×

Anora (2024) ชีวิตที่ช่างไม่เย้ายวนเซ็กซี่ของนางระบำเปลื้องผ้า

05.11.2024
  • LOADING...
Anora

HIGHLIGHTS

  • หนังเรื่อง Anora ผลงานล่าสุดของ Sean Baker ซึ่งชนะรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังนานาชาติเมืองคานส์ครั้งล่าสุด และเข้าฉายบ้านเราในฐานะหนังเรต ฉ 20- หรือหนังที่ไม่อนุญาตให้คนดูอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าชม
  • เรื่องของคนให้บริการทางเพศก็ไม่ใช่หัวข้อแปลกใหม่ และสร้างกันมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ความท้าทายจริงๆ คือมุมมองและท่าทีในการบอกเล่า ทำนองว่าคนทำหนังวางตำแหน่งของตัวเองไว้ตรงไหนและบรรทัดฐานในทางศีลธรรมเป็นอย่างไร และวิธีของ Baker ก็คือการชักชวนคนดูเข้าไปคลุกคลีตีโมงกับบุคลิกเหล่านั้น ด้วยสไตล์การนำเสนอที่ดูเหมือนจริงแบบ Docudrama ซึ่งปราศจากการขัดเกลา (การถ่าย Hand-Held, การตัดภาพ Jump Cut) บางครั้งมันก้ำกึ่ง คาบลูกคาบดอกระหว่างความเห็นอกเห็นใจ การสอดรู้สอดเห็นและฉวยโอกาสของคนทำ ขณะที่ตัวละครในหนังของเขาก็เหมือนกับเดินเข้าฉากมาจากโลกความเป็นจริง 
  • ข้อน่าสังเกตอีกอย่างที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ สายตาของคนทำหนังไม่ได้วางตัวเองอยู่เหนือกว่าตัวละคร หรือแสดงออกว่ากำลังพิพากษาหรือตัดสินผิดชอบชั่วดีไม่ว่าจะด้วยกรอบกฎหมายหรือศีลธรรม และพร้อมๆ กับที่หนังของ Baker เป็นเหมือนกระบอกเสียงและถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของคนชายชอบ มันก็ตีแผ่ให้คนดูได้เห็นความมีชีวิต เลือดเนื้อ ตลอดจนความเป็นมนุษย์ปุถุชน ซึ่งเป็นสิ่งที่คนดูเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงได้ไม่ยากเย็น 

หนังเรื่อง Anora ผลงานล่าสุดของ Sean Baker ซึ่งชนะรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังนานาชาติเมืองคานส์ครั้งล่าสุด และเข้าฉายบ้านเราในฐานะหนังเรต ฉ 20- หรือหนังที่ไม่อนุญาตให้คนดูอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าชม บอกเล่าในสิ่งที่คนทำหนังสนใจและให้ความสำคัญมาตั้งแต่เริ่มต้น นั่นคือชีวิตของคนชายขอบ ชนชั้นรากหญ้า และโดยเฉพาะตัวละครที่เป็น Sex Worker ซึ่งว่าไปแล้ว เป็นคาแรกเตอร์จำพวกที่ไม่ค่อยถูกนำเสนอในหนังกระแสหลักในแบบสำรวจตรวจสอบอย่างจริงจัง และรวมๆ แล้วนี่คือลายเซ็นหรือลักษณะประพันธกรของผู้สร้าง

 

 

สมมติว่าจะลองสอดส่องเหล่าบรรดาประชากรที่โลดแล่นอยู่ในหนังของ Sean Baker อย่างคร่าวๆ เผื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับผู้ชมที่ไม่เคยผ่านตาผลงานเรื่องก่อนหน้า ตัวละครหลักของหนังเรื่อง Starlet (2012) ได้แก่ นักแสดงหนังโป๊วัย 20 ต้นๆ ผู้ซึ่งจับพลัดจับผลูพัฒนาความสัมพันธ์อันแปลกประหลาดกับหญิงชราวัย 85 ปี ผู้ซึ่งชีวิตของเธอแทบไม่หลงเหลือคุณค่าอะไรอีกแล้วนอกจากการเล่นบิงโก ในหนังเรื่อง Tangerine (2015) ตัวละครหลักของเรื่อง ได้แก่ กะเทยขายบริการทางเพศที่เพิ่งออกจากคุก และพบว่าแฟนหนุ่มของเธอมีคนใหม่ซะแล้ว ใน The Florida Project (2017) แม่ของเด็กหญิงอายุ 6 ขวบเป็นนักเต้นระบำเปลื้องผ้าตกงาน และหาลำไพ่ด้วยการเป็นโสเภณีพาร์ตไทม์ ความฝืดเคืองขัดสนทางเศรษฐกิจกำลังทำให้โลกที่ผุดผ่องสดใสของลูกสาวตัวน้อยล่มสลายต่อหน้าต่อตาคนดู ขณะที่ในหนังเรื่อง Red Rocket (2022) อดีตพระเอกหนังโป๊ต้องซมซานกลับมาขออาศัยบ้านเมียเก่าเป็นที่ซุกหัวนอน กระนั้นก็ตาม ความมุ่งหวังของเขาก็คือการปลุกปั้นเด็กสาวที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะในฐานะดาวโป๊ดวงใหม่ของวงการ

 

 

แต่ว่าไปแล้ว เรื่องของคนให้บริการทางเพศก็ไม่ใช่หัวข้อแปลกใหม่ และสร้างกันมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ความท้าทายจริงๆ คือมุมมองและท่าทีในการบอกเล่า ทำนองว่าคนทำหนังวางตำแหน่งของตัวเองไว้ตรงไหนและบรรทัดฐานในทางศีลธรรมเป็นอย่างไร และวิธีของ Baker ก็คือการชักชวนคนดูเข้าไปคลุกคลีตีโมงกับบุคลิกเหล่านั้น ด้วยสไตล์การนำเสนอที่ดูเหมือนจริงแบบ Docudrama ซึ่งปราศจากการขัดเกลา (การถ่าย Hand-Held, การตัดภาพ Jump Cut) บางครั้งมันก้ำกึ่ง คาบลูกคาบดอกระหว่างความเห็นอกเห็นใจ การสอดรู้สอดเห็นและฉวยโอกาสของคนทำ ขณะที่ตัวละครในหนังของเขาก็เหมือนกับเดินเข้าฉากมาจากโลกความเป็นจริง หรือพูดง่ายๆ รูปลักษณ์ภายนอกของตัวละครเหล่านี้ไม่เหมือนกับที่เราเห็นในหนังฮอลลีวูด และอะไรบางอย่างบอกให้รู้ว่าพวกเขาแสดงอย่างอื่นไม่ได้นอกจากเป็นตัวเอง

 

ข้อน่าสังเกตอีกอย่างที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ สายตาของคนทำหนังไม่ได้วางตัวเองอยู่เหนือกว่าตัวละคร หรือแสดงออกว่ากำลังพิพากษาหรือตัดสินผิดชอบชั่วดีไม่ว่าจะด้วยกรอบกฎหมายหรือศีลธรรม และพร้อมๆ กับที่หนังของ Baker เป็นเหมือนกระบอกเสียงและถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของคนชายชอบ มันก็ตีแผ่ให้คนดูได้เห็นความมีชีวิต เลือดเนื้อ ตลอดจนความเป็นมนุษย์ปุถุชน ซึ่งเป็นสิ่งที่คนดูเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงได้ไม่ยากเย็น

 

 

 

กล่าวสำหรับ Anora ชื่อของหนังก็คือชื่อของนักเต้นระบำเปลื้องผ้า (Mikey Madison) ในบทบาทการแสดงที่สมควรถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล) ผู้ซึ่งเป็นเหมือนดาวดวงเด่นของสถานบันเทิงชั้นสูงของเมืองนิวยอร์ก และด้วยความที่เธอเป็นคนเดียวที่พูดรัสเซียได้ หญิงสาวได้รับมอบหมายให้ต้อนรับขับสู้ Vanya ลูกชายของคนใหญ่คนโตในรัสเซียที่เกิดมาแบบคาบช้อนเงินช้อนทองและใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเขาเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ทีละน้อย สถานะของแดนเซอร์โชว์เนื้อหนังมังสาของ Anora หรือ Ani (ชื่อที่เธออยากให้ใครๆ เรียก) ก็แปรเปลี่ยนไปเป็นคู่ขาทางเพศ หรือจริงๆ แล้วต้องเรียกว่าของเล่นชิ้นใหม่ของหนุ่มใจแตก เมื่อฝ่ายหลังว่าจ้างให้หญิงสาวรับบทแฟนสาวร่านสวาทเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ และไม่ว่าจะด้วยความไม่มีสติสัมปชัญญะของ Vanya ซึ่งอยู่ในสภาพเมามายเกือบตลอดเวลา หรือความเก็บกดอัดอั้นจากการตกอยู่ใต้อาณัติของแม่ซึ่งบัญชาการโน่นนี่นั่นจากประเทศบ้านเกิดผ่านลูกน้องชาวอาร์เมเนียที่ชื่อ Toros (Karren Karagulian) ที่ทำหน้าที่เสมือนผู้ปกครอง หนุ่มน้อยที่อายุเพิ่ง 21 ปีและกำลังเมามันกับการทำทุกสิ่งอย่างสนองตัณหาตัวเองก็ขอ Ani แต่งงาน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความวุ่นวายยุ่งเหยิงจนไม่อาจควบคุม

 

 

อย่างที่หลายคนร้องทักตรงกันว่า ปมเรื่องของ Anora ชวนให้นึกถึง Pretty Woman ของ Garry Marshall ซึ่งเล่าเรื่องนักธุรกิจหนุ่มรูปหล่อตกหลุมรักโสเภณีชั้นสูงผู้ซึ่งมีหัวใจงดงามดั่งทองคำ และหนังลงเอยด้วยบทสรุปแบบแฮปปี้เอนดิ้ง นั่นคือหญิงสาวหลุดพ้นจากวังวนของการเป็นหญิงขายบริการทางเพศ ส่วนชายหนุ่มก็กลายเป็นตัวละครที่คุณธรรมสูงส่งในพริบตา แต่ก็นั่นแหละ วันเวลาที่ผ่านพ้นไม่ได้ให้ความเมตตาหนังของ Marshall เท่าไรนัก และ Julia Roberts ดารานำ ถึงกับให้สัมภาษณ์ว่า มันเป็นหนังที่สร้างตอนนี้ไม่ได้อีกแล้ว เนื่องจากความเพ้อฝันและหลงละเมอเพ้อพก นั่นยังไม่ต้องเอ่ยถึงทัศนคติของคนทำที่มอง Sex Work ทำนองว่ามันคือสภาวะจมปลักหรือสิ้นไร้ไม้ตอกของคนที่ไม่มีทางเลือก และไม่ใช่งานอาชีพซึ่งต้องใช้ทักษะหรือสกิล และมีเส้นทางก้าวหน้าหรือ Career Path ของมัน

 

อย่างหนึ่งที่คนดูหนังเรื่อง Anora น่าจะมองเห็นด้วยคล้ายคลึง นั่นก็คือ Ani เป็นนักเต้นที่ลวดลายพลิ้วไหวและจัดจ้าน ในแง่ของงานอาชีพ เธอก็เก่งกาจสามารถและแพรวพราวไปด้วยลูกล่อลูกชน นั่นยังไม่ต้องเอ่ยถึงบุคลิกออเซาะฉอเลาะลูกค้าให้ใช้บริการห้องส่วนตัวกับเธอแบบสองต่อสอง

 

และถึงแม้ว่า Ani จะขีดเส้นแบ่งทำนองว่า อาชีพของเธอคือแดนเซอร์ และไม่ได้ค้าประเวณี แต่สำหรับลูกค้ากระเป๋าตุงอย่าง Vanya นี่ก็เป็นเรื่องที่ยืดหยุ่นและอะลุ่มอล่วยได้ ข้อสำคัญคือเธอต่อรองผลประโยชน์ได้อย่างไม่มีท่าทีเคอะเขินเหนียมอาย หรือจริงๆ คล่องแคล่วลื่นไหล ทั้งในตอนที่เธอแจ้งสนนราคาค่าตัวของการเป็นสาวเอสคอร์ตหรือคู่ขาทางเพศหนึ่งสัปดาห์ หรือตอนที่หญิงสาวเรียกร้องสินสอดแต่งงานเป็นแหวนเพชรเม็ดโต 

 

 

แต่นั่นก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่คนดูรับรู้เกี่ยวกับตัวละครนี้ ช่วงสั้นๆ ของหนังที่พวกเราได้เห็นชีวิตหลังเลิกงานของเจ้าตัว ก็ชวนให้สรุปได้ไม่ยากว่าเธอเป็นอีกคนหนึ่งอย่างสิ้นเชิง ทั้งใบหน้าสดๆ ปราศจากเมกอัพ สีหน้าสีตาเรียบเฉย ไม่มีริ้วรอยของอารมณ์ความรู้สึกใดๆ ซึ่งว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะสำหรับคนที่งานอาชีพของเธอต้องแต่งตัวสวย ยิ้มหวาน พูดจาออดอ้อน และแสดงออกอย่างร่าเริงแจ่มใสตลอดเวลา ซึ่งสิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็น ‘ของซื้อของขาย’ และมีมูลค่าในตัวมันเองทั้งสิ้น

 

ขณะที่บ้านช่องห้องหับและชีวิตความเป็นอยู่ของเธอกับพี่สาวซึ่งน่าเชื่อว่าวันๆ พูดจากันแบบนับคำได้ ก็ชวนให้สรุปได้ไม่ยากถึงวิถีที่ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนทางเศรษฐกิจของตัวละคร ไหนยังจะมีเรื่องความเป็นปฏิปักษ์ระหว่าง Ani กับเพื่อนร่วมงานที่เขม่นกันมาตั้งแต่ต้น ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าคงเป็นเรื่องแย่งลูกค้า แถมความขัดแย้งนี้ก็บานปลายถึงขั้นลงไม้ลงมือ หรือพูดรวมๆ แล้วหนังของ Sean Baker วาดให้คนดูได้เห็นโลก ชีวิต และงานอาชีพ ที่ไม่ได้โรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบของตัวละครนี้ได้อย่างกะทัดรัดทว่าครอบคลุม และกลายเป็นเรื่องช่วยไม่ได้เมื่อมันถูกนำไปเทียบเคียงกับความเป็นอยู่ที่หรูหราฟุ้งเฟ้อของ Vanya ซึ่งต้องบอกว่าหมอนี่ร่ำรวยอย่างน่าอัปลักษณ์ พฤติการณ์ใช้จ่ายอย่างล้างผลาญและมองเห็นเงินเป็นแค่เศษกระดาษของเขาก็เหยียบย่ำความรู้สึกของคนที่ต้องปากกัดตีนถีบอย่างน่าขุ่นเคือง

 

แต่ก็นั่นแหละ Anora ไม่ใช่หนังดราม่าบีบคั้นอารมณ์ อย่างน้อยองก์สองของหนังก็ทั้งตลกขบขัน เรียงร้อยไว้ด้วยสถานการณ์ที่ดูประสาทเสีย และความบ้าบอคอแตกของโน่นนี่นั่นก็สร้างบรรยากาศที่หรรษาครื้นเครง ทั้งหมดทั้งมวลเริ่มจาก Galina (Darya Ekamasova) ผู้เป็นแม่ซึ่งรู้ข่าวแต่งงานก็สั่งการจากแดนไกลให้ลูกชายยกเลิกการสมรักสมรสทันควัน จนเขาสติแตกและหนีออกจากคฤหาสน์ เดือดร้อนบรรดาลูกน้องของผู้เป็นแม่ รวมถึง Ani ต้องออกตามหาหนุ่มน้อยที่เตลิดเปิดเปิงในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ก และรูปการณ์ก็ไม่ต่างจากการงมเข็มในมหาสมุทร 

 

ส่วนที่ควรหมายเหตุก็คือ ในความเป็นหนังตลกเถิดเทิง หรืออีกนัยหนึ่ง เล่นมุกจากความวายป่วงของเหตุการณ์ไปเรื่อยๆ แบบไม่จบไม่สิ้น บรรดาตัวละครปลีกย่อยกลับไม่เคยเป็นเพียงแค่อุปกรณ์ประกอบฉากหรือเครื่องมือที่ใช้เดินเรื่อง และทีละน้อย วิบากกรรมของลูกสมุนทั้งสองคน (Yura Borisov และ Vache Tovmasyan) ของ Toros หรือจริงๆ จะรวมตัวพ่ออุปถัมภ์ด้วย (ซึ่งก็มีชีวิตและเรื่องส่วนตัวที่ต้องสาละวน) ก็ไม่ได้มีเอาไว้เพื่อเรียกเสียงหัวเราะจากคนดูเพียงลำพัง และรายละเอียดปลีกย่อยที่คนทำหนังสอดแทรกก็ทำให้คนดูตระหนักได้ว่า พวกเขาก็เป็นปุถุชนที่รู้สึกรู้สม รู้ร้อนรู้หนาว และความเหมือนกันของตัวละครทั้งหมดภายใต้สถานการณ์อลเวงก็คือ พวกเขาไม่ได้มีหนทางให้เลือกมากนักนอกจากทำตามคำสั่งหรือตกกระไดพลอยโจน มองแง่มุมนี้แล้วไม่ต้องสงสัยว่าตัวละครที่โหดเหี้ยมและเลือดเย็นก็คือคนอย่าง Vanya และ Galina ผู้เป็นแม่ที่ใช้อำนาจบาตรใหญ่เหยียบย่ำและบดขยี้คนตัวเล็กตัวน้อยอย่างชนิดไม่ต้องดูดำดูดี และนั่นทำให้ประเด็นความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นเป็นเรื่องทิ่มแทงความรู้สึกของคนดูอย่างหนักหน่วงรุนแรง

 

 

แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ ไม้ตายหรือจะเรียกว่าหมัดน็อกของคนทำหนังได้แก่ฉากสุดท้ายขององก์สามซึ่งคนดูคงต้องไปค้นหาเอาเอง กระนั้นก็ตาม ตอนจบแบบปลายเปิดในหนังแทบทุกเรื่องของ Sean Baker ทิ้งรสชาติหวานอมขมกลืนที่ติดแน่นทนนาน และในกรณีของ Anora มันก็เป็นบทสรุปที่ระคนและคละเคล้าไปด้วยอารมณ์หลากหลายที่ประดังเข้ามา ในความเศร้าสร้อยมันแอบแฝงความอ่อนหวาน ในความห่อเหี่ยวสิ้นหวังคลับคล้ายว่าเราจะได้เห็นแสงสว่างรำไร และในความหมกมุ่นลุ่มหลงมันก็ดูเหมือนตัวละครสร่างเมาและหลุดพ้นจากภาพลวงตา

 

แต่ในขณะที่หนังเรื่อง Anora ไม่ได้หยิบยื่นความหมายเพียงหนึ่งเดียว หรือจริงๆ แล้วเปิดกว้างสำหรับการตีความ ทว่าอย่างหนึ่งที่เป็นเสมือนคุณค่าที่สอดแทรกในหนังทุกเรื่องของ Sean Baker ก็เป็นดังที่ได้กล่าวก่อนหน้า นั่นคือการกะเทาะให้คนดูได้เห็นความเป็นมนุษย์มนาของตัวละครที่มักจะตกสำรวจทางชนชั้น และพร้อมๆ กัน เลนส์ที่คนทำหนังเลือกใช้ถ่ายทอดตัวละครเหล่านั้นก็เจือปนไปด้วยความเห็นอกเห็นใจ ความอ่อนไหว และการปลอบโยน

 

Anora (2024)

ผู้กำกับ: Sean Baker

นักแสดง: Mikey Madison, Mark Eydelshteyn, Yura Borisov, Karren Karagulian ฯลฯ

 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising