×

คุยกับ อริยะ พนมยงค์ อนาคตของ LINE ประเทศไทย จะทำฟินเทคและปัญญาประดิษฐ์ไหม

06.07.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 MINS READ
  • อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย บอกว่า บริษัทเล็งจะนำบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ LINE คอร์ปอเรชัน เปิดตัวในงาน LC 18 ปีนี้มาทำตลาดที่ไทยแน่นอน แต่ฟินเทค AI และคอนเทนต์ อาจใช้เวลานานสักระยะ
  • LINE Token Economy อาจเข้ามามีบทบาทในการให้เครดิตบุคลากรแวดวงต่างๆ มากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผู้ผลิตคอนเทนต์ แต่ ณ ปัจจุบัน สกุลเงินดิจิทัลชนิดนี้ของ LINE ยังเป็นแค่คอนเซปต์ไอเดียอยู่
  • ประเทศในแถบเอเชียเอื้อโอกาสให้บริษัทเทคฯ และสตาร์ทอัพหน้าใหม่เติบโตได้มากกว่า เนื่องจากโครงสร้างขั้นพื้นฐานภายในของหลายๆ ประเทศยังไม่สมบูรณ์แบบ ฉะนั้นบริการและโปรดักต์เหล่านี้จึงเข้ามาสอดรับ ช่วยแก้ Pain Point ของผู้ใช้ได้ดีกว่า

ในงานประชุมประจำปี LINE Conference 2018 ของ LINE คอร์ปอเรชัน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา นอกจากจะมีการเปิดแนวทางและกลยุทธ์ Redesign ของ LINE เพื่อมุ่งมั่นพัฒนาบริการให้หลากหลาย โดยเฉพาะการรุกคืบตลาดฟินเทค (Fintech) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) แล้ว อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย ยังได้ขึ้นเวที เพื่ออัปเดตสถานการณ์ของธุรกิจ LINE ในประเทศไทยด้วย

 

บนเวที Maihama Amphitheater อริยะได้บอกเล่าเรื่องราวความสำเร็จของ LINE ประเทศไทย ตลาดที่ได้ชื่อว่ายอดนิยมเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศญี่ปุ่น การันตีด้วยยอดผู้ใช้งานกว่า 42 ล้านราย คิดเป็น 95% ของประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย

 

Key Success ที่น่าสนใจคือ การร่วมงานกับพาร์ตเนอร์อย่างตู้บุญเติม นำสติกเกอร์ LINE เข้ามาขายผ่านตู้ Kiosk แบบง่ายๆ ให้ผู้ใช้เข้าถึงได้หลากหลาย ขณะที่บริการ LINE TV, LINE TODAY และ Rabbit LINE PAY ก็เริ่มบุกตลาดและสะสมความนิยมได้เรื่อยๆ

 

ย้อนกลับมาที่ฟีเจอร์และโปรดักต์ใหม่ๆ ที่เปิดตัวในงาน LC 18 ปีนี้ ซึ่งมีทั้งบริการทางการเงิน Financial Service, ปัญญาประดิษฐ์, ธุรกิจคอนเทนต์ และอีวอลเลต เราจึงได้พูดคุยกับอริยะเพื่อไขข้อสงสัยว่า LINE ประเทศไทย จะนำบริการใดเข้ามาเปิดตลาดบ้าง แล้วพวกเขาจะลุยฟินเทคเหมือนที่บริษัทแม่ในญี่ปุ่นมุ่งมั่นและวางกลยุทธ์ไว้หรือไม่

 

LINE ประเทศไทย มีแพลนจะนำโปรดักต์บริการอะไรเข้ามาบ้าง

เรากำลังดูอยู่ว่าจะมีโปรดักต์บริการไหนที่จะเหมาะกับตลาดประเทศไทย ซึ่งตอนนี้ก็มีครอบคลุมหลากหลายด้านเลย ทั้งฟินเทค, ปัญญาประดิษฐ์ หรือคอนเทนต์ แต่จะเข้ามาเมื่อไร เรายังให้ข้อมูลชัดๆ ไม่ได้ ทั้งสามบริการนี้ต้องใช้เวลาพัฒนานานเหมือนกัน เพราะปัญญาประดิษฐ์ก็ยังมีข้อจำกัดด้านภาษาอยู่ (ตอนนี้ Clova ยังให้บริการแค่ในภาษาญี่ปุ่นและเกาหลี) ส่วนครึ่งปีหลังนี่เราน่าจะได้เห็นบริการใหม่ๆ ทยอยเข้ามา

 

ทุกบริการที่เราคิด (LINE ประเทศไทย) จะอยู่ภายใต้กลยุทธ์เดียวกันกับ LINE คอร์ปอเรชัน นั่นคือ Hyper Localization เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำและคิดในประเทศไทยก็จะสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกับ LINE ทั้งโลกอยู่แล้ว ไม่ว่าจะธุรกิจเกม ธุรกิจคอนเทนต์ O2O เพย์เมนต์ และ Business Solution เพราะฉะนั้นบริการใหม่ๆ ที่เราจะเปิดใน LINE ประเทศไทย ก็จะมีทั้งไอเดียที่เราคิดกันเอง และสิ่งที่ LINE คอร์ปอเรชัน ได้แถลงไว้ในงาน Line Conference 2018

 

ส่วนสาเหตุที่บางครั้ง LINE อาจจะไม่ได้ตอบชัดเจนว่า บริการใดจะเข้าประเทศไหนบ้าง เพราะโมเดลของเราค่อนข้างมีความยืดหยุ่น ถ้ามันเหมาะกับตลาดเรา เราทำแน่นอน แต่ถ้าไม่เหมาะเราก็ไม่ทำ

 

 

กลยุทธ์ Hyper Localization ของ LINE จะขัดแย้งกับ Core Idea ที่บริษัทแม่วางไว้หรือเปล่า

ถึงเราจะ Hyper Localize แต่ทุกครั้งที่เราจะเริ่มทำบริการหรือโปรดักต์ใหม่ๆ ก็จะต้องคุยกับทีมบริหารในทุกประเทศก่อนทุกครั้งว่า ส่ิงที่เราทำเหมาะกับตลาดประเทศไทยหรือตลาดประเทศอื่นๆ หรือเปล่า มันเป็นสิ่งที่มีใครทำอยู่แล้ว หรือมีใครที่ทำได้ดีกว่าหรือไม่ ถ้า LINE ประเทศอื่นทำบริการรูปแบบนี้อยู่แล้ว เราก็สามารถไปศึกษาจากเขาได้ แต่ถ้าบริการรูปแบบเดียวกันเปิดให้บริการใน 4-5 ประเทศ แต่ต่างฝ่ายต่างทำ ไม่ได้ช่วยเหลือกัน มันไม่สมเหตุสมผลแน่นอน มันเปลืองทรัพยากรของเรา   

 

หาก LINE ประเทศไทย นำบริการจำพวกฟินเทคหรือบล็อกเชนเข้ามา ก็จะต้องพูดคุยกับภาครัฐหรือผู้ที่ออกนโยบายในประเทศ?

แน่นอนครับ เมื่อเร็วๆ นี้ทุกคนก็คงจะเห็นการประกาศกฎกติกานโยบายด้านนี้ออกมา ฉะนั้นก่อนที่เราจะเคลื่อนไหวให้บริการด้านการเงินก็ต้องคุยกับภาครัฐฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว มันเป็นหนึ่งในกระบวนการที่เราต้องทำ

 

Bitbox (บริการแลกเปลี่ยนเงินสกุลคริปโตฯ) จะให้บริการในไทยหรือเปล่า

ถ้าตอบให้ถูกก็ต้องบอกว่า มันเป็นบริการแบบ Global Service (ยกเว้นในประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา) แต่ ณ ปัจจุบันบริการนี้ยังไม่รองรับภาษาไทย ที่สำคัญคือ มันเป็นการแลกเปลี่ยนเงินคริปโตฯ เป็นคริปโตฯ ด้วยกัน แล้วคนที่เล่นเงินสกุลนี้อย่างเดียวก็ไม่ใช่คนธรรมดาแน่นอน ต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และความชำนาญพอสมควร เราจึงมองว่า ภาษาอังกฤษไม่น่าจะเป็นอุปสรรคกับผู้ใช้กลุ่มนี้

เราเป็นบริษัทเทคฯ ที่ผู้บริโภคยอมให้เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเขา

 

 

LINE Token Economy หน่วยเงินบนแพลตฟอร์มตอบแทนผู้ใช้กลุ่ม User Generated Content มีฟังก์ชันการทำงานอย่างไร

ต้องเข้าใจก่อนว่า ในตอนนี้โทเคน อีโคโนมียังเป็นแค่คอนเซปต์อยู่ ถ้าอธิบายโดยหลักการก็ถือว่าเป็นไอเดียที่ค่อนข้างดีและน่าสนใจ เปรียบเทียบในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ก็จะพบว่า มีบุคลากรที่ทำหน้าที่หลากหลาย มีทั้งผู้ผลิต ผู้รีวิว และผู้แพร่หลายจัดจำหน่าย ซึ่งเทคโนโลยีบล็อกเชนจะค่อนข้างเหมาะกับอุตสาหกรรมนี้ ในการเข้ามาช่วยสร้างเครดิตผู้ใช้แต่ละบทบาทด้วยความสะดวกสบายและความโปร่งใส

 

หมายความว่า สมมติในอนาคตผมเป็นผู้ผลิตเนื้อหา ถ้าคนไม่รู้จักผม ผมคงเดินเข้าไปทำความรู้จักกับบริษัทใหญ่ๆ ไม่ได้ง่ายๆ แน่นอน ยังไม่รวมถึงกระบวนการพูดคุยเพื่อปิดดีลซื้อขายคอนเทนต์ ซึ่งการนำบล็อกเชนเข้ามาใช้ก็จะช่วยให้เกิดความง่าย โปร่งใสกว่าเดิม และยังทำหน้าที่เป็นสมาร์ทคอนแท็ก ช่วยให้เกิดการซื้อขายคอนเทนต์ได้จากทั่วทุกมุมโลก โดยไม่ต้องพึ่งตัวกลาง นี่จะเป็นข้อดีสำหรับผู้ผลิตเนื้อหา เป็นการเปิดตลาดคอนเทนต์โลก แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ยังเป็นแค่ภาพร่างคอนเซปต์ที่ LINE กำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพัฒนาอยู่

 

 ความแตกต่างระหว่าง LINE และบริษัทเทคฯ อื่นคือ เราทำให้เทคโนโลยีเข้าถึงคน เป็นบริษัทเทคฯ ที่ผู้บริโภคยอมให้เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเขา

 

มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่ลำโพงผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์ Clova จะรองรับการใช้งานภาษาอังกฤษและเข้ามาทำตลาดในไทย

AI ยังมีข้อจำกัดด้านภาษาอยู่ โดยเฉพาะใน 4 ตลาดหลักของ LINE ภาษาญี่ปุ่น, ภาษาไทย, ภาษาบาฮาซา (อินโดนีเซีย) และภาษาจีน (ไต้หวัน) เป็นภาษาที่ยากทั้งนั้นเลย ถ้าเราทำปัญญาประดิษฐ์ภาษาพวกนี้ได้ก็มีโอกาสสูงที่เราจะพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้รองรับได้หลากหลายภาษา (ปัจจุบันยังรองรับแค่ภาษาเกาหลีและญี่ปุ่นเท่านั้น)

 

การเจาะประเทศแต่ละแห่งด้วยภาษาอังกฤษอาจจะยังไม่เวิร์ก มันจึงยังต้องใช้เวลา ถ้าพูดกันตรงๆ ในวันนี้ผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์หรือ Voice Assistant ทั้งหลายมีรายใดที่เวิร์กบ้าง เราเองก็ไม่ได้ใช้กันทุกวัน ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ถึงวันนี้คุณจะมีกำลังด้านเทคโนโลยีแค่ไหน แต่ก็ยังไม่มีใครที่พัฒนามันได้ดี ปัญหาของปัญญาประดิษฐ์ในวันนี้คือ การเข้าใจภาษาของมนุษย์จริงๆ ถ้าผมจะซื้อตั๋วเครื่องบินแต่ปัญญาประดิษฐ์พาผมไปซื้อตั๋วคอนเสิร์ต เจอแค่ปัญหานิดเดียวแบบนี้ก็คือ ข้อผิดพลาดที่ใหญ่แล้ว

 

ผมเปรียบเทียบกับเลขาผมที่รู้ใจผมทุกอย่างโดยไม่ต้องพูด ถ้าผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์สามารถรู้ใจผู้ใช้ได้แบบนี้ขึ้นมาเมื่อไร ก็ถือว่าพัฒนามาถูกทาง แต่ ณ ปัจจุบัน มันยังต้องใช้เวลาอยู่ LINE กำลังอยู่ในกระบวนการพัฒนา Clova แน่นอน เพราะเทรนด์ในอนาคต บทบาทของปัญญาประดิษฐ์จะชัดเจนมากขึ้น โจทย์ของเราตอนนี้คือ ต้องทำให้เข้าถึงผู้บริโภค ความแตกต่างระหว่าง LINE และบริษัทเทคฯ อื่นคือ เราทำให้เทคโนโลยีเข้าถึงคน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดๆ เลยคือการที่เราได้เห็นผู้ใช้วัยคุณพ่อและคุณแม่เล่น LINE กัน ส่วนลำโพง Clova เองก็มาในรูปลักษ์ที่น่ารักอย่างหมีบราวน์และไก่แซลลี เพื่อให้ผู้ใช้รู้สึกเป็นมิตร เราเป็นบริษัทเทคฯ ที่ผู้บริโภคยอมให้เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเขา

 

จะมีการจัดตั้งทีมพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในไทยหรือเปล่า

ตอนนี้ถ้าเป็นวิศวกร เรารับสมัครหมด ขอให้ส่งมาก่อน เพราะรับเท่าไรก็ยังไม่พออยู่ดี ยิ่งในประเทศไทยบุคลากรที่เชี่ยวชาญค่อนข้างหายาก โดยเฉพาะ Deeptech (เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความสลับซับซ้อน) ที่นับรวมปัญญาประดิษฐ์ด้วย

 

 

พูดถึงคาแรกเตอร์ LINE FRIENDS บ้าง โมเดลการพาร์ตเนอร์กับศิลปินบอยแบนด์ BTS สร้างสรรค์คาแรกเตอร์ขึ้นมาใหม่ ผลิตสินค้าวางจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีถือว่าประสบความสำเร็จมาก เราจะได้เห็น LINE ประเทศไทย ทำการตลาดรูปแบบนี้บ้างไหม

เป็นไปได้ครับ มีอะไรใหม่ LINE ก็พร้อมคุยอยู่แล้ว เราค่อนข้างเปิดกว้างและยืดหยุ่น แค่ต้องหาโอกาสที่เหมาะสม อย่างคาแรกเตอร์ดั้งเดิมที่เรามีทั้ง 11 คาแรกเตอร์ ไม่นับรวมคาแรกเตอร์ใหม่จากกลุ่ม BTS เราก็มองเขาเป็นกลุ่มดารา เพราะฉะนั้นการที่เราจะ Collaboration คาแรกเตอร์กับใครก็ต้องเป็นอะไรที่ LINE มองว่าเหมาะสมด้วย

 

ก่อนหน้านี้แบรนด์ที่ LINE FRIENDS เคยร่วมงานด้วย ก็มีทั้งจักรยานต์ Brompton หรือหูฟัง Beats จะเห็นได้ว่า มันเป็นการร่วมมือกับแบรนด์ที่ค่อนข้างไฮเอนด์พอสมควร ทั้งสองฝ่ายจะต้องได้ประโยชน์จากการส่งเสริมซึ่งกันและกัน ภายใต้ LINE FRIENDS ประเทศไทยก็จะมีโมเดลการทำงานกับแบรนด์ที่หลากหลาย ฉะนั้นหากแบรนด์ในไทยสนใจจับมือกับ LINE ก็ย่อมมีความเป็นไปได้เพราะเรามีโมเดลธุรกิจที่รองรับอยู่ และในช่วงครึ่งปีหลังเราจะเริ่มได้เห็นการ Collaboration เยอะอยู่เหมือนกัน

Pain Point ที่ว่าของผู้บริโภคในแถบเอเชียก็มีมากกว่าผู้บริโภคในประเทศที่พัฒนาอยู่แล้ว เนื่องจากโครงสร้างขั้นพื้นฐานในประเทศของเราอาจจะยังไม่ได้ทัดเทียมเขา เทคโนโลยีจึงเข้ามาช่วยแก้ปัญหาพวกนี้ได้

ความสำเร็จอะไรของ LINE ประเทศไทย ที่ LINE คอร์ปอเรชัน ประทับใจมากที่สุด

ผมว่าค่อนข้างตรงกับสิ่งที่ผมได้พูดไปในงาน LC 18 ต้องยกให้ทีมงาน LINE ประเทศไทย เลยที่ผลักดันนวัตกรรมให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศเต็มที่ ไม่ว่าจะสติกเกอร์, LINE TV, Rabbit LINE PAY จะเห็นว่ามันค่อนข้างดำเนินไปในทิศทางเดียวกันกับ LINE คอร์ปอเรชัน ในระดับโลกอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราทำมันก็จะมีความเป็นไทยแฝงอยู่

 

ผมเห็นด้วยกับสิ่งที่ ทาเคชิ อิเดซาวา ประธานกรรมการบริหาร LINE คอร์ปอเรชัน พูดไว้ว่า ตอนที่เราอยู่ในโลกอินเทอร์เนต โลกใบกลมๆ ก็เหมือนจะแบนราบโดยทันที เพราะมันเข้าถึงกันได้ทั่วโลก แต่สิ่งที่จะต้องเข้าใจโดยเฉพาะในทวีปเอเชียคือ แต่ละประเทศมีความแตกต่างที่สูงกันมาก ญี่ปุ่น เกาหลี ไทย ไต้หวัน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และจีน ถ้าคุณไปเปิดตลาดแล้วไม่ Localized จริงๆ ก็บอกได้เลยว่ายาก

 

มันมีความต่างทั้งด้านวัฒนธรรม ภาษา พฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงสถานะของประเทศนั้นๆ จุดนี้เองที่ผมมองว่าเป็นโอกาส โดยเฉพาะถ้าเราพูดถึงธุรกิจเทคโนโลยีหรือสตาร์ทอัพ เรามักจะพูดถึง Pain Point หรือจุดเจ็บปวดของผู้บริโภค แล้ว Pain Point ที่ว่าของผู้บริโภคในแถบเอเชียก็มีมากกว่าผู้บริโภคในประเทศที่พัฒนาอยู่แล้ว เนื่องจากโครงสร้างขั้นพื้นฐานในประเทศของเราอาจจะยังไม่ได้ทัดเทียมเขา เทคโนโลยีจึงเข้ามาช่วยแก้ปัญหาพวกนี้ได้

 

ทำไมบริการทางการเงินในทวีปเอเชียถึงประสบความสำเร็จมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภูมิภาคนี้มีผู้ใช้ที่ไม่มีบัญชีธนาคารจำนวนมาก (Unbanked) ลองดูอัตราการเข้าถึงของบัตรเครดิตในแต่ละประเทศก็ได้ ฉะนั้นบริการเพย์เมนต์จะเกิดมากๆ ในประเทศย่านเอเชีย โดยเฉพาะในบริเวณที่มีการทำธุรกรรมขนาดเล็ก (จ่ายเงินทีละเล็กทีละน้อย) เป็นจำนวนที่สูง

 

ทิศทางการเติบโตของ LINE ประเทศไทย ใกล้เคียงกับการเติบโตของ LINE ญี่ปุ่นไหม ที่เมื่อแชทแอปพลิเคชันเริ่มต้น ก็หันไปจับธุรกิจและบริการอื่นๆ แทน

ใช่ครับ มันคือส่ิงที่ LINE ประเทศไทย ดำเนินการในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ก็จะเห็นว่าธุรกิจของเราขยายใหญ่เรื่อยๆ เราเองก็เริ่มเปิดบริการใหม่ๆ ไปเรื่อย มันคือสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว (ยอดผู้ใช้แชตแอปฯ เริ่มโตช้า) แน่นอนว่า ตัวแชตแอปฯ มันคือฐานและแก่นหลักของเรา แต่กลับกันในประเทศอื่นๆ มันไม่ได้ตายตัวเสมอไปว่าเราต้องบุกตลาดนั้นๆ ด้วยแชตแอปฯ

 

การที่เราสร้างบริการอื่นๆ ขึ้นมาประกอบระบบนิเวศของ LINE ก็เพื่อเป็นอาวุธเข้าไปทำตลาดในประเทศอื่นๆ เพื่อให้เกิดกลยุทธ์ที่หลากหลายเหมาะกับประเทศนั้นๆ นี่คือเสน่ห์ของสิ่งที่เรากำลังสร้างกันอยู่ เราไม่ได้เป็นแค่แอปแชตฯ อย่างเดียวแล้ว

 

เหมือนที่ จุน มาสึดะ ประธานกรรมการบริหารฝ่ายกลยุทธ์การตลาด LINE คอร์ปอเรชัน บอกว่า อนาคต LINE อาจลุยตลาดผลิตอุปกรณ์ดีไวซ์ขาย

ใช่ ถ้าถามคำถามเรา เราจะไม่ตอบว่าไม่ได้ (หัวเราะ) เพราะถ้ามันมีโอกาสที่ดีเราก็ยินดีทำ หลายบริการที่เปิดตัวในไทยก็ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในแผนดำเนินการของปีนั้นๆ ด้วยซ้ำ แต่เป็นเพราะระหว่างทางเราเห็นโอกาสที่จะลงมือทำ เรามีความหยืดหยุ่นเพียงพอ

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising