×

‘ARUN PLUS’ คาดสิ้นปีนี้-ต้นปีหน้า จ่อปิดดีลรับ OEM รถ EV ลูกค้าจีน-ยุโรป มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท

03.11.2022
  • LOADING...

บริษัท อรุณ พลัส บริษัทย่อย PTT เผยความคืบหน้าร่วมทุน ‘ฟ็อกซ์คอนน์’ พร้อมลุยลงทุนเฟสแรกตามแผนกำลังผลิต 50,000 คันต่อปี ปลายปีนี้-ต้นปีหน้า จ่อเซ็นสัญญารับ OEM รถ EV ลูกค้าแบรนด์จีน-ยุโรป มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท

 

หลังจากเมื่อเดือนกันยายน 2564 บมจ.ปตท. (PTT) กับกลุ่ม ‘ฟ็อกซ์คอนน์’ ประกาศแผนร่วมทุนครั้งใหญ่ เพื่อลงทุนสร้างโรงงานฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร มูลค่ารวมประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ EEC ของไทย       


ข่าวที่เกี่ยวข้อง​: 


โดย PTT ส่ง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) บริษัทย่อยของ PTT เซ็นสัญญาร่วมทุนกับ บริษัท หลินยิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสเมนท์ จำกัด (Lin Yin International Investment) บริษัทในกลุ่มของ บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Hon Hai Precision Industry) หรือ ฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป (Foxconn Technology Group) ร่วมกันจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (HORIZON PLUS) โดยที่ ARUN PLUS ถือหุ้น 60% และหลินยิ่งถือหุ้นอีกสัดส่วน 40% ตามแผนความร่วมมือด้านการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย 

 

ทั้งนี้ HORIZON PLUS มีเป้าหมายที่จะก่อตั้งโรงงานผลิต EV บนพื้นที่กว่า 350 ไร่ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย โดยมีกำหนดแล้วเสร็จและสามารถผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 4 ล้อ หรือรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ออกสู่ตลาดได้ภายในปี 2567 มีกำลังการผลิตที่ 50,000 คันต่อปี ในระยะแรก และจะขยายกำลังการผลิตไปถึง 150,000 คันต่อปีภายในปี 2573 เพื่อให้สอดรับกับความต้องการใช้ EV ทั้งภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

ล่าสุด เอกชัย ยิ้มสกุล กรรมการผู้จัดการ ARUN PLUS ให้สัมภาษณ์ THE STANDARD WEALTH ว่า ปัจจุบันโครงการร่วมทุนสร้างโรงงานฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรกับกลุ่ม ‘ฟ็อกซ์คอนน์’ มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องด้วยดี โดยปัจจุบันบริษัทมีแผนที่เปิดเป็นโรงงานรับจ้างผลิตรถ EV ครบวงจร (OEM) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้าแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากทั้งประเทศจีนกับยุโรปจำนวนหลายรายที่สนใจเข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถ EV เพื่อขายในไทยและใช้เป็นฐานส่งออก แต่ไม่ต้องการลงทุนสร้างโรงงานเอง เพราะเป็นการลงทุนที่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล จึงมีแผนที่จะใช้การ OEM จาก HORIZON PLUS แทน ซึ่งใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนที่ต่ำกว่า 

 

สำหรับปัจจุบัน ผลการเจรจาลูกค้าแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ดังกล่าวมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น คาดว่า HORIZON PLUS น่าจะได้สรุปและเซ็นสัญญารับ OEM รถ EV เต็มกำลังผลิตในเฟสแรกที่ประมาณ 50,000 คันต่อปี หรือมีมูลค่ารวมราว 5 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยราว 1 ล้านบาทต่อคัน ได้ภายในช่วงสิ้นปี 2022 หรือภายในช่วงไตมาส 1/23 นี้ได้ จากนั้นก็จะเริ่มทยอยลงทุนในโครงการเฟสแรกด้วยงบลงทุนประมาณ 3.60 หมื่นล้านบาท จากนั้นโรงงานจะสร้างเสร็จสิ้นและเริ่มทดสอบระบบการผลิตได้ในปี 2023 และเริ่มผลิตรถ EV เชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่ปีไตรมาส 2/24 

 

ขณะเดียวกัน ยังมีแผนที่ใช้เงินลงทุนในเฟส 2 อีกประมาณ 2.40 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตรถ EV เป็น 1.50 แสนคันต่อปี เพื่อรองรับแบรนด์ผู้ผลิตรถ EV รายใหม่ที่จะเข้ามาใช้บริการ OEM รถ EV  HORIZON PLUS รวมถึง กลุ่ม ปตท. ก็อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปเพื่อทำแบรนด์ผลิตรถ EV เองอีกด้วย แต่ยังไม่สามารถระบุช่วงเวลาว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงเวลาได้

 

ส่วนกรณีที่โรงงานผลิตรถ EV จะเสร็จในปี 2024 หรืออีก 2 ปีจากนี้ ส่วนตัวมีมุมมองว่าไม่ได้ช้าเกินไป แต่กลับเป็นโอกาสในเชิงธุรกิจของ HORIZON PLUS รวมถึงกลุ่ม ปตท. ด้วยซ้ำ และแม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะเริ่มมีการนำเข้ารถ EV จากต่างประเทศทยอยมาเพิ่มขึ้น แต่ก็มีแบรนด์ผู้ผลิตรถ EV ต่างประเทศหลายรายต้องการมาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตทั้งเพื่อขายในประเทศและเป็นฐานการส่งออกไปต่างประเทศ แต่จะใช้วิธีการ OEM ทดแทนการสร้างโรงงาน อีกทั้งหากแบรนด์ผู้ผลิตรถ EV ต่างประเทศที่ใช้โรงงานของ HORIZON PLUS ผลิตรถ EV ออกขายในปี 2024 ยังมีสิทธิในการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์จากมาตรการสนับสนุนจากรัฐบาลอีกด้วย เช่น มาตรการปี 2022-2025 อย่างมาตรการลดภาษี EV กับการที่รัฐบาลให้เงินอุดหนุนรถยนต์ และรถกระบะคันละ 70,000-150,000 บาทต่อคัน 

 

ทั้งนี้สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการในปี 2030 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนการผลิตรถ EV เพิ่มเป็น 30% หรือประมาณ 7 แสนคันต่อปี จากกำลังผลิตรถยนต์รวมของทั้งประเทศอยู่ที่ราว 2 ล้านคันต่อปี เพิ่มจากปัจจุบันที่มีการผลิตรถ EV ในไทยที่น้อยมากอยู่ที่ราว 10,000 คันต่อปี จากยอดรถยนต์รวมที่ 1.60-1.70 ล้านคันต่อปี 

 

ดังนั้นจึงยังมองว่า โรงงานผลิตรถ EV ของ HORIZON PLUS ยังมีโอกาสเติบโตอีกค่อนสูงจากทั้งตลาดในประเทศจากนโยบายสนับสนุนของภาครัฐบาล รวมถึงราคาน้ำมันที่แพงส่งผลให้คนไทยเริ่มหันมาใช้รถ EV ต่อเนื่อง 

 

สำหรับตลาดการบริโภครถ EV ในประเทศ ประเมินว่ามีทิศทางการเติบโตที่ดี แต่ตัวเลขจะเป็นเท่าไรนั้นจะต้องพิจารณาข้อมูลอีกครั้ง ทั้งนี้ ตลาดการบริโภคนับเฉพาะรถยนต์สันดาปในประเทศในภาวะปกติ จะมีการเติบโตราว 2-3% ต่อปี ส่วนตลาดการบริโภครถ EV ของโลกก็มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องด้วยเช่นกัน จากเทรนด์ของโลกที่คนหันมาลดการใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นพลังงานเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนโดยใช้รถ EV เพิ่มขึ้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X