เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา Apple ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการกลายเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันแห่งแรกที่มีมูลค่าบริษัทตามราคาตลาด (Market Cap) มากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 62.5 ล้านล้านบาท ได้สำเร็จ
การปรับตัวขึ้นของมูลค่า Market Cap บริษัท Apple ในครั้งนี้เป็นผลมาจากการที่หุ้นของบริษัทได้แตะที่ระดับ 467.77 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงสายของวันดังกล่าว ก่อนจะปิดตลาดในวันนั้น โดยขยับตัวลงมาเล็กน้อยที่ 462.83 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถ้านับตลอดทั้งปี 2020 จนถึงวันที่ 19 สิงหาคมนี้ มูลค่าหุ้นของ Apple ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 60%
ถ้ายังจำกันได้ ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนสิงหาคม 2018 Apple ก็เคยสร้างประวัติศาสตร์ให้กับบริษัทและตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ มาแล้ว ด้วยการเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ รายแรกที่มีมูลค่า Market Cap แตะหลักล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นั่นหมายความว่าตลอดระยะเวลา 24 เดือนที่ผ่านมา มูลค่าของบริษัทได้ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวแล้ว
อย่างไรก็ดี ถ้าขยับขึ้นไปมองในสเกลระดับโลกก็จะพบว่า Apple ไม่ใช่บริษัทเอกชนแห่งแรกที่มีมูลค่า Market Cap ที่ระดับ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะก่อนหน้านี้บริษัทน้ำมันสัญชาติซาอุดีอาระเบียอย่าง Saudi Aramco ก็เคยทำได้มาแล้วเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2019 ก่อนที่มูลค่าบริษัทจะเริ่มลดลงตามราคาหุ้นน้ำมันที่ผันผวน (ถูก Apple แซงขึ้นเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสุงสุดในโลกเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2020)
สำหรับผลประกอบการของ Apple ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา (นับเป็นไตรมาส 3 ตามปีงบการเงินบริษัท) มีรายได้รวมอยู่ที่ 59,685 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2019 ที่ 11% ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 11,253 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 12% ซึ่งถึงแม้ว่ารายได้จากผลิตภัณฑ์ในกลุ่มบริการของพวกเขาจะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 22% จากรายได้ทั้งหมดเท่านั้น แต่ก็ถือว่าธุรกิจบริการของพวกเขามีทิศทางการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง และมีอัตราการเติบโตที่กว่า 14.8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ด้านนักวิเคราะห์อย่าง โลแกน เพิร์ก ได้ให้มุมมองความเห็นที่น่าสนใจกับ CNBC ว่า ตลอดช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ได้มีมุมมองกับ Apple ว่าเป็นบริษัท ‘ซอฟต์แวร์’ มากกว่าผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ไปแล้ว เนื่องจากธุรกิจในกลุ่มบริการของ Apple มีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
การที่ Apple ให้ความสำคัญกับธุรกิจบริการ ยังช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุนจำนวนมาก รวมถึงกระจายความเสี่ยงด้านรายได้ให้กับพอร์ตธุรกิจของบริษัทอีกด้วย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล