×

เรื่องราวของ ‘Artek’ การสร้างสรรค์แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ระดับตำนานจากฟินแลนด์

04.09.2021
  • LOADING...
Artek

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • Artek (อาร์เทค) แบรนด์เฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านที่มีต้นกำเนิดมาจากกรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ด้วยจุดมุ่งหมายที่ต้องการรวมเอาโลกสมัยใหม่หลอมเข้ากับโลกของศิลปะเข้าไว้ด้วยกัน นำเสนอผ่านเฟอร์นิเจอร์รูปแบบใหม่จากวัสดุที่มีคุณภาพและมีฟังก์ชันการใช้งานที่เหมาะสม
  • เก้าอี้ Paimio (ไพมิโอ) ที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อใช้งานในโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยวัณโรค Paimio Sanatorium จุดเด่นของเก้าอี้ตัวนี้อยู่ที่โครงสร้างซึ่งทำจากไม้อัดและไม้ลามิเนต เพื่อช่วยทำให้ผู้ป่วยรู้สึกถึงความอบอุ่น และช่วยให้ผู้ป่วยหายใจสะดวกขึ้นด้วย
  • เก้าอี้ Stool 60 (สตูล ซิกส์ตี้) ออกแบบขึ้นในปี 1933 เป็นตัวที่มีการเลียนแบบค่อนข้างเยอะ แต่วัสดุของจริงเป็นบีชแท้ซึ่งมีความแข็งแรงทนทาน อีกทั้งรูปทรงที่มีสามขาทำให้สามารถวางซ้อนกันได้ ทำให้สะดวกต่อการจัดเก็บ และการนำมาวางซ้อนกันยังเกิดเป็นโครงสร้างที่สวยงามอีกรูปแบบหนึ่ง 

“เป้าหมายสูงสุดของสถาปนิก…คือการสร้างสรรค์” คำกล่าวของ อัลวาร์ อัลโต (Alvar Aalto) หนึ่งในดีไซเนอร์นักออกแบบระดับโลกที่เคยกล่าวไว้ในปี 1957 คงไม่ผิดนัก เพราะในที่สุด สิ่งที่เขาได้สร้างสรรค์ไว้ตลอดจนแบรนด์ที่เขาได้ร่วมก่อตั้งอย่าง ‘Artek’ ก็ครองใจผู้คนจากทั่วโลกจวบจนถึงปัจจุบัน

 

Artek (อาร์เทค) แบรนด์เฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านที่มีต้นกำเนิดมาจากกรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ก่อตั้งขึ้นในปี 1935 โดยคู่รักสถาปนิกอย่าง อัลวาร์ อัลโต (Alvar Aalto) และ ไอโน อัลโต (Aino Aalto) ร่วมด้วยศิลปินและนักสะสมศิลปะอย่าง ไมรา กูลิคเชน (Maire Gullichsen) และนักประวัติศาสตร์ศิลป์อย่าง นิลส์-กุสตาฟ ฮาห์ล (Nils-Gustav Hahl) ด้วยจุดมุ่งหมายที่ต้องการรวมเอาโลกสมัยใหม่หลอมเข้ากับโลกของศิลปะเข้าไว้ด้วยกัน โดยนำเสนอผ่านเฟอร์นิเจอร์รูปแบบใหม่จากวัสดุที่มีคุณภาพและมีฟังก์ชันการใช้งานที่เหมาะสม

 

อัลวาร์ อัลโต (Alvar Aalto) สถาปนิกและนักออกแบบชื่อดังชาวฟินแลนด์ และหนึ่งในผู้ก่อตั้งแบรนด์ Artek

 

‘Artek’ (อาร์เทค) เป็นการผนวกกันของคำว่า ‘ศิลปะ’ (Art) และ ‘เทคโนโลยี’ (Technology) ตามที่ผู้ก่อตั้งทั้ง 4 คนได้ตั้งใจที่จะรวมองค์ประกอบทั้งสองด้านนี้เข้าไว้ด้วยกัน ดังจะเห็นได้จากตราสัญลักษณ์ของแบรนด์เมื่อก่อตั้งที่มีความสมัยใหม่ในยุคนั้น

 

โดยที่มาของชื่อ ‘Artek’ (อาร์เทค) คือการผนวกกันของคำว่า ‘ศิลปะ’ (Art) และ ‘เทคโนโลยี’ (Technology) ตามที่ผู้ก่อตั้งทั้ง 4 คนได้ตั้งใจที่จะรวมองค์ประกอบทั้งสองด้านนี้เข้าไว้ด้วยกัน โดยหนึ่งในหัวหอกคนสำคัญอีกทั้งยังเป็นผู้ออกแบบหลักให้กับแบรนด์อย่าง อัลวาร์ อัลโต สถาปนิกและนักออกแบบชื่อดังชาวฟินแลนด์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งยังเป็นนักออกแบบคนแรกๆ ของยุคที่ก้าวออกจากการออกแบบที่คำนึงเพียงประโยชน์ใช้สอย แต่เขากลับมองหาวัสดุใหม่ๆ เพื่อเพิ่มฟังก์ชันและดีไซน์ที่ทันสมัยขึ้น จนได้รับการขนานนามว่าเป็นสถาปนิกในยุคโมเดิร์นที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่ง

 

เก้าอี้ Paimio (ไพมิโอ) ที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อใช้งานในโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยวัณโรค Paimio Sanatorium จุดเด่นของเก้าอี้ตัวนี้อยู่ที่โครงสร้างซึ่งทำจากไม้อัดและไม้ลามิเนต เพื่อช่วยทำให้ผู้ป่วยรู้สึกถึงความอบอุ่น และช่วยให้ผู้ป่วยหายใจสะดวกขึ้นด้วย

 

โดยอัลวาร์เริ่มสร้างสรรค์ผลงานโดยใช้ไม้ลามิเนตที่ถือว่าเป็นวัสดุค่อนข้างแปลกใหม่ในช่วงปี 1920 ด้วยการบิดให้โค้งงอและขึ้นรูปให้มีรูปลักษณ์แบบงานประติมากรรม จนมาถึงในปี 1932 เขาได้ออกแบบเก้าอี้ Paimio (ไพมิโอ) เก้าอี้อาร์มแชร์ที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อใช้งานในโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยวัณโรค Paimio Sanatorium ซึ่งอัลวาร์ยังเป็นผู้ออกแบบอาคารแห่งนี้เองอีกด้วย จุดเด่นของเก้าอี้ตัวนี้อยู่ที่โครงสร้างซึ่งทำจากไม้อัดและไม้ลามิเนต เพื่อช่วยทำให้ผู้ป่วยรู้สึกถึงความอบอุ่น และช่วยให้ผู้ป่วยหายใจสะดวกขึ้นด้วย นับว่าเป็นงานดีไซน์ที่สอดแทรกการใช้งานได้อย่างกลมกล่อมและคลาสสิกอย่างไม่น่าเชื่อ 

 

จนในปี 1933 เขาก็ได้สร้างสรรค์เก้าอี้ Stool 60 (สตูล ซิกส์ตี้) เก้าอี้ที่อาจดูสุดแสนธรรมดาแต่ได้กลายเป็นหัวใจหลักของแบรนด์ Artek ที่นำไม้อัดมาสร้างสรรค์ด้วยเทคนิคการบิดโค้งจนเกิดดีไซน์ที่สะดุดตาและคงทน ในที่สุดก็ได้เริ่มใช้เทคนิคนี้ไปสู่การนำไม้อัดมาใช้ออกแบบงานดีไซน์อื่นๆ จนเกิดเป็นชิ้นงานสไตล์โมเดิร์นที่ดูล้ำสมัยกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ Artek นำไปสู่การพัฒนาออกแบบชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ L-leg (ขาตัวแอล) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเฟอร์นิเจอร์ชิ้นต่างๆ ของแบรนด์มากกว่า 50 ชนิด 

 

การนำไม้อัดมาสร้างสรรค์ด้วยเทคนิคการบิดโค้งจนเกิดดีไซน์ที่สะดุดตาและคงทน 

ในที่สุดก็ได้เริ่มใช้เทคนิคนี้ไปสู่การนำไม้อัดมาใช้ออกแบบงานดีไซน์อื่นๆ

 

เอกลักษณ์เฉพาะของ Artek สู่การพัฒนาออกแบบชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์คือเทคนิค L-leg (ขาตัวแอล) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเฟอร์นิเจอร์ชิ้นต่างๆ ของแบรนด์มากกว่า 50 ชนิดในปัจจุบัน

 

เส้นทางอาชีพนักออกแบบของอัลวาร์ เขาไม่ได้อยู่เพียงลำพัง หนึ่งคนสำคัญที่มีส่วนร่วมในเส้นทางความสำเร็จนั้นคือหญิงสาวผู้เป็นทั้งคู่ชีวิตและเพื่อนร่วมงานของอัลวาร์ นามว่า ไอโน อัลโต นั่นเอง ชีวิตรักของทั้งคู่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเฮลซิงกิ ไอโน อัลโต (ขณะนั้นใช้นามสกุล มาร์ซิโอ) เป็นคนมีระเบียบและขี้อายมาก แตกต่างจากบุคลิกของอัลโตที่เป็นคนมีชีวิตชีวาและมีความเป็นศิลปิน ทั้งคู่ก็ได้พบรักกันในรั้วมหาวิทยาลัย และได้แต่งงานในปี 1924 แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่ต่างกันระหว่างคนทั้งสองจะมีแค่เพียงนิสัย เพราะผลงานภายใต้บริษัท Arkkitehtitoimisto Aalto บริษัทที่ทั้งคู่ได้ร่วมกันก่อตั้งและสร้างสรรค์ผลงานตั้งแต่ปี 1920-1940 จะคล้ายกันมากจนยากที่จะแยกได้ว่าชิ้นไหนเป็นของอัลวาร์และชิ้นไหนเป็นของไอโน 

 

อย่างไรก็ตาม ไอโนมีหน้าที่ดูแลงานในส่วนของการออกแบบภายในและจัดนิทรรศการสถาปัตยกรรมเป็นหลัก ด้วยความชอบและเชื่อในหลักของเหตุและผล อีกทั้งยังเต็มไปด้วยความเรียบง่ายและความสวยงามในรูปแบบของไอโน ซึ่งล้วนเป็นการนำองค์ประกอบทั้งหลายเหล่านี้มาประยุกต์ใช้และเกิดขึ้นจริงตามหลักสมบูรณศิลปกรรม (Gesamtkunstwerk) 

 

ไอโน อัลโต (Aino Aalto) และ อัลวาร์ อัลโต (Alvar Aalto) 

 

ในที่สุดทั้งคู่ได้ร่วมกับ ไมรา กูลิคเชน (Maire Gullichsen) และ นิลส์-กุสตาฟ ฮาห์ล (Nils-Gustav Hahl) ก่อตั้งบริษัทเฟอร์นิเจอร์ Artek ขึ้นภายใต้แนวคิดที่ต้องการเชื่อมงานศิลปะและเทคโนโลยีเข้าไว้ด้วยกัน และยึดหลักให้ความสำคัญในด้านวัสดุ งานวิจัย คุณภาพ และความยั่งยืน ซึ่งพวกเขาเชื่อในการส่งเสริมทัศนศิลป์สมัยใหม่และการศึกษาแบบประชานิยมผ่านการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ให้ความสำคัญในด้านการใช้งานจริงมากกว่าความสวยงาม อันเป็นแนวคิดสำคัญของ Bauhaus ที่ว่า ‘Form following functions’ หรือคือการให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของสรีระมนุษย์และอากัปกิริยาต่างๆ ก่อน เป็นหลักในการออกแบบทุกครั้ง ดังจะเห็นได้จากเก้าอี้ Stool 60 (สตูล ซิกส์ตี้) ที่กลายเป็นตำนานแห่งการออกแบบในปัจจุบัน และชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ที่เรียกว่า L-leg หรือขาตัว L ที่สามารถใช้ยึดติดกับพื้นผิวโต๊ะได้โดยตรง 

 

โดยอัลวาร์ ได้จดสิทธิบัตรงานชิ้นนี้ในปี 1933 และเอาเทคนิคนี้มาใช้ในคอนเซปต์หลักของแบรนด์ Artek ที่ก่อตั้งขึ้น จนนำไปสู่การนำไม้อัดมาใช้ในรูปแบบต่างๆ เพื่อผสมความรู้สึกของการสัมผัสผิวไม้เข้ากับงานสไตล์โมเดิร์นที่ดูล้ำสมัย นับว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขา และในเวลาต่อมา อัลวาร์ยังได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ในการดัดและเทคนิคการเชื่อมไม้ไปสู่การพัฒนาในระดับอุตสาหกรรม เกิดการผลิตในรูปแบบที่ทันสมัยขึ้น และยังคงส่งผลมาถึงเฟอร์นิเจอร์ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันในอีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมอัลวาร์และไอโนจึงได้รับการยอมรับในฐานะผู้บุกเบิกเฟอร์นิเจอร์สมัยใหม่อย่างแท้จริง

 

นับตั้งแต่ปี 1935 เป็นต้นมา เก้าอี้แบบสตูลถูกจำหน่ายไปแล้วกว่า 500,000 ชิ้นทั่วโลก

 

นับตั้งแต่ปี 1935 เป็นต้นมา เก้าอี้แบบสตูลถูกจำหน่ายไปแล้วกว่า 500,000 ชิ้นทั่วโลก และความนิยมของแบรนด์ Artek ก็ไม่มีทีท่าว่าจะจางหาย จนในที่สุดร้านแรกของ Artek ก็ได้เปิดตัวขึ้นในปี 1936 โดยจัดแสดงผลงานการออกแบบที่แตกต่างและไม่เหมือนใครของ อัลวาร์ อัลโต นอกจากนี้ภายในร้านยังจัดแสดงงานดีไซน์ใหม่ๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เข้ามาเยี่ยมชมจนถึงทุกวันนี้ 

 

ร้านแรกของ Artek ในปี 1936 ในตึก Fabianinkatu กลางเมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์

 

โดยกลุ่มสินค้าของ Artek ปัจจุบันประกอบไปด้วยสินค้าดีไซน์คลาสสิกโดยฝีมือของนักออกแบบชั้นนำชาวฟินแลนด์ รวมไปถึงนักออกแบบร่วมสมัยจากทั่วโลก ครอบคลุมทั้งเฟอร์นิเจอร์ โคมไฟ สิ่งทอ และของตกแต่งบ้าน โดยสินค้าส่วนใหญ่ผลิตขึ้นที่เมืองทัวร์คู ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเป็นฐานการผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่สำคัญของ Artek มาตั้งแต่แรกเริ่ม โดยปัจจุบันผลงานดีไซน์ของ Artek ที่มีชื่อเสียงและยังได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ 

 

เก้าอี้อาร์มแชร์ Paimio ที่ถูกออกแบบขึ้นในปี 1932 เพื่อใช้งานในโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยวัณโรค Paimio Sanatorium ซึ่ง อัลวาร์ อัลโต (Alvar Aalto) เป็นผู้ออกแบบอาคารแห่งนี้เองอีกด้วย จุดเด่นของเก้าอี้ตัวนี้อยู่ที่โครงสร้างซึ่งทำจากไม้อัดและไม้ลามิเนต เพื่อช่วยทำให้ผู้ป่วยรู้สึกถึงความอบอุ่น และช่วยให้ผู้ป่วยหายใจสะดวกขึ้นด้วย

 

ขาตัวแอล L-Leg ที่ได้รับการจดสิทธิบัตร เป็นไม้เนื้อแข็งขึ้นรูปที่ถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์สำหรับแบรนด์กว่า 50 ชนิด ช่วยสร้างเอกลักษณ์ที่น่าจดจำให้กับแบรนด์ และในขณะเดียวกันก็ทำให้ดีไซน์แต่ละแบบสามารถนำไปผลิตเชิงอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกได้คราวละมากๆ อย่างสะดวก

 

Tea Trolley 900 (ที ทรอลลีย์ 900) ถูกจัดแสดงครั้งแรกในงานเวิลด์เอ็กซ์โปปารีสเมื่อปี 1937 โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรมการดื่มชาของชาวอังกฤษ และงานไม้แบบญี่ปุ่นที่ผสานเสน่ห์ของกระเบื้องและงานจักสานในงานไม้ขึ้นรูปโค้งอันเป็นเอกลักษณ์ของ Alvar Aalto

 

เก้าอี้ Stool 60 (สตูล ซิกส์ตี้) อาจจะดูเหมือนเก้าอี้เรียบง่ายทั่วไป แต่นี่คือดีไซน์ขายดีของ Artek ที่เป็นที่จดจำไปทั่วโลก ออกแบบขึ้นในปี 1933 เป็นตัวที่มีการเลียนแบบค่อนข้างเยอะ แต่วัสดุของจริงเป็นบีชแท้ ซึ่งมีความแข็งแรงทนทาน อีกทั้งรูปทรงที่มีสามขาทำให้สามารถวางซ้อนกันได้ สะดวกต่อการจัดเก็บ และการนำมาวางซ้อนกันยังเกิดเป็นโครงสร้างที่สวยงามอีกรูปแบบหนึ่ง จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่จะกลายเป็นอีกหนึ่งเก้าอี้ที่ยังได้รับความนิยม และมีงานคอลลาบอเรชันออกมาเรื่อยๆ กับศิลปินอย่าง บาร์บารา ครูเกอร์ (Barbara Kruger) และ จอห์น บูธ (John Booth) อีกด้วย

 

Domus เก้าอี้โดมุส ออกแบบโดย อิลมารี ทาปิโอวารา (Ilmari Tapiovaara) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์สำหรับหอพักนักศึกษา Domus Academica ในเฮลซิงกิ และกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ฮิตไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพราะความนั่งสบาย และมีที่เท้าแขนให้ผู้นั่งสามารถเลื่อนเก้าอี้ไปชิดกับโต๊ะเขียนหนังสือได้มากขึ้น

 

Rope เก้าอี้โรป คอลเลกชันที่เป็นหนึ่งเดียวกับดีเอ็นเอของ Artek ออกแบบโดย โรนัน และ เออร์วัน บูรูลเลค (Ronan & Erwan Bouroullec) ที่นำเสนอการใช้วัสดุแบบใหม่ให้กับแบรนด์ ขับเคลื่อนภาษาของการดีไซน์สไตล์ Artek อย่างละเมียดละไม แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงรากเหง้าแห่งการคิดนอกกรอบของแบรนด์เอาไว้

 

Karuselli Lounge Chair เก้าอี้เลานจ์คารุสซาลี ที่ออกแบบโดยนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ชาวฟินแลนด์ ยูโจ คูคคาปุโระ (Yrjö Kukkapuro) ผู้ที่ให้ความสนใจและใส่ใจเป็นพิเศษกับเรื่องของความสะดวกสบายในการนั่งที่มาควบคู่กับฟังก์ชันการใช้งาน อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ รวมไปถึงรูปแบบการนั่งที่เป็นธรรมชาติ โดยได้แรงบันดาลใจจากการปั้นเก้าอี้หิมะโดยบังเอิญขณะออกไปเล่นข้างนอกกับลูกสาวในฤดูหนาว  

 

โครงการ 2nd Cycle ในปี 2006 เพื่อนำสินค้าของ Artek ที่พบเจอในตลาดนัด ร้านขายของมือสอง และโรงเรียนเก่ามาจำหน่ายอีกครั้ง เพื่อต่อชีวิตให้กับงานดีไซน์ และสนับสนุนวิถีบริโภคนิยมที่ใส่ใจความยั่งยืน

 

แบรนด์ Artek ยังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน และวิถีการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมมาตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจ และริเริ่มโครงการ 2nd Cycle ในปี 2006 เพื่อนำสินค้าของ Artek ที่พบเจอในตลาดนัด ร้านขายของมือสอง และโรงเรียนเก่ามาจำหน่ายอีกครั้ง เพื่อต่อชีวิตให้กับงานดีไซน์ และสนับสนุนวิถีบริโภคนิยมที่ใส่ใจความยั่งยืน  

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising