×

“บ้านเมืองไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง” ทนายอานนท์ เปิดใจหลังถูกแจ้งความกรณีปราศรัยม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์

โดย THE STANDARD TEAM
05.08.2020
  • LOADING...

ความคืบหน้าหลังจากเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มมอกะเสดนัดจัดกิจกรรมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภายใต้ชื่อกิจกรรม #เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย โดยนำเอาวรรณกรรมชื่อดัง ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ มาใช้เป็นไฮไลต์ของกิจกรรม ซึ่งในวรรณกรรมเรื่องนี้มีตัวร้ายที่ถูกเรียกว่า ‘คุณก็รู้ว่าใคร’ เพราะตัวละครในเรื่องต่างตกอยู่ภายใต้ความกลัว ไม่กล้าเอ่ยชื่อตรงๆ และเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมเสกคาถาเวทมนตร์

 

วันนี้ (5 สิงหาคม) ที่สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ อภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะทนายความประจำสำนักกฎหมาย อัมพร ณ ตะกั่วทุ่ง และเพื่อน เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ. อิทธิพล พงษ์ธร ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ เพื่อให้ดำเนินคดีกับ อานนท์ นำภา ทนายความ กรณีจัดชุมนุมปราศรัยละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะ โดยนำเอกสาร คลิปเสียง และคลิปวิดีโอมามอบเป็นหลักฐาน

 

สำหรับกิจกรรมการปราศรัยดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 20.00 น. เมื่อ อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนขึ้นเวที โดยก่อนหน้านั้นเขาประกาศแล้วว่าจะมาพูดเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยอานนท์กล่าวว่าเรื่องนี้ทุกคนจะต้องพูดในที่สาธารณะ โดยพูดด้วยความเคารพ การพูดเช่นนี้ไม่ใช่การพูดเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นการพูดเพื่อให้สถาบันอยู่อย่างถูกต้องชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรพูดเรื่องเหล่านี้แทนประชาชน

 

อานนท์กล่าวถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยในหลายประเด็น ส่วนหนึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายและการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใต้รัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งขณะที่เป็นรัฐบาล คสช. และหลังการเลือกตั้งที่ส่งผลต่อพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย

 

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ได้รายงานถึงตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปราศรัยของอานนท์ในเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์จำนวน 4 ประเด็น ดังนี้

 

  1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งหลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2560) ผ่านประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้นำร่างดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 ต่อมาได้มีข้อสังเกตพระราชทาน นายกรัฐมนตรีจึงรับทูลเกล้าฯ กลับมาแก้ไข และทูลเกล้าฯ อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 เนื้อหาส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปตามข้อสังเกตพระราชทาน

 

  1. กฎหมายจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ โดยเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2560 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 โดยที่ไม่ปรากฏว่าหน่วยงานใดจัดทำร่างและเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และไม่แน่ชัดว่ามีการพิจารณากันเมื่อใด 

 

สำหรับเหตุผลในการออกที่ระบุไว้ท้ายพระราชบัญญัติฯ อธิบายว่า โดยที่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ที่ทรงใช้ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ จึงสมควรให้การจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อให้การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินนั้นเป็นไปโดยเหมาะสมตามที่จะทรงมีพระราชวินิจฉัยและเป็นไปตามโบราณราชประเพณี ซึ่งจะสอดคล้องกับการจัดระเบียบราชการในพระองค์ตามที่ได้มีการตรากฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการในพระองค์ขึ้นใช้บังคับแล้วด้วย

 

ทั้งนี้ พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 ที่ออกใหม่นี้ยังมีข้อแตกต่างที่สำคัญจากกฎหมายเดิมใน 3 ประการ

 

  1. การออก พ.ร.ก. โอนอัตรากำลังพลฯ โดยเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 สภาผู้แทนราษฎรลงมติอนุมัติพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 (พ.ร.ก. โอนอัตรากำลังพลฯ) ด้วยคะแนนเห็นชอบ 376 เสียง ไม่เห็นชอบ 70 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง 

 

  1. งบประมาณที่ใช้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งตาม พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 ที่ใช้เวลาพิจารณาและถกเถียงกันในสภาผู้แทนราษฎรยาวนาน จนกระทั่งผ่านออกมาบังคับใช้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ได้กำหนดการใช้จ่ายงบประมาณเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ ซึ่งเว็บไซต์ประชาไทสรุปไว้ว่างบประมาณแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 รายจ่ายโดยตรง 19,685 ล้านบาท ส่วนที่ 2 รายจ่ายโดยอ้อม 10,043 ล้านบาท รวม 29,728 ล้านบาท และยังมีโครงการที่ใช้ชื่อเกี่ยวเนื่อง 1,262 ล้านบาท

 

โดยในวันนี้ อานนท์ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ความสำคัญและจำเป็นที่ต้องพูดถึงการขยายอำนาจของสถาบันกษัตริย์ก็เพื่อให้สังคมร่วมกันตั้งคำถามและหาทางแก้ปัญหาบ้านเมืองร่วมกัน เพราะบ้านเมืองไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของพวกเราทุกคน 

 

“ถ้าการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้เป็นผล ทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมืองและอยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ดอกผลของการต่อสู้จะตกแก่คนไทยทุกคน รวมถึงคนที่ออกมาแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มนี้ด้วย เชื่อมั่นและศรัทธาในประชาชน”

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising