ลืมความรู้สึกของการตื่นเช้ามาบดเมล็ดกาแฟที่สั่งเอาไว้เสร็จแล้วค่อยๆ ดริปอย่างบรรจงแล้วจิบระหว่างที่เปิดคอมพิวเตอร์โดยที่ยังมีเวลาเหลืออีกพักใหญ่ก่อนที่จะถึงเวลานัดประชุมผ่านซูมไปแล้วหรือเปล่า เมื่อชีวิตจริงตอนนี้หนุ่มสาวชาวออฟฟิศต่างต้องตาลีตาเหลือกเพื่อกลับเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศอีกครั้งและมันกำลังทำให้หลายๆ คนเริ่มร้อนใจ
เรื่องที่กล่าวขึ้นในย่อหน้าข้างบนไม่ใช่ชีวิตสมมติของใครคนหนึ่ง หากแต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับแรงงานพนักงานหนุ่มสาวทั่วเอเชียที่ตอนนี้ต้องเริ่มกลับมาใช้วิถีชีวิตแบบใกล้เคียงปกติอีกครั้ง โดยเฉพาะคนที่ทำงานให้กับออฟฟิศที่บริษัทแม่เป็นบริษัทชาวตะวันตกที่ตอนนี้กลับมาทำงานเต็มเวลากันเหมือนเดิม เพราะสถานการณ์การระบาดของโควิดคลี่คลายลงไปมาก และไม่ต้องระแวดระวังกันหนักเหมือนก่อนอีก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘การลาออกครั้งใหญ่’ อาจกลายเป็น ‘การกลับไปทำงานครั้งใหญ่’ ด้วย 26% ของพนักงานที่ออกเสียใจกับการตัดสินใจ เพราะการหางานใหม่ ‘ยาก’ กว่าที่คิด
- เพราะไม่อยากจ่ายค่าชดเชย? Quiet Firing การทำให้พนักงานดิ่งจนถึงขีดสุดและยอมลาออกไปเอง
- ส่องปรากฏการณ์ Quiet Quitting ที่คนรุ่นใหม่ไม่เชื่อ ‘วัฒนธรรมการทำงานหนักแล้วจะได้ดี’ พร้อมคำแนะนำสำหรับองค์กรเพื่อรับมือ
เพียงแต่ชีวิตที่เปลี่ยนไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาทำให้ถึงจะทำให้ตัวของพนักงานกลับมาอยู่ประจำที่ออฟฟิศได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าใจของพวกเขาจะมาด้วย ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่น่ากังวลสำหรับนายจ้างเพราะคนที่กลับมานั้นไม่ได้มาทั้งใจ บ้างก็มีการต่อต้าน และทำให้ความรู้สึกของการเชื่อมต่อถึงกันในองค์กรหายไป หนักที่สุดคือมันจะนำไปสู่การลาออกซึ่งเป็นความสูญเสียในทางทรัพยากรบุคคล
เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าถ้าลูกจ้างเปลี่ยนวิธีคิด นายจ้างเองก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำแบบเดียวกัน
“ความยืดหยุ่นตอนนี้คือมาตรฐานสากลแบบใหม่ และเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่นายจ้างจะต้องพิจารณาการให้คุณค่าในความคิดของลูกจ้างใหม่อีกครั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาใหญ่ด้านความกังวลของแรงงานในเวลานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการแข่งขันเรื่องของค่าตอบแทนและโอกาสในการเติบโตตามสายงาน” ซาเมียร์ เบดี จากบริษัท EY ซึ่งทำหน้าที่ประธานที่ปรึกษาด้านแรงงานให้แก่ Association of Southeast Asian Nations กล่าว
ในการสำรวจของ EY ซึ่งมีการตีพิมพ์เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า 45% ของกลุ่มเป้าหมายในเอเชียจากบริษัทระดับชั้นนำมากกว่า 1,500 แห่ง และสัมภาษณ์แรงงานกว่า 17,000 คนใน 22 ประเทศ ระบุว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะลาออกจากงานภายใน 12 เดือนข้างหน้า โดยเหตุผลส่วนใหญ่คือความต้องการรายได้ที่สูงขึ้น โอกาสในหน้าที่การงานที่ดีขึ้น มีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมถึงปัญหาเรื่องเงินเฟ้อที่รุนแรง ตลาดแรงงานที่หดตัว และมีงานที่เสนอเรื่องของความยืดหยุ่นที่เพิ่มขึ้น
และในขณะที่บริษัทในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง หรือแม้แต่ในแอฟริกานั้นบริษัทมีความคาดหวังแค่ 5% หรือน้อยกว่าในการที่จะให้พนักงานกลับมาทำงานประจำที่ออฟฟิศเต็มเวลาเหมือนเดิม บริษัทในเอเชียกลับคาดหวังว่าพนักงานจะกลับมาทำงานเต็มเวลาถึงเกือบ 40% ซึ่งสูงกว่าเมื่อปีกลายที่ตัวเลขอยู่ที่ 26%
ขณะที่ มิเชล เหลียง เจ้าหน้าที่แผนกทรัพยากรบุคคลจาก Cigna International Markets ชี้ให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวในตลาดแรงงานที่ผันผวนสูงอย่างมากในช่วงการระบาดรุนแรงของโควิด
“หนึ่งในเทรนด์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เราได้เห็นในปี 2021 คือสิ่งที่เรียกว่า ‘The Great Resignation’ ที่มีการลาออกของพนักงานทั่วโลกสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่ในตอนนี้มีปรากฏการณ์ใหม่ที่เรียกว่า ‘The Great Reshuffle’ ที่สะท้อนถึงการที่แรงงานมีการทบทวนอาชีพการงานของตัวเองและเลือกเฉพาะงานที่ตอบสนองความต้องการอย่างแท้จริง”
เหลียงยังระบุว่ามีปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดความไม่พอใจและการทนอยู่ไม่ได้ของพนักงาน ซึ่งสิ่งที่สามารถแนะนำได้คือบริษัทจะต้องพยายามไล่ตามความคาดหวังของพนักงานให้ทันและปรับในเรื่องของสวัสดิการและผลตอบแทนใหม่
ยังมีผลสำรวจที่น่าตกใจที่ Cigna จัดทำขึ้นเองโดยสำรวจในกลุ่ม Expat จำนวนกว่า 12,000 คนที่ถูกบริษัทแม่ส่งไปทำงานยังสาขาต่างประเทศนั้นเริ่มประสบปัญหาภาวะความเครียดสูงสุดและเริ่มรู้สึกเบิร์นเอาต์ จนทำให้เริ่มทบทวนความสำคัญเรื่องชีวิตและการทำงาน ซึ่งอยากได้งานที่มีความยืดหยุ่นขึ้น หรืออย่างน้อยก็ขอให้ได้อยู่ใกล้ชิดกับเพื่อนและครอบครัวขึ้น
ปัญหาอื่นสำหรับลูกจ้างคือเรื่องของความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งในการสำรวจของ Accenture ที่สำรวจจากพนักงานกว่า 5,000 คน และผู้บริหารในระดับสูงอีก 1,000 คนในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์, อินเดีย, จีน และญี่ปุ่น พบว่ามีแค่ 40% ที่มีความผูกพันกับเพื่อนร่วมงานและบริษัท
ในเรื่องนี้อาจชวนให้สรุปแบบง่ายๆ ว่าเกิดจากผลกระทบของโรคระบาดที่ทำให้ต้องทำงานจากที่บ้านไม่ได้พบเจอคนอื่น แต่ตัวเลขสถิติกลับระบุว่าคนที่ทำงานออนไซต์จริงๆ กลับเป็นคนที่รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของทีมหรือของบริษัทน้อยที่สุด จนแทบจะบอกว่าไกลแค่ไหนคือใกล้เลย ซึ่งปัญหาที่คนกลุ่มนี้บอกคือพวกเขารู้สึกถูกมองข้ามจากหัวหน้าหรือเจ้านาย
ผลสำรวจเหล่านี้จึงเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของความคิด การให้คุณค่าของคนทำงาน ที่เวลานี้แค่เงินเดือนสูง ตำแหน่งหน้าที่การงาน ออฟฟิศสวยๆ อาจไม่เพียงพอที่จะมัดหัวใจให้พวกเขาอยู่กับองค์กรต่อไปได้ เพราะใครก็อยากมีชีวิตที่ดี ได้ทำงานกับหัวหน้าที่เข้าใจ และมีอิสระมากขึ้นกันทั้งนั้น จริงไหม
อ้างอิง: