×

Animatronics กับ 4 เรื่องราวของเทคนิคที่รังสรรค์เหล่าตัวละครเหนือจินตนาการให้มีชีวิต

22.08.2022
  • LOADING...
Animatronics

เทคนิค Animatronics หรือหุ่นจำลองสิ่งมีชีวิตที่มีกลไกในการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ นับว่าเป็นหนึ่งในเทคนิคงานสร้างที่ภาพยนตร์และซีรีส์ระดับโลกหลายเรื่องหยิบมาใช้เพื่อสร้างสรรค์เหล่าตัวละครในจินตนาการให้มีตัวตนขึ้นมาโลดแล่นคู่กับเหล่านักแสดง เสมือนว่าตัวละครเหล่านั้นมีชีวิตอยู่จริงๆ THE STANDARD POP ขอพาผู้อ่านทุกท่านมาร่วมสำรวจเรื่องราวของ Animatronics เทคนิคงานสร้างที่มีมนตร์เสน่ห์เหนือกาลเวลากัน  

 

Animatronics

 

1. กำเนิด Animatronics   

เทคนิค Animatronics หรือหุ่นจำลองสิ่งมีชีวิตที่มีกลไกในการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ มีที่มาจากการรวมกันของคำว่า Animate และ Electronics โดยผู้ที่เริ่มบุกเบิกเทคนิค Animatronics ขึ้นมาคือ Walt Disney หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง The Walt Disney Company (ชื่อในปัจจุบัน) โดยในช่วงปี 1960 Walt Disney ได้มอบหมายให้ทีมงาน Imagineers (ชื่อตำแหน่งของพนักงานบริษัท Walt Disney ที่รับผิดชอบในส่วนของงานวิจัยและสร้างสรรค์เครื่องเล่นในสวนสนุก Disneyland) คิดค้นร้านอาหารจีนแห่งใหม่ขึ้นมา พร้อมกับหุ่นชายชราชาวจีนที่สามารถสื่อสารตอบคำถามกับแขกได้อย่างชาญฉลาด โดยมี Roger Broggie และ Wathel Rogers สองทีมงานจาก Imagineers เป็นผู้รับหน้าที่ดูแลโปรเจกต์ดังกล่าว ด้วยการคิดค้นวิธีการขยับดวงตาและปากของหุ่นขณะสื่อสารกับแขก ซึ่งทางทีมงาน Imagineers ได้ตั้งชื่อเทคโนโลยีของตนเองว่า Audio-Animatronics 

 

ในเวลาต่อมา Walt Disney ได้สั่งยกเลิกโปรเจกต์ดังกล่าวลงแล้วหันไปสร้างหุ่น Audio-Animatronics ของประธานาธิบดี Abraham Lincoln แทน เพื่อเตรียมนำไปแสดงภายในงาน New York World’s Fair ซึ่งจะจัดขึ้นในปี 1964 

 

แต่ก่อนหน้าที่หุ่น Audio-Animatronics ของ Abraham Lincoln จะเสร็จสมบูรณ์ ในปี 1963 ทีมงาน Imagineers ก็สามารถพัฒนาหุ่น Audio-Animatronics ตัวแรกขึ้นมาได้สำเร็จ นั่นคือหุ่นนกร้องเพลงซึ่งทำหน้าที่สร้างความบันเทิงแก่แขกผู้มาเยือน ณ Enchanted Tiki Room ของ Disneyland 

 

และด้วยความสำเร็จของหุ่นนกร้องเพลง รวมถึงหุ่น Abraham Lincoln จึงทำให้เทคนิค Audio-Animatronics ได้รับการพัฒนาต่อยอดและกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องเล่นในสวนสนุก Disneyland อีกหลายแห่ง เช่น เครื่องเล่น Pirates of the Caribbean   

 

Animatronics

 

2. การปรากฏตัวครั้งแรกของหุ่น Animatronics บนจอภาพยนตร์ 

สำหรับภาพยนตร์เรื่องแรกที่มีการนำเทคนิค Animatronics มาใช้ในการถ่ายทำคือ Mary Poppins (1964) ภาพยนตร์มิวสิคัลที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเยาวชนสุดคลาสสิกของ P. L. Travers โดยได้ Robert Stevenson มานั่งแท่นผู้กำกับ และ Walt Disney ดูแลในตำแหน่งโปรดิวเซอร์ พร้อมด้วยนักแสดงหญิง Julie Andrews มารับบทนำ โดยหุ่น Animatronics ที่ปรากฏในภาพยนตร์คือหุ่นนกในฉากที่ Mary Poppins ชวนเด็กๆ มาทำความสะอาดห้อง พร้อมขับร้องบทเพลง A Spoonful Of Sugar

 

หลังจาก Mary Poppins เข้าฉายอย่างเป็นทางการในปี 1964 ภาพยนตร์ก็สามารถกวาดรายได้รวมไปกว่า 103 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 13 สาขา และคว้ามาได้ทั้งหมด 5 สาขา หนึ่งในนั้นคือสาขาสเปเชียลเอฟเฟกต์ยอดเยี่ยม 

 

Animatronics

 

3. ฉลามขาว Bruce, หุ่น T-800, ไดโนเสาร์ T-Rex ฯลฯ เหล่าหุ่น Animatronics สุดคลาสสิกแห่งโลกภาพยนตร์  

Animatronics กลายเป็นอีกหนึ่งเทคนิคงานสร้างที่ภาพยนตร์ฮอลลีวูดหลายเรื่องหยิบมาใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อรังสรรค์สิ่งมีชีวิตเหนือจินตนาการให้ออกมาโลดแล่นบนจอภาพยนตร์ จนกลายเป็นอีกหนึ่งตัวละครหลักของเรื่องที่โดดเด่นไม่แพ้บรรดานักแสดงชื่อดัง และยังเป็นตัวละครสุดคลาสสิกแห่งโลกภาพยนตร์ที่ยังคงเป็นที่จดจำของผู้ชมมาจนถึงปัจจุบัน 

 

หนึ่งในนั้นคือ Jaws (1975) ภาพยนตร์สุดระทึกจากฝีมือการกำกับของ Steven Spielberg กับเจ้าฉลามขาวสุดโหดที่มีชื่อเล่นว่า Bruce หรือหุ่น Animatronics ฉลามขาวที่มีขนาด 25 ฟุต โดยชื่อของ Bruce มีที่มาจาก Bruce Raynor ทนายความส่วนตัวของ Steven Spielberg และเป็นผลงานการออกแบบของ Joe Alves พร้อมได้ Bob Mattey มารับหน้าที่ดูแลการสร้างหุ่นฉลามขาวพร้อมกับสร้างกลไลควบคุมเพื่อใช้ในการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ได้เสมือนจริง

 

แม้ว่าในระหว่างการถ่ายทำ Steven Spielberg และทีมสร้างจะต้องเผชิญกับปัญหามากมายจากการใช้งานเจ้าฉลามขาว Bruce ทั้งการที่น้ำทะเลเริ่มรั่วเข้าไปในตัวกลไกของหุ่นจนส่งผลให้อุปกรณ์ไฮโดรลิกต่างๆ เกิดความเสียหาย ไม่สามารถใช้งานได้ รวมถึงงบประมาณและระยะเวลาการถ่ายทำที่จำกัด 

 

แต่ในท้ายที่สุด Steven Spielberg ก็หาทางออกของปัญหาด้วยการคิดค้นวิธีการถ่ายทำเพื่อให้เห็นตัวของฉลามขาว Bruce น้อยที่สุด ทั้งการถ่ายช็อต POV (Point of View) หรือมุมแทนสายตาของฉลามขาวที่กำลังแหวกว่ายอยู่ในทะเล การจัดองค์ประกอบภาพที่ทำให้ผู้ชมสัมผัสได้ถึงความน่าสะพรึงกลัวของมัน การค่อยๆ เปิดเผยส่วนต่างๆ ของฉลามขาวให้ผู้ชมได้เห็นอย่างเป็นลำดับ รวมถึงดนตรีประกอบจากปลายปากกาของ John Williams ที่เข้ามากำกับอารมณ์ของผู้ชม และด้วยองค์ประกอบทั้งหมดนี้จึงส่งให้ Jaws และพระเอกของเรื่องอย่างเจ้าฉลามขาว Bruce กลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ระทึกขวัญสุดคลาสสิกแห่งโลกภาพยนตร์ที่ผู้ชมไม่มีวันลืมมาจนถึงปัจจุบัน 

 

นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์คลาสสิกอีกหลายเรื่องที่ใช้เทคนิค Animatronics เพื่อสร้างตัวละครในจินตนาการให้มีชีวิตและกลายเป็นตัวละครที่ผู้ชมจดจำมาจนถึงปัจจุบัน ทั้ง E.T. the Extra-Terrestrial (1982) กับตัวละครเอเลี่ยนเพื่อนรักอย่าง E.T. ที่ออกแบบโดย Carlo Rambaldi, หุ่น T-800 จากภาพยนตร์แอ็กชันไซไฟอย่าง The Terminator (1984) ของผู้กำกับ James Cameron ที่ผสมผสานการถ่ายทำแบบ Stop Motion และการใช้หุ่น Animatronics เข้าด้วยกัน, Jurassic Park (1993) กับการสร้างหุ่นไดโนเสาร์ T-Rex ขนาดเท่าตัวจริง เพื่อมาประยุกต์ใช้ร่วมกับงานวิชวลเอฟเฟกต์สุดล้ำที่ปลุกให้เหล่าไดโนเสาร์ล้านปีกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ฯลฯ  

 

Animatronics

 

4. Animatronics มนตร์เสน่ห์ที่ยังไม่เลือนหาย แม้ในโมงยามที่งานวิชวลเอฟเฟกต์ก้าวหน้า 

แม้ว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีวิชวลเอฟเฟกต์จะพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากกว่าเทคทิค Animatronics หรืองานสเปเชียลเอฟเฟกต์อื่นๆ ก็ตาม แต่เทคนิค Animatronics ก็ยังคงเป็นหนึ่งในเทคนิคงานสร้างที่มีมนตร์เสน่ห์ที่งานวิชวลเอฟเฟกต์ไม่สามารถมอบให้ได้เช่นกัน

 

หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือแฟรนไชส์ Star Wars ทั้งภาพยนตร์ไตรภาคล่าสุดอย่าง The Force Awakens (2015), The Last Jedi (2017), The Rise of the Skywalker (2019) รวมถึงภาพยนตร์ภาคแยกและซีรีส์ชุดใหม่ ที่ยังคงมีการนำเทคนิค Animatronics รวมถึงการทำคอสตูมและงานเมกอัพเอฟเฟกต์มาใช้ในการสร้างสรรค์สิ่งมีชีวิตต่างดาวและดรอยด์ภายในเรื่อง  

 

ยกตัวอย่างเช่น Baby Yoda หรือ Grogu หนึ่งในตัวละครสำคัญจากซีรีส์ The Mandalorian (2019) ผลงานจากสองผู้สร้าง Jon Favreau และ Dave Filoni ที่ตัดสินใจสร้างหุ่น Grogu ขึ้นมาเพื่อใช้ในการถ่ายทำแทนการสร้างด้วยงานวิชวลเอฟเฟกต์ โดยได้ Christian Alzmann มารับหน้าที่ออกแบบคอนเซปต์อาร์ต และได้ทีมงานจาก Legacy Effects สตูดิโอสเปเชียลเอฟเฟกต์มารับหน้าที่สร้างหุ่น Grogu ซึ่งใช้เวลาในการสร้างนานกว่า 3 เดือน และต้องใช้ทีมงานถึง 4 คนในการควบคุมการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของ Grogu ไล่เรียงตั้งแต่ดวงตา ศีรษะ หู ปาก แขน มือ และขา เพื่อสื่อท่าทางและอารมณ์ของตัวละครเสมือนว่ามันมีชีวิตอยู่จริงๆ

 

รวมถึงดรอยด์ IG-11 ที่มีการสร้างส่วนร่างกายขึ้นมาทั้งหมด และใส่กลไกการเคลื่อนไหวไว้บริเวณส่วนหัว และใช้ทีมงานในการขยับส่วนแขนและการเคลื่อนไหวส่วนอื่นๆ ก่อนที่จะใช้งานวิชวลเอฟเฟกต์เข้ามาเสริมให้ตัวละครสมจริงมากขึ้น

 

“พระเจ้า ทำงานกับหุ่นตัวนั้นเหมือนทำงานกับทารก มันตลกดี เพราะทุกคนแม้แต่ช่างแต่งหน้า-ทำผมก็จะเดินเข้าไปคุยกับมัน ‘ดูเจ้าหนูวันนี้สิ วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง’ และในหัวของคุณก็คิดว่า ‘ใช่ แต่มันไม่มีชีวิตจริงๆ แต่ฉันก็คุยกับมันเหมือนกัน’ มันสมจริงเกินไป ถ้าเข้าฉากเดียวกับเจ้าหนูนี่ คุณจะโดนแย่งซีน Jon Favreau มาหาฉันและบอกว่า ‘คุณทำได้ดีมากๆ แต่เจ้าทารกชนะคุณขาดลอยเลย’ ฉันไม่มีทางชนะเจ้าหนูนี่ ดูมันสิ คุณไม่จำเป็นต้องการเรื่องราว แค่ตั้งกล้องเจ้าทารก มันก็ชนะใจคุณแล้ว” Gina Carano นักแสดงผู้รับบทเป็น Cara Dune ได้เล่าถึงประสบการณ์ในการแสดงร่วมกับหุ่น Grogu ผ่านซีรีส์สารคดี Disney Gallery: The Mandalorian (2020)

 

นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าแม้เทคโนโลยีวิชวลเอฟเฟกต์ที่ก้าวหน้าในปัจจุบันจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการสร้างตัวละครและโลกเหนือจินตนาการ แต่เทคนิค Animatronics ยังเป็นหนึ่งในเทคนิคงานสร้างที่มีมนตร์เสน่ห์เหนือกาลเวลาที่เข้ามาเติมเต็มโลกแห่งจินตนาการให้สมจริงยิ่งขึ้น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising