×

ธนาคารกลางเอเชียผุดสารพัดกลยุทธ์ สร้างปราการปกป้องเงินสำรองประเทศ

16.10.2023
  • LOADING...
ธนาคารกลางเอเชีย

บรรดาธนาคารกลางทั้งหลายทั่วภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ กำลังหันมาใช้สารพัดแนวทางใหม่ๆ ในการปกป้องสกุลเงินของตนเอง เนื่องจากความกลัวต่ออัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่สูงขึ้นในระยะยาว และความตึงเครียดทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงลดลง

 

ทั้งนี้ สกุลเงินเอเชียมีความเสี่ยงต่อการเผชิญภาวะไหลออกเป็นพิเศษ เนื่องจากโดยทั่วไปอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในภูมิภาคจะต่ำกว่าสกุลเงินอื่นๆ ส่งผลให้เกิดความแตกต่างกับดอลลาร์สหรัฐในวงกว้างขึ้น

 

ยกตัวอย่างเช่น ทางการอินเดียกล่าวว่า ในเดือนตุลาคมนี้อินเดียต้องการขายพันธบัตรเพิ่มเติมเพื่อดูดซับเงินสด ซึ่งน่าจะช่วยหนุนค่าเงินรูปีได้ ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียในเดือนกันยายนเริ่มออกตราสารหนี้ใหม่ เพื่อดึงดูดการไหลเข้าและหนุนค่าเงิน ส่วนจีนกำลังขายพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นในต่างประเทศจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อเพิ่มอุปสงค์เงินหยวน

 

Eddie Cheung นักยุทธศาสตร์ตลาดเกิดใหม่อาวุโสที่ Crédit Agricole CIB ในฮ่องกง กล่าวว่า อินโดนีเซียและอินเดียกำลังออกพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเพื่อกระตุ้นการไหลเข้า ซึ่งเป็นวิธีใหม่ที่ค่อนข้างชาญฉลาด ที่ทั้งสองประเทศยังคงสามารถรองรับสกุลเงินได้โดยไม่ต้องใช้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ 

 

บรรดานักวิเคราะห์มองว่า การที่ประเทศในเอเชียทั้งหลายใช้วิธีที่สร้างสรรค์ในการสนับสนุนสกุลเงินของตนเอง เป็นหนทางหนึ่งในการขจัดปัญหาที่ต้องเลือกระหว่างการปล่อยให้สกุลเงินอ่อนค่าลง การผลาญเงินสำรอง หรือการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยและจำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ของ Bloomberg พุ่งขึ้นมากกว่า 6% จากระดับต่ำสุดในเดือนกรกฎาคม เนื่องจากเทรดเดอร์ได้เพิ่มเดิมพันเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ที่สูงขึ้น ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงทรงตัวระดับสูงและข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง ในเวลาเดียวกันสงครามในยูเครนและความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาสกำลังดันราคาน้ำมันให้สูงขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์ดอลลาร์ยังไม่เพียงพอ

 

นอกจากนี้แนวโน้มของสกุลเงินเอเชียถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับดัชนีตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก โดยค่าเงินหยวน รูปี และรูเปียห์ มีน้ำหนักรวม 45% ในดัชนีสกุลเงิน MSCI EM ส่วนพันธบัตรรัฐบาลของจีนและอินเดียคิดเป็นสัดส่วนรวมกัน 22.2% ของดัชนีพันธบัตรรัฐบาล JPMorgan-ตลาดเกิดใหม่ (JPMorgan Government Bond Index-Emerging Markets) ตามที่ตัวแทนจากธนาคารสหรัฐฯ ระบุ

 

Vishnu Varathan หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์และกลยุทธ์ ธนาคารมิซูโฮในสิงคโปร์ กล่าวว่า มาตรการจากอินเดียและอินโดนีเซียเป็นการเสริมความคิดสร้างสรรค์อย่างมากในการสนับสนุนสกุลเงินที่คำนึงถึงการใช้ทุนสำรอง FX อย่างรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเบิกเงินสำรองอาจเป็นดาบสองคมที่เน้นการขายออกทันที หากมีความกังวลเกี่ยวกับการเบิร์นเงินสดที่อาจเกิดขึ้น

 

ด้านธนาคารกลางจีนกำลังใช้มาตรการหลายอย่างเพื่อค้ำจุนค่าเงินของตน ในสัปดาห์นี้รัฐบาลจีนได้ประกาศการออกพันธบัตรรัฐบาลในสกุลเงินหยวนมูลค่า 2.6 หมื่นล้านหยวนในไตรมาสนี้ ส่งผลให้ยอดรวมในปี 2023 เพิ่มขึ้นเป็น 5.5 หมื่นล้านหยวน โดยนักลงทุนมองว่า เป้าหมายหลักของการออกหุ้นกู้คือการสนับสนุนเงินหยวนโดยการเพิ่มความต้องการใช้สกุลเงินหยวนในตลาด ขณะที่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาธนาคารกลางจีนได้เข้าแทรกแซงตลาดเงินหยวนนอกชายฝั่ง ทำให้ธนาคารต่างๆ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการยืมสกุลเงินจากกันและกันในฮ่องกง เพื่อลดความน่าดึงดูด

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งชี้ว่า มาตรการดังกล่าวบางส่วนมาพร้อมกับสิ่งที่ต้องแลกเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น กรณีของจีน นักลงทุนที่เป็นเจ้าของพันธบัตรของประเทศกำลังพบว่าการป้องกันความเสี่ยงทำได้ยากขึ้นเมื่ออัตราเงินสดเพิ่มขึ้น โดย Robert Samson หัวหน้าร่วมฝ่ายสินทรัพย์หลากหลายระดับโลกของ Nikko Asset Management ในสิงคโปร์ กล่าวว่า จู่ๆ พันธบัตรจีนก็ไม่น่าดึงดูดสำหรับตนเองอีกต่อไป เมื่อธนาคารกลางจีนเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินสดในต่างประเทศอย่างกะทันหัน 

 

กระนั้นแม้ว่ามาตรการสร้างสรรค์ต่างๆ จะไม่สามารถแทนที่การใช้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศโดยสิ้นเชิง แต่ก็ช่วยลดจำนวนเงินที่จำเป็นได้ โดยธนาคารกลางในตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่มีอัตราส่วนการนำเข้า ซึ่งหมายถึงจำนวนเดือนของการนำเข้าที่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสามารถครอบคลุมสูงกว่าเกณฑ์ทั่วไปที่กำหนดไว้ที่ 3 เดือน

 

สำหรับประเด็นที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้คือ การที่จีนจะเปิดเผย GDP ไตรมาส 3 ในวันพุธนี้ (18 ตุลาคม) โดยนักเศรษฐศาสตร์คาดว่าการเติบโตจะลดลงเหลือ 4.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี นอกจากนี้จีนยังจะแสดงตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในวันเดียวกัน ขณะที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียและธนาคารกลางเกาหลีใต้ต่างคาดการณ์ว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมในวันพฤหัสบดีนี้ (19 ตุลาคม) 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X