งานเปิดตัวเว็บไซต์อ่านเอาในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 46 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 16
เว็บไซต์ ‘อ่านเอา’ www.anowl.co คือเว็บไซต์นวนิยายออนไลน์ใหม่ที่นำบรรยากาศของการอ่านนิยายจากนักเขียนชื่อดังในนิตยสาร มาสู่การอ่านนิยายฟรีในโลกออนไลน์ และสร้างคอมมูนิตี้ระหว่างนักเขียนและนักอ่านได้พบปะพูดคุยและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน
อ่านเอาเกิดจากการรวมตัวของ 3 นักเขียนรุ่นใหญ่ที่เติบโตจากการเขียนนิยายลงเป็นตอนๆ ในนิตยสาร ได้แก่ หมอโอ๊ต พงศกร, ปุ้ย กิ่งฉัตร และเอียด-ปิยะพร ศักดิ์เกษม รวมกับทีมงานที่เชี่ยวชาญด้านการทำเว็บไซต์และการทำสื่ออีกจำนวน 5 คน นำผลงานจากเพื่อนนักเขียนหลากรุ่นในวงการอย่าง มาลา คำจันทร์, ปราปต์, ภัสรสา, ทอม สิริ, ปองวุฒิ รุจิระชาคร, กานต์ และนาคเหรา รวมเป็นนวนิยายจำนวน 10 เรื่อง ที่เปิดให้นักอ่านสามารถอ่านฟรีได้แล้วโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
การเปิดเว็บไซต์ให้อ่านนิยายกันฟรีๆ คนอ่านย่อมได้ประโยชน์อย่างมาก แต่สำหรับนักเขียนที่คุ้นชินกับการเขียนนิยายลงนิตยสารซึ่งมีราคาค่าตอบแทน จำนวนความถี่ในการลง รวมถึงการการันตีฐานแฟนผู้อ่านอยู่แล้ว จะให้ปรับเปลี่ยนมาเขียนลงเว็บไซต์ก็คงจะเกิดคำถามในใจอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นผลตอบแทน สิทธิในงานเขียน แนวเรื่องที่จะลง หรือแม้แต่การถูกละเมิดลิขสิทธิ์
THE STANDARD มีโอกาสได้พูดคุยกับนักเขียนรุ่นใหญ่ทั้ง 3 ถึงคำถามเหล่านี้ รวมถึงความรู้สึกและบรรยากาศแห่งการเปลี่ยนแปลงในวงการนวนิยายไทยปัจจุบัน เพื่อสร้างความเข้าใจแก่เพื่อนนักเขียนในวงการ และหวังใจอยากชวนให้มาต่อยอดลมหายใจบรรยากาศของการอ่านนวนิยายไทยให้เติบโตไปด้วยกัน
เมื่อได้เห็นนิตยสารที่เคยเขียนนิยายลงให้ต่างทยอยปิดตัวลงไป ความรู้สึกในฐานะที่เป็นนักเขียนเติบโตมากับนิตยสารมาอย่างยาวนานตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
พงศกร: ช็อกนะ ไม่คิดว่านิตยสารมันจะตายไปเร็วขนาดนี้ แล้วมันติดๆ กัน มันก็เกิดความกังวล ทีนี้พอมันหลายเล่มเข้า พี่ก็ตระหนักว่ามันคือการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ละ ก็เริ่มยอมรับมันได้ ก็พยายามปรับตัวจากที่เขียนนิยายลงเป็นตอนๆ ก็มาเขียนรวมเล่มเลย แต่แฟนคลับที่เขาติดตามเรามาจากในนิตยสาร เขาก็บ่นว่า ไม่รู้จะหาอ่านได้ที่ไหน เพราะกว่าจะรอรวมเล่มเลยมันนาน สุดท้ายเลยคุยกับพี่ๆ ว่า เราลองมาทำเว็บไซต์ดีไหม ไม่ต้องซื้อเหรียญซื้ออะไรเพื่ออ่าน แต่ทำเว็บไซต์แบบฟรีคอนเทนต์เลย
ปิยะพร: พี่อยู่กับนิตยสารมาตั้งแต่ยุครุ่งเรืองมาก หลายสิบปีละ แต่พี่ก็เข้าใจในเรื่องความเปลี่ยนแปลงของโลกนี้ พี่ยอมรับได้ เพราะเราก็ติดตามเทคโนโลยีจึงรู้มาก่อนหน้านี้ 3-4 ปีแล้วว่าแม้แต่นิตยสารในอเมริกาเอง การ Subscribe ของ E-Magazine ก็ลดลงไปอย่างรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้นดูแนวโน้มของไทยเราก็เป็นไปในทางนั้น
พี่เป็นคนแก่แล้ว เห็นความอนิจจังของโลก เห็นสิ่งที่มันหมุนเวียนเปลี่ยนไปแบบนี้ ก็เลยไม่ค่อยตกใจเท่าไร แต่ตอนที่นิตยสารเล่มหนึ่งปิด ทุกคนก็ออกมาโวยวายว่า ตายละ การอ่านจะล่มสลาย นิตยสารไม่มี คนเขียนไม่มีที่ยืนต่างๆ นานา ทุกคนพูดกันอย่างนี้หมด
พี่เห็นคนบ่นโวยวายเต็มไปหมดในเฟซบุ๊ก จนวันหนึ่งพี่ไปหยิบโควตจากเรื่อง รากนครา ตอนจบขึ้นว่า การเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นเรื่องธรรมดา เราไม่ได้มีหน้าที่ยับยั้ง หรือว่าฉุดดึงมันไว้ เราเพียงแค่ยอมรับ ปล่อยวาง และเดินไปกับมันอย่างมีสติ พี่เอาขึ้นมาพูดก่อนที่เขาจะโวยวายไปกันใหญ่
คิดว่าเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วจะทำให้คนอ่านนิยายน้อยลงไปด้วยไหม
กิ่งฉัตร: คนอ่านก็อ่านตลอดเลยนะ งานสัปดาห์หนังสือก็คนเยอะมาก
พงศกร: เพราะมีอะไรไปแบ่งเวลาเขาเยอะไงครับ มันมีเกมออนไลน์ มีกิจกรรม มีอินสตาแกรม มีทวิตเตอร์ มี Netflix แต่พี่มองว่าคนอ่านก็ยังอยู่ ไม่น้อยลง
ปิยพร: นักอ่านใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ นะ ไม่ใช่ว่าการอ่านสะดุดหยุดลงเลย นิตยสารล้มไปก็จริง แต่การอ่านไม่มีวันตาย ยังไงก็ยังอ่านกันอยู่ เพียงแต่ว่าเขาเปลี่ยนแพลตฟอร์ม เปลี่ยนเครื่องมือในการอ่านเท่านั้นเอง เรามีพิมพ์ดีด มีโปรแกรมในคอมพิวเตอร์ แต่ปากกา ดินสอก็ยังคงอยู่ เราเป็นผู้อ่านเราก็มีสิทธิ์เลือกว่าจะอ่านบนเว็บ E-Book หรือหนังสือเล่ม เพราะฉะนั้นพี่มองว่าหนังสือเล่มไม่มีวันตาย เพราะมันไม่ต้องอาศัยกระแส ไม่ต้องอาศัยช่วงเวลา
เมื่อเรายอมรับในความเป็นไปของเทคโนโลยีได้แล้ว จึงตัดสินใจที่จะเปิดเว็บไซต์นิยายทันที
ปิยะพร: ตอนแรกพี่หมอโอ๊ตชวนเรายังรู้สึกขี้เกียจ (หัวเราะ) เพราะพี่สามารถอยู่บ้านเขียนนิยายไปเรื่อยๆ จนกระทั่งจบแล้วรวมเล่ม คนที่ยังอ่านของพี่ก็ยังมีอยู่ ไม่ได้ลำบากอะไร แต่พอหมอโอ๊ตมาชวน คุยไปคุยมา ก็เริ่มมองว่ามันเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะได้สื่อสารกับผู้อ่าน และจะได้มีโอกาสประคับประคองนักเขียนรุ่นน้อง
เนื่องจากว่าในสมัยที่พี่เขียนลงนิตยสารครั้งแรกๆ มี บ.ก. ดูแลต้นฉบับให้พี่ และก็จะมีนักเขียนรุ่นใหญ่ อย่างเช่น อาจารย์ศรีฟ้า คุณกฤษณา อโศกสิน คุณโสภาค สุวรรณ คุณโบตั๋น ทมยันตี และใครต่อใครอีกหลายท่าน นักเขียนก็เข้ามาอ่านงานของท่านเหล่านี้ และก็คอยอ่านงานของเราไปด้วย อ่านไปอ่านมาหลายเรื่องเข้า ก็รักเรา พี่ก็หวังว่าแฟนๆ ที่เข้ามาอ่านในเว็บนี้จะได้รักปราปต์ ได้รักปองวุฒิ ได้รักภัสรสา ได้รักนาคเหรา ได้รักกานต์ เหมือนที่นักอ่านในรุ่นก่อนรักพี่ พี่ก็เห็นว่ามันจะช่วยทั้งนักเขียนและนักอ่าน ก็เลยตกลงที่จะมาทำร่วมกัน
นิยายที่จะลงในเว็บไซต์อ่านเอามีความแตกต่างในเรื่องแนวเรื่อง หรือความสั้นยาวของเนื้อหาจากนิยายที่เขียนลงในนิตยสารอย่างไร
กิ่งฉัตร: ไม่แตกต่างเลย เราให้อิสระแก่นักเขียนในการเขียน ไม่มีการบังคับว่าต้องเขียนแนวนั้นแนวนี้นะ คือใครอยากเขียนอะไรเขียนมา เขียนในสิ่งที่เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่
ปิยพร: แต่งานต้องดีและประณีต
พงศกร: นักเขียน 10 คนแรกที่เราเชิญมาจะค่อนข้างหลากหลาย ไม่มีแบ่งค่าย เพราะนี่คือสังคมการอ่านที่ใครก็เข้ามาอ่านได้ นักเขียนจากค่ายไหนก็มาเขียนด้วยกันได้ เราเลือกเรื่องให้มันหลากหลายเท่านั้นคือ มีผี มีรัก มีลึกลับ และมีมาตรฐานอย่างที่นิตยสารมีบรรณาธิการดูแล มีพิสูจน์อักษรช่วยดูคำผิด และมีการทำภาพประกอบ
หากมีนักเขียนที่สนใจอยากจะเขียนลงอ่านเอาบ้าง เขาต้องทำอย่างไร
กิ่งฉัตร: ในอนาคตเรามีโครงการที่จะเปิดรับ แต่ ณ ปัจจุบันเรายังไม่พร้อมที่จะเปิดกว้าง เพราะเรายังไม่แข็งแรงพอที่จะซัพพอร์ตได้ทั้งหมด
พงศกร: มีนักเขียนอีกหลายท่านที่ยังมีวิธีคิดไม่เหมือนกัน คือเขามาปุ๊บ เขาอาจจะมองเรื่องค่าตอบแทน แต่วันนี้ต้องบอกตรงๆ ว่าเรายังไม่มีให้ เพราะว่าเราลงทุนกันเองทั้งหมด และเรามีค่าใช้จ่ายในการจะทำให้เว็บอยู่ได้ค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้น 10 คนแรกนี้ พวกเขายินดีให้เรื่องมาเลยโดยไม่คิดเงินค่าต้นฉบับแม้แต่บาทเดียว เราถึงอยู่ได้ แต่อันนี้เป็นความรับผิดชอบของเรา เราจะทำแบบนั้นตลอดไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อวันหนึ่งเราแข็งแรงแล้ว เราต้องให้เกียรติเขาด้วย ต้องดูแลให้ค่าต้นฉบับ ซึ่งเราก็มีระบบหลังบ้านที่คิดเรื่องนี้ไว้หมดแล้ว เพราะในเฟสต่อๆ ไปก็น่าจะมีนักเขียนที่หลากหลายกว่านี้อีก
ถือว่านักเขียนก็ต้องเชื่อใจกันประมาณหนึ่ง
พงศกร: ไว้ใจ และเราก็ป้องกันในเรื่องการถูกก๊อบปี้ด้วย
หน้าเว็บไซต์อ่านเอา
การถูกก๊อบปี้เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของนักเขียนไม่ว่าจะเขียนเพื่อรวมเล่ม หรือเขียนลงออนไลน์ สำหรับอ่านเอาจะมีการป้องกันในเรื่องนี้อย่างไร
พงศกร: พวกพี่ก็หวังใจว่ามันจะไม่เกิด สิ่งเหล่านี้มันเป็นบรรทัดฐานของสังคม เราทำทุกอย่างบนพื้นฐานของความสุจริตใจ ก็น่าจะให้เกียรติกัน แต่ถ้าไม่ให้เกียรติเรา เราก็มีมาตรการต่อไปว่าจะทำอย่างไร น้องๆ นักเขียนเราก็ต้องดูแลทุกคนที่อยู่ตรงนี้อยู่แล้ว แต่จะให้สัญญาว่าจะไม่เกิดก็คงยาก ยังไงมันก็เกิดขึ้นได้
กิ่งฉัตร: ไม่มีอะไรที่ไม่โดนก๊อบปี้ แต่เรามีทีมกฎหมายหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์ เราจะดำเนินคดีโดยทันที
ปิยะพร: เราซัพพอร์ตนักเขียนทุกคน เนื่องจากว่าเขาไว้ใจให้เราเอามาลง เราก็ต้องรักษา ต้องดูแลเขา แม้บางคนจะบอกว่าช่างเถอะ ขี้เกียจ แต่ข้อเขียนทุกชิ้นมีลิขสิทธิ์ เราก็ต้องดำเนินการถึงที่สุดเพื่อเป็นบรรทัดฐานของสังคม
นิยายของนักเขียนแต่ละคนที่ลงจนจบตอนแล้ว อ่านเอาจะรวมเป็น E-Book หรือตีพิมพ์นิยายด้วยเลยไหม
พงศกร: คือนักเขียนมอบสิทธิ์ให้มาลงในเว็บ แต่ถ้านอกเหนือจากนี้ก็ยังเป็นสิทธิ์ของเขาอยู่ว่าจะมอบให้ใคร สำนักพิมพ์อะไร ซึ่งส่วนใหญ่นักเขียนทั้ง 10 คน จะมีสำนักพิมพ์ประจำอยู่แล้ว เข้าใจว่าพอจบปุ๊บ เขาก็จะเอาไปรวมเล่มหรือทำ E-Book กับสำนักพิมพ์ประจำของเขา แต่โดยหลักการของอ่านเอาแล้ว เราไม่ได้พิมพ์หนังสือและไม่ได้ทำเพื่อขาย เราแค่ทำพื้นที่ที่จะให้เข้ามาอ่านนิยายเท่านั้น เมื่อลงจนจบเรื่องสักระยะ ก็จะยกเรื่องนั้นออกไป เพื่อให้เขาเอาไปรวมเล่มต่อ แล้วก็จะมีเรื่องใหม่มาทดแทน
นอกจากการลงนิยายให้อ่านแล้ว เห็นว่าอ่านเอาจะมีการเปิดสอนนักเขียนรุ่นน้องด้วย
ปิยพร: พี่สามคนเขียนนิยายกันมาก็ร่วมร้อยปี (หัวเราะ)
กิ่งฉัตร: พี่น่าจะ 30 ปีละ น่าจะตั้งแต่ปี 2532-2533
พงศกร: ผมเริ่มเขียนปี 2544
ปิยพร: ถ้าไม่รวมเรื่องสั้น 3 เรื่องที่ลงใน สกุลไทย ของดิฉัน ก็ปี 21 ค่ะ คือตลอดเวลาที่เราเขียนกันมาก็บอกว่าเมื่อไรพี่จะสอน ซึ่งเรายังไม่พร้อมก็เลยยังไม่จัดการสอน แต่ตอนนี้ต้องเปิดละ เพื่อที่จะประคับประคองให้เว็บอยู่ได้
พงศกร: แต่เอาจริงๆ เรื่องสอนเขียนหนังสือ มันประกอบด้วย 2 ส่วนคือ พรสวรรค์กับทักษะ ซึ่งพรสวรรค์มันสอนกันไม่ได้อยู่แล้ว แต่ทักษะหรือเทคนิคเป็นสิ่งที่เราสามารถใช้ประสบการณ์แนะนำน้องได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้การันตีว่ามาเรียนแล้วจะเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ คุณต้องกลับไปทำการบ้านต่อ ทำงานต่ออย่างหนัก
ปิยพร: เราชี้ประตูให้ แต่ต้องไปทำการบ้านด้วยตัวของตัวเอง
ในฐานะที่อยู่วงการนิยายไทยมานาน มองว่านิยายของนักเขียนรุ่นใหม่มีความแตกต่างจากในรุ่นก่อนหน้าบ้างไหม
กิ่งฉัตร: ถ้าในแง่พล็อต มันไม่มีความแตกต่างมากมายนะ พล็อตมันก็วนอยู่ในไม่กี่พล็อต เช่น พล็อตซินเดอเรลลา พล็อตลูกหาย พล็อตแม่ผัวลูกสะใภ้ พล็อตย้อนเวลา มันมีมาหมดแล้ว เพียงแต่ความแตกต่างมันอยู่ที่ภาษา การนำเสนอ รวมกับบริบทของสังคมที่มันเปลี่ยนไป ทำให้มันแตกต่างกันออกไป ตัวละครมีความสตรองมากขึ้น เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่เนื้อหาถ้าขุดดูดีๆ มันจะไม่ได้แตกต่างจากสมัยก่อนสักเท่าไร ตัวเดิมมันยังอยู่ เพียงแต่เราเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว เปลี่ยนเสื้อผ้า เปลี่ยนผมเผ้า เปลี่ยนรองเท้าเท่านั้นเอง
ความสตรองที่ว่าหมายถึงแนวคิดของตัวละครหรือเปล่า
กิ่งฉัตร: ใช่ ทุกอย่างนะ คือสิ่งที่เปลี่ยนมันคือทัศนคติของสังคมและภาษา ลองสังเกตดูว่ายุคหนึ่งความหัวอ่อนอาจจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ปัจจุบันถ้านางเอกหัวอ่อน ก็อาจจะต้องถูกมองว่า ทำไมสมัยนี้แล้วยังยอมคน แต่ลึกๆ ให้ดูว่ามนุษย์มันยังมีความแตกต่าง และนิยายคือการนำเสนอความแตกต่างของคน
ตัวละครที่สตรองขึ้นหมายถึง มีอิสระในการเปิดเผยตัวตนมากขึ้น มีการแสดงความคิดเห็นและเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น แต่ไม่ใช่นิยายย้อนยุคนะคะ ถ้าย้อนยุคก็ต้องกลับไปบุคลิกเดิม
รู้สึกอย่างไรที่นิยายย้อนยุคกลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง
ปิยพร: ก็ดีสิ อะไรที่เกิดขึ้นแล้วมันก็ดีทั้งนั้น
กิ่งฉัตร: จริงๆ แล้วกระแสนิยายมันไม่เคยหยุดนิ่ง มันจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ นะ เดี๋ยวมันก็วกกลับมา อย่างช่วงหนึ่งสมัยพี่ยังเด็กๆ เอ๊าะๆ จะมีนิยายรักนักศึกษา มันดังจนสุดขีด แล้วมันก็หายไป ทุกอย่างดูเป็นสัจธรรมมาก พอขึ้นสุดแล้วก็ลง แล้วพอหลังจากนั้นอีกสัก 10 กว่าปีถัดมา มันก็มีนิยาย ความรู้สึกดีๆ ที่เรียกว่ารัก ของแจ่มใส ก็เป็นนิยายรักนักศึกษาแบบเก่า แล้วตอนนี้มันก็ซาไป อีกสัก 10 ปี มันก็กลับมาใหม่ แม้กระทั่งวงการนิยายช่วงหนึ่งที่แดน บราวน์ สืบสวนสอบสวนดังมาก ก็เปลี่ยนมาฮิตนิยายเกาหลี ญี่ปุ่น ตอนนี้มาจีน แล้วก็กลับมาไทยอีกละ แล้วมันก็จะวนอยู่อย่างนี้ เหมือนเป็นวัฏจักรของมัน มันไม่มีอะไรที่อยู่กับที่นานๆ แต่จะลื่นไหลไปเรื่อยๆ
คาดหวังว่าจะมีผู้อ่านตอบรับกับอ่านเอามากน้อยเท่าไร
ปิยพร: หวังให้มีเยอะก็แล้วกัน (หัวเราะ) และยั่งยืนด้วย เพราะเราตั้งใจทำกันมาก แล้วเราเลือกรสชาติต่างๆ ที่เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย ไม่ใช่รสใดรสเดียว คือมีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ปะปนอยู่ในนี้หมด และรู้สึกดีใจด้วยที่เปิดเว็บวันแรกแล้วก็ล่มเลย แสดงว่าคนให้ความสนใจเยอะมาก