วันนี้ (20 มีนาคม) บล.เอเซีย พลัส (ASPS) เปิดเผยว่า ทางฝ่ายศูนย์วิจัยปรับประมาณการว่าปี 2563 นี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย (GDP) จะติดลบ 1.4% จากก่อนหน้านี้ที่ประเมินว่า GDP ไทยจะขยายตัวที่ 1.6% ทั้งนี้นับเป็นการปรับลดประมาณการ GDP ไทยเป็นครั้งที่ 3
สาเหตุใหญ่ในการปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปี 2563 มาจากประเมินสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างประเทศและปัจจัยภายใน รวมถึงการแพร่ะบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่รุนแรงขึ้น แต่เป็นสมมติฐานว่า โควิด-19 จะสามารถควบคุมได้ภายในไตรมาส 3/63 นี้
ทั้งนี้ ทางศูนย์วิจัยปรับลดสมมติฐานหลักๆ สำคัญ ได้แก่
1.การส่งออกและการนำเข้าในรูปแบบดอลลาร์สหรัฐจะหดตัว โดยส่งออกติดลบ 5.5% และการนำเข้าหดตัว 6% แม้ว่าส่งออกงวด 1 เดือนแรกปีนี้ จะขยายตัวได้ 3.5% แต่เดือนมกราคมที่ขยายตัวมาจากส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้น หากตัดทองคำออกยังคงส่งออกติดลบ
ฝ่ายวิจัยฯ ประเมินว่า ส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้จะกระทบจากทั้งโควิด-19 ทำให้หลายประเทศทั่วโลกทั้งฝั่งยุโรป เอเซีย และอื่นๆ ต้องยกระดับควบคุมการแพร่ระบาด เช่น การปิดประเทศ ปิดกั้นพรมแดน ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้า การขนส่งชะลอลง
ขณะที่ประเด็นเรื่องของราคาน้ำมันดิบที่ลดต่ำกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จะกระทบส่งออกของไทย เพราะไทยมีการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันราว 10% ของการส่งออกรวม ขณะที่ฝั่งนำเข้า ที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้เอกชนชะลอการนำเข้าสินค้า โดยสะท้อนได้จากการบริโภคครัวเรือนคาดว่าจะหดตัว 1.3% เป็นผลจากภัยแล้งหนักสุดในรอบ 40 ปี
นักท่องเที่ยวไม่เดินทางเข้าไทยกระทบการจับจ่ายใช้สอย การปิดสถานบันเทิง สถานที่ชุมชน ประชาชนไม่ออกจากบ้านจากความกังวลโควิด-19 และที่สำคัญคือ มาตรการคลังของภาครัฐยังไม่มีมาตรการที่แรงพอจะพยุงเศรษฐกิจ
2.การลงทุนภาคเอกชนคาดหดตัว 2.5% จากนักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุน หลังจากหลายประเทศที่ปิดประเทศ จากเรื่องของโควิด-19
3.ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับลดเหลือ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิม 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ขณะที่สมมติฐานอื่นๆ ยังคงเดิม เช่น การใช้จ่ายภาครัฐ คาดว่าจะเติบโต 2.5% และการลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะเติบโต 2% เห็นได้จากงบประมาณปี 2563 หลังจากที่ผ่านเดือนมีนาคม 2563 เริ่มเห็นรัฐเริ่มเร่งเบิกจ่าย แต่ก็เน้นไปที่โครงการลงทุนขนาดเล็กมากกว่า
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์