×

วัคซีนโควิด-19 ปลอดภัยจริงไหม ต้องฉีดนานแค่ไหนจึงเห็นผล ตอบทุกคำถามกับ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม

โดย THE STANDARD TEAM
14.12.2020
  • LOADING...
วัคซีนโควิด-19

HIGHLIGHTS

  • ตอบทุกคำถามเรื่องวัคซีนต้านโควิด-19 กับ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผ่านมาแล้ว 1 ปีกับการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มต้นจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ก่อนจะระบาดไปประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันยังมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นวันละกว่า 6 แสนราย วัคซีนต้านโควิด-19 จึงเหมือนเป็นความหวังในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรค

 

ข่าวดีเกี่ยวกับวัคซีนเริ่มปรากฏมากขึ้น เมื่อบริษัทผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ออกมาประกาศประสิทธิภาพที่น่าพึงพอใจ จนกระทั่ง มาร์กาเรต คีแนน คุณยายวัย 90 ปีจากสหราชอาณาจักร ได้รับการฉีดวัคซีนที่พัฒนาโดย Pfizer และ BioNTech เป็นคนแรกของโลก นำมาสู่คำถามว่าประเทศไทยจะพร้อมฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 เข็มแรกเมื่อไร และโลกจะกลับมาสงบสุขตอนไหน 

 

ตอบทุกคำถามเรื่องวัคซีนต้านโควิด-19 กับ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

รู้จัก 7 เทคโนโลยีผลิตวัคซีนบนโลก

นพ.เกียรติ กล่าวว่าปัจจุบันนี้มี 7 เทคโนโลยีที่นำมาใช้ผลิตวัคซีน ได้แก่

 

เทคโนโลยีที่ 1 เชื้ออ่อนกำลัง: เทคโนโลยีที่เก่าแก่ที่สุดคือการนำเชื้อมาทำให้อ่อนกำลังและนำไปผลิตวัคซีน อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้ไม่เป็นที่นิยม เพราะไม่เหมาะกับโรคร้าย เช่น โควิด-19, เอชไอวี เพราะเมื่อฉีดวัคซีนเข้าสู่ร่างกายแล้วมีโอกาสที่เชื้อจะกลับมามีกำลังได้

 

เทคโนโลยีที่ 2 เชื้อตาย: คือการนำเชื้อมาฆ่าให้ตาย จากนั้นนำไปผลิตวัคซีน ประเทศที่เก่งในเทคโนโลยีนี้คือประเทศจีน มีหลายโรงงานที่ใช้วิธีนี้ในการผลิตวัคซีน สำหรับผลเบื้องต้นยังไม่รู้ว่ามีประสิทธิภาพเป็นอย่างไร แต่ถือเป็นวิธีค่อนข้างน่าสนใจ

 

เทคโนโลยีที่ 3 ใช้ไวรัสชนิดอื่นมานำพา: การใช้ไวรัสชนิดอื่นที่ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์และมนุษย์ เช่น ทำให้เกิดไข้หรือหวัดธรรมดา มาเป็นตัวพาชิ้นส่วนเล็กๆ ของโควิด-19 ที่เป็นสายพันธุกรรมไปทำวัคซีน โดยผู้ผลิตที่ใช้เทคโนโลยีนี้ เช่น AstraZeneca, Johnson & Johnson, ประเทศจีน และประเทศรัสเซีย

 

เทคโนโลยีที่ 4 สร้างโปรตีน: ปกติแล้วไวรัสจะมีลักษณะเป็นลูกโป่งกลมๆ แล้วมีเข็มหมุด (หนาม) โดยโปรตีนที่สร้างคือตัวเข็มหมุด ซึ่งเป็นตัวที่จะจับกับเซลล์มนุษย์และเข้าสู่ร่างกาย ถ้าบล็อกไม่ให้เข็มหมุดของไวรัสจับกับเซลล์ร่างกายได้ก็จะไม่ติดเชื้อไวรัส

 

เทคโนโลยีที่ 5 และ 6 DNA หรือ mRNA: การใช้สารพันธุกรรม ชิ้นส่วนเล็กๆ ที่เป็นเปลือกของโควิด-19 แบบ DNA หรือ mRNA เช่น Pfizer และ BioNTech, Moderna

 

วัคซีนโควิด-19

 

นพ.เกียรติ กล่าวว่าการผลิตวัคซีนแบบ mRNA เป็นเทคโนโลยีที่มีมาแล้วกว่า 20 ปี แต่เพิ่งมาเร่งทำวัคซีนใน 10 ปีหลังที่ผ่านมา สำหรับเทคโนโลยีนี้ หากประเทศใดพบเชื้อและรู้ลำดับสายพันธุกรรมของเชื้อ สามารถนำเสี้ยวเดียวของเชื้อซึ่งสังเคราะห์ขึ้นได้มาทำวัคซีนได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องยุ่งเกี่ยวกับเชื้อจริง

 

ยกตัวอย่างเช่น ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า หากประเทศอื่นเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ทันทีที่มีการประกาศสายพันธุกรรม ไม่จำเป็นต้องได้ตัวอย่างเชื้อ และไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดระบาดในประเทศไทย แต่ประเทศไทยสามารถสังเคราะห์และนำไปพัฒนาวัคซีนได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ทำอยู่ในขณะนี้

 

“ที่ผ่านมายังไม่เคยมีวัคซีนตัวไหนในโลกนี้ใช้เทคโนโลยีนี้แล้วขึ้นทะเบียน แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรก โควิด-19 ทำลายประวัติศาสตร์โลกและสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ ถือว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ของโลกที่ได้ประสิทธิภาพสูงสุด” นพ.เกียรติกล่าว

 

เทคโนโลยีที่ 7 Virus-like particle (VLP) Vaccine: การนำวัคซีนมาเรียงตัวเลียนแบบไวรัส

 

วัคซีนที่น่าสนใจในการทดลองระยะที่ 3

นพ.เกียรติ กล่าวว่าสำหรับวัคซีนต้านโควิด-19 มีการผลิตโดยใช้ 6 เทคโนโลยีแข่งกันอยู่ 160 กว่าชนิด โดยมีวัคซีนที่น่าสนใจในประเทศยักษ์ใหญ่ ได้แก่

 

  • สหรัฐอเมริกา วัคซีนจาก mRNA ได้แก่ Pfizer และ Moderna, วัคซีนจากการสร้างโปรตีน ได้แก่ Novavac ที่ให้ภูมิค่อนข้างสูง และวัคซีนที่นำสารพันธุกรรมชิ้นเล็กๆ ของเชื้อโควิด-19 ไปเลี้ยงในใบยาสูบ เป็นวิธีเดียวกับการผลิตวัคซีนของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • จีน อยู่ในการทดลองระยะที่ 3 จำนวน 5 ตัวจาก 15 ตัว ได้แก่ ใช้เชื้อตาย 3 ตัว เชื้อนำพาไวรัส และสร้างจากโปรตีน
  • รัสเซีย วัคซีน Sputnik V ใช้ไวรัสชนิดอื่นมานำพา
  • อังกฤษ วัคซีน AstraZeneca ใช้ไวรัสชนิดอื่นมานำพา

 

“ในอนาคตคาดว่าการผลิตวัคซีนโดยใช้เชื้อน่าจะน้อยลง เพราะต้องใช้โรงงานขนาดใหญ่ แต่สำหรับการผลิตแบบ mRNA ไม่จำเป็นต้องใช้โรงงานขนาดใหญ่ ใช้เพียงห้องเล็กๆ ก็สามารถผลิตวัคซีนราว 10 ล้านโดสได้ ซึ่งจะทำให้วัคซีนมีราคาถูกลงและสามารถกระจายให้คนจนเข้าถึงได้” นพ.เกียรติกล่าว

 

3 ตะกร้าสำหรับวัคซีนในประเทศไทย

สำหรับคำถามสำคัญ ‘ประเทศไทยจะมีวัคซีนเมื่อไร’

 

นพ.เกียรติกล่าวว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่รวยก็ไม่รวย จนก็ไม่จน สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่เป็นสิ่งที่เรียนรู้จากเหตุการณ์เมื่อ 11 ปีก่อน กับการระบาดของไข้หวัดหมูที่ประเทศไทยรอซื้ออย่างเดียวจำนวน 2 ล้านโดส แต่กลับได้รับหลังโรคระบาดเกือบหมดไป เพราะฉะนั้นนโยบายวัคซีนของประเทศไทยตอนนี้แบ่งออกเป็น 3 ตะกร้า

 

ตะกร้าที่ 1 โครงการ COVAX จับมือกับ 200 ประเทศเพื่อต่อรองราคากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนและจองด้วยกัน: สำหรับตะกร้านี้ ประเทศไทยอาจได้รับวัคซีนเพียง 2-10 ล้านโดสเท่านั้น เนื่องจากต้องแบ่งกับหลายประเทศ

 

ตะกร้าที่ 2 จับมือกับ AstraZeneca: สำหรับ AstraZeneca มีโรงงานใหญ่อยู่ที่ประเทศอินเดีย แต่ต้องการโรงงานเล็กๆ จำนวนมากทั่วโลกเพื่อจะได้กระจายวัคซีน และได้เล็งเห็นศักยภาพการผลิตของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ในการเป็นหนึ่งในโรงงาน แต่มีข้อแม้ว่าสยามไบโอไซเอนซ์จะต้องจองวัคซีนจำนวนหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลได้ทำการจองแล้ว 6,000 กว่าล้านบาท จำนวน 26 ล้านโดส

 

นพ.เกียรติ กล่าวว่าสำหรับตะกร้านี้ หากโรงงานไทยที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก AstraZeneca สามารถผลิตได้ตามแผน คาดว่าเดือนมิถุนายน ปี 2564 วัคซีนจะเริ่มทยอยออกมา แต่หากโรงงานในไทยผลิตไม่ทันก็ต้องหวังว่า AstraZeneca จะนำวัคซีนจากอื่นมาให้ก่อนเพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงก่อนหมดสัญญาสิ้นปี 2564

 

“AstraZeneca ถือว่าเป็นวัคซีนที่น่าจะเร็วที่สุดสำหรับประเทศไทย” นพ.เกียรติกล่าว

 

ตะกร้าที่ 3 ผลิตเอง ใช้เอง: เพื่อเป็นการใช้งานในระยะยาว

 

นพ.เกียรติกล่าวว่ารวมแล้วประเทศไทยมีการคิดค้นพัฒนาวัคซีนอย่างน้อย 5 เทคโนโลยีและ 10 กว่าชนิด ซึ่งค่อนข้างน่าสนใจ แต่ทุกอย่างยังทดลองอยู่ในหนูทดลอง มีเพียง 3 ชนิดที่ผ่านการทดลองในลิงและเตรียมทดลองในมนุษย์ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย และบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด

 

สำหรับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านสถาบันวัคซีนแห่งชาติราว 300 กว่าล้านบาท เบื้องต้นผลิตวัคซีนในโรงงานต่างประเทศก่อน ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย 2 แห่ง และเตรียมฉีดให้กับอาสาสมัครหลังสงกรานต์ปี 2564

 

ส่วนบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด จับมือกับประเทศออสเตรเลียในการทดลองระยะที่ 1 ซึ่งคาดว่าจะฉีดวัคซีนให้กับอาสาสมัครที่ออสเตรเลียได้ภายในต้นปี 2564

 

 

ต้องฉีดวัคซีนให้ประชากรครึ่งโลก โควิด-19 จึงจะหายไป

นพ.เกียรติกล่าวว่าทุกประเทศทั่วโลกจะคุมโรคโควิด-19 ได้โดยที่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ เศรษฐกิจเดินหน้าได้ ก็ต่อเมื่อประชากรจำนวนครึ่งโลกได้รับวัคซีน หรือคิดเป็น 4,000 ล้านจาก 8,000 ล้านคนทั่วโลก จึงจะมีคนที่มีภูมิคุ้มกันปะปนกับคนทั่วไป เมื่อมีคนติดเชื้อก็มีคนบล็อกไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อต่อ เรียกว่าภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity)

 

“ประชากรทั่วโลก 4,000 ล้านจาก 8,000 ล้านคนทั่วโลกจะต้องฉีดวัคซีน หมายความว่าทั่วโลกจะต้องมีวัคซีน 7,000-8,000 ล้านโดส เนื่องจากเป็นการฉีด 2 เข็ม ส่วนประเทศไทยที่มีประชากรเกือบ 70 ล้านคน ต้องการวัคซีน 70 ล้านโดสสำหรับประชากร 35 ล้านคน ประเทศจึงจะกลับมาใกล้เคียงกับปกติได้” นพ.เกียรติกล่าว

 

นพ.เกียรติยังกล่าวอีกว่า สถานการณ์ปัจจุบันเชื่อว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะต้องคูณเพิ่มขึ้น 3-5 เท่า เนื่องจากมีผู้ที่ไม่ได้รับการตรวจ ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ รวมถึงบางประเทศที่มีบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะประเทศยากจน เพราะฉะนั้นจึงต้องเร่งผลิตเพื่อวัคซีนกระจายไปทั่วโลก

 

ภูมิคุ้มกันขึ้นสูงสุดหลังฉีดวัคซีนครบโดสอย่างน้อย 2 สัปดาห์

หลายคนคิดว่าเมื่อฉีดวัคซีนเสร็จก็สามารถออกไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ นพ.เกียรติกล่าวว่าความเชื่อดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผิด เพราะปกติแล้วแม้ยาแก้ไข้ก็ยังต้องใช้เวลา 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงจึงจะออกฤทธิ์

 

ส่วนวัคซีน หลังฉีดเข็มแรกภูมิคุ้มกันจะขึ้นเร็วสุด โดยขึ้นเพียงนิดเดียว ต้องใช้เวลา 7-14 วัน แต่จะให้มีประสิทธิภาพหรือภูมิคุ้มกันขึ้นสูงที่สุดราว 95% ตามที่มีการประกาศคือหลังฉีดเข็มที่ 2 (ครบโดส) เป็นเวลา 2 สัปดาห์

 

“สมมติว่าวันนี้มีวัคซีนฉีดให้คนไทยทั่วประเทศ เมื่อฉีดเสร็จ ผมเชื่อว่าอย่าง 2-3 เดือนแรก คนที่ฉีดวัคซีนจะยังต้องทำการเว้นระยะห่างสังคม (Social Distancing) กันอยู่ ส่วนคนที่ไม่ได้ฉีดจะยังการ์ดตกไม่ได้ และจะการ์ดตกได้หลัง 3-6 เดือนผ่านไปแล้ว” นพ.เกียรติกล่าว

 

ความปลอดภัยของวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติวัคซีนให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน

คำถามที่ว่าวัคซีนต้านโควิด-19 ที่อนุมัติใช้ในภาวะฉุกเฉินจะมีความปลอดภัยเทียบเท่ากับวัคซีนอื่นที่ดำเนินการตามกระบวนการปกติหรือไม่

 

นพ.เกียรติอธิบายว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้ยินคำว่า ‘อนุมัติวัคซีนให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน’ สำหรับภาวะปกติวัคซีนต้องทำการวิจัยโดยติดตามหลังการฉีดครบอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี เพื่อมั่นใจว่าระยะยาวจะไม่มีผลข้างเคียง แต่สำหรับโรคโควิด-19 ไม่สามารถรอได้

 

สำหรับการอนุมัติวัคซีนให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ทางด้านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ในหลายประเทศได้ตกลงเงื่อนไขในการอนุมัติวัคซีน ได้แก่

 

  1. ต้องฉีดครบโดสตามที่แต่ละบริษัทกำหนด 
  2. ต้องติดตามผลอย่างน้อย 2 เดือนของครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรที่ทำวิจัย เช่น Pfizer ฉีดวัคซีนให้ 40,000 คน หลังฉีดครบจำนวน 2 เข็มต้องติดตามผลต่ออย่างน้อย 20,000 คน จำนวน 2 เดือน

 

นพ.เกียรติยังอธิบายต่อว่าการอนุมัติใช้ในภาวะฉุกเฉินไม่ได้หมายความว่าให้มีการจำหน่ายโดยปล่อยปละละเลย ทุกบริษัทจะต้องมีการเก็บข้อมูล หากฉีดไปได้ 1 หรือ 2 เดือน จำนวน 1 ล้านคน พบว่ามีคนป่วยหนักเพียง 1 ถึง 2 คน ก็ต้องวินิจฉัยว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ ถ้าเกี่ยวข้องต้องหยุดฉีดทันที ซึ่งคาดว่าโอกาสที่เกิดขึ้นน่าจะน้อย

 

สำหรับความปลอดภัยสำหรับวัคซีนที่นำเข้ามาจากประเทศอื่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะต้องมีการเรียกดูรายงานมาตรฐาน อาจมีการสุ่มตรวจสินค้า หรืออาจจะมีสุ่มตรวจโรงงานผ่าน Video Conference ซึ่งต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียด แต่จะต้องใช้เวลาไม่นาน

 

ส่วนความปลอดภัยสำหรับกรณีที่ประเทศอื่นๆ ร่วมมือกับบริษัทต่างชาติในการผลิตวัคซีน เช่น AstraZeneca กับสยามไบโอไซเอนซ์ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะต้องมีการตั้งเงื่อนไขต่อไป เช่น ฉีดวัคซีนให้กับสัตว์ทดลองก่อนว่ามีความปลอดภัย หรือฉีดประชากรจำนวนหนึ่งก่อนเพื่อความมั่นใจก่อนการปูพรมฉีดเป็นวงกว้าง 

 

“วัคซีนทุกชนิด รวมถึงมีการวิจัยที่มีการฉีดน้ำเกลือเข้าสู่ร่างกาย พบว่าบางคนยังมีอาการไข้ เพราะว่าร่างกายคนเราไม่เหมือนกัน แต่กล่าวโดยสรุปได้ว่าหลังฉีดวัคซีน จะมี 1-2% ที่มีไข้ต่ำหรือสูง ซึ่งสามารถรับประทานยาแก้ไข้และพักผ่อนตามปกติ แต่ส่วนใหญ่ทุกรายงานของวัคซีนพบว่าภายในไม่เกิน 24 ชั่วโมงร่างกายก็จะเหมือนปกติ” นพ.เกียรติกล่าว

 

 

โลกจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมเมื่อไร

นพ.เกียรติกล่าวว่าโลกนี้มีความเหลื่อมล้ำมหาศาล ในประเทศยากจนซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของโลก รัฐบาลไม่มีเงินนำไปซื้อหรือผลิตวัคซีน เพราะฉะนั้นในประเทศเหล่านี้อาจไม่สามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ตามเป้าหมาย คืออย่างน้อย 50% ของประชากรทั้งประเทศ

 

ในประเทศเหล่านี้ ตะกร้าแรกคือต้องรอเศรษฐีหรือมูลนิธิ เช่น บิล เกตส์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Microsoft บริจาคเงินร่วมกับหลายๆ คนราว 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 24,000 ล้านบาท) โดยนำเงินไปจองวัคซีนราคาถูกให้กับประเทศยากจน 

 

นพ.เกียรติยกตัวอย่างราคาวัคซีนว่า “วัคซีนของ Oxford มีการตั้งเงื่อนไขว่าไม่ว่าใครมาซื้อเทคโนโลยีผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 จะต้องคิดราคาไม่เกิน 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อเข็ม (ราว 150 บาท) ทำให้ประเทศยากจนเข้าถึงได้ ซึ่งทำให้ AstraZeneca ก็ต้องคุมราคาในการขายวัคซีนเช่นกัน”

 

นพ.เกียรติกล่าวต่อว่า ส่วนในประเทศรวย เช่น สหรัฐฯ มีการคำนวณแล้วว่าเร็วที่สุดที่จะสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้โดยที่ไม่มีการล็อกดาวน์คือปลายปีหน้า แต่ยังมีการระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ในระดับต่ำ และคาดว่าโรคโควิด-19 จะสงบมากขึ้น กลายเป็นโรคประจำถิ่นอย่างน้อยอีก 2 ปี ทั้งนี้สหรัฐฯ มีข้อจำกัดที่พบจากการสำรวจว่า 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรไม่ยอมรับการฉีดวัคซีน

 

“ประเทศไทยมีวัคซีนที่จองไว้ 26 ล้านโดส ถ้าหาเพิ่มได้อีก 10 ล้าน รวมเป็น 30 กว่าล้าน ก็ยังคิดเป็นเพียงแค่ 20% ของจำนวนประชากร ซึ่งต้องนำไปใช้ป้องกันให้บุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ และบุคคลที่มีโรคเสี่ยง ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยเปิดประเทศได้ไม่เต็มที่ในอีก 1-2 ปีนี้ ยกเว้นว่าจะสามารถหาวัคซีนหรือผลิตเองได้มากกว่านี้” นพ.เกียรติกล่าว

 

โควิด-19 จะหายไปจากโลกไหม

นพ.เกียรติคาดว่าหากจะให้โรคโควิด-19 หายไปเลยในระยะเวลา 1-2 ปีคงเป็นไปไม่ได้ แต่มันจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นที่มีคนติดบ้างประปราย แต่เมื่อมีภูมิก็สามารถอยู่กับมันได้ อย่างในกรณีไข้ฝีดาษที่เคยระบาดก็ใช้เวลานานกว่า 13 ปีโรคจึงหมดไป

 

“ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากเห็นคืออยากเห็นองค์การอนามัยโลกและทั้งโลกกล้ายืนหยัดว่าให้โรคโควิด-19 หมดไปจากโลกในอีกประมาณ 5-10 ปี แม้ว่าจะเป็นการคาดหวังที่สูง แต่หากทำได้สักครึ่งของที่หวังก็ดีมากแล้ว แต่หากโลกยังหวังแค่ฉีดเพื่อสามารถให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อได้ ผมว่าเดี๋ยวก็เจอตัวใหม่ๆ มาอีก เพราะฉะนั้นเราต้องเอาจริงในเรื่องของการบุกรุกป่า การกินสัตว์ป่า รวมถึงตลาดสัตว์ป่า” นพ.เกียรติกล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X