×

อดีต กสม. ‘อังคณา’ ถูกฟ้องหมิ่นประมาท หลังทวีตให้กำลังใจผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ และเรียกร้องให้ยุติการฟ้องปิดปากจากเอกชน

โดย THE STANDARD TEAM
17.08.2021
  • LOADING...
อังคณา นีละไพจิตร

วานนี้ (16 สิงหาคม) เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 604 ศาลอาญากรุงเทพใต้ อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และเจ้าของรางวัลแมกไซไซ พร้อมทีมทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เดินทางไปรับฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา (ชั้นไต่สวนมูลฟ้อง) คดีหมายเลขดำที่ อ.2492/2562 ระหว่างบริษัทเอกชนเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง อังคณา นีละไพจิตร จำเลย ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามมาตรา 326 และ 328 ประมวลกฎหมายอาญา ในการโพสต์ทวิตเตอร์สนับสนุนให้กำลังใจ สุธารี วรรณศิริ และ งามศุกร์ รัตนเสถียร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งถูกบริษัทเอกชนรายดังกล่าวฟ้องมาก่อนหน้านี้ ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิแรงงานของบริษัทเอกชนรายนี้

 

โดยวานนี้ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีดังกล่าวนี้ และมีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยโดยไม่ต้องมีหลักประกัน พร้อมทำสัญญาประกันให้จำเลยมาศาลตามกำหนดนัด และศาลได้นัดพร้อมเพื่อไกล่เกลี่ย และเตรียมประเด็นในการนำสืบและจะกำหนดนัดวันสืบพยานทั้งฝั่งโจทก์และจำเลย ในวันที่ 26 ตุลาคม 2564 เวลา 09.00 น.

 

อังคณากล่าวภายหลังรับฟังคำสั่งศาลเสร็จสิ้นแล้วว่า ส่วนตัวเคารพคำพิพากษาของศาลที่มีออกมาในวันนี้ แต่ก็ไม่อาจเห็นด้วยได้เนื่องจาก เพราะการที่เราเขียนข้อความที่ทวิตเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตและโดยไม่ได้มีเจตนาที่จะหมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย หรืออคติต่อผู้ใด ใครเลย

 

ทั้งนี้ได้ทวีตแค่ข้อความว่า “ยืนเคียงข้างผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และยุติการฟ้องปิดปาก” แค่นั้นเอง ไม่ได้มีเจตนาที่จะไปให้ร้ายหรืออาฆาตมาดร้ายหรือใส่ร้ายใคร ซึ่งถือเป็นการทำหน้าที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยบริสุทธิ์ใจ ในส่วนการดำเนินคดีไม่มีความกังวลใดๆ เพราะมั่นใจว่าไม่ได้กระทำผิด คดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อปลายปี 2562 และได้มีการไต่สวนในปี 2563 จนมีคำพิพากษาในวันนี้ ระหว่างนี้โจทก์ได้ฟ้องร้องตนและผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอีก 2 คน อีกหนึ่งคดีในข้อหาเดียวกัน และเนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้การไต่สวนต้องเลื่อนออกไป โดยศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไปในเดือนธันวาคมปีนี้

 

และคงยืนยันต้องสู้คดีต่อไป ซึ่งคดีนี้ตนสู้มาตั้งแต่ปลายปี 2562 หลังจากนั้นตนก็ได้รับหมายอีกคดีในปี 2563 กลายเป็น 2 คดีที่เป็นคนฟ้องคนเดียวกัน และพอมีสถานการณ์โควิด ศาลก็นัดไต่สวนจากฝ่ายโจทก์ที่เป็นผู้กล่าวหาเราฝ่ายเดียว ซึ่งทั้ง 2 คดีตนใช้ระยะเวลาของการต่อสู้ที่ยาวนานมาก สำหรับคดีวันนี้ที่ศาลรับฟ้อง ศาลได้นัดพร้อมเพื่อไกล่เกลี่ย และกำหนดประเด็น และจะโดยกำหนดวันนัดการสืบพยาน ในวันที่ 26 ตุลาคม 2564 ซึ่งจะต้องเริ่มกระบวนการใหม่ทั้งหมด และโดยศาลขอให้คู่ความไกล่เกลี่ยก่อน เรื่องนี้คงอยู่ที่โจทก์ว่าจะยอมถอนฟ้องหรือไม่ เพราะในส่วนตนเองยืนยันไม่ได้กระทำผิดตามที่โจทก์กล่าวอ้าง

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในขณะนั้น เราก็ต้องปกป้องเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว ก็คงจะต้องสู้คดีต่อไป ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะยาวนานแค่ไหน เพราะขนาดไต่สวนยังยาวนานถึง 2 ปี

 

อังคณากล่าวเพิ่มเติมอีกว่า มีคดีที่โจทก์คนเดียวกันได้ยื่นฟ้องแรงงานข้ามชาติ นักสิทธิมนุษยชน และสื่อมวลชนทั้งหมด รวมทั้งจำนวนคดีเกือบจะ 30 แล้ว ประมาณ 20 กว่าราย รวม 36 คดี ซึ่งส่วนมากศาลจะยกฟ้อง แต่โจทก์ใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อ การฟ้องคดีในลักษณะนี้จึงเป็นภาระแก่ผู้ถูกฟ้องคดี ทั้งต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตอย่างมาก

 

“บางคนศาลชั้นต้นไม่รับฟ้อง โจทก์ก็ดำเนินการอุธรณ์ ศาลอุธรณ์ไม่รับ โจทก์ก็ฎีกาอีก ทุกเรื่องจะสู้ถึงศาลฎีกาหมด เป็นการสร้างภาระให้กับคนที่ถูกฟ้องเป็นอย่างมาก โดยคดีดังกล่าวนี้เริ่มต้นมาจากแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาจำนวน 14 คน มาร้องเรียนที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าเขาถูกละเมิดสิทธิ ซึ่งจุดเริ่มต้นเริ่มมาจากตรงนั้น โดยกรณีดังกล่าวนี้ศาลแรงงานได้มีคำพิพากษาไปแล้ว เรื่องก็ควรจะจบ แต่โจทก์ก็ยังฟ้องหมิ่นประมาทกับดิฉันอีก” อังคณากล่าวในที่สุด

 

อังคณากล่าวเพิ่มเติมว่า ที่สำคัญที่ตนรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมากต่อกลไกรัฐบาล เราก็รู้ว่าเนื่องจากที่ผ่านมาในช่วงของปี 2561-2562 รัฐบาลได้ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ และมีแผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน 2562-2565 โดยให้ความสำคัญกับเรื่องของการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และยุติการคดีฟ้องเพื่อปิดปากหรือฟ้องกลั่นแกล้งนั้นถือเป็นหนึ่งในสี่เรื่องสำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญและจะดำเนินการ แต่ปรากฏว่าแผนปฏิบัติการชาติตั้งแต่ปี 2561-2565 จนถึงปัจจุบันนี้เรายังไม่มีมาตรการอะไรออกมาปกป้องนักสิทธิมนุษยชนจากการฟ้องคดีเพื่อปิดปากเลย รัฐบาลโดยกระทรวงยุติธรรมกลับล้มเหลวในการปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

 

อังคณากล่าวว่า เราเห็นว่ากลไกของรัฐในการที่จะคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมันล้มเหลว ตอนนี้คดีอยู่ระหว่างนัดสืบพยาน โดยศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ประกัน อยู่ระหว่างประกันตัว และศาลก็กรุณาที่จะปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องมีหลักประกัน แต่ในฐานะจำเลยเราต้องไปศาลทุกนัด ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นการสร้างภาระให้ตนอย่างมาก และเป็นการสร้างภาระเกินจำเป็น โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโควิดที่ตนยังต้องเดินทางไปศาลทุกนัด นอกจากนั้นการถูกฟ้องคดียังส่งผลกระทบทางด้านจิตใจและคุณภาพชีวิต เพราะการที่เราเป็นผู้หญิงและเมื่อถูกฟ้องคดี เราเองก็ยังต้องมีภาระหน้าที่อีกมากมาย เราก็ยังจะต้องดูแลครอบครัว การฟ้องร้องในลักษณะนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น จึงรู้สึกผิดหวังต่อกระบวนการยุติธรรมที่ไม่อาจปกป้องผู้บริสุทธิ์ เสียใจมาก ที่ผ่านมารัฐบาลเองบอกว่าได้มีการปรับปรุงกฎหมายไม่ให้มีการฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งหรือฟ้องปิดปาก แต่ที่จริงแล้วกฎหมายที่ปรับแก้ไขมันใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย หากแต่ที่เกิดขึ้นจริงไม่มีผลในทางปฏิบัติ และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังต้องเผชิญกับการคุกคามทางกฎหมายต่อไป

 

“อยากจะบอกว่าคดีนี้รัฐบาลเองโดยเฉพาะกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ควรนำคดีมาศึกษาแล้วก็ควรที่จะให้การสนับสนุนต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกคุกคามด้วยกฎหมายแบบนี้ และควรจะหาวิธีการใดๆ ก็ตามเพื่อที่จะยุติเรื่องนี้เสียที ไม่ใช่ปล่อยให้มีการฟ้องไปเรื่อยๆ ในขณะที่รัฐเองพยายามบอกกับต่างประเทศว่ารัฐมีมาตรการในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ แต่จริงๆ แล้วคือไม่ กระทรวงยุติธรรมไม่เคยส่งเจ้าหน้าที่มาสังเกตการณ์คดี เวลามีคำพิพากษากระทรวงยุติธรรมก็ไม่เคยมาให้คำแนะนำหรือมาปกป้อง ดังนั้นจึงป่วยการที่เราจะไปเขียนว่าเรามีแผนปฏิบัติการชาติที่ดี เพราะจริงๆ แล้วมันไม่ได้ส่งผลในการคุ้มครองใครเลย” 

 

อังคณาระบุว่า ส่วนตัวต้องขอขอบคุณหลายๆ ฝ่าย ทั้งทนายความที่ให้การช่วยเหลือ มิตรสหายที่คอยเป็นกำลังใจ รวมถึงศาลเองที่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องประกัน แต่เราก็อยากให้มีกลไกที่ดีเพื่อที่จะคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคนโดยเฉพาะชาวบ้าน อยากฝากถึงรัฐบาลว่าควรปฏิบัติตามคำมั่นที่ได้ให้ไว้กับประชาชนและองค์การระหว่างประเทศในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เป็นเพียงวาทกรรมที่เขียนไว้ในกระดาษแต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติ” อังคณากล่าวทิ้งท้าย

 

ด้าน ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในทนายความเจ้าของคดีนี้กล่าวว่า คดีดังกล่าวนี้ ศาลไม่ได้วินิจฉัยในส่วนว่ากรณีการกระทำนั้นเป็นความผิดหรือไม่ ศาลดูเพียงแค่ว่ามีการกระทำนั้นตามที่โจทก์กล่าวอ้างจริงหรือไม่ และศาลยังไม่ได้วินิจฉัยข้อความหรือข้อมูลที่เราซึ่งเป็นฝ่ายจำเลยส่งโต้แย้งไปในระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง และส่วนคำร้องตามมาตรา 161/1 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่จำเลยได้ยื่นไว้ว่าเป็นการฟ้องที่ไม่สุจริต ศาลมีความเห็นว่าชั้นนี้ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าการฟ้องคดีของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เท่ากับว่าการดำเนินคดีที่ไต่สวนกัน 4 นัด 2 ปี ที่เป็นการใช้เวลาไต่สวนที่ยาวนานมากนั้น ทำให้เรารู้สึกว่าศาลรับฟังเฉพาะพยานหลักฐานโจทก์เท่านั้น ไม่ได้นำข้อโต้แย้งของจำเลยไปวินิจฉัยประกอบเลย ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา เรื่องหมิ่นประมาท มีข้อยกเว้นไว้ว่า ถ้าหากเป็นการกระทำในลักษณะที่เป็นการแสดงความเห็นหรือข้อความโดยสุจริตเพื่อความเป็นธรรม หรือในฐานะเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือติชมด้วยความเป็นธรรม หรือแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม ย่อมไม่เป็นความผิด และหากจำเลยพิสูจน์ได้ว่าข้อความที่กล่าวนั้นเป็นความจริงก็ไม่ต้องรับโทษ

 

ส.รัตมณี ซึ่งเป็นทนายความเจ้าของคดีกล่าวอีกว่า เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะกลายเป็นภาระของจำเลยไปทั้งๆ ที่คดีลักษณะแบบนี้โดยเฉพาะคดีเรื่องหมิ่นประมาทมันมีความชัดเจนของมันอยู่ว่า ถ้าสืบไปแล้วและเห็นว่าไม่มีความผิดหรือไม่ต้องได้รับโทษ อย่างไรก็ต้องยกฟ้องหรือยกเว้นโทษไป การที่คดีแบบนี้เข้าไปสู่ในศาลและต้องไปต่อสู้คดีกันอีกในชั้นพิจารณาคดี ก็จะกลายเป็นภาระของจำเลยที่ต้องเข้าไปต่อสู้คดี ซึ่งตนพูดถึงในมุมของจำเลยทั่วไปด้วย และถ้ายิ่งมาพูดถึงในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือในฐานะของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีหน้าที่ในการที่จะต้องเข้ามาดูแลหรือส่งเสริมสนับสนุนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอื่นแล้วก็ยิ่งเป็นปัญหาใหญ่ เพราะว่าประเด็นเรื่องพวกนี้ถ้ามันเป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะที่ได้รับยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษได้อยู่แล้ว มันไม่ควรที่จะถูกนำไปสู่การพิจารณาคดีที่ต้องใช้เวลาอีกพอสมควร และตนคิดว่านี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ยืนยันว่าข้อหาหมิ่นประมาทไม่ควรเป็นโทษทางอาญา เพราะมันเป็นภาระ โทษการฟ้องคดีทางอาญานี้มันมีภาระหลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องของการประกันตัว เรื่องในชั้นไต่สวนมูลฟ้องหากเป็นเอกชนฟ้อง หรือแม้กระทั้งชั้นตำรวจ ถ้าไปแจ้งความตำรวจมันก็มีภาระเรื่องของการที่จะต้องไปพิสูจน์ในชั้นตำรวจ ในชั้นสอบสวนหรืออัยการก็ใช้เวลาพอสมควรเหมือนกัน แล้วพอสุดท้ายมาพิสูจน์ในชั้นพิจารณาคดีอีกต่างหาก

 

ตอนนี้สิ่งที่เราเป็นกังวลคือความไม่เข้าใจของสังคมหรือของประชาชน ที่พอมีการทักท้วง มีการร้องเรียน มีการพูดถึงหรือขอให้มีการตรวจสอบกรณีต่างๆ แล้วเข้าใจเป็นว่าอันนี้เป็นเรื่องหมิ่นประมาท ซึ่งตรงนี้ตนกังวลมาก เพราะจะทำให้สังคมไม่กล้าที่จะตรวจสอบความไม่ชอบหรือความไม่ถูกต้องของเรื่องนั้นๆ และที่สำคัญไปกว่านั้น กรณีของคุณอังคณาก็คือเรื่องของการที่จะได้มีการพิสูจน์และการพิจารณากันด้วยว่า กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ที่จะต้องทำอยู่แค่ไหน เพราะกรณีนี้เขาอ้างเรื่องจริยธรรมหรือจรรยาบรรณของกรรมการสิทธิด้วย ก็ต้องไปดูกัน ไปพิสูจน์กันว่าการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมันควรก้าวไปถึงไหน เพียงใด กสม. คงไม่สามารถเป็นกลางในลักษณะที่ยืนอยู่ตรงกลางท่ามกลางปัญหา แล้วไม่หือไม่อือได้เมื่อมีเหตุการณ์การละเมิดสิทธิเกิดขึ้น

 

ปรานม สมวงศ์ จาก Protection International กล่าวว่า ในกรณีที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจำนวนมากโดยเฉพาะผู้หญิงยังต้องเผชิญกับการถูกฟ้องคดี และต้องแบกรับภาระอันหนักหน่วงในการพิสูจน์เสรีภาพการแสดงความเห็นอันสุจริตของตนในการทำเพื่อประโยชน์ทางสาธารณะ เป็นผลมาจากการที่รัฐล้มเหลวที่จะทำงานให้ภาคธุรกิจเอกชนเข้าใจและยอมรับถึงการทำบทบาทอันชอบธรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตามแผนปฏิบัติการธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่รัฐเองอ้างมาโดยตลอด แถมรัฐไม่เคยยืนเคียงข้างและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ 

 

การมาสังเกตการณ์คดีในศาลเพื่อศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหา หรือแม้กระทั่งทำงานให้ภาคธุรกิจยุติการฟ้องร้องเป็นสิ่งสำคัญ ข้อเรียกร้องเหล่านี้ได้ถูกสื่อสารไปหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่เคยได้รับการปฏิบัติที่จริงจังจากรัฐ หน่วยงานสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ และผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติด้านเสรีภาพในการแสดงออกได้เคยให้ข้อเสนอแนะไปแล้วว่า การใช้กฎหมายความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาททางอาญาฯ ของไทย ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของประเทศไทยตามข้อ 14 และ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ด้วยเหตุผลที่ว่ามาตราเหล่านี้คลุมเครือและตีความได้กว้างเกินไป จนประชาชนไม่ทราบล่วงหน้าได้เลยว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย พอเป็นความผิดทางอาญาอนุญาตให้ทั้งจำคุกและปรับ ความเสี่ยงต่อการติดคุกส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวต่อเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน 

 

ยิ่งไปกว่านั้น การใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากลและไม่ได้สัดส่วนดังกล่าว เป็นการกดดันและสามารถนำมากลั่นแกล้งเพื่อยุติการทำงานอันชอบธรรมของนักข่าวและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เพราะผู้สื่อข่าวและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวสารและสนับสนุนการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ข้อเสนอแนะคือต้องไม่ตีความหรือบังคับใช้กฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเพื่อห้ามหรือลงโทษการใช้สิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้ปฏิบัติและทำงานเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของสาธารณะและการทำงานรณรงค์ เพื่อให้มีการคุ้มครองสิทธิซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X