วันนี้ (28 ธันวาคม ) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์กรณีสถานการณ์การเมืองในปี 2568 ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้ครบวาระหรือไม่ว่า รัฐบาลชุดนี้มีเสถียรภาพสูง เพราะในรอบหลายปีที่ผ่านมาไม่ค่อยมีรัฐบาลที่มีเสียงในสภาเกินกึ่งหนึ่งเทียบเท่ากับรัฐบาลนี้
ดังนั้นรัฐบาลนี้เสถียรภาพในเชิงการเมืองจึงมีสูงอย่างแน่นอน ยังไม่เห็นปัจจัยอะไรที่จะทำให้รัฐบาลนี้อยู่ไม่ได้ เพราะนายกรัฐมนตรีสามารถแสดงภาวะความเป็นผู้นำได้ชัดเจน สามารถนำพารัฐบาลได้ ความร่วมมือระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลก็เป็นไปได้ด้วยดี ปัญหาปลีกย่อยก็เป็นเรื่องปกติ แต่ต้องมาหาวิธีแก้ไข ไม่มีเรื่องใดที่ขัดแย้งกันจนหาทางกลับไม่ได้
เมื่อถามถึงปัจจัยภายนอก ทั้งเรื่องการรักษาตัวของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่โรงพยาบาลตำรวจ และกลุ่มชุมนุมทางการเมืองของ สนธิ ลิ้มทองกุล และ จตุพร พรหมพันธุ์ จะมีผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่
อนุทินกล่าวว่า เรื่องนี้มีคำชี้แจงของฝ่ายที่ถูกพาดพิงออกมาแล้ว อ้างอิงไปตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญและระเบียบต่างๆ ส่วนใหญ่มีเหตุและผล แต่หากยังเป็นที่กังขา ไม่น่าไว้วางใจ ก็ยังมีสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งแต่ละคนก็ต้องไปชี้แจง
เมื่อถามว่าจากภาพที่อนุทินไปตีกอล์ฟกับทักษิณ ต่อไปนี้พรรคภูมิใจไทยจะขวางพรรคเพื่อไทยอีกหรือไม่ อนุทินยืนยันว่าภูมิใจไทยไม่ได้ขวางเพื่อไทย เพียงแต่แสดงจุดยืนและความเห็นในเรื่องที่ภูมิใจไทยเชื่อว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกันภูมิใจไทยเคารพเสียงส่วนใหญ่
อนุทินระบุว่า เราได้แสดงเจตนารมณ์ของเราไปแล้ว แต่เมื่อต้องใช้มติจากสภาแล้วมติออกมาไปอีกทางหนึ่ง ภูมิใจไทยก็เคารพเสียงข้างมาก ก็ถือว่าจบไป เช่น ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ ที่เราแพ้โหวตเรื่องล็อก 2 ชั้น เราก็จบ
เมื่อถามว่ามีการวิเคราะห์ว่ารัฐบาลชุดนี้มารวมกันได้เพราะสถานการณ์บังคับ อนุทินกล่าวว่า เป็นการบังคับที่ทำให้รัฐบาลต้องทำงานอย่างหนักเพื่อประชาชน ไม่ใช่การบังคับให้มาร่วมกัน ส่วนที่ว่ารัฐบาลนี้ขาดภูมิใจไทยได้หรือไม่ อนุทินกล่าวว่า ไม่มีใครในโลกนี้ที่ขาดไม่ได้ เมื่อถึงเวลาต้องขาดก็ขาดกันได้ทั้งนั้น Nothing is Indispensable
กรณีว่ารัฐบาลชุดนี้จะอยู่จนครบวาระและทำงานต่อในรัฐบาลหน้าด้วยหรือไม่ อนุทินกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เข้ามาบริหารประเทศในรัฐบาลผสม 5-6 พรรค การนำที่ชัดเจนคือนายกรัฐมนตรี ใครบอกว่าตัวเองเป็นหัวหน้าพรรคจะไม่ฟังนายกรัฐมนตรี ก็มาร่วม ครม. ไม่ได้ ส่วนในสภาเป็นการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ทุกคนมีเอกสิทธิ์ในการแสดงออก รัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ได้ก็ไม่เกี่ยวกับสภา
เมื่อถามว่าตอนนี้พรรคเพื่อไทยมีประเด็นร้อนหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องการรักษาตัวที่ชั้น 14 ของทักษิณ จะทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้หรือเป็นชนวนเหตุให้มีอำนาจอื่น เช่นรัฐประหารเข้ามาแทรกหรือไม่ อนุทินกล่าวว่า ดูจากคนใน ครม. และแกนนำทางการเมืองก็ไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจกับเรื่องพวกนี้ ดังนั้นการจะร้อนหรือไม่ร้อนอยู่ที่การกระพือข่าวของโซเชียลและสื่อมวลชน ไม่มีใครบอกได้ว่ามันจะเกิดหรือไม่เกิด แต่คนที่ทำงานอยู่ตอนนี้ก็ต้องทำให้ดีที่สุด ทำให้ถูกทำนองคลองธรรม ตามระเบียบ ไม่ก่อให้เกิดความไม่สงบ
เมื่อถามต่อว่าม็อบที่ต่อต้านทักษิณจะส่งผลกระทบกับรัฐบาลหรือไม่ อนุทินถามกลับว่า รัฐบาลทำอะไรผิดแล้วหรือไม่ ส่วนตัวยังไม่เห็น ตอนนี้พยายามผลักดันนโยบายที่เคยสัญญาไว้กับประชาชนทุกโครงการ ในรัฐบาลยังไม่มีใครเคยมาพูดเรื่องเหล่านี้หรือปรึกษาว่าจะทำอย่างไรกันดีแม้แต่ครั้งเดียว พูดแต่เรื่องการคลายความเดือดร้อนและการแก้ปัญหาให้ประชาชน
อนุทินกล่าวย้ำว่า ม็อบต่อต้านทักษิณไม่มีผลต่อรัฐบาล ไม่เกี่ยวข้องกับใครทั้งสิ้น การจะเรียกร้องบ้านเมืองมีช่องทางให้เรียบร้อย ซึ่งเรื่องชั้น 14 ก็มีคนไปร้องเรียนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว และน่าจะมีการอภิปรายในสภาทั้งแบบลงมติและไม่ลงมติ คนที่เกี่ยวข้องต้องไปชี้แจง ไม่เว้นแม้แต่กระทรวงมหาดไทย เช่น เรื่องเขากระโดง ก็ต้องไปชี้แจง ไม่มีใครโอดครวญ