สถานการณ์ภัยแล้งยังคงเป็นวิกฤตที่หลายหน่วยงานยังคงเร่งแก้ไข และหาแนวทางเยียวยาผู้ประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง หลังมีการรายงานว่าสภาพน้ำในเขื่อนใหญ่ๆ ของประเทศยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง จนมีปริมาณน้ำที่เหลือใช้ได้จริงเพียง 23% เท่านั้น
ล่าสุด สุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ในขณะนี้ประเทศไทยในหลายพื้นที่กำลังประสบกับปัญหาฝนทิ้งช่วง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงส่งผลให้เกิดปัญหาภัยแล้ง และพื้นที่การเกษตรขาดแคลนน้ำ ดังนั้นกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงได้วางแผนแก้ไขปัญหาภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วงอย่างเร่งด่วน
โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวน 4 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น สุรินทร์ อุบลราชธานี และนครราชสีมา ซึ่งที่ผ่านมากรมฝนหลวงฯ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการทั้ง 4 หน่วย ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีปริมาณฝนตกหลายพื้นที่ สามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร และลดปัญหาฝนทิ้งช่วงได้ ทำให้พื้นที่การเกษตร อาทิ นาข้าว มันสำปะหลัง อ้อย และพืชผลผลิตอื่นๆ ฟื้นตัวกลับมาได้เป็นจำนวนมาก
ซึ่งปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อน กรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังเดินหน้าเติมน้ำใน 8 เขื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย
- เขื่อนอุบลรัตน์
- เขื่อนห้วยหลวง
- เขื่อนลำนางรอง
- เขื่อนลำมูลบน
- เขื่อนลำปลายมาศ
- เขื่อนลำแชะ
- เขื่อนลำปาว
- เขื่อนลำพระเพลิง
และยังรวมถึงเขื่อนขนาดกลางอีก 11 เขื่อนที่ได้ดำเนินการปฏิบัติการเติมน้ำไปบ้างแล้ว ซึ่งปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้วางแผนแก้ไขปัญหาภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วงอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดความเสียหายกับพี่น้องเกษตรกรให้น้อยที่สุด
นอกจากนี้ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังเผยต่อว่า เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยปัญหาฝนทิ้งช่วง โดยในวันนี้ 31 กรกฎาคม 2562 ได้ลงพื้นที่ตรวจปัญหาภัยแล้งในพื้นที่อีสานตอนบน ที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิในทุ่งกุลาร้องไห้ ที่เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากฝนทิ้งช่วง ทำให้นาข้าวได้รับความเสียหายจำนวนมาก และลงพื้นที่ติดตามปฏิบัติการเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงที่มีปริมาณน้ำน้อยมาก พร้อมเตรียมการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรจากปัญหาภัยแล้งโดยเร่งด่วน
ภาพ: ไทยคู่ฟ้า
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: