×

เมื่อน้ำแข็งละลาย อารยธรรมจึงเปิดเผย ภาวะโลกร้อนกับการค้นพบหลักฐานโบราณคดี

18.12.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • นักโบราณคดีจำนวนหนึ่งกำลังเร่งทำงานเพื่อให้ทันกับน้ำแข็งทั่วโลกที่กำลังละลายอย่างรวดเร็ว เพื่อปกป้องส่วนเสี้ยวของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ที่อาจพัดพาไปกับน้ำแข็งที่กำลังละลาย ไปจนถึงการเสื่อมสภาพของโบราณวัตถุ ประเภทอินทรีย์วัตถุ ซึ่งเคยถูกน้ำแข็งเก็บรักษาไว้
  • โบราณวัตถุจากการละลายของน้ำแข็งในมองโกเลียนับเป็นก้าวที่สำคัญต่องานโบราณคดี หากไม่สามารถเก็บรวบรวมหลักฐานได้ทันกับการละลายของน้ำแข็ง มนุษยชาติอาจสูญเสียความรู้ที่จะไขไปสู่ความเข้าใจต้นกำเนิดของเส้นทางสายไหม และการขยายจักรวรรดิมองโกลของเจงกิสข่าน
  • แม้ในไทยจะไม่มีธารน้ำแข็งที่รักษาโบราณวัตถุเอาไว้ แต่ประเทศเราก็ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเช่นกัน และย่อมส่งผลกระทบต่อแหล่งโบราณคดีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ใกล้ชายฝั่งทะเลในเขตกระบี่ พังงา มีแหล่งที่อยู่อาศัยของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์-ประวัติศาสตร์ ก็ย่อมได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ซึ่งในไม่ช้าก็จะหายไป ถ้าหากไม่มีการศึกษาขุดค้นในเวลาอันใกล้

น้ำท่วมเมืองเวนิส คือตัวอย่างหนึ่งของผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต่อเมืองโบราณ แน่นอนครับ เป็นเรื่องที่คนทั้งโลกต้องตระหนักกันว่ามนุษย์ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมไปมากแค่ไหน และควรช่วยกันชะลอภาวะดังกล่าวอย่างไร แต่ในสิ่งที่เลวร้ายก็มักมีสิ่งที่ดีอยู่บ้าง หลังจากที่ธารน้ำแข็งหลายแห่งเริ่มละลายลง ได้เผยให้เห็นถึงร่องรอยของมนุษย์ในสมัยโบราณที่ซ่อนตัวอยู่นานนับพันปี 

 

 

ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักโบราณคดีทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับการศึกษาหลักฐานโบราณคดีที่อยู่ในธารน้ำแข็ง เหตุผลหนึ่งที่ทำให้นักโบราณคดีสนใจศึกษาหลักฐานโบราณคดีจากธารน้ำแข็งนี้ ไม่ใช่เพราะต้องการฉกฉวยจังหวะจากการที่น้ำแข็งละลาย ซึ่งเผยให้เห็นถึงข้าวของเครื่องใช้ของคนในสมัยโบราณเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความวิตกกังวลต่ออันตรายที่กำลังเกิดขึ้นกับหลักฐานทางโบราณคดีครับ ผู้อ่านลองคิดตามอย่างง่ายว่า เมื่อน้ำแข็งละลายนั้นจะกลายเป็นธารน้ำ ซึ่งจะพัดพาโบราณวัตถุให้ไหลหายไปกับน้ำ ที่สำคัญเมื่อน้ำแข็งละลาย โบราณวัตถุประเภทอินทรีย์วัตถุซึ่งเคยถูกน้ำแข็งเก็บรักษาไว้จะต้องเสื่อมสภาพลงอย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้นักโบราณคดีจำนวนหนึ่งกำลังเร่งทำงานเพื่อให้ทันกับน้ำแข็งทั่วโลกที่กำลังละลายอย่างรวดเร็ว เพื่อปกป้องส่วนเสี้ยวของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ 

 

ฆาตกรรมหมู่ที่อลาสก้า

ด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้น ไม่ใช่แค่หมีอลาสก้าจะได้รับผลกระทบ ที่แหล่งโบราณคดีนูนัลเล็ค ริมชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของอลาสก้า แหล่งฝังศพที่เคยถูกแช่แข็งมานานถึง 400 ปีกำลังได้รับผลกระทบเช่นกัน 

 

ริกค์ เนชต์ นักโบราณคดีชาวสกอต ได้ทำการขุดค้นแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ ทำให้พบโครงกระดูกมากมายของเด็ก ผู้หญิง และคนแก่ อย่างน้อย 50 คน ซึ่งตายอยู่ใต้อาคารหลังหนึ่งที่ถูกเผา ในสภาพที่ถูกฆ่าตายทั้งหมด ไม่มีทางหนี บางศพนั้นนอนคว่ำหน้าอยู่ ของที่พบร่วมกับศพนั้นมีหลายอย่าง เช่น ตะกร้า เสื้อ และผ้าต่างๆ ซึ่งจมอยู่ในดินโคลน และในไม่ช้ามันคงจะย่อยสลายไป  

 

สภาพของแหล่งโบราณคดีนูนัลเล็ค อลาสก้า 

(ภาพ: Sven Haakanson 2017)

 

ริกค์ต้องการจะสืบว่าทำไมคนพวกนี้ถึงได้ถูกฆ่าตายอย่างทารุณ เขาจึงได้พยายามหาความสัมพันธ์ของหลุมฝังศพพวกนี้เข้ากับคนที่อยู่ในปัจจุบัน ผ่านการสัมภาษณ์ประวัติศาสตร์บอกเล่าต่างๆ ของชาวยูปิกส์ (Yupiks) ผลปรากฏว่า มีตำนานอยู่เรื่องหนึ่งเล่าว่า ครั้งหนึ่งได้เกิดสงครามรบพุ่งกันด้วยธนูระหว่างชาวยูปิกส์กับนักสำรวจชาวรัสเซียที่เข้ามายังอลาสก้าเมื่อประมาณ ค.ศ. 1660 นักโบราณคดีจึงกระจ่างชัดว่าโครงกระดูกที่พวกเขาขุดพบนี้เป็นบรรพบุรุษของชาวยูปิกส์นั่นเอง 

การรุกเข้ามาของชาวรัสเซียนี้ ริกค์เชื่อมั่นว่าเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่เกิดช่วงของยุคน้ำแข็งสั้นๆ (Little Ice Age) ซึ่งทำให้เกิดภาวะต้องการอาหารเพิ่มขึ้น ทำให้ชาวรัสเซียเดินทางรุกเข้ามายังถิ่นที่อยู่ของชาวยูปิกส์เพื่อแย่งอาหาร ซึ่งเป็นวิธีการที่เร็วที่สุดที่จะทำให้ได้อาหารทันที 

 

ล่ากวางเรนเดียร์ที่นอร์เวย์

ลาร์ ปิโล นักโบราณคดี ได้เริ่มต้นศึกษาโบราณคดีธารน้ำแข็ง (Glacier Archaeology) ในเขตเทือกเขาโจตันไฮเมนและโอพพ์แลนด์ นับแต่ ค.ศ. 2011 ซึ่งทำให้ค้นพบโบราณวัตถุใต้ธารน้ำแข็งนับพันๆ ชิ้น ส่วนใหญ่มีอายุราว 6,000 ปีมาแล้ว ซึ่งโบราณวัตถุแทบทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับการล่ากวางเรนเดียร์

จากการสำรวจของปิโลทำให้ค้นพบทั้งไม้ ผ้า หนังสัตว์ และอินทรีย์วัตถุต่างๆ ที่ยากจะขุดพบในแหล่งโบราณคดี โบราณวัตถุพวกนี้ เขาได้นำไปกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยคาร์บอน -14 (Radiocarbon) มากถึง 153 ตัวอย่าง (ราคาตรวจอายุต่อตัวอย่างตกอยู่ราว 20,000 บาท คูณกันเองก็แล้วกันครับ) 

 

ผมคิดว่าสาเหตุที่ปิโลต้องลงทุนตรวจอายุด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากเช่นนี้ก็เพราะว่า หลักฐานที่พบในธารน้ำแข็งนั้นมันต่างจากในชั้นดิน คือมันไม่มีหลักฐานอื่นที่พบร่วม ไม่มีชั้นดินที่ช่วยทำให้กำหนดอายุได้ง่ายๆ ถ้าไม่กำหนดอายุจำนวนมาก ก็จะทำให้ไม่รู้ว่าของที่พบนั้นมีอายุเท่าไรกันแน่ ผลจากการกำหนดอายุนี้เอง ทำให้ได้ช่วงของค่าอายุของกลุ่มโบราณวัตถุทั้งหมดว่าอยู่ในราว 4,000 ปีก่อน ค.ศ. อีกทั้งเมื่อได้ค่าอายุทางวิทยาศาสตร์มาก็จะช่วยทำให้จัดวางวัตถุพวกนี้ลงในไทม์ไลน์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกในช่วงหมื่นปีที่ผ่านมาด้วย 

 

ผลจากการศึกษาของปิโลทำให้พบว่า ในช่วงที่เกิดการล่ากวางเรนเดียร์กันมากๆ ในเขตภูเขาสูงนี้ ความจริงแล้วเมื่อราว 6,000 ปีก่อนของนอร์เวย์ อากาศนั้นไม่ได้หนาวจัด แต่อยู่ในช่วงที่อากาศอบอุ่นขึ้นมากกว่าปกติ และส่งผลทำให้นักล่าในยุคนั้นเดินข้ามภูเขาสูงเพื่อติดต่อถึงกันด้วย แต่แล้วเมื่อเกิดยุคน้ำแข็งสั้นๆ (เรียกกันว่า Little Ice Age) จึงไม่พบหลักฐานของนักล่าอีก เพราะภูเขาปกคลุมด้วยน้ำแข็ง หรือไม่ก็เป็นเพราะหลังจาก 6,000 ปีลงมา นักล่าพวกนี้ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตมาเป็นเกษตรกร ปลูกพืชเป็นจำนวนมาก จนทำให้การล่ากวางเรนเดียร์ไม่จำเป็นอีก 

 

สูญเสียความรู้ต้นกำเนิดเส้นทางสายไหมที่มองโกเลีย

บางพื้นที่ของมองโกเลียเดิมเคยมีน้ำแข็งปกคลุม แต่ผลกระทบจากวิกฤตของภูมิอากาศโลก ทำให้โบราณวัตถุจำนวนมากโผล่พ้นชั้นหิมะออกมา ไม่ว่าจะเป็นผ้า หนังสัตว์ เครื่องมือเครื่องใช้ทำจากไม้ กระทั่งศพของคนโบราณ 

วิลเลียม เทย์เลอร์ นักโบราณคดีที่ทำงานในมองโกเลียทางภาคเหนือและเทือกเขาอัลไตได้กล่าวด้วยความวิตกว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้น้ำแข็งได้ละลายอย่างรวดเร็ว นับจากปี 1990-2016 น้ำแข็งได้ละลายไปแล้วถึง 35 เปอร์เซ็นต์ แน่นอนมันทำให้พบโบราณวัตถุจำนวนมาก ถึงจะเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นของนักโบราณคดีที่ได้พบหลักฐานใหม่ๆ มากมาย แต่มันก็น่าเป็นห่วงว่าโบราณวัตถุที่เป็นอินทรีย์วัตถุพวกนี้ที่เคยเก็บรักษาอยู่ในน้ำแข็งนั้นจะเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว

 

การทำงานโบราณคดีของเทย์เลอร์นี้นับว่าสำคัญมาก เพราะหากไม่สามารถเก็บรวบรวมหลักฐานได้ทันกับการละลายของน้ำแข็ง สิ่งที่มนุษยชาติอาจสูญเสียไปคือ ความรู้ที่จะไขไปสู่ความเข้าใจต้นกำเนิดของเส้นทางสายไหม และการขยายจักรวรรดิมองโกลของเจงกิสข่าน ลาร์ ปิโล ให้ความเห็นต่อโครงการของเทย์เลอร์ว่า โครงการศึกษาโบราณวัตถุจากการละลายของน้ำแข็งในมองโกเลียนี้นับเป็นก้าวที่สำคัญต่องานโบราณคดีในเขตนี้อย่างมาก 

 

Photo: wikimedia commons

 

มนุษย์น้ำแข็งบนเทือกเขาแอลป์ 

เมื่อวันที่ 19 กันยายน ค.ศ. 1991 ที่พรมแดนระหว่างออสเตรียกับอิตาลี ผลจากภาวะโลกร้อนทำให้น้ำแข็งบนเทือกเขาแอลป์ละลายเป็นจำนวนมาก นักท่องเที่ยวชาวเยอรมัน 2 คน เฮลมุต และ อิริก้า ไซมอน ได้ค้นพบ ‘มัมมี่’ หรือร่างของชายผู้หนึ่งโดยบังเอิญที่จุดที่เรียกว่า ‘Ötztal Alps’ 

 

พวกเขาได้ทำการแจ้งเจ้าหน้าที่ที่ดูแลภูเขาให้ทราบ พวกเขาจึงได้เดินทางมาเพื่อเอาศพออกจากน้ำแข็ง เพราะเชื่อว่าเป็นนักปีนเขาที่เสียชีวิต ในที่สุดพวกเขาก็สามารถขุดเอาร่างของผู้ตายออกมาได้พร้อมกับข้าวของติดตัว แต่ก็เต็มไปด้วยความสงสัยกับข้าวของติดตัวของศพที่เหมือนไม่ใช่ของคนในปัจจุบัน

 

ต่อมาในวันที่ 24 กันยายน คอนรัด สปินด์เลอร์ นักโบราณคดีแห่งมหาวิทยาลัยอินน์สบรุค ได้มาดูข้าวของติดตัวของศพ ความจริงจึงได้เปิดเผยว่า ศพที่ตายนี้ความจริงแล้วมีอายุเก่ามากถึง 4,000 ปีมาแล้ว ซึ่งเขารู้ได้จากขวานหินที่พบกับศพและโบราณวัตถุอื่นๆ 

 

หลังจากนั้นจึงทำให้นักโบราณคดีและนักวิทยาศาสตร์สนใจในศพนี้เป็นอย่างมาก และตั้งชื่อว่า ‘โอ๊ตซี’ (Ötzi man) ชายผู้นี้มีความสูง 160 เซนติเมตร หนักราว 50 กิโลกรัม (ตอนที่พบศพ ศพมีน้ำหนักเพียง 13.75 กิโลกรัม) มีอายุเมื่อตายสัก 45 ปี ผลจากการวิเคราะห์องค์ประกอบของเนื้อฟันทำให้พบว่า ดั้งเดิมแล้วชายผู้นี้อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งมีชื่อว่าเฟลดเธร์นส์ ในทางเหนือของอิตาลี หรืออยู่ห่างไปจากจุดที่เขาตาย 50 กิโลเมตร และจากการวิเคราะห์ละอองเกสรดอกไม้ที่พบกับศพทำให้พบว่าเขาน่าจะตายในช่วงฤดูใบไม้ผลิหรือต้นฤดูร้อน 

 

ชายผู้นี้ตายเพราะอะไร? เขาไม่ได้อดตายแน่ๆ เพราะในท้องของชายผู้นี้มีอาหารอยู่ในกระเพาะ เป็นเนื้อแพะภูเขา เบคอน และข้าวสาลี ซึ่งกินก่อนที่เขาจะตาย 2 ชั่วโมงเท่านั้น และก่อนหน้านั้น 8 ชั่วโมงเขาก็เพิ่งจะกินเนื้อของกวางแดงและขนมปังที่มีสมุนไพรด้วย 

 

จากการวิเคราะห์กระดูกเชิงกรานและกระดูกขาแล้ว นักมานุษยวิทยากายภาพ คริสโตเฟอร์ รัฟฟ์ ให้ความเห็นว่า ชายผู้นี้ยังเป็นนักเดินเขา และสามารถเดินได้ในระยะไกล มีความเป็นไปได้ด้วยว่าชายผู้นี้มีอาชีพเลี้ยงแกะในเขตพื้นที่สูง ดังนั้นเขาย่อมชำนาญภูเขา 

 

จริงๆ ไม่มีใครทราบสาเหตุการตายของเขาในช่วงแรกๆ ที่ค้นพบ จนกระทั่งปี 2001 ได้มีการเอกซเรย์ร่างของเขาและใช้วิธีการ CT Scan ทำให้ค้นพบรอยแผลจากหัวธนูที่ไหล่ซ้าย ซึ่งสอดคล้องกันกับรอยทะลุบนเสื้อของเขา จึงเป็นไปได้ว่าชายผู้นี้ตายเพราะเสียเลือดมากจากการถูกธนูยิง

 

มนุษย์น้ำแข็ง ‘โอ๊ตซี่’ เมื่อแรกพบนอนคว่ำหน้าอยู่ในน้ำแข็งที่กำลังละลาย 

Photo: wikimedia commons

 

ถึงแม้ว่าในประเทศไทยจะไม่มีธารน้ำแข็งที่รักษาโบราณวัตถุเอาไว้ แต่ประเทศเราก็ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเช่นกัน และย่อมส่งผลกระทบต่อแหล่งโบราณคดีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ใกล้ชายฝั่งทะเลในเขตกระบี่ พังงา มีแหล่งที่อยู่อาศัยของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์-ประวัติศาสตร์ ก็ย่อมได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ซึ่งในไม่ช้าก็จะหายไป ถ้าหากไม่มีการศึกษาขุดค้นในเวลาอันใกล้ จนอาจกล่าวได้ว่าภาวะโลกร้อนนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อปัจจุบันเท่านั้น หากแต่ยังก่อให้เกิดความสูญเสียต่อทรัพยากรทางวัฒนธรรมของไทยอีกด้วย เพียงแต่เราจะมองมันอย่างเชื่อมโยงอย่างไรเท่านั้นเอง 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X