วานนี้ (10 กรกฎาคม) แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในประเทศไทยที่โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ หลังเข้าพบ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตลอดจนพบกับศิษย์เก่าโครงการแลกเปลี่ยนของสหรัฐฯ
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย-สหรัฐฯ ได้ร่วมลงนามแถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตร และหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา และลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงมีการหารือในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ ความร่วมมือในอนุภูมิภาคและภูมิภาค ตลอดจนหารือถึงสถานการณ์ในเมียนมา
บลิงเคนเริ่มการแถลงข่าวโดยระบุว่า เป็นสิ่งที่ดีเยี่ยมที่ได้กลับมาเยือนประเทศไทยอีกครั้ง และอย่างที่เขาได้ระบุไว้ในระหว่างลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานกับรองนายกฯ ดอนแล้วว่า จุดแข็งของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของทั้งสองประเทศอยู่ที่การพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อพยายามตอบสนองความต้องการของประชาชนในประเทศทั้งสอง กับเพื่อพยายามและจัดการกับความท้าทายที่ทั้งสองประเทศเผชิญ โดยทั้งสองประเทศกำลังทำงานร่วมกันเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นหัวข้อหลักในการพบปะกับนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีไทย
บลิงเคนยังกล่าวถึงความร่วมมือกับไทยในด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะการรับมือโควิด, การเป็นหุ้นส่วนร่วมก่อตั้งของไทยในกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก ซึ่งไทยมีบทบาทนำในการกำหนดกรอบเพื่อจัดวางตำแหน่งของผู้ปฏิบัติงาน ธุรกิจ และรัฐบาล ให้เป็นผู้นำในพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อความมั่งคั่งร่วมกัน เช่น ด้านพลังงานสะอาดและการค้าดิจิทัล, แถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตร และหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา ที่ย้ำถึงความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้เป็นไปตามหลักการของสังคมที่เปิดกว้างและเสรี เช่น ภาคประชาสังคมที่เป็นอิสระและการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม ตลอดจนการทำงานร่วมกันของสหรัฐฯ ไทยและอาเซียน เพื่อผลักดันระบบการปกครองของเมียนมาให้บรรลุฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน ตลอดจนยุติความรุนแรงและนำเมียนมากลับคืนสู่เส้นทางสู่ประชาธิปไตย
และประเด็นเมียนมานี้เอง ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังตอบคำถามจากสื่อมวลชนต่างประเทศที่ว่า เป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้วที่มีการนำเสนอฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน และกว่าหนึ่งปีแล้วเช่นกันที่สหรัฐฯ มีมาตรการคว่ำบาตรต่อรัฐบาลทหารเมียนมา แล้วเขายังมั่นใจว่าวิธีการดังกล่าวยังใช้งานได้อยู่หรือไม่ และสิ่งอื่นใดที่สหรัฐฯ จะทำได้เพื่อนำประชาธิปไตยกลับสู่เมียนมา ตลอดจนถามถึงบทบาทของจีนต่อประเด็นเมียนมา และความเป็นไปได้ต่อข้อเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยอมรับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) อย่างเป็นทางการว่าเป็นรัฐบาลเมียนมาที่ถูกต้องตามกฎหมาย
โดยบลิงเคนระบุตอนหนึ่งว่า สหรัฐฯ ยังคงเห็นการปราบปรามชาวเมียนมา ยังคงเห็นความรุนแรงที่กระทำต่อพวกเขาโดยระบอบการปกครอง ยังคงเห็นฝ่ายค้านแทบทั้งหมดอยู่ในคุกหรือพลัดถิ่น และยังคงเห็นสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายนั้นยิ่งเลวร้ายลง โดยระบอบการปกครองของเมียนมาไม่ได้ส่งมอบสิ่งที่จำเป็นให้แก่ประชาชน และนั่นก็สร้างแรงกดดันให้กับประเทศไทยเมื่อผู้คนหนีจากความรุนแรงและจากการปราบปรามในเมียนมา อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ รู้สึกซาบซึ้งมากกับสิ่งที่ไทยได้ทำเพื่อพยายามอำนวยความสะดวกในการให้ความช่วยเหลือข้ามพรมแดน พยายามขยายความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น การนำวัคซีนป้องกันโควิดให้แก่เมียนมาและผู้ที่พลัดถิ่น
“ณ จุดนี้ ผมคิดถึงบางสิ่ง, หนึ่ง ทุกประเทศต้องยังคงพูดให้ชัดเจนต่อไปเกี่ยวกับสิ่งที่ระบอบการปกครองของเมียนมากำลังทำในการปราบปรามและความโหดร้ายอย่างต่อเนื่อง เรามีภาระหน้าที่ต่อประชาชนชาวเมียนมา เพื่อทำให้ระบอบการปกครองรับผิดชอบ การสนับสนุนในระดับภูมิภาคสำหรับการยึดมั่นในฉันทามติ 5 ข้อที่พัฒนาขึ้นโดยอาเซียนของระบอบการปกครองเมียนมาก็มีความสำคัญเช่นกัน” บลิงเคนระบุ “และผมคิดว่าทุกประเทศในอาเซียนจำเป็นต้องให้ระบอบการปกครองเมียนมารับผิดชอบในเรื่องนี้ เพื่อเดินหน้าต่อในการเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงโดยทันที, การปล่อยตัวนักโทษการเมือง และการฟื้นฟูเส้นทางประชาธิปไตยของเมียนมา แต่จนถึงขณะนี้ เรายังไม่เห็นการเคลื่อนไหวเชิงบวกในทิศทางนั้น”
เขายังระบุว่าไม่สามารถกล่าวได้โดยตรงถึงสิ่งที่จีนกำลังทำหรือไม่ได้กำลังทำในเมียนมา “แต่ผมคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของจีนและเพื่อผลประโยชน์ของจีนเช่นกันที่จะเห็นเมียนมาย้ายกลับไปสู่เส้นทางที่เคยอยู่ ซึ่งถูกขัดขวางอย่างรุนแรงจากการรัฐประหาร” และกล่าวถึงคำถามว่าด้วยข้อเรียกร้องประเด็นการยอมรับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ของเมียนมาว่า สหรัฐฯ กำลังทำงานร่วมกับ NUG กำลังทำงานร่วมกับตัวแทนที่แท้จริงของชาวเมียนมา และจะทำเช่นนั้นต่อไป ซึ่งรวมทั้งการสนับสนุนงานของ NUG ด้วย
เมื่อถูกถามว่าก่อนหน้านี้จีนยืนยันแล้วว่าประธานาธิบดีสีจิ้นผิงจะเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ที่ประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายนนี้ แล้วประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะเดินทางมาเข้าร่วมด้วยหรือไม่ บลิงเคนระบุโดยสรุปว่า สหรัฐฯ รอคอยการมีส่วนร่วมในการประชุมเอเปกเป็นอย่างมาก และแม้เขาจะ “ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีผู้ใดจากสหรัฐฯ มาเข้าร่วม แต่สหรัฐฯ จะร่วมอยู่ด้วยอย่างมาก”
เมื่อถูกถามถึงความชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทของรัฐบาลสหรัฐฯ ในเอเชียแปซิฟิก จากความกังวลของคนบางส่วนที่มองว่ารัฐบาลสหรัฐฯ อาจจะกำลังสร้าง ‘NATO เวอร์ชันใหม่’ ในภูมิภาคนี้ บลิงเคนตอบว่าสหรัฐฯ มีความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์ที่เขาคิดว่ามีการแบ่งปันกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ตลอดจนในอนาคต คือความเสรี ความเปิดกว้าง และความปลอดภัย ซึ่งหมายความว่าผู้คน สินค้า และการลงทุนสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระและไปได้ในที่ที่ต้องการ
“มันหมายความว่าประเทศต่างๆ สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของตนเอง นโยบายของตนเอง โดยปราศจากการบังคับจากผู้อื่น มันหมายความว่าผู้คนในประเทศเหล่านั้นสามารถอยู่ได้อย่างอิสระ พูดได้อย่างอิสระ และปรารถนาที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต” บลิงเคนกล่าว โดยยืนยันว่านี่เป็นอนาคตที่สหรัฐฯ กำลังพยายามสร้างผ่านหลากหลายเส้นทาง เช่น การทำงานอย่างใกล้ชิดกับอาเซียนเช่นเดียวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดภายในความร่วมมืออย่างเอเปก หรือความริเริ่มใหม่ๆ เช่น กลุ่มสนทนาด้านความมั่นคงจตุรภาคี (Quad) ซึ่งเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ, อินเดีย, ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย หรือกรอบเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิกที่พยายามจะกล่าวถึงปัจจัยที่สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 ในรูปแบบที่ส่งผลต่อชีวิตของพลเมือง ซึ่งในท้ายที่สุดบลิงเคนย้ำว่านี่ไม่ใช่การเรียกร้องหรือยืนกรานให้ประเทศต่างๆ เลือก แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการให้ทางเลือกแก่ประเทศต่างๆ ที่จะตัดสินใจ
ภาพ: ธนัท ชยพัทธฤทธี