×

‘Apple Watch’ สมาร์ทวอทช์ที่ช่วยให้ ‘ผู้สูงอายุ’ ดูแลสุขภาพตัวเองได้ง่าย คัดกรองอาการเบื้องต้นก่อนพบแพทย์ได้

19.04.2021
  • LOADING...
‘Apple Watch’ สมาร์ทวอทช์ที่ช่วยให้ ‘ผู้สูงอายุ’ ดูแลสุขภาพตัวเองได้ง่าย คัดกรองอาการเบื้องต้นก่อนพบแพทย์ได้

HIGHLIGHTS

  • ข้อมูลจากผลสำรวจพบว่า กว่า 45% ของผู้ใช้งานที่ซื้อ Apple Watch มาใช้เป็นเพราะฟีเจอร์ด้าน Health ที่ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพที่เป็นประโยชน์ได้อย่างครบครัน
  • ผู้สูงอายุบางรายที่อาจจะมีปัญหาเรื่องการนอนหลับยามค่ำคืน ก็สามารถใช้ฟีเจอร์ Sleep Tracking เพื่อตรวจวัดคุณภาพการนอนหลับ ข้อมูลการนอน ในระหว่างที่ใส่ Apple Watch นอนหลับแต่ละคืน
  • นพ.สุวานิช เตรียมชาญชูชัย อายุรแพทย์โรคหัวใจ เชื่อว่า Apple Watch ทำหน้าที่ Pre Screen คัดกรองคนไข้เบื้องต้นได้ดี (แต่ไม่ใช่สำหรับการตรวจทางการแพทย์ หรือถือเป็นผลการตรวจที่เป็นที่สิ้นสุด)

เราพบว่าผู้สูงอายุในประเทศไทยในวันนี้หันมาใส่มาร์ทวอทช์ นาฬิกาอัจฉริยะเพื่อดูแลสุขภาพและตรวจเช็กข้อมูลสุขภาพของตัวเองกันเยอะมากๆ จากการสังเกตด้วยเวลาออกไปเดินตามถนนหนทาง ศูนย์การค้า และสถานที่ต่างๆ (ก่อนโควิด-19 จะระบาดรุนแรงในระลอกใหม่เดือนเมษายนนี้)

 

ซึ่งก็จะมีทั้งผู้ใช้งานกลุ่มผู้สูงวัยซึ่งรักการออกกำลังกายเป็นชีวิตจิตใจ ชอบที่จะศึกษา ค้นคว้าหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ก่อนจะตัดสินใจเลือกซื้อนาฬิกาอัจฉริยะที่ตอบโจทย์การใช้งานของตัวเองด้วยตัวเอง กับอีกกลุ่มคือกลุ่มที่ลูกๆ หลานๆ ซื้อหามาให้

 

ขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้ 13 เมษายนที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นวันสงกรานต์แล้ว ก็ยังเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติอีกด้วย เราจึงถือโอกาสในช่วงนี้มาแนะนำฟีเจอร์การใช้งาน ‘บางส่วน’ จาก Apple Watch ที่เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์ให้กับผู้ใช้งานกลุ่มผู้สูงวัยกันไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะในแง่การใช้ประโยชน์จากข้อมูลสุขภาพตัวเองเพื่อเฝ้าระวังการรักษาโรคต่างๆ

 

Apple Watch ช่วยให้ผู้ใช้งาน ผู้สูงอายุเข้าถึงข้อมูลสุขภาพตัวเองได้ด้วย ‘ตัวเอง’

ว่ากันว่า ถ้าตัดเรื่องระบบนิเวศอุปกรณ์ Apple ที่อยู่ในลูปเดียว และความง่ายของอินเทอร์เฟซการใช้งานต่างๆ ออกไป อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนตัดสินใจ Apple Watch มาคล้องข้อมือนั้นเป็นผลมาจากการที่มันมาพร้อมกับฟีเจอร์การใช้งานด้านสุขภาพ ‘Health’ ที่มีมาให้อย่างครบครัน (ข้อมูลจากผลสำรวจพบว่า กว่า 45% ของผู้ใช้งานที่ซื้อ Apple Watch มาใช้เป็นเพราะฟีเจอร์ด้าน Health)

 

Apple Watch ผู้สูงอายุ

 

โดยเฉพาะการวัดจังหวะการเต้นของหัวใจที่สามารถนำไปใช้งานต่อยอดเพื่อตรวจหาความผิดปกติต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย ทั้งการแจ้งเตือนภาวะที่หัวใจเต้นผิดปกติ, เต้นเร็วหรือช้าจนเกินไป หรือการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ECG ที่เพิ่งเปิดให้ใช้งานในไทยไปเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมานี่เอง

 

 

ส่วนผู้สูงอายุบางรายที่อาจจะมีปัญหาเรื่องการนอนหลับยามค่ำคืน ก็สามารถใช้ฟีเจอร์ Sleep Tracking เพื่อตรวจวัดคุณภาพการนอนหลับ ข้อมูลการนอนในระหว่างที่ใส่ Apple Watch นอนหลับแต่ละคืน พร้อมตั้งเป้าหมายการนอนหลับหรือ Sleep Goal ในแบบที่ตัวเองต้องการ เพื่อยกระดับคุณภาพการนอนให้ดีขึ้น โดยที่ในระหว่างนอนก็ยังสามารถตรวจวัดจังหวะการเต้นของหัวใจ เพื่อเฝ้าระวังความเสี่ยงด้านปัญหาสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกต่างหาก

 

 

ในด้านการแจ้งเตือนสภาพแวดล้อม ผู้สูงอายุที่สวม Apple Watch ก็ยังสามารถเฝ้าระวังการอยู่ในพื้นที่ที่เป็นมลพิษทางเสียงได้อีกด้วย ผ่านแอปฯ Noise ซึ่งจะแจ้งเตือนผู้ใช้งานในกรณีที่อยู่ในบริเวณที่เสียงรอบตัวดังจนอาจจะเป็นอันตรายกับสุขภาพการได้ยิน ซึ่งเราพบว่าเวิร์กมากๆ (ผู้เขียนมักจะได้รับการแจ้งเตือนนี้บ่อยๆ เมื่ออยู่ในร้านอาหารที่เปิดเพลงเสียงดัง) และก็ยังใช้ควบคู่ผ่านอุปกรณ์หูฟังต่างๆ เพื่อตรวจเช็กว่าเราฟังเพลงเสียงจากสื่อต่างๆ ในระดับที่ดังกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็นหรือไม่ได้ด้วย

 

มาต่อกันที่การตรวจวัดข้อมูลในแง่การเคลื่อนไหว ใน WatchOS7 ยังช่วยให้ผู้ใช้งานที่ใส่ Apple Watch ทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ สามารถลงลึกตรวจเช็กข้อมูลการเคลื่อนไหวของตัวเอง (Mobility) ที่ไม่ใช่แค่การออกกำลังกาย เช่น การก้าวเดิน การวิ่ง ฯลฯ เท่านั้น เพราะสามารถลงดีเทลได้ลึกถึง 6 ระดับมาตรวัด ตั้งแต่ ระยะของย่างก้าวที่เดิน, ความเร็วในการขึ้นลงบันได ไปจนถึงความเร็วในการเดิน เป็นต้น เพื่อช่วยให้ลูกๆ หลานๆ คอยมอนิเตอร์ข้อมูลต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังกรณีที่อาจจะเป็นความเสี่ยงในการเดินหรือการใช้ชีวิตประจำวันในแต่ละวันได้ดี

 

ส่วนในแง่ของการแจ้งเตือนกรณีเกิดอุบัติเหตุ ก็แน่นอนว่าตัว Apple Watch ตั้งแต่รุ่น 4 เป็นต้นมาสามารถใช้ฟีเจอร์การตรวจวัดการล้มแบบอัตโนมัติได้ (Fall Detection) ซึ่งในกรณีที่ผู้ใส่เกิดล้มจริงๆ แล้วไม่มีการตอบสนองใดๆ ตัว Watch ก็จะดำเนินการแจ้งผ่านคอนแท็กผู้ใช้งานฉุกเฉินที่เราได้ผูกไว้ตอนเปิดใช้งานได้ด้วยตัวเอง (ตรงนี้ลูกๆ หลานๆ สามารถเซ็ตอัพการคั้งค่าตัวเบอร์ติดต่อฉุกเฉินให้กับพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ได้ด้วยตัวเอง) และยังสามารถเพิ่มข้อมูลทางการแพทย์ Medical ID ไว้เพื่อป้องกันกรณีการเกิดเหตุฉุกเฉินที่ไม่มีใครคาดคิดได้อีก

 

 

ทั้งนี้สำหรับผู้ใช้งานที่เป็นลูกๆ หลานๆ ซื้อให้ก็สามารถตั้งค่า Family Setup (เพิ่งเปิดตัวไปปลายปี 2020) ให้กับผู้ใช้งานสูงอายุด้วยตัวเองได้ เพื่อใช้ในการแจ้งเตือนกรณีที่เกิดความผิดปกติของผู้สวมใส่ ซึ่งจะเด้งข้อความแบบอัตโนมัติบนอุปกรณ์ของเราได้ทันที ทั้งการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ การล้ม หรือในกรณีที่เกิดพลัดหลง สูญหาย ก็สามารถติดตามได้จากข้อมูล Find My ได้เลย เรียกได้ว่าสะดวกสุดๆ

 

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ใน Watch OS7 ยังเพิ่ม ‘ความหลากหลาย’ ในการปรับแต่งหน้าจอหน้าปัดนาฬิกามาให้ด้วย เอาไว้แก้ปัญหากรณีที่กังวลว่าตัวอักษร ตัวเลขบนนาฬิกาจะมี ‘ขนาดเล็กกว่า’ ที่จะมองเห็น ก็สามารถปรับให้มีขนาดใหญ่ขึ้นตามความถนัดในการมองเห็นของผู้สวมใส่ได้ง่ายๆ เลย

 

นพ.สุวาณิช เตรียมชาญชูชัย อายุรแพทย์โรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

นพ.สุวาณิช เตรียมชาญชูชัย อายุรแพทย์โรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

 

คุณหมอพบ Apple Watch ช่วยคัดกรองผู้ป่วยขั้นต้น ให้ผู้ใส่มีข้อมูลสุขภาพตัวเองเวลามาพบแพทย์ได้

นพ.สุวาณิช เตรียมชาญชูชัย อายุรแพทย์โรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงประโยชน์การใช้งาน Apple Watch ในผู้ใช้งานที่เป็นผู้สูงวัยกับ THE STANDARD โดยพบอินไซต์ที่น่าสนใจของยูสเคสการใช้งานจริงว่า ตั้งแต่ที่คนไข้สูงอายุบางรายนำ Apple Watch มาใช้งานควบคู่เวลาพบแพทย์ ก็ทำให้แพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลกรณีการผิดปกติที่ตัว Watch มีการแทร็กเก็บไว้ได้เลย โดยที่บางครั้งกรณีความผิดปกตินั้นๆ คนไข้อาจจะไม่รู้ตัว ไม่แสดงอาการ หรือจำไม่ได้ด้วยซ้ำ

 

ตรงนี้ถือว่าเป็นประโยชน์มากๆ เพราะช่วยให้แพทย์สามารถได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ซึ่งแม้จะไม่ใช้ข้อมูลที่นำมาประกอบการรักษาโดยตรง แต่ก็เป็นชุดข้อมูลของคนไข้ที่มีการเก็บข้อมูลอยู่ตลอดเวลา

 

โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหมอสุวานิชพบว่า Apple Watch ยังเป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ Pre Screen ช่วยคัดกรองคนไข้ในเบื้องต้นได้ดีอีกต่างหาก โดยพบคนไข้เส้นเลือดสมองตีบจากการตรวจคลื่นหัวใจเบื้องต้นบน Apple Watch ก่อนจะดำเนินการตรวจซ้ำตามกระบวนการทางการแพทย์ถึง 2-3 ราย

 

และยังพบคนไข้ที่มีภาวะหัวใจสั่นพลิ้วมากกว่า 4 เคส จากที่มีการตรวจเบื้องต้นโดย Apple Watch ทั้งหมด 40 เคส (ระดับการคัดกรองที่ 10%) ซึ่งตรงนี้คุณหมอระบุว่า Apple Watch สามารถเข้ามาปิดช่องว่าง หรือ Gap การคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้นได้สะดวกและประหยัดเวลามากขึ้น 

 

เพียงแต่ข้อแนะนำที่คุณหมอเชื่อว่าอาจจะทำให้ผู้สูงอายุใช้งาน Apple Watch ได้ดีขึ้นในอนาคต คือหากมันสามารถใช้วัดระดับความดันของผู้สวมใส่ สามารถตรวจวัดคลื่นหัวใจได้ทันทีในกรณีที่ผู้ใช้งานเกิดอุบัติเหตุล้ม รวมถึงการหาแนวทางช่วยให้ผู้ใช้งานที่อาจจะมีภาวะมือสั่น แตะนิ้ววัดข้อมูลบนแป้นมะยม Digital Crown ได้แม่นยำขึ้น ก็จะเป็นเรื่องที่ดีและมีประโยชน์ครบครันรอบด้าน

 

และนี่ก็เป็นทั้งหมดจากมุมมองการใช้งาน Apple Watch เพื่อช่วยให้ผู้สูงวัยที่สนใจจะใช้งาน หรือช่วยให้บรรดาลูกๆ หลานๆ ที่กำลังพิจารณาทางเลือกสมาร์ทวอทช์ให้กับคนที่รักสามารถนำมาประกอบการพิจารณาได้ดีขึ้นกว่าเดิม

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X