แม้ว่าการประกาศเปิดตัว Apple Intelligence ในงาน WWDC 2024 จะจบลงแล้ว แต่สิ่งที่ยังคงเป็นคำถามก่อนซอฟต์แวร์จะถูกปล่อยให้ลองใช้งานก็คือเรื่องของการรักษาความเป็นส่วนตัว ที่ Apple เน้นพูดถึงเป็นหลักระหว่างงาน แบบที่ใช้เวลาไม่แพ้กับในส่วนของคุณสมบัติว่า Apple Intelligence จะเข้ามาช่วยให้ชีวิตของผู้ใช้งานง่ายขึ้นอย่างไร
THE STANDARD WEALTH จึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิธีที่ Apple ใช้เพื่อรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานมาสรุปให้ตามนี้
On-Device และ PCC สองกลไกรักษาความปลอดภัยของข้อมูล
The Verge รายงานว่า ความเป็นส่วนตัวในการใช้ Apple Intelligence จะแบ่งได้ออกเป็นสองวิธีหลักๆ อย่างแรกเป็นการประมวลผลบนอุปกรณ์ (On-Device) ที่ฝังลึกอยู่ในทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของเครื่อง โดยสิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มี A17 Pro หรือชิป M-Series ที่เป็นรากฐานของ Apple Intelligence ให้สามารถทำงานบนอุปกรณ์ได้ โดยการประมวลผลบนอุปกรณ์จะใช้สำหรับฟังก์ชันงานที่ไม่ซับซ้อนมาก เช่น การจัดตารางชีวิตประจำวัน หรือปรับแต่งรูปภาพ
ในขณะเดียวกันบางคำสั่งของผู้ใช้งานอาจซับซ้อน ซึ่ง Apple เลือกแก้ไขปัญหานี้ด้วยอีกวิธีคือการประมวลผลผ่านคลาวด์ แต่ความพิเศษของคลาวด์ที่ถูกนำมาใช้งานในกรณีนี้คือ Private Cloud Compute (PCC) ที่จะเป็นเพียงการเลือกใช้ข้อมูลที่จำเป็นผ่านการตัดสินใจของอุปกรณ์ Apple เพื่อนำมาประมวลผลหาคำตอบเท่านั้น และเมื่อประมวลบนคลาวด์เสร็จ ข้อมูลจะถูกลบออกทันทีแบบไม่มีการเก็บไว้ใช้ทีหลัง ไม่มีใครแม้กระทั่ง Apple ที่จะเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้
Craig Federighi รองประธานอาวุโสฝ่ายซอฟต์แวร์ประจำ Apple ประกาศว่า รูปแบบการทำงานของ Apple Intelligence คือ “มาตรฐานใหม่ของการใช้งาน AI อย่างเป็นส่วนตัว”
ข้อมูลจากงานวิจัยจาก Apple ระบุว่า “เมื่อ PCC มีการเปิดให้ใช้งานจริง เราตั้งใจที่จะปล่อยโครงสร้างการทำงานของซอฟต์แวร์นี้สู่สาธารณะให้ทุกคนสามารถตรวจสอบระบบได้” หากพูดอีกนัยหนึ่ง Apple กำลังบอกว่า ไม่ต้องเชื่อคำพูดของบริษัทก็ได้ แต่ทุกคนสามารถเข้ามาตรวจสอบสิ่งที่ Apple สร้างขึ้นได้อย่างโปร่งใส
เข้าใจและเข้าถึงข้อมูล แต่ไม่สูญเสียความเป็นส่วนตัว
จุดขายของ Apple Intelligence ที่ทำให้เทคโนโลยีนี้ต่างจาก AI อื่นในตลาด คือความเข้าใจผู้ใช้งาน เพราะแม้ ChatGPT หรือ Gemini จะรอบรู้ในเรื่องต่างๆ แต่แชตบอตเหล่านี้ยังขาดความเข้าใจผู้ใช้งานในระดับ ‘บุคคล’
สำหรับ Apple พวกเขามีสิ่งที่เรียกว่า Semantic Index หรือเครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์และจัดเก็บข้อมูลการใช้งานอุปกรณ์ Apple ไม่ว่าจะเป็นอีเมล รูปภาพ การเข้าเว็บไซต์ หรือการใช้แอปพลิเคชันต่างๆ บนเครื่อง เพื่อให้ Apple Intelligence เข้าใจบริบทชีวิตและกิจกรรมของผู้ใช้งาน โดย Apple ย้ำว่าข้อมูลเหล่านี้จะอยู่แค่บนตัวเครื่องของผู้ใช้งานเท่านั้น
แต่นั่นทำให้กลุ่มคนที่ใส่ใจเรื่องความเป็นส่วนตัวเกิดคำถามว่า การให้ Apple Intelligence เข้าถึงแอปต่างๆ ในอุปกรณ์ จนเข้าใจชีวิตส่วนตัวเราแบบนี้ มันจะกระทบกับความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูลอย่างไรบ้าง?
ประเด็นนี้บริษัทเขียนบทความอธิบายเอาไว้ว่า “Apple ฝึกโมเดลพื้นฐาน (Foundation Models) จากข้อมูลที่ได้รับความยินยอมการใช้งานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งข้อมูลสาธารณะที่ Applebot หรือเครื่องมือค้นหาข้อมูลตามอินเทอร์เน็ตของบริษัทสามารถหามาได้”
นอกจากนี้ Apple ยืนยันว่าข้อมูลส่วนตัวและบทสนทนาของผู้ใช้งานที่ประมวลผลบนเครื่องหรือส่งเข้าไปประมวลผลบน PCC จะไม่ถูกนำมาใช้ฝึก Apple Intelligence อย่างแน่นอน แถม Apple ยังให้ข้อมูลว่าบริษัทใช้ตัวกรองข้อมูลส่วนตัว เช่น เลขบัตรประชาชน หรือเลขบัตรเครดิต ที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตออกไปจากระบบ รวมถึงข้อมูลที่ไม่มีคุณภาพ ก่อนนำข้อมูลที่ได้มาตรฐานการคัดแล้วมาใช้
แม้ว่า Apple Intelligence จะมีกลยุทธ์การรักษาความเป็นส่วนตัวบนระบบนิเวศที่ตนสร้างขึ้น แต่บททดสอบอีกหนึ่งอย่างคือการจับมือกับ OpenAI เพื่อใช้ ChatGPT ร่วมกับ Siri เพราะ ChatGPT เองก็เป็นประเด็นข่าวบ่อยครั้งในความหละหลวมของการรักษาข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน ทำให้หลายคนสงสัยว่าการตัดสินใจครั้งนี้ของ Apple จะส่งผลกับคำมั่นสัญญาของบริษัทอย่างไร
หรือผู้ใช้งาน Apple จะเป็นส่วนตัวน้อยลงเมื่อ OpenAI เข้ามาเอี่ยว?
หากเราข้อไปดูในเมนูตั้งค่า (Settings) ของ ChatGPT จะพบว่าแชตบอตนี้สามารถนำข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข้อความ เสียง หรือรูปภาพ จากการสนทนาของเรา ไปฝึกพัฒนาศักยภาพของโมเดล AI ได้ หากผู้ใช้งานไม่เลือกที่จะปิดการเข้าถึงข้อมูลโดย ChatGPT ตามภาพด้านล่าง
อย่างไรก็ดี Apple ย้ำว่า Apple Intelligence เป็นโมเดลที่บริษัทพัฒนาขึ้นเองและไม่ได้อาศัยความร่วมมือกับบุคคลที่สามใดๆ แต่ในส่วนของการประกาศนำ ChatGPT เข้ามาอยู่ในระบบนิเวศของ Apple นั้น จะถูกใช้กับ 2 ฟีเจอร์หลักอย่าง Siri และเครื่องมือช่วยงานเขียน (Writing Tools) ที่อาจมีคำสั่งซับซ้อนและต้องอาศัยการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ครบถ้วนกว่า เพื่อสร้างผลลัพธ์ให้ได้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน ซึ่งเกินขีดความสามารถที่ Apple Intelligence จะทำให้เกิดขึ้นได้โดยอาศัยการประมวลผลบนอุปกรณ์เพียงลำพัง
ทั้งนี้ Siri และ Writing Tools จะถามผู้ใช้งานทุกครั้งก่อนส่งข้อมูลไปให้ ChatGPT ประมวลผล รวมทั้งจะแสดงพรีวิวชุดข้อมูลที่จะถูกส่งไปยัง ChatGPT เช่น เอกสาร ข้อความ หรือรูปภาพ ว่ามีส่วนไหนที่ต้องส่งออกไปด้านนอก ซึ่งผู้ใช้งานจำเป็นต้องเลือกยินยอมด้วยตัวเองให้ฟีเจอร์ทั้งสองทำงานร่วมกับ ChatGPT ได้
นอกจากนี้ การประมวลผลโดยใช้ ChatGPT จะอยู่ในสถานะ Log Out นั่นหมายความว่า การใช้งานที่ถูกส่งมาจากอุปกรณ์ Apple จะไม่ถูกโยงกับบัญชีใดๆ และ Apple ยังใช้วิธีปิด IP Address ของผู้ใช้งานไม่ให้ OpenAI รู้ได้ว่าข้อมูลที่ส่งมานั้นมาจากเครื่องของใคร
สำหรับผู้ที่ยังกังวลว่าแม้ ChatGPT จะไม่รู้ว่าข้อมูลส่งมาจากใคร แต่บริษัทก็ยังสามารถนำข้อมูลไปใช้ฝึก AI ได้อยู่ดีหรือไม่
Apple ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนว่า ทั้งสองบริษัทตกลงร่วมกันผ่านสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะไม่เก็บข้อมูลของผู้ใช้งาน Apple ไปฝึก ChatGPT อย่างเด็ดขาด
แต่…หากผู้ใช้งานเลือกที่จะใช้ ChatGPT Plus ที่เป็นแบบจ่ายเงินรายเดือนเพื่อเข้าถึงโมเดลล่าสุดของ OpenAI การปกป้องความเป็นส่วนตัวที่ Apple พูดมาก็จะหายไป และกฎระเบียบการดูแลจะถูกโอนย้ายไปขึ้นตรงกับข้อตกลงของ OpenAI แทน
อีกหนึ่งข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ตอนนี้หากเราใช้ ChatGPT แบบ Log Out โมเดลที่เรากำลังคุยด้วยนั้นไม่ใช่โมเดลล่าสุดอย่าง GPT-4o แต่เป็น GPT-3.5 ที่เก่ากว่า ทำให้ผู้ใช้งานต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการรักษาความเป็นส่วนตัวและการเข้าถึงโมเดลที่มีความฉลาดต่างกัน ในขณะที่ด้าน Apple เองก็กำลังหาสมดุลระหว่างความปลอดภัยของลูกค้าและการให้บริการนวัตกรรมที่ล้ำหน้าที่สุดแก่พวกเขา
อ้างอิง: