แอชลีย์ เกรแฮม นางแบบและพิธีกรชื่อดัง ได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร WSJ ฉบับล่าสุดประจำฤดูใบไม้ผลิว่า เธออยากจะให้คนเรียกเธอว่าเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง มากกว่าจำกัดว่าเป็นแค่นางแบบพลัสไซส์คนหนึ่ง
ในการสัมภาษณ์ผ่าน Zoom ระหว่างคุณแม่มือใหม่ที่เพิ่งให้กำเนิดลูกชายคนแรกชื่อว่า Isaac ไปเมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว เธอได้เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวตนจากบทบาทสำคัญในชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างการเป็นแม่คน
“ตอนนี้ฉันคือผู้หญิงไซส์ 16 เต็มตัวแล้ว ฉันไม่เคยแตะไซส์ 16 เลยตั้งแต่แต่งงาน” เกรแฮมกล่าวผ่าน Zoom ขณะให้นมลูกที่อพาร์ตเมนต์ในนิวยอร์ก “ฉันเกลียดการที่ต้องพูดคุยเรื่องรูปร่างของฉัน เพราะฉันรู้ว่าไม่มีผู้ชายคนไหนเขาทำเรื่องแบบนี้กัน แต่สิ่งที่ทำให้ฉันยังต้องพูดอยู่ เพราะตอนเด็กๆ ฉันไม่มีใครให้พูดคุย นั่นเป็นเหตุผลที่ฉันไม่ชอบโพสต์ภาพที่ดูสมบูรณ์แบบในโซเชียลมีเดีย ฉันอยากให้มันดูจริง เพราะฉันอยากให้ทุกคนรู้ว่ามีผู้หญิงที่มีเซลลูไลต์ มีไขมันที่หลัง มีรอยแตกลาย ผู้หญิงพลัสไซส์ ผู้หญิงอ้วน ผู้หญิงอวบ จะเรียกอะไรก็แล้วแต่” หลังจากนั้นทางนิตยสารได้ถามเธอว่าตัวเธอต้องการให้ถูกเรียกว่าอะไร เธอจึงตอบว่า “เรียกฉันว่าผู้หญิงคนหนึ่ง”
ซึ่งในปีที่ผ่านมา นอกจากเธอจะต้องเลี้ยงลูกในช่วงเวลาที่กักตัวแล้ว เธอได้เปิดเผยว่าได้มีการพบนักจิตบำบัดด้วยเช่นกัน “ตอนนี้มี Ashley ที่เป็นแบรนด์ และ Ashley ที่เป็นแม่คน เป็นภรรยา พวกเราติดอยู่ในบ้านหลังเดียวกันทั้งหมด แต่ตกลงฉันคือใครกันแน่ ฉันได้พูดคุยเรื่องนี้กับกับนักจิตบำบัด เพราะฉันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา”
เกรแฮมถือว่าเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญด้านความหลากหลาย และกระแส Body Positivity ในวงการแฟชั่น จากการที่เธอได้เป็นนางแบบพลัสไซส์คนแรกที่ได้ขึ้นปกนิตยสาร Vogue ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนมกราคมปี 2017, ก่อตั้งแบรนด์ชุดชั้นในสำหรับรูปร่างที่หลากหลาย และมี TED Talks เป็นของตัวเองเมื่อปี 2015 ซึ่งมีผู้ชมสูงถึง 4 ล้านวิวบน YouTube
นอกจากความสามารถและบทบาทที่หลากหลาย เธอยังมีรายการพอตแคสต์ส่วนตัวชื่อว่า Pretty Big Deal with Ashley Graham ที่สัมภาษณ์ผู้หญิงในวงการบันเทิง และแฟชั่นเกี่ยวกับชีวิตผู้หญิงยุคใหม่ที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น คิม คาร์ดาเชียน, เดมี โลวาโต, เฮลีย์ บีเบอร์, เคลลี โรว์แลนด์, Gayle King รวมไปถึง Patrisse Cullors ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Black Lives Matter ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่เธอสนใจและร่วมผลักดันความเท่าเทียมในสังคม
ภาพ: David Livingston/Getty Images
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: