×

ต้องทำความเข้าใจเสียใหม่! คนรวย (อาจ) ไม่ได้เก่งเท่าที่คุณคิด พวกเขาแค่ ‘โชคดี’ กว่า

28.04.2024
  • LOADING...
ถ้าเก่งจริงทำไมไม่รวย

เคยได้ยินประโยคที่ว่า ‘ถ้าเก่งจริงทำไมไม่รวย?’ หรือเปล่า งานวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าความสำเร็จที่เราเห็นอาจเป็นผลจากความโชคดีเป็นหลัก

 

การกระจายตัวของความมั่งคั่งมักจะเป็นไปตามรูปแบบที่เรียกว่ากฎ 80:20 นั่นคือ 80% ของความมั่งคั่งทั้งหมดถูกครอบครองโดยคนเพียง 20% ที่เหลือ โดยมีรายงานที่สรุปว่า มีผู้ชายเพียง 8 คนที่มีความมั่งคั่งเทียบเท่ากับคนจนที่สุดในโลก 3.8 พันล้านคนรวมกัน!

 

รูปแบบนี้มีให้เห็นทุกสังคม และเรียกว่า Power Law ซึ่งเกิดขึ้นได้ในปรากฏการณ์ทางสังคมหลายอย่าง แต่การกระจายตัวของความมั่งคั่งเป็นหนึ่งในเรื่องที่เป็นที่ถกเถียงที่สุด เพราะมันสะท้อนประเด็นเรื่องความยุติธรรมและการให้รางวัลตามความสามารถ ทำไมคนหยิบมือถึงได้ครองความร่ำรวยมากมายขนาดนั้น?

 

เราอาจเข้าใจผิดเรื่องระบบ ‘ให้ผลตอบแทนตามความสามารถ’

 

คำอธิบายทั่วไปมักจะบอกว่า เราอยู่ในสังคม Meritocracy ที่ผู้คนจะได้รับรางวัลตามพรสวรรค์ ความฉลาด ความพยายาม ฯลฯ เราอาจเห็นว่าโชคดีมีส่วนบ้าง แต่หลักๆ แล้วความสามารถต่างหากที่เป็นตัวกำหนด

 

แต่มันมีปัญหากับแนวคิดนี้คือ แม้ว่าการกระจายตัวของความมั่งคั่งจะเป็นไปตาม Power Law แต่การกระจายตัวของทักษะมนุษย์กลับเป็นการกระจายแบบปกติ (Normal Distribution) ซึ่งมีความสมมาตรรอบค่าเฉลี่ย ตัวอย่างเช่น คะแนน IQ ที่ใช้วัดความฉลาด ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 100 แต่มันจะไม่มีใครที่มี IQ 1,000 หรือ 10,000

 

และความพยายามก็เช่นกัน ถ้าคุณวัดเป็นชั่วโมงการทำงาน บางคนทำงานนานกว่าค่าเฉลี่ย บางคนทำงานน้อยกว่า แต่ไม่มีใครหรอกที่จะทำงานเป็นพันล้านชั่วโมงมากกว่าคนอื่น

 

ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้น แต่พอเห็นรางวัลที่เกิดจากการทำงานเหล่านี้เราพบว่า บางคนมีความร่ำรวยเป็นพันล้านเท่ามากกว่าคนอื่นๆ ที่สำคัญงานวิจัยจำนวนมากก็แสดงให้เห็นว่าคนรวยที่สุดมักจะไม่ได้เก่งกว่าคนอื่นๆ ตามมาตรฐานวัดอื่นๆ

 

ความโชคดีสำคัญกว่าที่คาด

 

ปัจจัยอะไรกันแน่ที่ส่งผลให้คนบางคนร่ำรวย? จะเป็นไปได้ไหมว่าโชคมีบทบาทมากกว่าที่ใครคาดคิด? และเราจะใช้ประโยชน์จากปัจจัยนี้ได้อย่างไรบ้าง?

 

คำตอบมาจากผลงานวิจัยของ Alessandro Pluchino จากมหาวิทยาลัยคาตาเนียในอิตาลี และทีมงาน โดยสร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์แสดงพรสวรรค์ของมนุษย์ และวิธีที่มนุษย์ใช้มันหาประโยชน์จากโอกาสในชีวิต แบบจำลองนี้ช่วยให้ศึกษาบทบาทของโชคในกระบวนการนี้ได้

 

ผลการทดลองชวนประหลาดใจ แบบจำลองสร้างการกระจายตัวของความมั่งคั่งให้เหมือนกับโลกจริงได้อย่างแม่นยำ แต่คนรวยที่สุดในแบบจำลองนั้นไม่ได้เก่งที่สุดแต่อย่างใด (แม้ว่าพวกเขาจะมีทักษะระดับหนึ่ง) สิ่งที่ทำให้พวกเขารวยที่สุดคือความโชคดี และนี่มีนัยสำคัญต่อวิธีที่สังคมจะเพิ่มผลตอบแทนในการลงทุนทุกด้าน ตั้งแต่ธุรกิจไปจนถึงวิทยาศาสตร์

 

แบบจำลองของ Pluchino

 

แบบจำลองประกอบด้วยผู้คนจำนวนหนึ่ง แต่ละคนมีความเก่งระดับหนึ่ง ซึ่งกระจายอย่างปกติรอบค่าเฉลี่ย ดังนั้นบางคนเก่งกว่าค่าเฉลี่ย และบางคนน้อยกว่า แต่จะไม่มีใครฉลาดกว่าคนอื่นเป็นหลักร้อยหลักพันเท่า

 

จากนั้นจำลองการทำงาน 40 ปี โดยแต่ละคนมีโอกาสเจอเหตุโชคดีที่จะทำให้รวยขึ้นหากมีความเก่งพอ แต่ก็จะเจอเหตุการณ์โชคร้ายที่จะลดความมั่งคั่งลงได้เช่นกัน โดยเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดแบบสุ่ม

 

เมื่อจำลองจบ ทีมงานก็จัดลำดับคนแต่ละคนตามความร่ำรวย และทบทวนว่าคนที่ประสบความสำเร็จที่สุดในแบบจำลองมีลักษณะอย่างไร และยังศึกษาการกระจายตัวของความมั่งคั่งด้วย จากนั้นจึงทำแบบจำลองเดิมแบบซ้ำๆ เพื่อตรวจสอบความสอดคล้องของผลลัพธ์

 

ผลที่ได้คือ เมื่อจัดลำดับคนตามความมั่งคั่งแล้ว การกระจายตัวจะเหมือนกับที่พบในสังคมโลกจริง แต่คนที่รวยที่สุด 20% ไม่ได้เป็นกลุ่ม 20% ที่เก่งที่สุดเลย ซึ่ง “ความสำเร็จสูงสุดไม่เคยตรงกับคนเก่งที่สุด” นักวิจัยกล่าว

 

ปัจจัยชี้ขาด: ความโชคดีล้วนๆ

 

ทีมได้พิสูจน์ข้อนี้โดยจัดอันดับบุคคลตามจำนวนเหตุการณ์โชคดีหรือโชคร้ายที่เกิดขึ้นตลอด 40 ปีของการทำงาน ผลชัดเจนว่า ‘คนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดก็คือคนที่โชคดีที่สุดด้วย และคนล้มเหลวก็คือคนที่โชคร้ายที่สุด’

 

ทีม Pluchino ได้ศึกษาเรื่องนี้ในมุมของงบประมาณสนับสนุนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นประเด็นที่นักวิจัยทุกคนสนใจ องค์กรระดับโลกมักสนใจที่จะเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ให้มากที่สุด เมื่อเร็วๆ นี้ European Research Council ได้ลงทุนถึง 1.7 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 58 ล้านบาท) ในโครงการศึกษาเรื่อง Serendipity (โชคช่วย) ว่ามีบทบาทกับการค้นพบทางวิทยาศาสตร์อย่างไร และจะใช้ความรู้นี้ปรับปรุงการให้งบประมาณได้อย่างไร 

พวกเขาจึงพยายามหาคำตอบว่าแบบจำลองไหนจะให้ผลตอบแทนสูงสุดเมื่อต้องพิจารณาเรื่องโชคดีด้วย โดยศึกษา 3 แบบจำลอง

  • กระจายงบประมาณให้แก่นักวิทยาศาสตร์เท่าๆ กัน
  • สุ่มเลือกนักวิทยาศาสตร์ที่จะได้รับทุนส่วนหนึ่ง
  • ให้นักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในอดีต

 

ผลลัพธ์

 

วิธีที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดคือ การกระจายทุนให้เท่าๆ กัน และแบบที่ดีรองลงมาคือ สุ่มให้ 10% หรือ 20% ของนักวิทยาศาสตร์ เพราะวิธีเหล่านี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถได้ประโยชน์จากการค้นพบโดยบังเอิญได้มากที่สุด เมื่อคิดย้อนหลังมันก็ชัดเจนว่า การค้นพบสำคัญโดยบังเอิญที่เกิดขึ้นในอดีตไม่ได้การันตีว่าจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

 

แนวทางเดียวกันสามารถนำมาปรับใช้ในการลงทุนด้านอื่นๆ เช่น ธุรกิจขนาดเล็ก-ใหญ่, สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี, การศึกษาเพื่อเพิ่มพูนทักษะ หรือแม้กระทั่งการสร้างโอกาสให้เกิดโชคดีโดยบังเอิญแบบสุ่ม

 

กระนั้นเรายังต้องศึกษาเรื่องนี้อีกมาก แต่ที่แน่ๆ คือมีหลักฐานสำคัญแล้วว่าความร่ำรวยมหาศาลของบางคนอาจเกิดจากความโชคดีล้วนๆ มากกว่าที่คุณคิด

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X