นักวิจัยยานอวกาศ นักชีววิทยา ผู้อยู่เบื้องหลังคอมมูนิตี้ของศิลปิน นักออกแบบ และนักวิทยาศาสตร์ ศิลปินผู้มีพรสวรรค์รอบด้าน และ Senior TED Fellows
ไม่ว่าสื่อต่างประเทศ วิกิพีเดีย หรือแม้แต่เว็บไซต์ส่วนตัวจะระบุคำจำกัดความของ แอนเจโล เวอร์มิวเลน (Angelo Vermeulen) ศิลปินชาวเบลเยียมวัย 46 ปีไว้อย่างไร ตลอดการสนทนา 1 ชั่วโมงเศษ เขามักจะเรียกตัวเองว่า ‘นักสำรวจ’
หลังจากเรียนจบปริญญาเอกด้านชีววิทยาและศิลปะสาขาการถ่ายภาพ แอนเจโลเริ่มตั้งคำถามกับอนาคตของตัวเอง แม้ว่าเขามุ่งมั่นที่จะเป็นนักชีววิทยามาตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อพบว่าความคิดของตัวเองถูกตีกรอบจำกัด เขาจึงตัดสินใจหันมาเป็นศิลปินเต็มตัว โดยอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาต่อยอด
เช่นเดียวกัน งานศิลปะส่วนใหญ่ของเขาเกิดจากการผสมผสานระหว่างศาสตร์ด้านชีววิทยา วิศวกรรม การออกแบบ และศิลปะ โปรเจกต์แรกๆ ที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินคือ Biomodd (2007-ปัจจุบัน) งานอินสตอลเลชันอาร์ตที่นำชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้ใช้งานแล้วมาประกอบขึ้นใหม่ ภายในเป็นแหล่งอาศัยของพันธุ์พืชที่อาศัยความร้อนในการเจริญเติบโต และช่วยคลายอุณหภูมิของเครื่องคอมพิวเตอร์ในเวลาเดียวกัน
แอนเจโลได้เดินทางมาบรรยายในหัวข้อ ‘Post-Planetary Futures’ ที่งานชุมนุมทางความคิดประจำปี Creativities Unfold 2018 ซึ่งทาง TCDC ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ที่น่าสนใจคือแม้ว่าเขาจะเล่าถึงความสนใจในศาสตร์หลากสาขาที่ผลิดอกออกผลเป็นงานศิลปะและงานวิจัยสุดล้ำเกี่ยวกับการเดินทางสู่ห้วงอวกาศ ซึ่งจะกลายเป็นถิ่นฐานของมนุษย์ในอนาคต แต่เขากลับให้ความสำคัญกับสิ่งสำคัญใกล้ตัวกว่านั้น คือการมีส่วนร่วม (Co-creation) และการเรียนรู้จากผู้คนต่างถิ่น ต่างวัฒนธรรม
ศิลปะคือสิ่งจำเป็นต่อการสร้างความสมดุลต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ เมื่อเกิดความสมดุล คุณจะเริ่มตระหนักถึงความยั่งยืนได้อย่างลึกซึ้งขึ้น
HI-SEAS Mission I โครงการจำลองธรณีวิทยาของดาวอังคารในฮาวาย
สนับสนุนโดยองค์การนาซา (ปี 2013)
HI-SEAS Mission I, NASA Mars simulation in Hawaii (2013). Photos: Angelo Vermeulen
นั่นคือส่วนหนึ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการเข้าร่วม HI-SEAS (2013) โครงการจำลองการอยู่อาศัยบนดาวอังคารซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากองค์การนาซา ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัย เขาและทีมงานทั้ง 6 คนต้องทำงานวิจัยและใช้ชีวิตอยู่ในโดมทรงกลมเล็กๆ แถบภูเขาไฟเมานาโลอา (Mauna Loa) หมู่เกาะฮาวายเป็นเวลา 4 เดือน เพื่อศึกษาเกี่ยวกับระบบอาหารสำหรับนักบินอวกาศและผลกระทบจากการอยู่อาศัยที่ห่างไกลซึ่งแทบจะตัดขาดจากโลกภายนอกสิ้นเชิง
หลังการบรรยาย เราได้พูดคุยกับแอนเจโล ก่อนที่เขาจะบินกลับไปยังเนเธอร์แลนด์เพื่อจัดแสดงงานนิทรรศการ สานต่องานวิจัยปริญญาเอกใบที่ 2 ด้านการเดินทางระหว่างดวงดาว (Interstellar) และเดินสายบรรยายตามเวทีต่างๆ อีกครั้ง
HI-SEAS Mission I (2013). Photo: Simon Engler
คุณเคยเรียนปริญญาเอกด้านชีววิทยามาก่อน อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณตัดสินใจเข้าสู่วงการศิลปะ
ผมสนใจศิลปะกับวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด ผมเลยไม่คิดว่ามันเป็นจุดเปลี่ยนเสียทีเดียว เพราะมันเป็นสิ่งที่ผมสนใจอยู่แล้ว ผมรู้ว่าตัวเองอยากเป็นนักชีววิทยาและเริ่มศึกษาปริญญาโท-ปริญญาเอกด้านนี้ แต่ลึกๆ แล้วผมก็สนใจศิลปะเช่นกัน หลังเรียนจบผมรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างขาดหายไปจากอาชีพนักวิทยาศาสตร์ ถึงการทดลองและเก็บข้อมูลวิจัยภาคสนามจะสนุก น่าสนใจดี แต่ประเด็นมันเล็กเกินไปจนผมไม่มีแรงกระตุ้นที่จะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ไปกับการโฟกัสประเด็นเล็กๆ ประเด็นเดียว ผมรู้สึกว่ามันไม่อิมแพกต์มากพอ และเริ่มตั้งคำถามกับอนาคตของตัวเองในสายอาชีพนี้
แต่ศิลปะกลับช่วยเปิดโลกให้ผมได้สำรวจเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง เช่น สภาวะความเป็นมนุษย์ (Human Condition) และประสบการณ์ (Human Experience) ไปจนถึงการตั้งคำถามในเชิงปรัชญาว่าความเป็นมนุษย์คืออะไร ซึ่งมันมีความหมายมากสำหรับผม
ดังนั้น ผมเลยคิดว่าแทนที่จะมองโลกผ่านกล้องจุลทรรศน์ หรือโฟกัสกับประเด็นเล็กอย่างเดียว บางทีผมน่าจะลองทำงานศิลปะ ก็เลยตัดสินใจมาทำงานศิลปะเต็มตัว และคิดว่าจะไม่มีทางกลับไปหาวิทยาศาสตร์อีกแล้ว แต่สุดท้ายแล้วงานศิลปะของผมก็ค่อยๆ เชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อยๆ
นั่นเป็นที่มาของการทำโปรเจกต์ Biomodd อินสตอลเลชันอาร์ตที่ต้องใช้เทคโนโลยี ความรู้ด้านชีววิทยาและวิทยาศาสตร์ จากนั้นผมได้ร่วมงานกับองค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) ซึ่งทำให้ผมมองวิทยาศาสตร์ต่างไปจากเดิม ผมจึงตัดสินใจกลับมาทำงานวิจัยอีกครั้งและทำงานเป็นศิลปินควบคู่ไปด้วยตลอดหลายปีมานี้
คุณคิดว่าศิลปะเป็นเครื่องมือในการแสดงทัศนะได้ดีกว่างานวิจัยใช่ไหม
ผมคงไม่มองว่าศิลปะเป็นเครื่องมือในการทำงาน ดีไซน์คงใช่ แต่สำหรับผม ศิลปะไม่ใช่เครื่องมือ แต่เป็นปรัชญา และเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงอยู่ของมนุษย์ ผมคิดว่าประโยชน์ของศิลปะ คือข้อแรกมันเปิดโลกของคุณ ทำให้คุณเป็นคนละเอียดอ่อนกับผู้คนและสิ่งต่างๆ มากขึ้น ผมจึงไม่ได้มองว่าศิลปะเป็นเครื่องมือ ศิลปะคือสิ่งจำเป็นต่อการสร้างความสมดุลต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ เมื่อเกิดความสมดุล คุณจะเริ่มตระหนักถึงความยั่งยืนได้อย่างลึกซึ้งขึ้น
ผมเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วมนุษย์เราจะกลายเป็นเผ่าพันธุ์ Post-Planetary ที่ไม่เพียงแต่อาศัยอยู่บนดาวเคราะห์เท่านั้น แต่จะไปใช้ชีวิตอยู่บนสถานีอวกาศ ยานอวกาศ กระทั่งตั้งถิ่นฐานอาณานิคมบนดาวดวงอื่น
HI-SEAS ตั้งอยู่ทางลาดตอนเหนือของภูเขาไฟเมานาโลอา ฮาวาย
ซึ่งมีสภาพพื้นผิวดินใกล้เคียงกับดาวอังคาร
Photos: Yajaira Sierra Sastre, Angelo Vermeulen, Oleg Abramov
ในโปรเจกต์ HI-SEAS คุณและทีมงานต้องทำงานวิจัยในโดมจำลองสภาพดาวอังคารนาน 4 เดือน พวกคุณมีวิธีรับมือกับความเครียดและความโดดเดี่ยวอย่างไรบ้าง
ผมไม่ได้มองว่าประสบการณ์ที่ผ่านมามีแต่ความเครียดนะ มันมีช่วงเวลาที่เครียดบ้าง แต่ละคนก็เผชิญกับภาวะความเครียดกันคนละแบบ แต่ก็ถือเป็นบทเรียนที่ดี สิ่งสำคัญคือ 1. การมีอำนาจหรืออิสระในการตัดสินใจด้วยตัวเอง (Autonomy) แม้ว่าการทำงานจะมีกฎเกณฑ์ที่กำหนดให้คุณต้องทำบางอย่าง แต่คุณไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามทุกนาที แล้วสภาพจิตใจของคุณจะผ่านไปด้วยดี อันที่จริงก็มีข้อแตกต่างระหว่างการปฏิบัติภารกิจในอวกาศจริงๆ กับภารกิจจำลอง เพราะนักบินอวกาศจะได้อยู่ในสภาพแวดล้อมสวยงามตระการตาเป็นรางวัลตอบแทน แม้ว่าคุณจะต้องปฏิบัติภารกิจตามกฎอย่างเคร่งครัด แต่การปฏิบัติภารกิจจำลองไม่ได้ตื่นตาขนาดนั้น
2. การสื่อสาร (Communication) ถ้าหากเริ่มมีคนตีตัวออกห่างไปอยู่คนเดียว หมกตัวอยู่แต่ในห้อง ไม่ออกมาข้างนอก คุณต้องเริ่มสื่อสารกันแล้ว
3. กระบวนการมีส่วนร่วม (Co-Creation) ภาวะผู้นำสำคัญต่อการปฏิบัติภารกิจก็จริง แต่ผมอยากให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมและทำงานตามหลักคิดการออกแบบ bottom-up design มากกว่า
ทีมงาน HI-SEAS Mission I ปฏิบัติภารกิจและอาศัยในโดมจำลองเป็นเวลา 4 เดือน
Photo: Yajaira Sierra Sastre, Sian Proctor
4. ความหลากหลาย (Diversity) การอยู่ร่วมกับผู้คนต่างวัฒนธรรมจะช่วยให้คุณข้ามผ่านความโดดเดี่ยวไปได้ คุณจะเริ่มเข้าใจสิ่งต่างๆ ดีขึ้น และค้นพบวิธีแก้ปัญหาที่คาดไม่ถึง แต่ถ้ามีความหลากหลายเกินไป คุณต้องมีตัวช่วยหรือมีทักษะการจัดการ
เราไม่ได้พัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศเพียงเพื่อจะอพยพย้ายไปจากโลก แต่เพื่อทำความเข้าใจว่าเราเป็นใคร การสำรวจอวกาศกับการพัฒนาโลกต้องควบคู่ไปด้วยกัน
งานอินสตอลเลชันอาร์ต Biomodd โดย SEAD (ปี 2015)
SEAD, Biomodd [PRs], installation art (2015). Photo: Angelo Vermeulen
งานอินสตอลเลชันอาร์ต Biomodd โดย SEAD (ปี 2016)
SEAD, Biomodd [RSL9], installation art (2016). Photo: Angelo Vermeulen
ไอเดียตั้งต้นของโปรเจกต์ DSTART งานวิจัยยานท่องอวกาศระหว่างดวงดาวคืออะไร
ตอนทำโปรเจกต์ HI-SEAS เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ผมสนใจศึกษาเกี่ยวกับดาวอังคารและระบบสุริยะ รวมไปถึงการเดินทางระหว่างดวงดาวหรือ Interstellar หลังจากจบโปรเจกต์ HI-SEAS ผมตั้งใจจะทุ่มเทกับการศึกษาเรื่องนี้เต็มที่ ผมได้แรงบันดาลใจมาจากนิยายวิทยาศาสตร์เยอะมาก และผมไม่อยากรอแล้ว ผมอยากเริ่มทำเลย เรื่องของเรื่องก็คือผมเป็นนักสำรวจ ซึ่งเป็นคำที่ผมนิยามตัวเองมาโดยตลอด ผมศึกษาและเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ในขณะเดียวกันการทำงานร่วมกับชุมชนทั่วโลก ตั้งแต่อเมริกา ยุโรป ไปจนถึงเอเชีย ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาเกี่ยวกับ Interstellar ถ้าผมมีโอกาสได้ไปปฏิบัติภารกิจจริงๆ ผมก็จะทำ แต่ตอนนี้ยังเป็นแค่ทางทฤษฎีเท่านั้น สาเหตุหลักๆ คือผมเป็นนักสำรวจและมันเป็นความต้องการส่วนตัวของผม มันเหมือนกับเวลาที่เห็นงานศิลปะ แล้วรู้สึกอยากทำขึ้นมาบ้าง ผมก็อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการสำรวจจักรวาลด้วย ผมคิดว่ามันเป็นความอยากรู้อยากเห็นที่คอยกระตุ้นและผลักดันให้ผมก้าวไปทางนั้น
ภาพจำลองของยานท่องอวกาศระหว่างดวงดาวที่พัฒนาจากดาวเคราะห์น้อย
DSTART, E|A|S (Evolving Asteroid Starships), computer simulation (2017). Image: Nils Faber
ถ้ามีโอกาส คุณอยากออกไปท่องอวกาศไหม
แน่นอนครับ ผมคิดว่าทุกคนที่ทำงานร่วมกันในโปรเจกต์ HI-SEAS อยากไปท่องอวกาศแน่นอน
เราจะเปลี่ยนความคิดที่ดูเป็นไปไม่ได้หรือไกลเกินจริง ให้เป็นผลงานที่มีความเป็นไปได้ ทำได้จริงได้อย่างไร
ผมได้เรียนรู้ตรรกะและวิธีคิดเชิงวิศวกรรมจากการเรียนมหาวิทยาลัย TU Delft ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ฮาร์ดคอร์สุดๆ ทำให้ผมเริ่มเข้าใจทัศนะการมองโลกของวิศวกรมากขึ้น มันคือความงดงามของการคิดคำนวณที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริง แม้ว่าคุณจะออกแบบคอนเซปชวลดีไซน์ คุณก็จะใช้ทักษะความรู้บางอย่างด้วยลงไปด้วย เช่น ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ในโปรเจกต์การออกแบบจำลองยานอวกาศ เราได้ทดลองคิดคำนวณด้วยกันหลายวิธี เช่น Mining, 3D Printing และทำโมเดลระบบนิเวศ ทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์จริงๆ เมื่อถึงจุดนั้น คุณกำลังสร้างงานออกแบบคอนเซปชวลที่ไม่ใช่แค่จินตนาการอีกต่อไป แต่เป็นงานที่ผ่านการคิดคำนวณอย่างจริงจัง
มนุษย์มีทักษะการปรับตัวเป็นเลิศ และอยู่รอดได้มาโดยตลอด คำถามจึงไม่ใช่ ‘เผ่าพันธุ์มนุษย์จะมีชีวิตรอดหรือไม่’ แต่ควรเป็น ‘จะมีจำนวนผู้รอดชีวิตเท่าไร และภายใต้เงื่อนไขใด’
คุณคิดอย่างไรกับคำทำนายของสตีเฟน ฮอว์คิง ที่ว่ามนุษย์โลกเหลือเวลาอีกไม่กี่ปีสำหรับการอพยพไปอยู่บนดาวดวงอื่น
ผมไม่เห็นด้วยกับคำทำนายพวกนี้เลย ผมไม่ได้สนใจการออกแบบยานอวกาศหรือการปฏิบัติภารกิจบนอวกาศ เพราะคิดว่าโลกของเราใกล้จะถึงจุดจบ แรงขับเคลื่อนของผมคือ การสำรวจ เพื่อขยายขอบเขตความเป็นไปได้ว่ามนุษย์สามารถดำรงชีวิตในอวกาศได้ในอนาคต ผมเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วมนุษย์เราจะกลายเป็นเผ่าพันธุ์ Post-Planetary ที่ไม่เพียงแต่อาศัยอยู่บนดาวเคราะห์เท่านั้น แต่จะไปใช้ชีวิตอยู่บนสถานีอวกาศ ยานอวกาศ กระทั่งตั้งถิ่นฐานอาณานิคมบนดาวดวงอื่น อาจจะในอีกพันปีข้างหน้า แต่การดำรงชีวิตในอวกาศจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติแน่นอน
ความก้าวหน้าทางด้านการสำรวจอวกาศยังหมายถึงโอกาสของการพัฒนาความเป็นอยู่บนโลก สิ่งนี้เกิดขึ้นจริงในกรณีการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ (Climate Change) ทำให้เราสามารถมอนิเตอร์สภาพอากาศและสร้างแบบจำลองภูมิอากาศได้ คุณไม่สามารถแยกเรื่องอวกาศศึกษาออกจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศได้เลย ดังนั้นถ้าคุณอยากจะพัฒนาให้โลกน่าอยู่ขึ้น คุณต้องลงทุนกับการศึกษาอวกาศ
ถ้าพูดในเชิงปรัชญา การศึกษาอวกาศทำให้เราค้นพบความหมายของการดำรงอยู่ในระบบสุริยะอันไพศาล และตระหนักถึงความหมายของการเป็นมนุษย์ รับรู้ว่าโลกเราเปราะบางแค่ไหน ทำไมเราจึงควรช่วยกันดูแลรักษาโลก มันเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับการดูแลโลกโดยสิ้นเชิง กระแสการเคลื่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อม (Green Movement) ในยุค 1960 ก็เกิดขึ้นจากการแข่งขันส่งมนุษย์ไปพิชิตดวงจันทร์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มนุษย์ได้เห็นภาพถ่ายของโลกที่เป็นมวลสารเล็กๆ และบอบบาง ล่องลอยโดดเดี่ยวในห้วงอวกาศ
ผมคิดว่าเราไม่ได้พัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศเพียงเพื่อจะอพยพย้ายไปจากโลก แต่เพื่อทำความเข้าใจว่าเราเป็นใคร สำรวจปัญหาและหนทางแก้ไข สำหรับผมการสำรวจอวกาศกับการพัฒนาโลกต้องควบคู่ไปด้วยกัน ผมไม่เชื่อด้วยซ้ำว่าเราทุกคนจะตายกันหมดบนโลกในอีก 100 ปีข้างหน้า
เพราะอะไร
มันเป็นการตั้งคำถามที่ผิด เป็นคำถามที่มีแค่คำตอบผิดหรือถูก (Binary Question) เราจะมีชีวิตอยู่บนโลกต่อไปใช่หรือไม่ ถ้าคุณตั้งคำถามแบบนี้ เท่ากับว่าคุณปัดความรับผิดชอบออกไป บางคนอาจจะคิดว่าเรามีปัญหาที่ต้องจัดการอีกเพียบ บางคนอาจคิดว่าสายเกินแก้แล้ว ตายดีกว่า ฉะนั้นการตั้งคำถามแบบนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดการกระทำที่มีประโยชน์เลย เป็นคำถามที่มีแค่ ‘ขาว-ดำ’ ไม่ได้นำไปสู่ผลลัพธ์หรือการกระทำแม้แต่น้อย ถ้าหากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์จะพบว่ามนุษย์มีทักษะการปรับตัวเป็นเลิศ และอยู่รอดได้มาโดยตลอด อาจจะมีเพียงไม่กี่กลุ่มที่เหลือรอดมาได้ นั่นคือปัญหา คำถามจึงไม่ใช่ ‘เผ่าพันธุ์มนุษย์จะมีชีวิตรอดหรือไม่’ แต่ควรเป็น ‘จะมีจำนวนผู้รอดชีวิตเท่าไร และภายใต้เงื่อนไขใด’ คำถามเหล่านี้จะนำไปสู่ความรับผิดชอบในทันที
เพราะเราสามารถตัดสินใจได้ว่าเราจะยอมให้มีคนทรมานจำนวนเท่าไร เราจะยินยอมให้เกิดความทุกข์ทรมานแร้นแค้นมากน้อยแค่ไหนในอีก 100 ปีข้างหน้า นี่สิคือคำถามที่ทรงพลัง ทุกคนจะตระหนักได้ในทันทีว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ทุกคนต้องตัดสินใจร่วมกัน มันไม่ใช่ว่าจะมีพลังจากนอกโลกหรือพลังเหนือธรรมชาติเข้ามากวาดล้างมนุษยชาติ เมื่อเรามองเป็นเรื่องใกล้ตัวและอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง เราก็จะมีความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น แต่ในโลกของทุนนิยมผู้คนมักจะชอบคำถามแบบขาว-ดำ เพราะว่าพวกเขาสนใจแค่ว่าจะยังมีแรงงานหรือตลาดผู้บริโภคอยู่ไหม พวกเขาไม่ได้ใส่ใจในคุณภาพชีวิตที่แท้จริง
มันเป็นวิธีมองอนาคตแบบทุนนิยม นั่นคือสิ่งเดียวที่พวกเขาอยากรู้ เพราะไม่อยากเผชิญหน้ากับปัญหา ตราบใดที่ยังคงมีตลาด มีระบบการผลิต และตราบใดที่ระบบการผลิตนั้นยังคงเกื้อหนุนกับระบอบทุนนิยม พวกเขาก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ยกตัวอย่างเช่น บริษัทแห่งหนึ่งในจีนต้องติดตั้งตาข่ายไว้เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานกระโดดตึกฆ่าตัวตาย นั่นคือตรรกกะการแก้ปัญหาของระบบทุนนิยม เมื่อกำลังการผลิตของคุณถูกสั่นคลอน เพราะแรงงานมีคุณภาพชีวิตต่ำ แทนที่จะแก้ปัญหานั้น คุณกลับติดตาข่ายป้องกันไม่ให้คนฆ่าตัวตายเพื่อให้ระบบการผลิตเดินหน้าต่อไป พวกเขาไม่แคร์ว่าใครจะเดือดร้อน คุณน่าจะเริ่มเข้าใจมากขึ้นแล้วว่างานของผมมีนัยทางการเมืองมากกว่าที่เห็น
แล้วเราควรจะรับมือกับความท้าทายในอนาคตที่แปรผันไปอย่างรวดเร็วได้อย่างไร เช่น ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
ผมค่อนข้างเป็นคนมองเทคโนโลยีในด้านบวก ผมเชื่อมั่นในพลังการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่ได้ในที่สุด เแต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือ ‘การเมือง’ ซึ่งเป็นปัญหาหลักมาโดยตลอด เพราะในทางเทคนิคแล้ว เราสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ ถ้าทั่วโลกเห็นพ้องกัน ตัดสินใจร่วมกัน และดำเนินการทันที แต่พอเป็นเรื่องการเมืองมันก็มีความวุ่นวาย โดยเฉพาะเมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสทันที ประเทศอื่นๆ ที่ร่วมลงนามกลับไม่ได้ทำอะไร เพราะนักการเมืองไม่มีกึ๋นพอที่จะนำนโยบายไปดำเนินการปฏิบัติ เพราะฉะนั้นโดยทางเทคนิคแล้ว เราก้าวหน้ามากทางด้านการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน แต่ในทางการเมือง เราไม่ได้ทำอะไรเลย
ผมคิดว่าหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาความมั่นคงทางอาหาร กว่า 30% ของอาหารในยุโรปถูกโยนทิ้ง เพราะไม่มีใครกิน นี่เป็นปัญหาเชิงระบบที่ควรจะได้รับการแก้ไข แต่ปัญหามันไม่ได้ถูกแก้ เพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เกื้อหนุนระบบเหล่านี้ ฉะนั้นเวลามีใครถามผม ผมก็จะตอบว่าโดยตามหลักการแล้ว แก้ได้ แต่ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี
น่าแปลกที่งานของคุณสะท้อนแนวคิดเชิงปรัญชาและความเป็นมนุษย์ มากกว่าจะความล้ำสมัยทางเทคโนโลยี
สิ่งที่ผมทำไม่ใช่แค่เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย น่าตื่นเต้น งานทั้งหมดที่ผมทำร่วมกับทีมงานล้วนมีนัยทางการเมือง เราอยากจะเป็นฝ่ายเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลง แทนที่จะเป็นฝ่ายรอ ไม่ว่าจะในรูปแบบงานนิทรรศการ ศิลปะ การสร้างต้นแบบ การออกแบบ ตอนนี้งานวิจัยยานอวกาศยังเป็นแค่โมเดลทดลองเท่านั้น เราต้องคิดหาทางสร้างสรรค์ทุกอย่างขึ้นใหม่ทั้งหมด มันเหมือนกับมีกระดาษเปล่าๆ แผ่นหนึ่งที่จะเขียนอะไรลงไปหรือเริ่มต้นทำอะไรก็ได้ ดังนั้น เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ทั้งหมดว่าจะสร้างโลกขึ้นมาอย่างไร นั่นคือวิธีการทำงานสำหรับโปรเจกต์นี้ ขณะเดียวกันผมก็หวังว่าการบรรยายจะเปิดโอกาสในการส่งต่อความรู้ บทเรียน และงานวิจัยไปสู่วงกว้าง เกิดการอภิปรายถกเถียง หรือสร้างคอมมูนิตี้ที่กลุ่มคนต่างสาขาอาชีพและวัฒนธรรมมาสร้างอนาคตร่วมกัน
คุณคิดว่าการมีส่วนร่วมและการศึกษาข้ามวัฒนธรรมคือหัวใจสำคัญของการศึกษาของกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือเปล่า
โดยอุดมคติแล้ว ทุกคนควรให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม ไม่ใช่แค่ในทางทฤษฎี แต่รวมไปถึงภาคปฏิบัติ วิธีนี้จะทำให้เราเริ่มเข้าใจและเกิดความเคารพซึ่งกันและกัน เรื่องที่สอง ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ระบบการศึกษา หรือแม้แต่ความคาดหวังของพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ เด็กรุ่นใหม่ถูกสอนให้เรียนรู้และโฟกัสกับด้านใดด้านหนึ่งเพื่อที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ ในขณะที่คนสนใจหลายด้านกลับถูกมองว่าไม่เก่งอะไรสักเรื่อง ทั้งที่ความสนใจรอบด้านจะทำให้คุณเก่งขึ้น เพราะคุณเป็นคนเดียวที่สามารถใช้หลายทักษะได้ในเวลาเดียวกัน
ผมคิดว่าเด็กรุ่นใหม่กระหายที่จะเรียนรู้อย่างยิ่ง แต่พวกเขาก็ต้องการแรงสนับสนุนเช่นกัน เพราะว่าเขาไม่มีคนที่เป็นแบบอย่าง ซึ่งการศึกษาควรเข้ามามีบทบาทในจุดนี้ ส่งเสริมการเรียนรู้หลายสาขาวิชาชีพ (Multidisciplinary) นั่นจะเป็นการพัฒนาก้าวใหญ่ทีเดียว แต่ทั้งนี้ เราก็ไม่ควรมองข้ามคนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ในการทำงานกันเป็นทีม เราควรจะมีคนทั้งสองแบบ ยิ่งมีความหลากหลายมากเท่าไร ก็จะยิ่งมีโอกาสสร้างงานที่ดีมากเท่านั้น