สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ความร่วมมือระหว่าง Goldman Sachs ธนาคารยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ และบริษัทบิ๊กเทคอย่าง Apple กำลังจะสิ้นสุดลง หลังจากที่ต่างฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่าไม่สามารถไปกันต่อได้อีกแล้ว โดย Apple เป็นผู้ยื่นข้อเสนอในการยุติความร่วมมือที่จะมีผลบังคับใช้ในอีกประมาณ 12-15 เดือนข้างหน้า
เกิดอะไรขึ้น ทำไมบริษัททั้งสองถึงตัดความร่วมมือกัน?
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2019 ที่เป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือระหว่างสองบริษัทที่ต้องการให้บริการการเงินส่วนบุคคลด้วยบัตรเครดิต Apple Card ซึ่งมีฟีเจอร์หลากหลาย เช่น บัญชีเงินฝากและบริการ ‘Buy Now, Pay Later’ หรือซื้อก่อนจ่ายทีหลัง ที่ผนวกเข้ากับการใช้งานคู่กับ iPhone ได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือของทั้งสองบริษัทก็เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ถึงแม้ว่า Apple Card จะได้รับการตอบรับจากตลาดที่ค่อนข้างดีด้วยค่าธรรมเนียมที่ต่ำและการได้เครดิตเงินคืนแบบรายวัน แต่เบื้องหลังที่มีทั้งปัญหาการพัฒนาบริการ การขาดทุนจากเงินกู้ที่ทำให้งบดุลของ Goldman Sachs ติดลบไปหลายพันล้านดอลลาร์ ทำให้การตัดสินใจถอนตัวครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับธนาคารที่ต้องเจอกับสภาวะขาดทุนมหาศาล
ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา Goldman Sachs พยายามลดบทบาทของตัวเองในตลาดการเงินส่วนบุคคลโดยการยกเลิกบัตรเครดิตที่ทำร่วมกับ T-Mobile US Inc. และกำลังจะทำเช่นเดียวกันกับ General Motors Co. ซึ่งตอนนี้ถึงคิว Apple แล้วเหมือนกัน แต่ประเด็นก็คือ สัญญาระหว่างทั้งสองบริษัทมีอายุอีก 5 ปี และ Apple ก็มีสิทธิ์ที่จะยื้อให้ธนาคาร Goldman Sachs อยู่ในดีลต่อได้ แต่บริษัทผู้ผลิต iPhone เลือกที่จะไม่ทำเช่นนั้น เพราะว่าพวกเขามีสิ่งที่ต้องเสียด้วย
Apple ไม่อยากฝากอนาคตของแบรนด์ตัวเองไว้ในมือพาร์ตเนอร์ที่ไม่มีใจจะอยู่ต่อแล้ว ทำให้ทางเลือกที่ดีที่สุดคือการแยกทาง โดย Apple เป็นผู้ยื่นข้อเสนอให้กับ Goldman Sachs ซึ่งถ้าตกลงกันสำเร็จ ระยะเวลาที่ทุกอย่างจะคลี่คลายก็มีแนวโน้มที่จะใช้เวลามากกว่าหนึ่งปีเนื่องจากการเจรจาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น
ตอนนี้ Apple ต้องกลับมานับหนึ่งใหม่กับการหาพันธมิตรสำหรับบริการ Apple Card แต่สถานการณ์ปัจจุบันที่บัตรมีผู้ใช้งานแล้วหลายล้านคนและยอดเงินฝากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ก็แตกต่างจากในช่วงแรกมากที่ธนาคารยักษ์ใหญ่ต่างๆ เช่น JPMorgan Chase, American Express และ CitiGroup ลังเลที่จะจับมือกับ Apple ในตอนเริ่มต้น เนื่องจากไม่มั่นใจถึงความคุ้มค่าของการลงทุน ณ เวลานั้น แต่วันนี้คำตอบเริ่มชัดเจนมากขึ้น
สิ่งที่พิเศษอีกอย่างคือ Apple Card จะอยู่ในตำแหน่งแรกภายในแอปพลิเคชัน Wallet ของ Apple ด้วย ทำให้ธนาคารที่เคยเมินดีลนี้เมื่อ 4 ปีก่อนอาจจะต้องคิดทบทวนใหม่อีกครั้ง
จากการประเมินของ Bloomberg ธนาคารที่เหมาะสมในการรับช่วงต่อดีลนี้มากที่สุดก็คือ Chase ขาธุรกิจด้านการเงินส่วนบุคคลของ JPMorgan Chase เนื่องจากธนาคารถือครองเงินสดของ Apple อยู่แล้วไว้ราว 10,000 ล้านดอลลาร์ มีโปรแกรมที่ให้สิทธิ์ส่วนลดสินค้า Apple กับสมาชิกของธนาคาร และยังเป็นธนาคารที่มียอดธุรกรรมสูงสุดในร้านค้าออนไลน์และออฟไลน์ของ Apple ด้วย
นอกจากนี้ Chase ยังใช้เครือข่าย MasterCard ซึ่งเป็นอันเดียวกันกับที่ Apple ใช้อยู่ ทำให้ไม่ต้องมีขั้นตอนในการย้ายเครือข่ายไปยัง Visa หรือ American Express และทางธนาคารยังมีระบบเดบิตที่แข็งแกร่งและเสถียรกว่าผู้ให้บริการเดิมของ Apple
ประเด็นหนึ่งที่อาจทำให้ Chase ไม่เหมาะกับดีลนี้ก็คือ บัญชีเงินฝากกับ Apple ที่จ่ายดอกเบี้ยสูงถึง 4.15% ต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่ามาตรฐานของ Chase ค่อนข้างมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บริการด้านเงินฝากก็สามารถขายแยกให้กับธนาคารอื่นที่พร้อมจะจ่ายดอกเบี้ยในระดับนั้น โดยที่ผู้ใช้งานจะไม่รู้ถึงความแตกต่างเลยตราบใดที่พวกเขายังเข้าถึงเงินนั้นได้
อ้างอิง: