×

เปิดมติเห็นชอบ ‘อรุณ บุญชม’ เป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 19 รู้จักที่มา-อำนาจของตำแหน่งนี้

โดย THE STANDARD TEAM
22.11.2023
  • LOADING...

วันนี้ (22 พฤศจิกายน) ที่ประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ ลงมติเลือก อรุณ บุญชม ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร, รองประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี เป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 19 แห่งราชอาณาจักรไทย

 

ที่ประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศเกิดขึ้นภายหลังการถึงแก่อนิจกรรมของ อาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรีคนก่อนหน้า เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา

 

การประชุมวันนี้จัดขึ้นที่ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ โดยมี ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในที่ประชุม เริ่มต้นขึ้นในเวลา 09.00 น. และดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 และกฎกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง

 

โดยในที่ประชุมมีผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี 3 คน ใช้เวลาราว 3 ชั่วโมงเศษในการลงคะแนนและนับคะแนน จึงได้ข้อสรุปผลการลงมติดังนี้

 

ผู้มีสิทธิลงคะแนนในครั้งนี้มี 723 คน บัตรดี 715 ใบ บัตรเสีย 7 ใบ ไม่ประสงค์ออกเสียง 1 ใบ

 

หมายเลข 1 ประสาน ศรีเจริญ รองประธานผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ได้รับคะแนนเสียง 129 คะแนน

 

หมายเลข 2 อรุณ บุญชม ประธานกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ได้รับคะแนนเสียง 471 คะแนน

 

หมายเลข 3 วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ อิหม่ามประจำมัสยิดบ้านเหนือ จังหวัดสงขลา ได้รับคะแนนเสียง 115 คะแนน

 

เป็นอันว่าที่ประชุมมีมติเลือกอรุณ เป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 19 โดยกระทรวงมหาดไทยจะได้นำเสนอรายชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีตามที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบส่งให้นายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรีคนต่อไป

 

ที่มาของตำแหน่งจุฬาราชมนตรี

 

จุฬาราชมนตรีเป็นตำแหน่งผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย ถือเป็นผู้นำสูงสุดของชาวมุสลิมในประเทศไทย และเป็นตำแหน่งฝ่ายอิสลามให้ข้อปรึกษาด้านศาสนาอิสลามแก่รัฐบาลไทย โดยเฉพาะแก่กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงวัฒนธรรม มีประวัติมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา

 

จุฬาราชมนตรีคนแรกของไทยคือ เจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี (เฉกอะหมัด) ซึ่งเป็นชาวอิหร่านนับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ เดินทางเข้ามาทำการค้าขายที่ตำบลท่ากายีใกล้กรุงศรีอยุธยา การค้าขายได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับ

 

ต่อปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ได้โปรดเกล้าฯ เจ้าพระยาเฉกอะหมัดให้เป็นพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าขวา และจุฬาราชมนตรี จึงถือว่าเป็นปฐมจุฬาราชมนตรี และยังเป็นต้นสกุลบุนนาค ต้นสกุลของเจ้าพระยาหลายท่านในระยะเวลาต่อมา

 

ปัจจุบันตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเป็นตำแหน่งที่ถูกรับรองโดย พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ในมาตรา 6 ที่บัญญัติไว้ตอนหนึ่งว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีคนหนึ่ง เพื่อเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย

 

“ให้นายกรัฐมนตรีนำชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรี”

 

เปิดคุณสมบัติของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นจุฬาราชมนตรี

 

คุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับเสนอชื่อเป็นจุฬาราชมนตรี มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 บัญญัติว่า จุฬาราชมนตรีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

 

  1. เป็นมุสลิมผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
  2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีบริบูรณ์
  3. เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในศาสนาอิสลามเป็นอย่างดี
  4. เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามโดยเคร่งครัด
  5. เป็นผู้มีความสัมพันธ์อันดีกับทุกศาสนา
  6. เป็นผู้มีความเลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
  7. ไม่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย
  8. ไม่เป็นผู้เคยถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
  9. ไม่เป็นผู้ทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไร้ความสามารถหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
  10. ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

 

และมาตรา 9 บัญญัติไว้ว่า กรณีที่จุฬาราชมนตรีพ้นจากตำแหน่งเมื่อตาย ลาออก หรือมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7

 

อำนาจหน้าที่ของจุฬาราชมนตรี

 

มาตรา 8 ของ พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 บัญญัติว่า จุฬาราชมนตรีมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

 

  1. ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นต่อทางราชการเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลาม
  2. แต่งตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม
  3. ออกประกาศแจ้งผลการดูดวงจันทร์ตามมาตรา 35 (11) เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา
  4. ออกประกาศเกี่ยวกับข้อวินิจฉัยตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising