ต้องเรียกว่ากลายเป็นปรากฏการณ์ขับเคลื่อนทางสังคมและวัฒนธรรมที่ต้องจับตามองไปแล้ว หลังคณาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัย นักวิชาการ ภาคประชาชน รวมไปถึงศิลปินคนบันเทิง ที่ต่างออกมาเคลื่อนไหวผ่านพื้นที่โซเชียลมีเดียของตนเอง เพื่อเรียกร้องการเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเรียกร้องให้ภาครัฐหยุดคุกคามประชาชน กลายเป็นกระแสแฮชแท็ก #วันนี้ดาราCallOutหรือยัง
ล่าสุดเมื่อช่วงค่ำวานนี้ (13 สิงหาคม) ศิลปิน นักเขียน แวดวงวัฒนธรรม ในนามกลุ่มเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย ได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชนทั่วประเทศ โดยการพูดถึงปัญหาของสังคมไทยอย่างเปิดเผยนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 จนกระทั่งล่าสุดคือการเคลื่อนไหวบนเวทีชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ณ ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา พร้อมแนบรายชื่อประกอบแถลงการณ์
โดยแถลงการณ์มีใจความดังต่อไปนี้
สืบเนื่องจากที่กลุ่มนักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชนทั่วประเทศ ได้แสดงออกอย่างกล้าหาญในการพูดถึงปัญหาของสังคมไทยอย่างเปิดเผยมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 จนถึงขณะนี้ ในการชุมนุมทุกครั้งได้มีการเสนอข้อเรียกร้องเพื่อแก้ไขปัญหาทางโครงสร้างที่เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จนมาถึงข้อเสนอ 10 ประการในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ในเวทีชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน การปราศรัยในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ณ ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต รวมทั้งแถลงการณ์ของเยาวชนปลดแอก Free YOUTH และคณะประชาชนปลดแอก ที่มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ (หยุดคุกคามประชาชน, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่, ยุบสภาฯ) 2 จุดยืน (ไม่ยอมรับการทำรัฐประหาร, ไม่ยอมรับรัฐบาลแห่งชาติ) ข้อเสนอ 1 ความฝันที่สถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นไปอย่างสุจริตใจ สง่างาม ต่อการหยิบยก นำเสนอปัญหาต่างๆ ของประเทศอย่างมีอารยะ มิได้สร้างความวุ่นวาย ก้าวล่วง จาบจ้วง และใช้ความรุนแรงอย่างที่บางฝ่ายกล่าวหาและไม่สบายใจ หากแต่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพทางการแสดงออกอย่างถูกกฎหมายและชอบธรรม แต่กลับเป็นฝ่ายถูกละเมิด ข่มขู่คุกคาม ถูกบังคับให้ปิดปาก ให้ไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเสียเอง ทั้งจากเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย รัฐบาล และอำนาจอันธพาลในที่มืดที่ฉวยอ้างใช้ความสงบเรียบร้อย ความดี และศรัทธาเข้ากดปราบประชาชนผู้ส่งเสียงขอมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ
การปราศรัยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่มีการพูดถึงบทบาทและปัญหาของสถาบันกษัตริย์และสังคมไทยอย่างเปิดเผย โดยเสนอให้แก้ไขกฎหมายและรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยและให้รักษาสถานภาพของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เรา ผู้ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม ต่างมีความเห็นพ้องตรงกับกลุ่มคณาจารย์ที่ได้ออกแถลงการณ์ในกรณีข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของผู้ชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ว่าการแสดงออกครั้งนี้เป็นการแสดงออกตามครรลองของกฎหมาย บนหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย และเห็นด้วยกับแนวทางปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ตามข้อเสนอทั้ง 10 ประการของผู้ชุมนุม ข้อเสนอเหล่านี้คือข้อเสนออย่างตรงไปตรงมาในการธำรงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เรา คนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม ประสบกับปัญหาดังกล่าวนี้เช่นกัน เมื่อกลุ่มคนในเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมถูกกด ถูกแทรกแซงสามัญสำนึกในการสร้างเนื้อหาเรื่องราว หนทางของการสร้างสรรค์ ซึ่งถูกครอบและจำกัดเสรีภาพทางการแสดงออกผ่านระเบียบแบบแผน ธรรมเนียมประเพณี ซึ่งขยายพื้นที่ล้นเกินจนเป็นอรรถาธิบายหลัก ผ่านการทำงานของรัฐและกระทรวง ผ่านคุณค่าของความดี ความงาม ความจริงของธรรมเนียมปฏิบัติบังคับให้เราไม่อาจส่งเสียง นำเสนอความเห็นต่าง เสรีภาพทางการสร้างสรรค์ถูกบีบบังคับให้เหลือพื้นที่น้อยลงเรื่อยๆ และบังคับให้เราพอใจต่อการถูกขยายขอบเขตล้นเกินไม่จบสิ้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนทำงานศิลปะถูกติดตาม ข่มขู่คุกคามเพิ่มขึ้นอีกด้วยในยุคปัจจุบัน หากไม่สร้างงานผ่านอรรถาธิบายหลัก อันตรายถึงชีวิตจึงเกิดได้ทั้งการแทรกแซงทางเนื้อหา การสร้างสรรค์ และชีวิตของผู้ทำงาน
การสร้างผลงานศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็นภาพสะท้อนมโนทัศน์ของสังคมและจิตวิญญาณของปัจเจกบุคคล จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องธำรงรักษาเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะ และการเข้าถึงข้อเท็จจริงนั้นด้วย เพื่อให้การสร้างสรรค์นั้นมีอิสระ เป็นภาพสะท้อนความคิดเห็นของตนสู่สาธารณะได้อย่างแท้จริง เราส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมการแสวงหาทางออกของปัญหาด้วยการอภิปราย แม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่เราควรต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอันท้าทายนี้ด้วยความอดทนอดกลั้น อันเป็นลักษณะที่สำคัญอย่างยิ่งของสังคมประชาธิปไตย ทั้งนี้ การสร้างสรรค์นั้นไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือของการโฆษณาชวนเชื่อของบุคคลหรือองค์กรใด ด้วยกรอบของกฎหมายและงบประมาณสาธารณะ
เรา คนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม ขอเรียกร้องให้
- รัฐบาลและพรรคการเมืองหันหน้ามาเผชิญความจริงของปัญหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งถูกบังคับอยู่ในความเงียบมาตลอด และพิจารณาข้อเสนอ 10 ข้อ เพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างจริงจัง
- รัฐบาลและพรรคการเมืองยอมรับความคิดเห็นอันแตกต่างหลากหลายเป็นรากฐานของสังคมประชาธิปไตย
- ไม่ดำเนินคดีหรือใช้วิธีนอกกฎหมายคุกคามผู้ที่เสนอให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หรือผู้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญประท้วงรัฐบาล รวมถึงไม่ข่มขู่คุกคามผู้ออกมาประท้วง
- เปิดพื้นที่ให้พูดคุยประเด็นต่างๆ ที่มีความแหลมคมอย่างมีอารยะ เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน
- กองทัพต้องไม่ลิดรอนอำนาจประชาชนด้วยการทำรัฐประหารหรือใช้ความรุนแรงใดๆ
สำหรับรายนามผู้ร่วมลงชื่อแนบท้ายแถลงการณ์ สามารถอ่านได้จาก
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล