เมื่อวานนี้ (29 ส.ค.) พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาได้มีการประชุมความคืบหน้าการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมที่กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาชน เพื่อสนับสนุนการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) ซึ่งตั้งเป้าว่า จะดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมภายในเดือนตุลาคมนี้
โดยที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุด เพื่อจัดกลุ่มดำเนินงานให้ครบถ้วนและครอบคลุมประเด็นปัญหาข่าวปลอม ตลอดจนความมีประสิทธิภาพในการประสานงาน เพื่อแก้ไขปัญหาข่าวปลอมที่อยู่ในกระแสสังคมออนไลน์ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย
- กลุ่มภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว เขื่อนแตก สึนามิ ไฟไหม้
- กลุ่มเศรษฐกิจ การเงิน การธนาคาร หุ้น
- กลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายอื่น
- กลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ
นอกจากนี้ในที่ประชุมยังหารือกันเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การวิเคราะห์ข้อมูลข่าวปลอม เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่แพลตฟอร์มระดับโลก เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ ใช้อยู่ โดยในส่วนของเฟซบุ๊ก กำหนดนโยบายที่เรียกว่า มาตรฐานชุมชน (Community Standards) เป็นกฎเกณฑ์กำกับดูแลการใช้งาน ขณะที่บริษัท กูเกิล ซึ่งเป็นเจ้าของยูทูบ แพลตฟอร์มวิดีโออันดับ 1 ของโลก มีการกำหนดหลักเกณฑ์ชุมชน (Community Guidelines)
ดังนั้น ถ้าหลักเกณฑ์ของประเทศไทยจัดทำได้สอดคล้องกับสากล การยืนยันข่าวปลอมของศูนย์ Anti-Fake News ก็จะได้รับการยอมรับจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเหล่านั้นด้วย และเป็นอีกช่องทางในการแจ้งข้อมูลที่ถูกต้อง และระงับการเผยแพร่ข่าวปลอมได้อย่างรวดเร็วในวงกว้าง
นอกจากนี้ รมว.ดีอี กล่าวอีกว่า ในที่ประชุมยังพิจารณาความคืบหน้าเกี่ยวกับการพัฒนาเว็บไซต์สำหรับบูรณาการความร่วมมือภาครัฐ เอกชน และประชาชน ต่อการป้องปรามข่าวปลอมทางโลกดิจิทัล เพื่อสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม
“รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ข่าวอันเป็นเท็จที่เป็นกระแสสังคมทางสื่อสังคมออนไลน์ที่ในปัจจุบันพบว่า มีความคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงในหลายกรณี ทั้งด้วยความตั้งใจของผู้ส่งข่าวสารที่หวังผลให้เกิดความแตกแยกในสังคม หรือเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน หรืออาจด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขาดวิจารณญาณในการตรวจสอบกลั่นกรอง ก่อนส่งต่อข้อมูลข่าวสารให้ผู้อื่น” พุทธิพงษ์กล่าว
ทั้งนี้ บทบาทศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) จะทำหน้าที่ตรวจสอบ วิเคราะห์ และรับแจ้งข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เผยแพร่อยู่ในสังคมผ่านช่องทางหลักๆ ของศูนย์ฯ ได้แก่ เว็บไซต์, เพจเฟซบุ๊ก และไลน์ออฟฟิเชียล เพื่อให้ผู้ที่รับผิดชอบในคณะอนุกรรมการฯ เข้ามาคัดกรองข่าวปลอมทางออนไลน์ ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายใน 4 กลุ่มหลักข้างต้น เพื่อประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือหน่วยงานที่ได้รับความเสียหาย และแจ้งเตือนหรือนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง รวมถึงการแจ้งเตือนภัยพิบัติให้หน่วยงานและประชาชนได้รับทราบโดยตรงอย่างทันท่วงทีผ่านทุกช่องทางที่มีอยู่ รวมถึงผ่านกลไกภาคสื่อสารมวลชน เครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล