 ก็ได้เดินทางไปแสดงในเทศกาลดนตรีต่างประเทศเป็นครั้งแรก ที่งาน ACC World Music Festival 2017 ประเทศเกาหลีใต้ ประสบการณ์ในวันนั้นเป็นอย่างไรบ้าง 

 

โยเย: โชคดีว่าตอนนั้นเราได้มีโอกาสไปเล่นที่งาน Hua Hin International Jazz Festival 2017 ซึ่งเป็นงานที่มีคนไปดูเยอะ รวมถึงมีการเชิญผู้จัดเทศกาลดนตรีจากต่างประเทศมางานด้วย แล้วผู้จัดงาน ACC World Music Festival เขาก็ได้เห็น ASIA7 เล่นบนเวที เขาเลยเชิญเราไปเล่นที่นั่นต่อเลย

 

ออย: ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่เราได้เริ่มทัวร์ต่างประเทศกันอย่างจริงจัง 

 

ดิว: งาน ACC World Music Festival 2017 คืองานที่เหมือนกับเป็นโชว์เคส มีการจัดสัมมนาของผู้จัดอะไรอย่างนี้ครับ เพราะฉะนั้นเราก็จะได้พบปะกับผู้จัดงานและคนที่มาดู เท่าที่จำได้ตอนนั้นพอเราเล่นเสร็จก็มีคนมาต่อคิวซื้อแผ่น ขอลายเซ็นเราเป็นครั้งแรกเลย

 

สุนทร: ตอนนั้นยังเป็นแผ่น EP มีแค่ 3 เพลง แล้วก็มีคนมาขอลายเซ็นด้วย 

 

ดิว: ซึ่งนอกจากการเปิดประสบการณ์แล้ว สำหรับผมมันเหมือนเป็นการสร้างความมั่นใจให้วง พอมันเป็นเวทีแรกในต่างประเทศ เราก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องเล่นดนตรี แต่มันเริ่มตั้งแต่เรื่องการจัดการการเดินทาง การเตรียมตัวทุกอย่าง ภาษา เรื่องการทำงาน ซาวด์เช็ก มันก็ช่วยลดความประหม่า ทำให้เรากล้าที่จะไปเวทีอื่นมากขึ้น จากนั้นงานต่อๆ มามันก็เป็นผลพลอยได้มาเรื่อยๆ เราก็ได้ไปเจอกับคอนเนกชันต่างๆ มากขึ้น รวมถึงคนในประเทศไทยก็เห็นว่าเรามีศักยภาพ เขาก็กล้าจะส่งเราไปในงานแบบอื่นๆ เช่น จากกระทรวงวัฒนธรรม จากกระทรวงการต่างประเทศ ที่ส่งเราไปเล่นในงานต่างๆ 

 

ASIA7 INDIA TRIP 2019 

 

นอกจากการไปเล่นในเทศกาลดนตรีต่างประเทศแล้ว ASIA7 ยังได้มีโอกาสร่วมทำโปรเจกต์พิเศษกับศิลปินต่างประเทศด้วย เช่น Shadow and Light จากประเทศอินเดีย ประสบการณ์ที่ได้ไปสัมผัสกับสไตล์ดนตรีที่แตกต่างจากเรา วัฒนธรรมที่แตกต่างจากเรา เป็นอย่างไรบ้าง 

 

ดิว: ต้องบอกว่าเราไปอินเดียประมาณ 6 ครั้ง ในช่วง 2-3 ปี เราจึงพอจะรู้จักเครื่องดนตรีอินเดียประมาณหนึ่ง แล้วเราก็ได้เจอกับดนตรีอินเดียที่เป็นของแท้มากขึ้น ของแท้ในที่นี้มีสองแง่ครับ หนึ่งคือของแท้ในวงแบบสไตล์เรา ที่เขาหยิบดนตรีพื้นบ้านมาผสมผสานกับดนตรีร่วมสมัย ซึ่งเขาทำได้เก่งมาก กับสองคือของแท้ที่คนอินเดียเขาฟังกันจริงๆ หมายความว่าเรานั่งแท็กซี่อินเดียแล้วเราจะได้ยินว่าประเทศเขาฟังเพลงแบบไหน วงดนตรีแมสที่เขาฟังกันคือมีรสมือของดนตรีเข้มข้นมาก หมายถึงว่าเพลงแมสของอินเดียจะมีเครื่องดนตรี หรือวิธีการร้องของอินเดียอยู่ในทุกเพลงเป็นพื้นฐานเลย

 

โยเย: เขาเอาพวกดนตรีพื้นบ้านของอินเดีย สำเนียงการร้องทุกอย่างมาอยู่ในเพลงป๊อปของเขา ไม่ว่าจะเป็นแนวลูกทุ่งบ้านเขา หรือว่าแนวป๊อปบ้านเขา หรือแม้กระทั่งแนว EDM บ้านเขา จะมีเสียงเครื่องดนตรีอินเดีย หรือสำเนียงการร้องพื้นบ้านแบบอินเดียอยู่ในนั้นทุกเพลง ทุกแนว ทั้งวิธีการร้อง การเอื้อน การแต่งโน้ตต่างๆ ของเขา เขาพรีเซนต์ความเป็นอินเดียอยู่ในเพลงของเขามาก 

 

ออย: ซึ่งพอเราได้ไปร่วมโปรเจกต์กับ Shadow and Light เราก็ยิ่งได้รู้ว่าเขาจะมีทางคอร์ด นักร้องเขาก็จะมีการสอนวิธีการร้องอะไรต่างๆ ที่เราไม่เคยเข้าถึงมาก่อน ซึ่งสนุกมากค่ะ 

 

ASIA7 ร่วมแสดงในงาน Delhi International Jazz Festival 2019 ประเทศอินเดีย

ภาพ: asia7band / Facebook 

 

สลับมาที่ฝั่งของชาวต่างชาติที่ได้ฟังเพลงของเรา ได้ชมการแสดงของเรา ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง 

 

โยเย: ถ้าเป็นที่อินเดีย คือธรรมชาติของคนอินเดียที่เรายังประทับใจอยู่เสมอเมื่อได้ไปเยือน คือเขาเป็นคนที่ชอบดนตรี ศิลปะ เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะเล่นอะไรออกไป เขาเอ็นจอยมาก เขาเปิดรับทุกแนวดนตรีที่แตกต่าง วัฒนธรรมที่แตกต่าง ไม่ว่าเราจะเล่นเพลงช้าเขาก็โยก เพลงเร็วให้ตบมือก็ตบได้ 

 

ออย: แล้วบวกกับที่เรามีเครื่องดนตรีพื้นบ้านของเราไปด้วย ก็จะดูพิเศษมากขึ้น เขาก็จะเดินเข้ามาถามว่าอันนี้คืออะไร เป็นเครื่องดนตรีที่แปลกใหม่สำหรับเขา แต่สุดท้ายแล้วคือเขาเอ็นจอยหมด ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม 

 

ในวง ASIA7 พี่ต้นจะเป็นเหมือนท่านทูตประจำวง ที่จะรับหน้าที่พูดคุยกับแฟนเพลงต่างประเทศอยู่เสมอ การได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้คนที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน มีสไตล์ดนตรีที่แตกต่างกัน ทำให้พี่ต้นได้เรียนรู้อะไรจากบทสนทนาเหล่านั้นบ้าง

 

ต้น: ผมว่าเพราะพวกเขาประทับใจในเพลงของ ASIA7 ด้วย เขาถึงเดินเข้ามาพูดคุยกับเรา ด้วยความที่ ASIA7 เรามีดนตรีพื้นบ้านที่มีสำเนียงค่อนข้างยูนีกกว่าเพลงอื่นๆ เวลาเราไปในแต่ละประเทศเลยทำให้เรามีความโดดเด่นมากขึ้น และทำให้คนที่ไม่ว่าจะเป็นแฟนเพลง ผู้จัด เจ้าของเฟสติวัล หรือคนที่เขาสามารถพาเราไปเล่นในที่ต่างๆ ได้ก็จะเข้ามาพูดคุยกับเรา มาชวนเราไปเล่นที่อื่นต่อ ซึ่งผมก็จะรับหน้าที่เป็นตัวแทนในการพูดคุย 

 

ซึ่งบางงานผมเองก็เคยถามเขานะครับว่า เราต้องทำเพลงภาษาอังกฤษไหม อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับผม เพราะก่อนหน้านี้เรามักจะได้ยินว่า คุณจะไปต่างประเทศ คุณต้องทำเพลงภาษาอังกฤษสิ เพลงไทยใครจะฟัง เราจะโดนค่านิยมนี้กรอกหูอยู่ตลอดเวลา แต่พอเรามีโอกาสได้คุยกับเขาจริงๆ ผมก็บอกว่าผมกำลังจะทำเพลงฝรั่งนะ คุณจะเอาผมไปเล่นหรือเปล่า เขาก็บอกว่าไม่จำเป็น ตรงนั้นมันไม่ใช่ประเด็นหลักที่เขาสนใจ แม้กระทั่งเพลง Love Is Still Beautiful มีแค่ประโยคภาษาอังกฤษประโยคเดียวเอง เพลงอื่นๆ อย่าง ขวัญเจ้าเอย หรือเพลงใหม่ๆ ที่เราทำเป็นเพลงภาษาไทยหมดเลย แต่อะไรล่ะที่มันไปต้องใจเขาให้เขาอยากจะมาคุยกับเรา ผมก็เลยเข้าใจว่าเขาสนใจเราเพราะสิ่งนี้ มันก็เลยเกิดการตกตะกอนมากขึ้นว่า อะไรก็ได้ที่มันเป็นตัวเราแล้วมันเจ๋ง มันขายได้ มันไปได้ในทางของเวทีต่างประเทศ 

 

มีงานหนึ่งครับที่ ASIA7 มีโอกาสไปเล่น ชื่อว่างาน APaMM (Ulsan World Music Festival 2018 x Asia Pacific Music Meeting) ที่ประเทศเกาหลีใต้ เป็นงานคล้ายๆ กับ Bangkok Music City เป็นงานที่จะรวมตัวแทนจากต่างประเทศ เจ้าของ Music Festival เจ้าของค่ายเพลงต่างๆ ทั่วโลกมาอยู่รวมกัน แล้วก็จัดสัมมนา ซึ่งปีนั้น ASIA7 ได้รับเชิญไปเป็นตัวแทนประเทศไทย โดยมีพี่เต็ด ยุทธนา (เต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม) เป็นคนชวน ASIA7 ไป ซึ่งงานนั้นก็เป็นจุดเปลี่ยนสำหรับผมเหมือนกัน เพราะการที่จะไปอยู่ตลาดโลกเหมือน มิลลิ (ดนุภา คณาธีรกุล) หรือวงต่างๆ ที่ไปตอนนี้ มันเป็นโปรเซสแบบเดียวกับที่ ASIA7 ไปนี่แหละ แต่ ณ เวลานั้น ASIA7 เราทำด้วยตัวเอง เราไม่มีค่าย เราไม่มีผู้จัดการ เราไปด้วยตัวเราเอง แล้วเราก็เห็นโปรเซสว่าการที่จะได้ไปอยู่ตรงนั้นเราต้องทำอย่างไร ศิลปินต้องมีอะไรที่พร้อม ผมก็ได้ไปคุยกับเจ้าของเฟสติวัลฝั่งยุโรป โดยเฉพาะเฟสติวัลที่ชื่อว่า South by Southwest ที่เท็กซัส สหรัฐอเมริกา เขาบอกว่า คุณทำแบบนี้เลย ประมาณนี้ๆ สเต็ปเป็นอย่างไร เราก็ได้เห็นว่าการที่จะออกไปข้างนอก การได้ไปพูดคุยกับผู้คนที่หลากหลาย แล้วเขาสนใจงานเราด้วย เขาก็ให้ความรู้เรามาเยอะเลยว่าวงประมาณนี้มันไปได้นะ 

 

ดังนั้นการไปเล่นที่ต่างประเทศก็ทำให้เราตกตะกอนหลายๆ อย่าง ทั้งการพูดคุยกับคน แม้กระทั่งแนวเพลงว่าสุดท้ายแล้วเราจะดำดิ่งไปในความยากๆ อย่างนี้ตลอดเลยไหม เพลงร้องเราจะทำแบบไหนให้คนเข้าถึงได้ หรือไปเล่นงาน Thai Festival วงอื่นๆ เล่นเพลงลูกทุ่ง เพลงอีสานทั้งนั้นเลย หรือเราจะกลับมาพัฒนาวงเรา แอบๆ ไปในทิศทางนั้นนิดหนึ่งไหม มันก็เลยเกิดไอเดียอะไรเยอะแยะมากมายในวงเราครับ 

 

 

การได้เดินทางไปเล่นเทศกาลดนตรีต่างประเทศหลายครั้ง ได้ไปเจอหลายๆ วัฒนธรรม ผู้คนหลายๆ แบบ มีครั้งไหนบ้างที่ ASIA7 ได้เจอบางสิ่งหรือบางเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกประทับใจมากๆ แต่เรายังไม่เคยเจอในวงการเพลงไทย แล้วเราอยากจะให้มันเกิดขึ้นในบ้านเรา 

 

ต้น: ที่ผมสังเกตนะครับ ย้อนไปงานที่พี่เต็ดพาวง ASIA7 ไป งานนั้นก็จะมีวงดังๆ จากต่างประเทศ วงเฮดไลเนอร์ของเกาหลีใต้ไปเล่นที่เมืองปูซาน แล้ว ASIA7 ได้รับเชิญไปในฐานะศิลปินหน้าใหม่ เขาก็จะมีพ่อค้าแม่ค้า เจ้าของเฟสติวัลทั่วโลกมาอยู่ แล้วเขาก็จะขายวงเกาหลีใต้บ้านเขา มีทั้งแจ๊ส ป๊อป ดนตรีพื้นบ้านเหมือนของเรา แม้กระทั่งดนตรีพื้นบ้านเฉยๆ ที่เล่นกับดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ อย่างเช่นวง JAMBINAI ทำซาวด์เอฟเฟกต์เป็น Experimental เป็นแลนด์สเคป ทุกคนมายืนฟัง ปรากฏว่าเกาหลีเขารุดหน้าไปแล้ว เขาให้ความสำคัญกับดนตรีพื้นบ้านมาก เราจะบอกว่าเกาหลีเน้นเรื่องภาพยนตร์ เน้นเรื่อง K-Pop ก็จริง แต่สิ่งนี้เขากำลังมาแรงมาก บูมมาก แล้วงานนั้นทำให้ผมมองเห็นเลยว่า การเล่นดนตรีพื้นบ้านไม่จำเป็นต้องใส่ชุดพื้นบ้านก็ได้ หรือวิธีการดีไซน์ การเอาเครื่องที่เป็นออร์แกนิกของเขา Acoustic Traditional ของเขามานำเสนอด้วยรูปแบบใหม่ ซึ่งเรายังไม่เห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นในบ้านเรา อาจจะด้วยเรื่องของโอกาสหลายๆ อย่าง

 

โยเย: การสนับสนุนจากเอกชนและภาครัฐ 

 

ต้น: ใช่ การร่วมมือกัน เอกชนก็อาจจะมองอีกอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นเรื่องของกำไรที่ต้องได้จากการจัดงาน หรือภาครัฐก็อาจจะมองว่ามันโมเดิร์นไป มันไม่ไทย หรือ ASIA7 อาจจะไม่ไทยหรือเปล่า วงนั้นเล่นเพลงพื้นบ้าน แต่ไม่ได้แต่งตัวแบบใส่ผ้าโสร่ง ผ้าหม้อห้อม เขาก็อาจจะมีมายด์เซ็ตในการมองอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมันไม่ได้มารวมกันเหมือนเกาหลี พอเกาหลีเขามาช่วยส่งเสริมกัน มันเลยไปไกลขึ้น ศิลปินรุ่นใหม่ที่จบดนตรีพื้นบ้านของเขา เขาก็มีงานทำ 

 

อีกจุดหนึ่ง พอเรามามองงานที่เปิดให้วงอย่าง ASIA7 หรือวงต่างๆ ที่เป็นแนวประสมประสานมาเล่น งานแบบนี้มีมากพอไหม ผมมองมีแค่งานเดียวเลยคือ Maho Rasop Festival ซึ่งผมได้มีโอกาสไปเล่นโปรเจกต์ส่วนตัวที่งานนี้ และได้มีโอกาสไปดูหน้าเวที ผมได้ดูวงแจ๊สระดับโลกที่ไม่ได้แจ๊สขนาดนั้น ชื่อว่า BADBADNOTGOOD เล่นแจ๊สโซโล่ ไม่มีร้องเลย คนก็เต้น วงร็อกอย่าง King Gizzard & The Lizard Wizard สัดส่วนยากมาก คนโยกตาม เหมือนกับที่เราไปเล่นที่อินเดียแล้วเขาตื่นตาตื่นใจว่านี่วงอะไร 

 

โอม: เหมือนเราเป็นฝรั่งของเขา 

 

ต้น: อย่างเช่น King Gizzard & The Lizard Wizard วงเขาก็ไม่แมส แต่ว่าเขาก็ไปของเขาได้ 

 

คล้ายๆ กับว่าบ้านเรายังขาดพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้วงที่มีสไตล์แบบเดียวกับ ASIA7 ได้โชว์ของอยู่พอสมควร 

 

ออย: ออยว่าจริงๆ แล้วคนไทยไม่ใช่ไม่ฟังเพลงนะคะ คนไทยเป็นคนที่ฟังเพลงเยอะมากๆ ฟังหลายแนวด้วย แล้วบางทีคนที่เปิดรับก็มีเยอะมากๆ ไม่ใช่ว่าไม่มีเลย แต่ว่าบางทีมันอาจจะไม่มีพื้นที่ให้เขาไปเสพ อย่างที่โอมบอกว่าที่อินเดียคือเขามาเสพดนตรีเป็นความสุขของเขา 

 

โอม: แน่นอนว่าที่นั่นมีงานรองรับให้เขาเสพ 

 

ต้น: เหมือนกับอเมริกาครับ มือกีตาร์ชื่อ Cory Wong วงเขาไม่ได้ร้องนะ เขามีงานทัวร์ที่อเมริกา เขามีงานทัวร์ที่ยุโรป มันก็เป็นสิ่งที่เรามองเหมือนกันนะว่า ถ้าเราไม่ได้ร้องเพลง แต่เราอยากทำแบบเขา ตลาดบ้านเรามันรองรับไหม มันก็เป็นเรื่องที่น่าคิด หรือว่าเราจะมีชีวิตรอดอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ได้ เขาทำอะไรเราต้องทำตามเขาหรือเปล่า เพื่ออยู่รอดท้องอิ่มหรือเปล่า แล้วงานที่เราอยากจะทำมันจะมาตอนไหน ดังก่อนแล้วค่อยทำงานที่เราอยากจะทำ หรือเราควรทำงานที่เราอยากจะทำ มีความสุขกับมัน แล้วมันดังด้วย ได้เงินด้วย กับ ASIA7 ผมคิดว่าเราอยู่ด้วยกันได้เพราะเราคิดคล้ายๆ กันแบบนี้แหละ แต่สุดท้ายเราเองก็ต้องอยู่ในวงการเพลงไทยที่จะทำให้คนรู้จักเรา 

 

ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ในความเป็นดนตรีพื้นบ้าน โดยเฉพาะดนตรีพื้นบ้านอีสาน เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมนสตรีมตอนนี้ไม่ใช่ป๊อป คือดนตรีอีสาน แล้วถามว่าเขาก็ไม่ได้ต้องพึ่งว่าจะต้องมาดังในกรุงเทพฯ เขาอยู่ที่ศรีสะเกษเขาก็ตั้งค่ายได้ เพลงเขาร้อยล้านวิวได้ มันเลยเกิดบางสิ่งบางอย่างที่ไปตอบตรงนั้นด้วยว่า ถ้ายึดแบบนี้ต่อไปเราจะรอดไหม หรือ ASIA7 ต้องไปเป็นอินดี้อีสานที่จะดังในทางนั้นเลย มันก็เพิ่มโอกาสสำหรับคนเรียนดนตรีพื้นบ้านและดนตรีไทยด้วยว่ามันมีทางเลือกมากขึ้น แต่ว่าสุดท้ายเราก็ต้องมาย้อนมองว่าสเปซอยู่ตรงไหน โอกาสอยู่ที่ไหน เล่นให้ใครฟัง ใครจะจ้าง จ้างแล้วไปไหนต่อ มันจะวนลูปแค่นี้เหรอ 

 

 

จากการเป็นศิลปินอิสระ สู่การเข้ามาเป็นศิลปินในสังกัดค่าย Gene Lab ทำให้วง ASIA7 เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง 

 

ต้น: จริงๆ ที่เล่ามาทั้งหมด ต้องบอกว่าเราทำมาจนเหนื่อยแล้วครับ เราทำเอง กรอกวีซ่า พรินต์ปกอัลบั้ม เก็บขอบซีดี ปั๊มเสื้อ รีดผ้า จองตั๋วเครื่องบิน เราทำทุกอย่างเพื่ออยากจะให้คนได้รู้จักเรา ถามว่าทุกคนมีเงินจากวงนี้ไหม ต้องตอบเลยว่าไม่ได้เยอะขนาดนั้น เพราะสมมติเราได้เงินมา 4-5 หมื่น แบ่งกันคนละ 3 พัน ที่เหลือเก็บเข้าวงเพื่อทำเสื้อ เพื่อบริหาร ทุกคนจะได้ไม่ต้องมาจ่าย มันยากมาก แล้วพอทำมาประมาณ 6-7 ปี มันก็ถึงเพดานเหมือนกันว่าจะไปไหนต่อ มันอิ่มแล้ว 

 

โอม: จริงๆ มันบวกกับโควิดด้วย เราเลยไม่ได้ไปต่างประเทศ 

 

ต้น: บวกกับโอกาสที่ดีว่า พี่โอม (โอม-ปัณฑพล ประสารราชกิจ) มาชวนเรา ซึ่งอันนี้เป็นจุดเปลี่ยนอีกจุดหนึ่งนะ เป็นจุดข้ามกำแพงที่เราข้ามเองไม่ได้ ก่อนหน้านี้คือ พี่ครับ ผมอยากไปเล่นเฟสติวัลครับ พี่ครับ ผมขอเวทีเล็กๆ ตรงนี้ได้ไหมครับ พี่ครับ ผมมีเพลงร้องนะพี่ พี่ผมเอ็นเตอร์เทนคนได้นะ เราทำด้วยตัวเราเอง เพราะเราไม่มีผู้จัดการ เราทำเองก็ยาก ซึ่งพอหลังจากที่เราเข้าเป็นศิลปินในสังกัดค่าย Gene Lab เราก็ได้ทีมงานมาช่วยทำให้ พี่โอมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ให้โอกาส ASIA7 มองเห็นถึงศักยภาพ มองเห็นถึงอะไรสักอย่างในตัว ASIA7 ช่วงแรกๆ ก็งงว่าทำไมเขาถึงมาชวน เพราะจริงๆ ก่อนหน้าพี่โอม มีคนมาชวนเราแล้วประมาณ 2-3 ค่าย แต่เรารู้สึกว่าทิศทางมันไม่ใช่ ด้วยความที่ฟอร์แมตวงเรามันขายยาก 

 

โยเย: คือคนที่เขาจะเอาเราไป เขาไม่รู้ว่าจะขายเราอย่างไร

 

ต้น: ถ้าเป็นวงที่มีนักร้อง เบส กลอง กีตาร์ คีย์บอร์ด จบเลย จะร็อก จะป๊อป หรือโซล อาร์แอนด์บี มันไปได้หมดเลย แต่พอมันมีเครื่องดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้าน ยากแล้ว มีพิณมันต้องอีสานเท่านั้นเหรอ มีซอมันต้อง ออเจ้าเอย เท่านั้นเหรอ มันต้องอ่อนช้อยเหรอ ผมก็เข้าใจพี่ๆ เขาอยู่ว่าวงเราขายยาก แต่พี่โอมเขาไม่ได้มองอย่างนั้น เขาเห็นว่าเรามีของ แต่ว่าก่อนที่จะมาถึงพี่โอม เราก็ล้มลุกคลุกคลานจนทำอัลบั้ม EIGHT จัดคอนเสิร์ตแรก MAY I COME IN ชวนแขกรับเชิญมา เชิญพี่ๆ สื่อมาช่วยทำข่าว เราก็ทำได้สุดแค่นั้นแหละ 

 

แต่พอเรามาอยู่ค่าย Gene Lab มันก็ทำให้เราได้มามองตัวเองอีกทีหนึ่ง เราโฟกัสงานตัวเองมากขึ้น มีทีมงานเบื้องหลังคอยดูแลงานส่วนอื่นๆ ให้ หรือค่ายมีมุมมองว่าตรงนี้พี่ว่ามันขายไม่ได้นะ ปรับตรงนี้หน่อย เราก็ได้มาโฟกัสเรื่องงานมากขึ้น ทีนี้งานมันก็จะไม่ใช่ว่าเราอยากจะทำแบบนี้นะ ทำคีย์ 12 คีย์ในหนึ่งเพลง อยากจะเล่นไทม์ซิกเนเจอร์ที่นักดนตรีเองก็แกะตามได้ยาก มันก็ไม่ใช่แล้ว มายด์เซ็ตพวกเราก็เปลี่ยนไปเยอะครับ

 

จากเพลง กล่อม จนมาถึงเพลง ลืม ในปัจจุบัน เราเติบโตขึ้น เรามีมุมมองที่กว้างมากขึ้น เพื่อที่จะเสิร์ฟทั้งความชอบของเราที่หล่อเลี้ยงจิตใจในการเล่นดนตรี ได้ทำงานดนตรี หล่อเลี้ยงท้องเราด้วยการทำเพลงที่ต้องเข้าไปอยู่ในตลาดอย่างไร เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ครับ ไม่ได้หมายความว่า ASIA7 จะต้องแบบนี้เท่านั้น ไม่ใช่ เราเองก็ต้องเรียนรู้ว่าเพลงตลาดเพลงแมสทำอย่างไร แล้วความท้าทายของมันคือเพลงแมสที่ต้องมีเครื่องดนตรีไทยอยู่ ต้องทำอย่างไรถึงจะกลมกล่อม ทุกคนคงไม่ได้กินส้มตำ กินปลาร้ากันทุกมื้อหรอก มันต้องกินผัดกะเพรา กินข้าว ใส่ผงชูรสเท่าไรจึงจะพอดี มันก็เป็นเรื่องที่อยู่ในค่ายก็ต้องคุยกัน ธุรกิจกับศิลปะมันต้องผสานกันให้ลงตัว 

 

ออย: เรียกว่าค่าย Gene Lab ก็ทำให้วงโตขึ้น แล้วก็ที่สำคัญเลยก็คือ ค่ายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราได้เป็นที่รู้จักในไทยมากขึ้นด้วย 

 

ต้น: ซึ่งพอไปดูศิลปินในค่ายอย่าง Tilly Birds, Three Man Down, The Darkest Romance มาอย่างไร ถ้าเป็น ASIA7 อีกสักวงมันก็คงไม่แปลกหรอกมั้ง แต่สุดท้ายมันไม่ใช่แนวเพลง มันอยู่ที่วิธีคิดมากกว่า วิธีคิดที่จะไปข้างหน้า รูปแบบในทางของตัวเองมันมีอยู่แล้วแหละ แต่โปรเซสที่ค่าย Gene Lab ต้องบอกว่าเป็นค่ายที่มีความแข็งแรงมากๆ ทั้งโครงสร้างแล้วก็ระบบการบริหาร มันเลยทำให้เรารู้สึกไม่ได้เหนื่อย มีทีมงานมาช่วยคิดแทนในเรื่องที่พวกเราต้องมาทำกันเอง เราคิดดีกว่าว่าเราจะไปทางไหน อย่างไร เมื่อไร สเต็ปเป็นอย่างไร ในเรื่องของเพลงเราดีกว่า 

 

ภาพ: asia7band / Facebook 

 

อะไรที่ทำให้เราเชื่อใจ Gene Lab อะไรที่ทำให้เราเชื่อว่าเขาจะพาเราไปถึงเป้าหมาย 

 

ดิว: สำหรับผมตอนนั้น ผมเชื่อวงในค่าย ผมรู้สึกว่า Gene Lab เป็นค่ายที่รวมคนดนตรี รวมคนที่มีทัศนะทางดนตรีที่มีเอกลักษณ์ แล้วก็ขายความเป็นวง เพราะความโดดเด่นของ Gene Lab คือมีศิลปินที่เป็นวงเยอะ แล้วเราก็เป็นศิลปินที่เป็นวง แล้วค่ายก็ทำศิลปินที่เป็นวงที่ประสบความสำเร็จ ตอนนั้นผมไม่ได้รู้จักพี่โอมหรือค่าย Gene Lab เป็นการส่วนตัว แต่ ณ วันนั้น ผมว่าศิลปินที่อยู่ในค่ายเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าเรา ASIA7 ไปอยู่แล้วเราจะได้ไอเดีย ได้แนวทาง สมมติว่าเราอยากจะไปซึมซับการทำงานของ Tilly Birds การทำงานของไททศมิตร เรารู้สึกว่าถ้าเราได้ไปอยู่ในกลุ่มนี้คงเป็นคอมมูนิตี้ที่ดีนะ 

 

แล้วยิ่งประกอบกับว่าแต่ละวงมีทิศทางดนตรีที่แตกต่างกัน พอพูดมาถึงตรงนี้ ผมรู้สึกนับถือพี่โอมเขาตรงนี้แหละว่าทำไมเขาถึงมองเห็นวงเหล่านี้ว่าจะมาอยู่ในค่ายได้ เพราะฉะนั้นเรารู้สึกว่ามายด์เซ็ตตรงนี้แหละ น่าจะเป็นจุดที่ทำงานร่วมกันได้ น่าจะมีไอเดียอะไรที่พัฒนาเราได้ 

 

ออย: แต่ว่าจริงๆ แล้วตอนแรกเราก็ไม่ใช่ว่าจะตอบตกลงทันทีเหมือนกัน เรามีประชุมกันครั้งใหญ่มาก เพราะเรารู้สึกว่ามันจะเป็นจุดเปลี่ยนของวงที่ใหญ่มาก แล้วด้วยความที่สมาชิกในวงเราก็เยอะมาก ทุกคนจะต้องตัดสินใจในพาร์ตของตัวเองด้วย

 

ต้น: คอนดิชันมันเยอะเนอะออย เพราะว่าเราเคยเจอเงื่อนไขประมาณว่า โอเค ถ้าเป็นศิลปินแล้วเราต้องห้ามรับงานนอกนะ หมายความว่าพวกงานอีเวนต์หรืองานนอกก็ไปไม่ได้แล้ว แต่พอเราคุยกับพี่โอมเขาก็บอกว่าหาเงินก็หาเงิน 

 

โอม: ด้วยความที่สมาชิกวงเราเล่นแบ็กอัพกันเยอะ ตอนที่คุยกันแรกๆ เราเลยถามว่าจะติดเรื่องนี้ไหม พี่โอมบอกว่าก็เล่นไปก่อน สักวันคุณจะไม่ว่างไปเล่นเอง คือเราต้องการแค่นี้ครับ เขาไม่ได้พูดให้มันสวยหรู

 

ต้น: ใช่ๆ เขาบอกไปเล่นเถอะ อยากเล่นก็เล่น แต่ว่าถ้าวงเรามีงาน มันหมายความว่าเราเองก็ต้องปฏิเสธงานที่มันไม่ใช่งานวง เพื่อมาทำงานของ ASIA7 

 

ออย: เรารู้สึกได้ว่าทุกสิ่งที่พี่โอมพูดมันคือความจริงที่เราจะต้องเจอ มันไม่ใช่ว่าเขาโปรยอะไรมาให้สักอย่าง ขายฝันอะไรสักอย่าง เรารู้สึกว่า โอเค เข้าใจแล้วว่าเราจะต้องมาเจออะไร 

 

โอม: อาจจะโชคดีตรงที่พี่โอมเขาเป็นทั้งนักดนตรีและผู้บริหารในคนเดียวกันด้วย เขาเลยเข้าใจเรา เพราะเขาก็เป็นศิลปินอินดี้มาก่อนด้วยซ้ำ เขาเข้าใจเราทุกอย่าง ตอนที่เราไปคุยกับเขาครั้งแรก เขาบอกว่าเขารู้จักเราตั้งแต่ ขวัญเจ้าเอย ซึ่งเป็นเพลงร้องเพลงแรกที่เราปล่อยออกมา พวกเรายังไม่เชื่อเลย แล้วก็อีกข้อหนึ่งที่ทำให้เราค่อนข้างมั่นใจว่าเราจะอยู่กับบ้านหลังนี้คือ เขารู้จักเรามากกว่าเรารู้จักตัวเองด้วยซ้ำ ตอนที่เราคุยกับเขาเสร็จ เราแทบจะกลับมาคุยกันเองว่า บางทีเราอาจจะไม่ได้รู้จักตัวเองขนาดนั้นด้วยซ้ำ 

 

 

นอกจากซิงเกิลล่าสุดอย่าง ลืม (Fade Away) ทางวง ASIA7 จะปล่อยอัลบั้มใหม่ให้ทุกคนได้ติดตามในเร็วๆ นี้ด้วย ความพิเศษของอัลบั้มล่าสุดเป็นอย่างไรบ้าง 

 

ออย: อัลบั้มนี้เราพยายามจะนำเสนอตัวตนที่เป็นเรา 8 คนให้ได้มากที่สุดค่ะ เราจะพยายามนำเสนอเรื่องการเดินทางของพวกเราว่าเรามาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร แล้วก็ในอัลบั้มมันแฟนซีมาก มันมีทุกอย่างเลย ป๊อปสุด ซ้ายสุดก็มี ขวาสุดก็มี จริงๆ ขวาสุดกว่านั้นก็มีอีกค่ะ แต่ว่ายังไม่ได้ปล่อยในอัลบั้มนี้ ซึ่งครั้งนี้เราคัดมาจำนวนหนึ่งที่เราคิดว่าน่าจะนำเสนอพวกเราในหลายๆ รูปแบบ ให้ทุกคนได้เห็นว่าป๊อปเราก็ทำได้นะ หรือความเป็นตัวตนจ๋าๆ ของเราเลย เราก็ยังเป็นอยู่นะ เรารู้สึกว่าฐานแฟนเพลงที่ติดตามเรามาตั้งแต่แรก ชอบที่เราเป็นตั้งแต่แรก ชอบความยาก เรารู้สึกว่าเราอยากให้เขายังได้ยินตรงนั้นอยู่ เรายังไม่ได้จะเปลี่ยนไปทางใดทางหนึ่งนะ 

 

จริงๆ ASIA7 คือการทดลองไปเรื่อยๆ แล้วอัลบั้มนี้คือยิ่งกว่าการทดลองอีกค่ะ มันมีทุกอย่างทุกแนว สิ่งที่ทำมันใหม่ตลอด แล้วหลังจากนี้ก็จะลองไปอีกเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นมันคาดเดาไม่ได้เลยว่ามันจะเจอกับอะไรบ้าง เพลงต่อไปจะเป็นแนวไหน อย่างที่คุยไว้ตอนแรกว่าเพลงแรกกับเพลงที่ปล่อยออกมาหลังจากนั้นก็ไม่เหมือนกันเลย คนละแนวเลย ซึ่งในอัลบั้มนี้มันจะเป็นแบบนั้นค่ะ แต่ว่ามันจะเป็นเรื่องของการเดินทางไปเรื่อยๆ การทดลองของพวกเราทั้ง 8 คนไปเรื่อยๆ 

 

ก่อนหน้านี้เรามีอัลบั้มที่เราทำเพลงกันเอง ชื่ออัลบั้ม EIGHT ซึ่งเราก็ตั้งใจทำกันมาก แต่เรารู้สึกว่าอัลบั้มนี้ จากที่เราได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง จากหลายๆ บุคคล จากค่ายด้วย จากพี่ๆ หลายๆ คนด้วย เราเอาทุกอย่างมาอะแดปต์รวมกันจนกลายเป็นอัลบั้มนี้ ซึ่งเราตั้งใจทำยิ่งกว่าเดิมเลยค่ะ เราทุกคนแทบจะไม่ได้นอนเลย ทุกคนกลั่นกรองทุกอย่างให้ออกมาดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้แล้วในตอนนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทุกคนจะได้ยินในอัลบั้มนี้คือสิ่งที่ออกมาจากใจ แล้วก็สุดฝีมือของพวกเรามากๆ แล้วในตอนนี้ 

 

โยเย: มันเปรียบเสมือนบทเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ของพวกเรา 

 

ออย: ในฐานะศิลปินจากค่าย Gene Lab 

 

 

หลังจากที่ ASIA7 ได้ไปแสดงในหลายๆ ที่ ทั้งในไทยและต่างประเทศ มีอัลบั้มแรก มีคอนเสิร์ตเดี่ยวของตัวเอง และมีอัลบั้มใหม่ที่กำลังตามมาในเร็วๆ นี้ เป้าหมายต่อไปของ ASIA7 คืออะไร 

 

ออย: จริงๆ ถ้าเป้าหมายในตอนนี้ของพวกเรา น่าจะเป็นเรื่องการเป็นที่รู้จักในประเทศมากขึ้นค่ะ 

 

โยเย: ต้องบอกว่าเป้าหมายเดิมที่เราตั้งไว้คือการไปในเทศกาลดนตรีต่างประเทศ ยังคงมีอยู่ แต่ว่าสิ่งที่เราเพิ่มเติมขึ้นในตอนนี้คือการให้เราได้เป็นที่รู้จักในประเทศมากขึ้น ให้เรามีพื้นที่มากขึ้น 

 

ออย: เพราะว่าสุดท้ายแล้วเราก็ต้องอยู่ที่นี่ เรารู้สึกว่าแล้วทำไมสิ่งที่เราทำมันถึงเข้ากับคนที่นี่ไม่ได้ ทำไมเราถึงคาดหวังว่าเราจะตีเมืองนอกอย่างเดียว ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วคนที่เป็นแฟน ASIA7 ที่เป็นคนไทยมีเยอะมากเลยค่ะ หลบอยู่เยอะมาก แล้วตามคอมเมนต์ก็ยังมีคนที่บอกว่า เพิ่งได้เห็นเลย เพิ่งได้รู้จักเลย ทั้งๆ ที่เราปล่อยเพลงมา 7 ปีแล้วค่ะ เรายังรู้สึกว่ายังมีคนที่ไม่รู้จักเราอีกเยอะมาก แล้วส่วนใหญ่ที่มารู้จัก เขาก็จะชอบจาก First Impression เลย 

 

โอม: วันแรกที่ปล่อยเพลงแล้วเขารู้สึกว้าวอย่างไร ตอนนี้คนก็ยังว้าวอยู่ เท่ากับว่ามันยังมีอีกหลายคนมากที่ยังไม่รู้จักเราเลย ไม่รู้ว่ามีสิ่งนี้อยู่ในประเทศไทย 

 

ออย: ซึ่งเราโอเคว่าคุณจะชอบเราหรือไม่ชอบเราก็ตาม แต่ขอให้คุณรู้จักเราและเปิดใจให้เรา เราโอเคแล้วค่ะ 

 

สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของวง ASIA7 ได้ที่นี่

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X