×

อาร์เมเนียส่อเค้า ‘ย้ายฟาก’? หลัง CSTO ไร้น้ำยา ไม่ช่วยปกป้องภัยคุกคามจากอาเซอร์ไบจาน

05.10.2022
  • LOADING...
อาร์เมเนีย

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • CSTO คือกลุ่มพันธมิตรทางทหารที่จัดตั้งโดยรัสเซีย มีพันธกิจในการรักษาความมั่นคงและอำนาจอธิปไตยของประเทศสมาชิกจากภัยคุกคามของฝ่ายที่สามหรือในอีกชื่อคือ ‘นาโต้ฝั่งรัสเซีย’
  • อาร์เมเนียคือหนึ่งในสมาชิกของ CSTO ที่ในทางเทคนิคอยู่ในภาวะสงครามกับอาเซอร์ไบจานมากว่า 30 ปี มีการปะทะกันทางทหารหลายครั้งและมักเสียเปรียบอาเซอร์ไบจาน
  • ทั้งอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานต่างเป็นรัฐของอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งถือกันว่าเขตอิทธิพลโดยประเพณีแล้ว รัสเซียถือเป็น ‘พี่ใหญ่’ เมื่อ ‘น้อง’ ทะเลาะกันก็จะเป็น ‘กาวใจ’ ที่ทุกฝ่ายให้ความเกรงใจและเชื่อฟัง จนกระทั่งสงครามในยูเครนส่งผลต่อบทบาทในแง่นี้ของรัสเซียที่เปลี่ยนไปอย่างเลี่ยงไม่ได้
  • กลายเป็นสุญญากาศทางอำนาจ อิทธิพลในถิ่นรัสเซียเองเปิดโอกาสให้มหาอำนาจตะวันตกเข้ามาแสดงอิทธิพล เมื่อประชาชนชาวอาร์เมเนียจำนวนหนึ่งไม่พอใจ และเริ่มตั้งคำถามต่อการมีอยู่ของ CSTO ที่นำโดยรัสเซีย

ถ้ายังจำกันได้ เมื่อช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวการปะทะกันทางทหาร (อีกแล้ว) ระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจาน บนพื้นที่พิพาท ‘นากอร์โน-คาราบัค’ โดยถือว่าเป็นครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 2 ปีนับตั้งแต่การปะทะรุนแรงล่าสุดเมื่อปลายปี 2020 รอบนี้ก็มีการสูญเสียค่อนข้างหนักหน่วงเช่นกัน แต่ก็หยุดยิงกันได้และดูเหมือนว่าจะมาเร็วไปเร็ว

 

แต่ที่ไหนได้ ไม่กี่วันที่ผ่านมาดูเหมือนว่าอาเซอร์ไบจานจะได้โอกาส เลยถล่มอาร์เมเนียไม่ยั้งมืออีกครั้งด้วยอาวุธทั้งปืนใหญ่ ปืนครก และอาวุธขนาดใหญ่อื่นๆ จนสามารถเข้ายึดครองแผ่นดินน้อยๆ ของอาร์เมเนียได้บางส่วน ราวกับว่าได้ใจ ไม่มีใครเป็นก้างขวางคอมาช่วยอาร์เมเนียอีก เพราะพี่เบิ้มอย่างรัสเซียกำลังวุ่นทำสงครามในยูเครน

 

อันที่จริงอาร์เมเนียในฐานะรัฐสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วม (Collective Security Treaty Organization: CSTO) ที่มีรัสเซียนั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน (จะเรียกว่าเป็นนาโต้ของฝั่งรัสเซียก็ว่าได้) ก็ควรจะได้รับสิทธิ์จากข้อตกลงตามสนธิสัญญา ที่เมื่อไม่ว่าอาร์เมเนียมีภัยคุกคามความมั่นคงหรืออำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนใด ก็ควรที่จะได้รับความช่วยเหลือทันทีจากเหล่ารัฐสมาชิก เห็นกันจะๆ คือภัยจากอาเซอร์ไบจานที่เข้มแข็งกว่าด้วยการหนุนของตุรกี ที่อาร์เมเนียโดนถล่มเละหลายรอบ และแม้อาร์เมเนียจะพยายามร้องขอไปกี่ครั้ง เสียงของอาร์เมเนียนั้นก็ราวกับว่าเป็นคลื่นกระทบทรายที่ดังแล้วก็เงียบไปเฉยๆ

 

อันที่จริงตัว CSTO เองก็ใช่ว่าจะไร้น้ำยาในทุกๆ เรื่อง เหมือนกับที่ NATO มักจะโดนแซวอยู่บ่อยๆ ว่าย่อมาจาก No Action Talk Only เพราะเหตุการณ์ล่าสุดที่ CSTO เข้าไปมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกนั่นก็คือ กรณีจลาจลรุนแรงทั่วคาซัคสถานเมื่อช่วงเข้าปีใหม่ 2021 

 

ถ้าทุกท่านยังจำกันได้ ณ ช่วงนั้นคาซัคสถานเกิดเหตุการณ์น้ำผึ้งหยดเดียว เมื่อรัฐบาลประกาศขึ้นราคาเชื้อเพลิง จนกระทั่งสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน กลายเป็นจลาจลใหญ่ลุกลามไปทั่วประเทศ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอย่างตำรวจและทหารที่มีทั้งประเทศยังเอาเกือบไม่อยู่ 

 

รัฐบาลคาซัคสถานนำโดยประธานาธิบดี คาสซิม โจมาร์ทโตกาเยฟ จึงต้องร้องขอไปยัง CSTO ให้ช่วยส่งกองกำลังรักษาสันติภาพ (Peacekeepers) เข้ามาควบคุมสถานการณ์ในคาซัคสถาน ไม่นานเกินรอ ทั้งรัสเซีย เบลารุส และอาร์เมเนีย ในฐานะภาคี CSTO ได้ร่วมกันจัดตั้งกองกำลังรักษาสันติภาพเฉพาะกิจ เข้าไปปราบปรามความไม่สงบในคาซัคสถาน จนควบคุมสถานการณ์ได้ทันท่วงที

 

ในขณะที่อาร์เมเนียโดนยำแล้วยำอีก แต่ก็ยังไม่มีใครช่วยเท่ากรณีของคาซัคสถาน ใจเขาใจเรา ถ้าเราเป็นอาร์เมเนียก็คงต้องน้อยใจเหมือนกัน

 

อาร์เมเนีย

ภาพ: Alexander Nemenov / Pool / AFP

 

มีอยู่ 3 ประเด็นชวนคิด บวกกับตัวแปรหลักที่ขาดไม่ได้ในเรื่องนี้คือ ‘รัสเซีย’ ผู้เป็นผู้จัดตั้ง CSTO 

 

ประเด็นแรกคือ รัสเซียในฐานะพี่ใหญ่ของกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียตและมีอาณาบริเวณดังกล่าวเป็นเขตอิทธิพล (Sphere of Influence) ต้องคอยดูแลน้องๆ และที่ผ่านมาเมื่ออาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจานมีปัญหากัน จนถึงกับต้องลากปืนมายิงกันหลายครั้ง และต่อให้อาร์เมเนียเป็นสมาชิก CSTO ที่ได้รับสิทธิ์ในการปกป้อง รัสเซียในฐานะผู้ก่อตั้ง CSTO ก็ไม่เคยใช้ไม้แข็งใช้กำลังถล่มตอบโต้อาเซอร์ไบจานเลย เนื่องจากรัสเซียเองก็ยังคงต้องเลี้ยงอาเซอร์ไบจานเป็นน้องเหมือนกับอาร์เมเนียด้วย ทุกครั้งทางออกที่ได้จึงจะเป็นแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น เราจะเห็นภาพเมื่อสองประเทศนี้ตีกันทีไร ภาพที่ตามมาคือผู้นำรัสเซียจะนั่งเป็นหัวโต๊ะให้น้องๆ ทั้งสองมาเคลียร์ใจกันต่อหน้า ความรุนแรงในแต่ละครั้งจึงยุติลงได้

 

ประเด็นที่สองคือ สถานะพี่ใหญ่สำหรับน้องๆ ของรัสเซียเริ่มสั่นคลอนจากภาวะการติดพันสงครามในยูเครน อย่างที่ทราบกันดีว่าสงครามในยูเครนที่รัสเซียเรียกว่า ‘ปฏิบัติการทางทหาร’ มีความเข้มข้น ต้องใช้ทรัพยากรและสมาธิอย่างมหาศาลในสมรภูมินี้ จนไม่มีเวลาไปโฟกัสเรื่องอื่นๆ อย่างที่เคยเป็นมา พูดอีกแง่คือ ที่รัสเซียเคยตั้งเป้าว่า CSTO จะเป็นอีกบล็อกหรือกลุ่มพันธมิตรทางทหารทางเลือกหนึ่งของโลกในการรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและความมั่นคงด้านต่างๆ ทั่วโลก ทั้งในเขตอดีตสหภาพโซเวียตหรือสงครามในซีเรีย เมื่อทศวรรษที่ผ่านมาที่รัสเซียมีบทบาทอย่างมากในการฟื้นฟูเสถียรภาพของซีเรียจากอาหรับสปริง และการผงาดขึ้นมาของ ISIS เมื่อรัสเซีย ‘ยุ่ง’ อยู่กับยูเครนและโลกตะวันตกแบบนี้ จึงไม่มีเวลามาทำหน้าที่พี่ใหญ่เคลียร์ใจน้องๆ อย่างที่เคยเป็นมาได้อย่างเต็มที่ 

 

ผลคืออาเซอร์ไบจานใช้ช่องโหว่ของจังหวะนี้กลับมาถล่มอาร์เมเนียแบบดูก็รู้ว่าจงใจ ครั้งแรกหยั่งเชิงดูปฏิกิริยารัสเซีย เมื่อยังเฉยอยู่จึงมีครั้งต่อๆ มา ห่างกันไม่กี่วันได้ทีถล่มซ้ำๆ สิ่งนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นผลจากสุญญากาศอำนาจอิทธิพลรัสเซียในดินแดนนี้

 

จึงนำมาสู่ประเด็นที่สามคือ สุญญากาศแห่งอำนาจนำมาสู่การเปิดโอกาสให้มหาอำนาจข้างนอกเข้ามาสร้างอิทธิพลได้ ดูได้จากกรณีที่ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกา ผู้ที่ได้รับชื่อว่าเป็น ‘ผู้อยู่ศูนย์กลางในทุกวิกฤตโลก’ ได้เดินทางมาเยือนกรุงเยเรวานของอาร์เมเนียอย่างเป็นทางการและได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี กรณีนี้เป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญมาก เพราะเป็นการเยือนของผู้นำระดับสูงของสหรัฐฯ ครั้งแรกในรอบ 30 ปีนับตั้งแต่อาร์เมเนียประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจากสหภาพโซเวียตเลยทีเดียว 

 

ในขณะเดียวกันประชาชนชาวอาร์เมเนียจำนวนไม่น้อยที่เริ่มหมดความอดทนต่อการนิ่งดูดายของ CSTO เริ่มออกมาเดินขบวนประท้วงให้รัฐบาลอาร์เมเนียถอนตัวออกจาก CSTO ที่ไร้น้ำยา และไปแสวงหาความร่วมมือและความช่วยเหลือจากโลกตะวันตกเสียดีกว่า ถึงแม้ว่าในขณะเดียวกันสัญญาณหลักที่เป็นทางการของรัฐบาลอาร์เมเนียคือการร้องขอความช่วยเหลือจาก CSTO อยู่ก็ตาม

 

ถ้าพูดกันแบบไม่กลัวว่าจะแทงใจดำรัสเซียก็คือ ถ้าจะเป็นภาคีกลุ่มความร่วมมือทางทหาร CSTO ของรัสเซียไม่เวิร์ก ก็อาจเป็นองค์การในลักษณะเดียวกันของโลกตะวันตก ถ้าจะให้พูดว่า NATO ก็อาจจะเกินเบอร์ไปหน่อย เพราะอย่าลืมว่าตุรกีที่เป็นผู้สนับสนุนอาเซอร์ไบจาน และยังเป็นศัตรูในทางประวัติศาสตร์บาดแผลในกรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนียเมื่อร้อยกว่าปีก่อนนั้น ก็เป็นหนึ่งในสมาชิก NATO เช่นกัน การย้ายข้างแบบพลิกขั้วอาจจะไม่ได้ง่ายขนาดนั้น

 

แต่ที่แน่ๆ คือการที่เกิดสุญญากาศทางอำนาจอิทธิพลรัสเซียในดินแดนคอเคซัสนี้ จากกรณีที่ไม่ว่างกำลังทำสงครามในยูเครนอยู่นั้นเป็น ‘ส้มหล่น’ ที่อยู่ๆ สหรัฐฯ ก็ได้ช่องทางในการแสดงบทบาทและอิทธิพลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน (สหรัฐฯ เองทราบดีว่าถิ่นนี้ถิ่นใคร และรู้ตัวดีว่าแถบนี้สายสัมพันธ์กับรัสเซียเข้มข้น ยากที่จะเจาะเข้าไปได้)

 

และดินแดนภูมิภาคคอเคซัสนี้ก็มีความสำคัญยิ่งต่อชาวโลก เนื่องจากเป็นเหมือนรอยต่อของมหาอำนาจในภูมิภาค รัสเซียทางเหนือ อิหร่านทางใต้ ตุรกีทางตะวันตก เป็นต้น ที่สำคัญที่สุดคือเป็นเส้นทางขนส่งพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากทะเลแคสเปียนไปยังทะเลดำออกยุโรปและตลาดโลก ยิ่งในช่วงเวลานี้ประเด็นความมั่นคงทางพลังงาน ยิ่งเป็นประเด็นที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ท่ามกลางวิกฤตการณ์ในยูเครนที่ยังคงดำเนินอยู่

 

ดังนั้นความมีเสถียรภาพในดินแดนนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

 

ถ้าหากพี่ใหญ่เดิมอย่างรัสเซียดูแลให้มีเสถียรภาพอย่างเดิมไม่ได้แล้ว พี่ใหญ่คนต่อไปอาจต้องเป็นสหรัฐฯ หรือไม่อย่างไร ต้องติดตาม

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X