×

ยอดขายเดือนเม.ย.-พ.ค. ของ AP ทะลุ 6 พันล้าน โต 43% ผลจากการทำการบ้านหนักและแคมเปญโดนใจ

10.06.2020
  • LOADING...

นับตั้งแต่เปิดปี 2020 กลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างมองตรงกันว่า จะเป็นปีที่ยากลำบาก ด้วยภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่อยู่ในอาการย่ำแย่อยู่แล้ว กลับถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตโควิด-19 ที่เริ่มแผลงฤทธิ์ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดอสังหาริมทรัพย์ทุกรายต่างต้องปรับตัวกันยกใหญ่ 

 

วิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บมจ. เอพี ไทยแลนด์ กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ทำให้ AP ต้องทำการบ้านอย่างหนัก โดยในช่วงรอยต่อไตรมาส 1 และ 2 หรือปลายเดือนมีนาคมและเมษายน เป็นช่วงที่เซนติเมนต์ของตลาดแย่มากๆ เพราะเป็นช่วงที่มีแต่ความไม่แน่นอน และความกลัว ยอดเข้าชมโครงการลดลงเหลือเพียงเฉลี่ย 700 คนต่อสัปดาห์เท่านั้น 

 

แต่จากการทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อผลักดันยอดขาย การเชิญลูกค้าเข้ามาชมบ้านผ่านระบบออนไลน์ ตลอดจนให้ลูกค้าคุยกับทีมขายผ่านออนไลน์และแคมเปญการตลาดต่างๆ ที่ผลักดันออกมาทำให้ทิศทางของตลาดกลับมาดีขึ้นเรื่อยๆ โดยปกติแล้วช่วงเมษายนจะเป็นช่วงที่มียอดขายต่ำที่สุดของปี เพราะมีวันหยุดจำนวนมาก

 

“จากมาตรการต่างๆ ที่ทำส่งผลให้ยอดของลูกค้าที่เข้ามาชมในโครงการเพิ่มขึ้นไปมากถึง 1,270 คนต่อสัปดาห์ ทำให้ยอดขายดีไปด้วย เฉพาะเดือนเมษายนและพฤษภาคม มียอดขายแล้ว 6,255 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ทำได้ 4,384 ล้านบาท ที่สำคัญยอดขายในช่วงดังกล่าวมากกว่ายอดขายไตรมาส 1 เรียบร้อยแล้ว”

 

ปัจจุบันในช่วง 5 เดือนแรกของปี AP ทำยอดขายแล้ว 12,300 ล้านบาท หรือประมาณ 40% ของเป้าหมาย 33,500 ล้านบาทของปี 2020

 

อย่างไรก็ตาม จากวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป โดยเฉพาะกับพื้นที่ส่วนกลาง (Public Area) พื้นที่ที่หลายคนอาจกังวลใจที่จะต้องใช้งานร่วมกัน โดยจากการศึกษาหาอินไซต์ของคนเมืองในมุมของการอยู่อาศัยร่วมกันกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พบ 3 ประเด็นที่คนให้ความสำคัญ ได้แก่

 

  1. ความหนาแน่น (Density) การจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการกับปริมาณการเข้าใช้งานในพื้นที่นั้นๆ
  2. สุขภาพร่างกาย (Health) ความปรารถนาที่อยากจะมีสุขภาพร่างกายที่ดี
  3. ทางเลือกด้านเทคโนโลยี (Technology) การมองหาเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการอยู่อาศัย

 

“ทั้งหมดถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายยิ่งในการสร้างความมั่นใจ และทำให้สามารถใช้ชีวิตช่วงระหว่างและหลังวิกฤตได้อย่างราบรื่น ปลอดภัย และมีความสุข โดยไม่สร้างภาระการดูแลและค่าใช้จ่ายในอนาคต”

 

จากการศึกษาดังกล่าว AP จึงได้แนวคิดใหม่ในการออกแบบพื้นที่และการบริหารจัดการเพื่อการอยู่อาศัยร่วมกันในวิถีใหม่ ภายใต้ชื่อ The Future of Longevity Design โดยสิ่งที่เปลี่ยนไปมี 4 ข้อหลัก ได้แก่ 

 

  1. The Next-Level of Sharing Space การนำเสนอทฤษฎีใหม่ ‘Human x Social Distancing Scale’ ที่ใช้หลักการของการออกแบบสัดส่วนมนุษย์ กับการเว้นระยะห่างทางสังคมในพื้นที่ส่วนกลางที่มีระยะห่างตั้งแต่ 1.20-3.00 เมตร เพื่อลดความหนาแน่นในพื้นที่ส่วนกลางต่างๆ เช่น ล็อบบี้, โคเวิร์กกิ้งสเปซ, ฟิตเนส และเลานจ์ เป็นต้น 

 

  1. Clean Air Quality ใช้หลักการออกแบบระบบระบายอากาศ (Ventilation Design) เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศภายใน ตลอดจนและการพัฒนานวัตกรรมและเลือกใช้เทคโนโลยีที่เอื้อให้เกิดอากาศที่มีคุณภาพควบคู่ไปกับการคำนึงถึงการประหยัดพลังงาน และการบำรุงรักษาในระยะยาว

 

  1. Trustable Society ยกระดับมาตรฐานการทำงานของทีมบริหารจัดการจาก บริษัท สมาร์ท เซอร์วิส แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SMART) พร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเม้นท์ ในเครือ AP เพื่อสร้างสังคมแห่งการเชื่อใจ อุ่นใจในทุกพื้นที่อยู่อาศัย ด้วยการวางแผนบริหารจัดการให้ทุกพื้นที่ห่างไกลเชื้อโรค พร้อมเป็นผู้ช่วยในการช่วยอำนวยความสะดวกแก่ลูกบ้านในการเข้าใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในโครงการ นอกเหนือจากการเข้มงวดด้านความสะอาดที่ยึดเป็นพื้นฐาน

 

  1. Tech-Life Management การนำ SMART WORLD ดิจิทัลแพลตฟอร์มบริหารคุณภาพชีวิตหลังการเข้าอยู่อาศัยเข้ามาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกสบายในการอยู่อาศัย

 

แนวคิดดังกล่าวถูกนำมาใช้ที่โครงการ LIFE อโศก-พระราม 9 เป็นแห่งแรก โครงการดังกล่าวเป็นคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่ใหม่ล่าสุด เป็นการร่วมทุนระหว่าง AP และพันธมิตรญี่ปุ่น มิตซูบิชิ เอสเตท เรสซิเดนซ์ (บริษัทในเครือมิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป) มูลค่ามากถึง 9,800 ล้านบาท จำนวน 1 อาคาร 2 ทาวเวอร์ (ทาวเวอร์ A สูง 42 ชั้น และทาวเวอร์ B สูง 46 ชั้น) จำนวน 2,248 ยูนิต ปัจจุบันมีสถานะยอดขาย 95% โดยราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 3.1 ล้านบาท (หรือเริ่ม 125,000 บาทต่อตารางเมตร)

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising