จากงาน APEC CEO Summit ในเวทีเรื่อง เผชิญหน้าความท้าทายด้านความมั่นคงทางอาหารของโลก (MEETING THE WORLD’S FOOD SECURITY CHALLENGE) ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนา 3 ท่าน ได้แก่ Paul Gilding นักเขียนและที่ปรึกษาองค์กร อดีตผู้อำนวยการกรีนพีซ, ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF) และ John Cappuccitti ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Evolved Meats
ขณะที่เวทีเรื่อง (POWERING FUTURE GROWTH AND PRESERVING THE PLANET) ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนา 3 ท่าน ได้แก่ นิรันดร โรจนสมสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานโครงการผลิตในประเทศ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP, Irtiza H. Sayyed ประธานธุรกิจ Low Carbon Solution บริษัท เอ็กซอนโมบิล ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (EXXON) และ Harald Link ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ หรือ BGRIM
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการประชุม APEC ที่ไทยเรากำลังจะเป็นเจ้าภาพ
- ประมวลภาพผู้นำนานาประเทศตบเท้าร่วมงาน APEC CEO Summit 2022
- วาทะเด็ดในงาน APEC CEO Summit 2022 วันสุดท้าย
ความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงานถือเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ทุกประเทศทั่วโลกต่างกังวลมากขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะด้วยปัญหาทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน ทำให้หลายประเทศต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลน หรือเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างมากจากในอดีต
Gilding มองว่า ปัจจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดต่อเรื่องความมั่นคงทางอาหาร
“ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเร็วมากและกระทบต่ออุณหภูมิ ทำให้ผลผลิตอาหารยากต่อการคาดเดา และผลกระทบจาก Climate Change จะยิ่งคาดเดาได้ยากขึ้นเรื่อยๆ”
อย่างไรก็ตาม นอกจากอุตสาหกรรมอาหารจะได้รับผลกระทบจาก Climate Change ในขณะเดียวกันก็เป็นสาเหตุของการทำให้เกิดปัญหา ทั้งจากกระบวนการผลิตหรือการบริโภคเกินความจำเป็น เป็นต้น
ในมุมมองแง่บวก ผู้บริโภคและผู้ประกอบการรุ่นใหม่มีความตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหา Climate Change มากขึ้น และมีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน ซึ่งคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมในอนาคต
“ก่อนที่เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วย ในระยะสั้นเราจำเป็นจะต้องลดการปล่อยก๊าซมีเทนให้ได้เร็วที่สุด เพื่อชะลอภาวะโลกร้อน”
ด้านประสิทธิ์กล่าวว่า เทคโนโลยีจะเป็นกุญแจสำคัญที่เข้ามาช่วยสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร และอีกปัจจัยที่สำคัญคือการมองภาพธุรกิจในระยะยาว ซึ่งจะช่วยให้เราคำนึงถึงประโยชน์ของทั้ง Value Chain
“ผู้บริโภคจะเรียกร้องว่าบริษัทต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น เราเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าเทคโนโลยีคือคำตอบของการผลิตอาหารได้เพียงพอในราคาที่เหมาะสม โรงเรือนที่ทันสมัย ระบบจัดการอัตโนมัติ และการควบคุมสภาพแวดล้อม ทำให้คนงานเพียง 1 คน เลี้ยงไก่ได้ถึง 1 แสนตัว”
นอกจากนี้ CPF ยืนยันว่าจะให้ความสำคัญกับทุกๆ ส่วนของห่วงโซ่ในการผลิตอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร หรือต้องทำให้มั่นใจได้ว่าสิ่งแวดล้อมจะไม่ถูกทำลาย เช่น พื้นที่ที่ใช้ปลูกข้าวโพดที่บริษัทรับซื้อจะต้องไม่กลายเป็นพื้นที่แห้งแล้งในอนาคต
Cappuccitti เชื่อว่าการผลิตอาหารแบบเจาะจงกลุ่มผู้บริโภคจะตอบโจทย์ได้ดีกว่าระบบการผลิตแบบดั้งเดิมที่ไม่มีความยั่งยืน โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยภายนอกมากระทบ แต่ก็ใช่ว่าเทคโนโลยีทันสมัยเท่านั้นจะเป็นคำตอบ ผู้ประกอบการจะต้องผสมผสานหลากหลายวิธีเข้าด้วยกัน
สำหรับประเด็นความมั่นคงทางด้านพลังงาน ความท้าทายที่สำคัญซึ่งตัวแทนภาคเอกชนเห็นพ้องกันคือ การสร้างสมดุลระหว่างความมั่นคงทางพลังงาน การเติบโตของเศรษฐกิจ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ในมุมของนิรันดร เชื่อว่าพลังงานฟอสซิลจะยังถูกใช้ไปอีกอย่างน้อย 20 ปี เพราะเป็นพลังงานที่เสถียรที่สุดในระหว่างรอการพัฒนาของเทคโนโลยีใหม่ เช่น ไฮโดรเจน หรือแบตเตอรี่
ด้าน Sayyed กล่าวเสริมว่า ความท้าทายที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือความแตกต่างกันของข้อจำกัดของแต่ละประเทศ เช่น ประเทศที่มีพื้นที่น้อยอาจไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้เพียงพอ หรือความแตกต่างกันในแง่ความต้องการใช้ ทำให้เราต้องอาศัยความร่วมมือในระดับโลกเพื่อช่วยกันสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน
“ในช่วงเริ่มต้นของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ผู้คนในอุตสาหกรรมยังไม่ควรจะแข่งขันกัน แต่ควรจะหันมาร่วมมือกันไม่ว่าจะเป็นระดับองค์กรหรือรัฐบาล”
ส่วนประเด็นเรื่องการเก็บภาษีคาร์บอน Sayyed ให้ความเห็นว่า ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอาจจะรองรับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการเก็บภาษีได้ แต่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่จะต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างหนัก เพราะมาตรการนี้อาจกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากประเทศต่างๆ ในเอเชีย-แปซิฟิกมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในระดับที่แตกต่างกัน ข้อตกลงในเรื่องนี้ควรมีความยืดหยุ่น เพื่อให้เหมาะสมกับห่วงโซ่อุปทานทั้งของประเทศที่มีการปลดปล่อยคาร์บอนสูง และประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอน
ด้าน Link กล่าวว่า การที่แต่ละบริษัทจะลงทุนด้านพลังงานทดแทนหรือพลังงานรูปแบบใหม่ จำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างกัน และสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือการสร้างความเชื่อมั่น (Trust) ระหว่างกัน
นอกจากนี้ Link ยังได้บอกว่านโยบายของภาครัฐที่จะให้ส่วนชดเชย (Compensation) กับผู้ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งจำเป็น ด้วยความแตกต่างกันของฐานะของประชาชน สำหรับผู้ที่รวยกว่าอาจจะไม่เดือดร้อนกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์โดยที่ไม่มีรายได้เพิ่มเข้ามา แต่ผู้ที่รวยน้อยกว่าอาจจะทำไม่ได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งนโยบายหนึ่งที่ควรนำมาใช้คือการเปิดการซื้อขายไฟฟ้าเสรี