วันนี้ (20 ตุลาคม) อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีตามที่ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มีการรายงานถึงผลการประมาณการเศรษฐกิจ ตามข้อมูลกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ได้พิจารณาตัวเลขประมาณการของประเทศไทย ที่ได้มีการปรับไปในทางที่ดีขึ้น โดย GDP ติดลบ 7.1% จากที่ได้มีการประเมินไว้ว่าจะติดลบ 7.7% สะท้อนให้เห็นสถานการณ์เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศที่ดีขึ้นภายหลังผ่อนคลายปลดล็อกในวิกฤตโควิด-19 สืบเนื่องมาจากมาตรการของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการลงไปช่วยเหลือเพิ่มสภาพคล่องในเศรษฐกิจของกลุ่มผู้ประกอบการทุกกลุ่ม ซึ่งส่งผลให้มีแนวโน้มที่ดีในสภาพคล่องทางการเงินของเอเชียฟื้นตัวเร็วกว่าในส่วนอื่นของโลกในช่วงไตรมาสที่ 3 และคาดว่าจะต่อเนื่องไปยังไตรมาสที่ 4 ด้วย
อาคมยอมรับว่าปัญหาใหญ่คือสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการซอฟต์โลน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้แสดงความชัดเจนว่าจะไม่มีการต่อมาตราการ ซอฟต์โลน และสิ้นสุดในวันที่ 22 ตุลาคมนี้
อย่างไรก็ตาม ธปท. ได้มีการประสานกับธนาคารพาณิชย์เรื่องมาตรการต่อเนื่อง ทั้งลูกหนี้ที่กลับมาดำเนินการธุรกิจตามปกติ และกลุ่มลูกหนี้ที่กลับมาทำธุรกิจแต่ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ และกลุ่มที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้เลย กลุ่มที่ขาดการติดต่อกับสถาบันการเงินในระบบ
ทั้งนี้ ในส่วนมาตรการเสริมสภาพคล่อง การพักชำระหนี้/หรือชะลอการชำระหนี้นั้น ทางกระทรวงการคลังจะดำเนินการดูแลอย่างต่อเนื่องในขอบเขตหน้าที่ของสถาบันการเงินของรัฐเพื่อเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ
อาคม ยังย้ำว่าขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ในขั้นตอนการประสานงานของธนาคารทั้งหมด และคาดว่าจะชัดเจนภายในต้นสัปดาห์หน้า
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล