×

กรมการแพทย์เผย โรคไขกระดูกฝ่ออันตรายถึงขั้นหัวใจล้มเหลวได้ สถิติเผยพบ 4 รายต่อประชากร 1 ล้านคนต่อปี

01.08.2019
  • LOADING...

วันนี้ (1 ส.ค.) นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าโรคไขกระดูกฝ่อเป็นโรคที่ไขกระดูกไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดได้ ทำให้ผู้ป่วยเกิดปัญหาโลหิตจาง เลือดออกจากเกล็ดเลือดต่ำ และติดเชื้อโรคง่ายจากเม็ดเลือดขาวต่ำ ในประเทศไทยพบอัตราการเกิด 4 รายต่อประชากร 1 ล้านคนต่อปี พบบ่อยในช่วงอายุ 15-25 ปี และมากกว่า 60 ปี โดยเพศชายและเพศหญิงพบได้ในอัตราที่เท่าๆ กัน 

 

ซึ่งโรคนี้ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค แต่อาจเกิดได้จากโรคทางพันธุกรรมหรือสาเหตุจากปัจจัยที่เกิดภายหลัง ได้แก่ การรับรังสีในปริมาณสูง ยาเคมีบำบัด สารเบนซิน และยาบางชนิด เช่น ยาแก้ข้ออักเสบ ยากันชัก ยาฆ่าเชื้อบางชนิด ยารักษาไทรอยด์เป็นพิษ และภาวะไวรัสตับอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการซีด เนื่องจากไขกระดูกจะสร้างเม็ดเลือดแดงลดลง ถ้าเม็ดเลือดแดงในร่างกายต่ำมากจะมีอาการอ่อนเพลีย หอบ และเหนื่อยง่าย หากซีดมากอาจทำให้มีภาวะหัวใจล้มเหลวได้ การสร้างเกล็ดเลือดลดลงจะทำให้ผู้ป่วยมีจุดเลือดออกตามตัว มีเลือดออกในช่องปาก ในเพศหญิงอาจมีประจำเดือนมากกว่าปกติ นอกจากนี้หากผู้ป่วยมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา

 

นอกจากนี้ นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่าจากข้อมูลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือดลดลงต่ำมาก การทำงานของไขกระดูกพบเซลล์ปกติของไขกระดูกลดลงมาก มีเซลล์ไขมัน การรักษาโดยการให้เลือดและรักษาแบบเฉพาะเจาะจง โดยให้เม็ดเลือดแดงในผู้ป่วยที่มีภาวะซีดร่วมกับมีอาการเหนื่อยจากโรคโลหิตจางและให้เกล็ดเลือด ถ้ามีเลือดออกร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำกว่า 10,000/L สำหรับการรักษาแบบเฉพาะเจาะจง การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต จะเลือกวิธีนี้ในกรณีที่โรคมีความรุนแรงและผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 40 ปี นอกจากนี้อาจให้ยากดภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยที่โรครุนแรง ไม่สามารถปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตได้ หรือให้ฮอร์โมนเพศชายในผู้ป่วยที่เป็นโรคชนิดไม่รุนแรง

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising