×

วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 9)

04.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read

:: คำนำ

     ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์อภิวัฒน์สยามในปีพุทธศักราช 2475 นั้นเป็นเหตุการณ์สำคัญมากเหตุการณ์หนึ่งในประเทศของเรา การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นส่งผลกระทบถึงสังคมส่วนใหญ่และปัจเจกชนส่วนย่อยจำนวนมาก เรื่องราวของผู้ที่ต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตจากการอภิวัฒน์ครั้งนั้นมีบันทึกไว้มากมาย แต่ละบุคคลล้วนผิดแผกแตกต่างกันไป

     ชีวิตของผู้คนนั้นเป็นแกนกลางของนวนิยายอยู่เสมอ โดยเฉพาะนวนิยายประวัติศาสตร์ ดังนั้นการหยิบยกชีวิตของบุคคลที่เคยอยู่ในตำแหน่งที่สูงเด่น หากแต่ต้องผกผันอย่างคาดไม่ถึงมาเล่าใหม่ในครั้งนี้ แม้จะมีความจริงแฝงอยู่หลายประการ แต่การพ้องเคียงกับชีวิตของบุคคลใดก็ตามเป็นเพียงจินตนาการโดยสมบูรณ์ของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว

     อนุสรณ์ ติปยานนท์

บทที่เก้า

     ข้าพเจ้ามองดูชายผู้นั้น ชายผู้ที่ในยามบ่ายเป็นเพียงคนขายหนังสือธรรมดาที่ไร้ชื่อเสียงเรียงนาม แต่ในยามนี้เขากลับประกาศนามของตนเองอย่างชัดแจ้งว่า ศรี อรพินโท ชายผู้นั้นเดินตรงมาหาข้าพเจ้าและก้มลงพยุงร่างของข้าพเจ้าเสียจากพื้น ก่อนจะนำข้าพเจ้าไปยังเก้าอี้ไม้อีกตัว “ต้องขอโทษด้วยที่มิตรสหายของข้าพเจ้ากระทำต่อท่านหนักมือไปหน่อย มิสเตอร์ไฮน์ริช เบิล แต่ไม่ต้องกังวล จิบชาในถ้วยนั้นเสียก่อนแล้วท่านจะแจ่มใสขึ้น” เขากล่าวกับข้าพเจ้าด้วยภาษาดัตช์อย่างแคล่วคล่อง

     คำพูดของเขาช่างมีอิทธิพลนักจนข้าพเจ้าทำตามอย่างว่าง่าย ชาในถ้วยนั้นหอมไปด้วยกลิ่นดอกมะลิและให้ความรู้สึกสดชื่นแก่ข้าพเจ้าอย่างรวดเร็ว ข้าพเจ้ามองไปรอบๆ ห้องนั้นอีกครั้ง มันเป็นห้องรูปสี่เหลี่ยมแบบเดียวกับห้องที่ข้าพเจ้าเข้ามาในตอนแรก หากแต่ว่ามันเป็นอีกห้องหนึ่งอย่างแน่แท้ เพราะผนังทั้งสี่ด้านอัดแน่นไปด้วยหนังสือแตกต่างจากห้องแรก ด้านหนึ่งของผนังเต็มไปด้วยพจนานุกรมภาษาต่างๆ นับตั้งแต่ภาษาฮิบรูไปจนถึงภาษาบาสก์ ในขณะที่อีกด้านเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ ข้าพเจ้าเห็นตำราประวัติศาสตร์ของเฮโรโดทัสฉบับปกแข็งเดินทองทั้งเก้าเล่มนับตั้งแต่คลิโอจนถึงคาลิโอเป ข้าพเจ้าเห็นหนังสือบันทึกสงครามเพโลโพนีเซียนที่แต่งโดยทูซิดิเดส ข้าพเจ้าเห็นคำประกาศว่าด้วยสาธารณรัฐของพิวบลิอุส อีกด้านหนึ่งนั้นเป็นหนังสือนวนิยายที่มีตั้งแต่งานของมหากวีโฮเมอร์จนถึงงานของอเล็กซานเดอร์ ดูมาส์ ส่วนผนังด้านสุดท้ายนั้นเป็นหนังสือที่เขียนด้วยภาษาอินโดนีเซียที่ข้าพเจ้าจนใจที่จะรู้ได้ว่ามันเป็นหนังสือด้านใด

     “ก่อนที่เราจะพูดคุยกันถึงโลกของวายัง อมฤต นี่คือหนังสือที่คุณต้องการใช่ไหม” ชายผู้นั้น หรือศรี อรพินโท เดินไปยังผนังที่จัดวางหนังสือพจนานุกรมและดึงหนังสือปกแข็งเล่มหนึ่งออกจากชั้น “พจนานุกรมและการใช้ภาษามธุเรศฉบับภาษาอังกฤษ พิมพ์ที่โรงพิมพ์โทมัส คาเดลล์ ที่ถนนสแตรนด์ ในลอนดอน ว่ากันว่ามีฉบับที่เก่ากว่านี้และเป็นภาษาดัตช์ แต่ผมยังหาฉบับนั้นมาครอบครองไม่ได้”

     ศรี อรพินโท วางหนังสือเล่มนั้นไว้บนโต๊ะเบื้องหน้าข้าพเจ้า ก่อนจะรินน้ำชาจากกากระเบื้องลายดอกไม้ลงในถ้วยชา ข้าพเจ้าเอื้อมมือสัมผัสปกหนังสือเล่มนั้น มันมีสีน้ำเงินเข้ม และใต้คำบรรยายชื่อหนังสือนั้นมีรูปนกที่ลอยนูนเด่นจากปกตัวหนึ่ง

     “บิรู บุหรง ผมชอบเรียกหนังสือเล่มนี้แบบนั้น บิรู สีน้ำเงิน บุหรง นกน้อย ผมตั้งชื่อให้กับหนังสือของตนเองแทบทุกเล่ม แต่หนังสือเล่มนี้มีชื่อที่ไพเราะอ่อนหวานที่สุด”

     ข้าพเจ้าพิงหลังเข้ากับพนักพิงของเก้าอี้ แม้ว่าความต้องการที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้จะแรงกล้าสักเพียงใด แต่ข้าพเจ้ารู้ดีว่ามันยังไม่ถึงเวลานั้น

     “โลกของวายัง อมฤต ไม่ค่อยได้ต้อนรับคนแปลกหน้าสักเท่าใด โดยเฉพาะคนแปลกหน้าจากโลกตะวันตก เราไม่ได้เกลียดชังพวกเขาหรอก แต่ยากเหลือเกินที่จะอธิบายให้พวกเขาเข้าใจในโลกของเรา โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาเหล่านั้นเชื่อฝังหัวเสียแล้วแต่ในสิ่งที่จับต้องได้” ศรี อรพินโท ถอนหายใจ “มิสเตอร์ไฮน์ริช เบิล คุณเคยชมการแสดงหนังเงาของเราที่มีชื่อเรียกว่าวายัง กุลิต ไหม?”

     ข้าพเจ้าจะตอบคำถามของเขาเช่นไรดี ข้าพเจ้าเพิ่งมาถึงชวาได้เพียงสามวัน และไม่มีโอกาสใดที่จะได้ชมการแสดงที่ว่าในความเป็นจริงเลย ทว่าในความทรงจำอันเลือนรางของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าได้ชมการแสดงอันงดงามและเปี่ยมด้วยมนต์ขลังไปเมื่อครู่นี้เองในยามหลับ หากจะถือเอาโลกแห่งความจริงเป็นหลัก ข้าพเจ้าย่อมไม่เคยพบเห็นวายัง กุลิต แต่หากจะถือเอาโลกแห่งความฝันด้วยไซร้ ข้าพเจ้าได้ชมวายัง กุลิตแล้ว เป็นการชมอย่างใกล้ชิดจนข้าพเจ้าแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงด้วยซ้ำไป

 

 

     “คุณคงสับสนระหว่างการกำหนดเวลาอยู่กระมัง มิสเตอร์ไฮน์ริช เบิล โลกนั้นไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว เวลาในโลกนี้ก็เช่นกัน มันน่าเศร้าที่หลายคนไม่เคยตระหนักเช่นนั้น พวกเขามีชีวิตอยู่แต่ในปัจจุบัน แสวงหาเงินทองและความสุขให้พอเสพสุขวันต่อวัน ช่างน่าเศร้าเสียจริงๆ”

     “แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผิด ชีวิตนี้สั้นนัก ข้าพเจ้านึกถึงโศลกรุไบยาต ของโอมาร์ คัยยาม คนเราพึงมีชีวิตอยู่กับปัจจุบันและทิ้งความกังวลต่อสิ่งที่ยังมาไม่ถึงเสีย”

     “ผมไม่เคยมีชีวิตในปัจจุบันเลย มิสเตอร์ไฮน์ริช เบิล” ศรี อรพินโท หัวเราะเบาๆ “นั่นเป็นเพราะว่าชีวิตผมอุทิศให้กับสิ่งที่สูงส่งกว่า อันได้แก่ การต่อสู้เพื่อประชาชนของผม กิจกรรมเพื่อเอกราช กิจกรรมเพื่อปลดปล่อย แล้วแต่คุณจะเรียก คุณตามผมทันใช่ไหม ผมสามารถพูดถึงมันได้จากทุกแง่มุมที่ไม่ขึ้นกับเงื่อนเวลา โดยเฉพาะแง่มุมแห่งความเจ็บปวดและความทรมาน คุณคงนึกถึงมันไม่ออกสินะ อะไรคือความเจ็บปวดและความทรมานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่คุณได้รับ มิสเตอร์ไฮน์ริช เบิล”  

     “ไม่มีเลย ผมไม่เคยผ่านประสบการณ์ที่ว่านั้น แต่ผมเชื่อว่าผมสามารถจินตนาการถึงมันได้” ข้าพเจ้าตอบ   

     “จินตนาการ ไม่ คุณไม่สามารถจินตนาการได้หรอกในเรื่องแบบนั้น คุณต้องประสบพบมันด้วยตนเองเท่านั้น โลกของวายัง อมฤต คือโลกของอุดมคติ เป็นโลกที่เลื่อนลอยคล้ายเพียงเงาดำบนฉากสีขาวในการแสดงวายัง กุลิต แต่ที่แท้แล้วเมื่อมองไปในความจริง มันกลับมีสิ่งที่จับต้องได้อยู่ในนั้น อุดมการณ์อันแข็งแกร่ง อุดมคติอันตกผลึก การเปลี่ยนแปลงโลกไปสู่สิ่งที่ดีกว่าอย่างไรเล่า โลกของผู้ถูกกดขี่ โลกของผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ โลกของผู้คนที่ไม่มีสิทธิ์แม้จะพูดในสิ่งที่เขาคิด นั่นเองคือสาระของมัน นั่นเองคือสาระของการเปลี่ยนแปลงเพื่อผู้คนเหล่านั้น เงาสีดำเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏตัวให้ผู้คนพบเห็น เพลิดเพลิน หรือตื่นตา แต่ตัวหนังและผู้เชิดที่หลบอยู่ด้านหลังนั้นคือสิ่งที่สำคัญกว่า เงาสีดำอาจหายไปจากจอสีขาว แต่ตัวหนังยังคงอยู่ มันยังคงต่อสู้อยู่ หลายพันปีจากสถานที่หนึ่งสู่อีกสถานที่หนึ่ง จากชนชาติหนึ่งสู่อีกชนชาติหนึ่ง จากจิตสำนึกหนึ่งสู่อีกจิตสำนึกหนึ่ง สิ่งเหล่านี้กินเวลาอันยาวนาน และมันกลืนกินแม้กระทั่งชีวิตของผมด้วย มิสเตอร์ไฮน์ริช เบิล มันเป็นเรื่องยากที่ผู้ที่ไม่ยอมให้อุดมคติกลืนกินเช่นคุณจะเข้าใจ มันเป็นเรื่องยากที่ผู้ที่ไม่เคยสัมผัสวายัง อมฤต เช่นคุณมาก่อนจะเข้าใจ หนทางแห่งวายัง อมฤต เป็นหนทางอันมีเกียรติ ศักดิ์สิทธิ์ และสูงส่ง โลกของวายัง อมฤต เป็นโลกของอุดมคติอันสูงส่ง มิสเตอร์ไฮน์ริช เบิล”

     “แต่เรามีอุดมคติจำนวนมากที่กระทำได้จริง และผมไม่เห็นว่ามันสูงส่งเท่าใดนัก” ข้าพเจ้าตอบเขา แม้ว่ามันจะฟังดูเป็นคำตอบที่ใช้ไม่ได้เอาเสียเลยก็ตาม และข้าพเจ้าก็รู้ตัวดีจนต้องยกถ้วยน้ำชาเบื้องหน้าดื่มจนหมด  

     “จริงทีเดียว จริงทีเดียว แบบเดียวกับที่ท่านผู้นำของคุณกำลังกระทำอยู่สินะ” ศรี อรพินโท หัวเราะเบาๆ “ไม่หรอก สิ่งที่ผู้นำของคุณทำคือการขยายดินแดนแห่งการลุ่มหลงตนเองของเขา มันแตกต่างออกไป มันแตกต่างออกไป” ศรี อรพินโท กล่าวซ้ำก่อนจะนั่งลงที่เก้าอี้ฝั่งตรงข้ามกับข้าพเจ้าเป็นครั้งแรก เขาจ้องมองข้าพเจ้าเขม็ง “คุณเคยรู้เรื่องของปีเตอร์ เออเบอร์เวลด์ ไหม แน่ล่ะ คุณไม่รู้จักเขา แม้ว่ารถของคุณจะแล่นผ่านที่พักสุดท้ายของเขามาแล้วก็ตาม ปีเตอร์ เออเบอร์เวลด์ เป็นชาวดัตช์ที่นำชาวชวาเข้าต่อสู้กับพวกดัตช์เพื่อปลดปล่อยเอกราชให้แก่ชาวชวาเมื่อสองร้อยปีก่อน แต่โชคร้าย เขาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ร่างของเขาถูกฝังอยู่นอกเมืองปัตตาเวียในดินแดนที่รกร้างว่างเปล่า พร้อมกับคำสาปแช่งว่าเป็นดินแดนแห่งผู้ทรยศ ศีรษะของเขาถูกเสียบประจาน ไม่มีใครย่างกรายไปที่นั่น พวกดัตช์เกลียดชังเขา ทั้งที่เขาไม่ใช่ชาวดัตช์ พ่อของเขาเป็นชาวเยอรมัน แม่ของเขาเป็นชาวสยาม เขาเกิดที่อยุธยาในดินแดนของสยาม สมัยก่อนจะติดตามพ่อของเขามาทำงานให้กับบริษัทดัตช์อีสต์อินเดีย เขาเป็นคนแรกที่ปลุกคนชวาลุกขึ้นสู้เพื่อสร้างอาณาจักรอิสลามที่เคยมีมา แต่แพ้พ่าย และสิ่งที่เขาได้รับนั่นล่ะคือชะตากรรมของผู้แพ้ ท่านผู้นำของคุณไม่เคยคิดถึงคำว่าแพ้ แต่โลกของวายัง อมฤต เราคิดถึงการพ่ายแพ้อยู่เสมอ เราอาจถูกทรมาน ถูกประจาน แต่เราจะส่งต่อมันสู่คนรุ่นต่อไป โลกของวายัง อมฤต เราคิดถึงการจบการแสดงอยู่เสมอ เราอาจพ่ายแพ้ เราอาจปิดฉากการแสดงของเรา แต่เราจะปรับปรุงเป็นบทเรียนและส่งมันต่อให้คนรุ่นต่อไป ผมเรียนรู้จากปีเตอร์ เออเบอร์เวลด์ และอีกหนึ่งร้อยปีนับจากนี้จะมีคนจำนวนมากเรียนรู้จากผม เอาล่ะ เราดูเหมือนจะสนทนากันมากเกินไปเสียแล้วสำหรับการพบกันครั้งแรก ผมต้องขอโทษด้วย” ศรี อรพินโท ตัดบทการสนทนาของเขาโดยพลัน เขายกกาน้ำชาขึ้น แต่มันดูว่างเปล่า “เติมน้ำชาอีกแก้ว แล้วเราจะดื่มมันด้วยกัน เป็นการยืนยันในมิตรภาพระหว่างเรา” ศรี อรพินโท ลุกออกจากโต๊ะ เขาเดินตรงไปที่เตาไฟมุมห้อง เทน้ำร้อนและใบชาลงในกา แล้วนำมันกลับมาที่โต๊ะ “ยอดชาจากไร่ชาริมทะเลสาบโทบา โทบาดานาว ในเมดาน ชาดีที่สุดที่เราจะหาได้ในยามสงคราม” เขารินชาจากกาใส่ลงในถ้วยของข้าพเจ้าและถ้วยของเขา ก่อนจะยกมันขึ้นเชื้อเชิญให้ข้าพเจ้าดื่ม “แด่คุณและงานของคุณ แด่ผมและงานของผม และแด่โลกของวายัง อมฤต”

     ข้าพเจ้ายกถ้วยชานั้นขึ้นดื่มจนหมด และแทบจะวินาทีที่ข้าพเจ้าวางถ้วยนั้นลง ข้าพเจ้าก็สิ้นสติไปอีกครั้งหนึ่ง  

 

     ข้าพเจ้ารู้สึกตัวอีกครั้งบนเตียงที่นุ่มสบาย แต่ปรากฏว่าเมื่อลืมตาขึ้น ชายคนที่ยืนอยู่ข้างเตียงของข้าพเจ้าหาใช่ศรี อรพินโท หากแต่เป็นมาเม็ต เขาบอกกับข้าพเจ้าว่าได้ออกตามหาข้าพเจ้าไปทุกที่ ก่อนจะพบข้าพเจ้านอนหลับใหลอยู่ที่ลานดินในตลาด ข้าพเจ้าเล่าให้เขาฟังว่าข้าพเจ้าไปที่บ้านหลังหนึ่งและถูกทำร้ายจนสิ้นสติ แต่เขาส่ายศีรษะ ผู้คนในตลาดบอกกับผมว่าคุณล้มลงด้วยอาการอ่อนเพลียขณะที่กำลังเลือกซื้อหนังสืออยู่ที่นั่น ข้าพเจ้าตัดสินใจเลิกโต้เถียงและขอบุหรี่จากเขา มาเม็ตหยิบกล่องบุหรี่พร้อมไฟมาให้ตามคำขอ ข้าพเจ้าลุกออกจากเตียงเดินออกไปนอกประตูเพื่อจุดบุหรี่ขึ้นสูบ และพบว่าตนเองได้มาพำนักยังบ้านหลังเล็กในชนบทเสียแล้ว มีท้องนาสีเขียวสุดลูกหูลูกตาอยู่เบื้องหน้า ข้าพเจ้าสูบบุหรี่อย่างเพลิดเพลินอยู่ชั่วครู่ ก่อนจะนึกขึ้นได้ว่าหนังสือที่ข้าพเจ้าซื้อหามานั้นน่าจะหายเป็นแน่ แต่เมื่อข้าพเจ้าเรียกหามาเม็ตและถามถึงสิ่งของอื่นที่พบในบริเวณที่ข้าพเจ้าสิ้นสติอยู่ มาเม็ตก็มอบหนังสือเหล่านั้นให้กับข้าพเจ้า หนังสือทุกเล่มยังอยู่ครบ รวมทั้งตำราเรียนภาษามธุเรศที่มีปกสีน้ำเงินด้วย ข้าพเจ้าร้องขอกระเป๋าเอกสารที่บรรจุปูมเอกสารที่ข้าพเจ้าได้มาจากบุหรงต่อมาเม็ตอีกครั้งหนึ่ง และเริ่มต้นแปลข้อความในปูมเอกสารด้วยการเทียบกับตำราภาษาที่ข้าพเจ้าได้มา ปูมเอกสารนั้นเล่าถึงประวัติศาสตร์การละเล่นวายังในชวา พร้อมทั้งวิธีการละเล่นวายังในภาคต่างๆ ทั้งวายัง กุลิต, วายัง โกเลค, วายัง โตเปง และวายัง โอรัง ในภาคสุดท้ายของปูมเอกสารนั้นกล่าวถึงการละเล่นที่ไม่ได้รวมในปูมเอกสารนี้ และบ่งบอกว่าเป็นการละเล่นที่อันตรายที่สุด เป็นการละเล่นวายังที่มีชื่อเต็มว่า วายัง อมฤต

 

     ติดตามอ่าน วายัง อมฤต ตอนก่อนหน้าได้ที่

(ติดตามตอนต่อไปในวันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2560)

FYI

ปีเตอร์ เออเบอร์เวลด์ (Pieter Erberveld)

     เป็นลูกครึ่งเยอรมัน-สยาม โดยเขาเกิดที่อยุธยา อันเป็นบ้านเกิดของแม่ในศตวรรษที่ 17 สมัยของพระนารายณ์ และย้ายตามครอบครัวที่ไปทำงานให้บริษัทเดินเรีออีสต์อินเดีย ที่ปัตตาเวียในเวลาต่อมา

     ในตอนต้นศตวรรษที่ 18 คือปี 1721 เขานำชาวชวาท้องถิ่นขึ้นก่อการกบฏกับพวกดัตช์เพื่อปลดปล่อยปัตตาเวีย แต่ล้มเหลวและถูกตัดหัวในฐานะคนทรยศที่หลุมฝังศพของเขามีคำจารึกว่าห้ามก่อสร้างสิ่งใดในบริเวณนี้ เพราะเป็นพื้นที่ของคนบาป หลุมศพและกะโหลกศีรษะเขาถูกเสียบประจานอยู่เป็นเวลาเกือบ 300 ปี ก่อนที่กองทัพญี่ปุ่นจะทำลายมันลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อแสดงถึงการจบสิ้นของอาณานิคมดัตช์ในอินโดนีเซีย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising