×

วงการโบรกฯ ระบุ ‘เอเชีย เวลท์’ ถูกสั่งปิดเป็นปัญหาเฉพาะบริษัท หลังลูกค้าอาศัยช่องโหว่ตั้งใจโกง เตรียมถกสมาคมฯ หาทางป้องกัน

23.11.2022
  • LOADING...
เอเชีย เวลท์

ผู้บริหารโบรกเกอร์ระบุ ปัญหา บล.เอเชีย เวลท์ ที่ถูก ก.ล.ต. สั่งปิดกิจการ ถือเป็นกรณีแรกในประวัติศาสตร์ของวงการโบรกเกอร์ไทย โดยเป็นปัญหาเฉพาะของบริษัทที่โดนผลกระทบจากนักลงทุนบางรายที่เห็นช่องโหว่ของระบบจึงตั้งใจฉ้อโกง โดยยืนยันว่าภาพรวมฐานะของโบรกเกอร์ยังแข็งแรง และเตรียมนัดหารือเพื่อหาทางป้องกันปัญหาในอนาคต

 

ม.ล.ทองมกุฎ ทองใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า จากกรณีที่ล่าสุดวานนี้ (22 พฤศจิกายน) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีคำสั่งให้ บล.เอเชีย เวลท์ ระงับการดำเนินธุรกิจทุกประเภท และโอนทรัพย์สินลูกค้าไปยังผู้ประกอบการรายอื่น เพราะไม่สามารถดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital: NC) ได้ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ครั้งแรกในวงการธุรกิจหลักทรัพย์ที่มีโบรกเกอร์ถูกสั่งปิดกิจการในไทย

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ขณะที่ บล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง ไม่มีแผนจะเข้าไปเชิญชวนลูกค้าของ บล.เอเชีย เวลท์ ให้โอนย้ายทรัพย์สินหรือชักชวนให้ลูกค้ามาเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นบริษัท โดยขึ้นกับความสมัครใจและตัดสินของลูกค้าเอง อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ามีลูกค้าบางรายจาก บล.เอเชีย เวลท์ เริ่มติดต่อทยอยทำเรื่องขอย้ายบัญชีซื้อขายหุ้นกับบริษัทแล้ว เพื่อให้ทำการซื้อขายได้ต่อเนื่อง

 

สำหรับปัจจุบัน เชื่อมั่นว่าระบบและฐานะภาพรวมของโบรกเกอร์ยังมีความแข็งแรง ทั้งระบบส่งมอบและชำราคาหุ้นที่ทำร่วมกับสำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด (TCH)

 

โดยบทเรียนของอุตสาหกรรมโบรกเกอร์ได้เรียนรู้จากกรณีปัญหาของ บล.เอเชีย เวลท์ มองว่าเป็นปัญหาเฉพาะของบริษัทที่โดนผลกระทบจากนักลงทุนบางรายที่เห็นช่องโหว่ของระบบและมีความตั้งใจในการฉ้อโกง บล.เอเชีย เวลท์ จนมีผลกระทบต่อฐานะและกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NCR) ให้ติดลบ รวมถึงส่วนหนึ่งเกิดความผิดพลาดในการตัดใจในการแก้ปัญหาของผู้บริหารในการเลือกวิธีการแก้ปัญหาด้วยการนำทรัพย์สินของลูกค้ามาใช้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกค้า

 

“ภาพรวมมองว่าตอนนี้ระบบภาพรวมของโบรกเกอร์มีมาตรฐานที่ดีอยู่แล้ว เพราะ ก.ล.ต. เองมีการกำกับดูแลที่เข้มงวด ซึ่งข้อมูล NCR ของแต่ละโบรกเกอร์ก็มีการรายงานทุกวัน แต่ปัญหาที่เกิดกับ บล.เอเชีย เวลท์ ตามข้อสงสัยของ ปปง. มาจากการที่ลูกค้าตั้งใจอาศัยช่องโหว่เพื่อมา Fraud โดยมาเปิดวงเงินเครดิตจำนวนมากๆ เพื่อซื้อหุ้นแล้วตั้งใจไม่จ่ายเงิน ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่มากจนมีผลกระทบทำให้โบรกเกอร์ต้องถูกปิดกิจการเป็นครั้งแรกในไทย เพราะมี NCR ติดลบ ซึ่งโบรกเกอร์ขนาดเล็กเมื่อเจอปัญหาแบบนี้ก็จะมีผลกระทบที่มากกว่าโบรกเกอร์ขนาดใหญ่ที่มีทุนมากกว่า”

 

ส่วนแนวทางในการป้องและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ (ASCO) รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องกลับมาหารือร่วมกันเพื่อพิจารณาหาแนวทางในการปิดช่องโหว่ที่อาจทำให้เกิดปัญหาซ้ำอีก แต่ต้องไม่มีผลกระทบกับระบบและลูกค้าผู้ลงทุนโดยรวมที่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหา 

 

ขณะที่แนวทางในการแก้ไขปัญหาระยะสั้นที่โบรกเกอร์หลายแห่งได้เริ่มดำเนินการแล้วหลังเกิดปัญหาขึ้น ได้แก่ การเพิ่มจำนวนรายชื่อหุ้นที่ติด Cash Balance ที่มีจำนวนมากกว่าที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศรายชื่อไว้ รวมถึงพิจารณาในการให้เครดิตวงเงินกับลูกค้าที่นำหุ้นมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันที่จำกัดลง อีกทั้งอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางในการตั้งหน่วยงานคล้ายเครดิตบูโรเพื่อให้สามารถตรวจสอบวงเงินเครดิตซื้อหุ้นที่ลูกค้าขอจากโบรกเกอร์มาแล้วได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกค้าขอวงเงินเครดิตมากเกินไปจนเกิดความเสี่ยงกับระบบ

 

ด้าน ธนพิศาล คูหาเปรมกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.โกลเบล็ก กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่าบริษัทไม่ได้ถูกผลกระทบจากกรณีการซื้อขายหุ้น บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) ที่มีการซื้อขายที่ผิดปกติ เพราะไม่ได้มีการปล่อยวงเงินซื้อกับหุ้นดังกล่าว อีกทั้งไม่มีแผนจะเข้าไปเชิญชวนลูกค้าของ บล.เอเชีย เวลท์ ให้โอนย้ายทรัพย์สินหรือชักชวนให้ลูกค้ามาเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นกับบริษัท

 

อย่างไรก็ดี หากลูกค้า บล.เอเชีย เวลท์ ต้องการย้ายทรัพย์สินหรือบัญชีซื้อขายหุ้นมายัง บล.โกลเบล็ก ก็ยินดีอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้วย

 

สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นกับ บล.เอเชีย เวลท์ มองว่าเป็นประเด็นเฉพาะตัวของบริษัท ไม่ได้สะท้อนว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมโบรกเกอร์มีปัญหา เนื่องจากในการดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ทั้งโบรกเกอร์ขนาดใหญ่หรือเล็กต่างอยู่ภายใต้ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจเดียวกัน ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการภายในของแต่ละแห่งเพื่อป้องไม่ให้มีปัญหาเกิดขึ้น

 

ส่วนแนวทางป้องกันปัญาหาภายในของบริษัทเองจะดูเป็นรายกรณี แนวทางหลักคือจะมีการพิจารณาการให้วงเงินซื้อขายหุ้นที่มีความเข้มงวดและจำกัดกับลูกค้า โดยเฉพาะหากเป็นการซื้อหุ้นที่มีความร้อนแรง

 

ก.ล.ต. ให้เวลา ‘เอเชีย เวลท์’ 90 วัน ส่งแผนแก้ไข NC

 

เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (22 พฤศจิกายน) สำนักงาน ก.ล.ต. เปิดเผยว่า จากกรณีบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด ไม่สามารถดำรงเงินกองทุน (NC) ได้ตามกฎหมายกำหนด จึงต้องระงับการดำเนินธุรกิจทุกประเภท และโอนทรัพย์สินลูกค้าไปยังผู้ประกอบการรายอื่น

 

จอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการสายระดมทุน สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า การที่ ก.ล.ต. มีคำสั่งให้ บล.เอเชีย เวลท์ ระงับการดำเนินธุรกิจทุกประเภทชั่วคราว เพราะมีปัญหาดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) ต่ำกว่าเกณฑ์หรือติดลบ ติดต่อกันเป็นเวลาเกิน 5 วัน เป็นไปตามเกณฑ์ของ ก.ล.ต. เนื่องจากได้รับผลกระทบความเสียหายจากกรณีปัญหาที่ลูกค้าสั่งซื้อหุ้น บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) แล้วไม่นำเงินมาชำระค่าหุ้นที่ครบกำหนดจ่ายเงินในวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

 

ส่งผลให้ บล.เอเชีย เวลท์ ต้องนำสินทรัพย์สภาพคล่องออกมาขายเป็นเงินสด เพื่อนำเงินไปชำระแทนในส่วนลูกค้าที่ผิดชำระเงินจนมีผลกระทบให้ NC ของ บล.เอเชีย เวลท์ ติดลบ

 

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา บล.เอเชีย เวลท์ จะต้องจัดทำแผนงานที่จะแก้ไขปัญหา NC ส่งกลับมให้ ก.ล.ต. ภายใน 30 วันทำการ หรือภายในวันที่ 13 ธันวาคมนี้ หลังจากนั้นจะให้ระยะเวลาอีก 90 วัน หรือภายใน 13 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อดำเนินการตามแผนเพื่อแก้ไข NC ให้กลับมาสู่เกณฑ์ของ ก.ล.ต.

 

อย่างไรก็ดี ล่าสุด บล.เอเชีย เวลท์ แจ้งมาว่าได้คืนเงินของลูกค้าจำนวนเงิน 157.99 ล้านบาท ที่บริษัทไปชำระเป็นค่าซื้อหลักทรัพย์กับสำนักหักบัญชี โดยลูกค้าไม่ได้ยินยอมครบแล้ว โดย ก.ล.ต. ต้องขอตรวจสอบข้อมูลส่วนนี้อีกครั้ง

 

ทั้งนี้ แม้จะสั่งระงับการดำเนินธุรกิจ บล.เอเชีย เวลท์ แต่ไม่ได้หมายความว่าบริษัทต้องปิดกิจการหรือยึดใบอนุญาตคืน แต่เป็นการสั่งระงับเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการบริการและทรัพย์สินลูกค้า

 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน บล.เอเชีย เวลท์ มีจำนวนลูกค้ารวม 5,300 บัญชี และมีเงินสดที่ลูกค้าฝากไว้รวมประมาณ 300 ล้านบาท

 

ด้าน ธวัชชัย พิทยโสภณ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกฎหมาย สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า หาก บล.เอเชีย เวลท์ ไม่สามารถดำเนินการแก้ไข NC ได้ตามกำหนด ก็มีบทลงโทษตามกฎเกณฑ์ แต่ขอรอให้ครบกำหนดเวลาที่ให้ไปดำเนินการในการแก้ไขปัญหาก่อน จากนั้นจึงจะพิจารณาสถานการณ์ในช่วงดังกล่าวอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

 

ขณะที่ก่อนหน้านี้ รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ระบุว่า หนึ่งในแนวทางในการดำเนินการของ ก.ล.ต. ต่อกรณีที่เกิดขึ้นกับหุ้น MORE และ บล.เอเชีย เวลท์ นั้นคือการให้ความสำคัญในประเด็นคุณภาพของหลักทรัพย์หรือหุ้น โดยเฉพาะหุ้นขนาดเล็ก รวมถึงการคัดเลือกรับหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะมีการพิจารณาหาแนวทางร่วมกันทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X