×

กุนซือที่รัก แอนจ์ ปอสเตโคกลู ผู้เปลี่ยนสเปอร์สให้กลับมาเป็นทีมที่ดีอีกครั้ง

25.09.2023
  • LOADING...
Ange Postecoglou

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • ตามทะเบียนบ้านแล้ว ปอสเตโคกลูเป็นชาวออสเตรเลียก็จริง แต่จริงๆ เขาเกิดที่กรีซ และชื่อของเขา​ ‘แอนจ์’ ในความหมายในภาษากรีกนั้นหมายถึง ‘เทวดา’ เพียงแต่โชคชะตานำพาเขาและครอบครัวอพยพมาอยู่ออสเตรเลียตั้งแต่ยังเด็ก
  • เขาเคยได้แชมป์กับเซาท์ เมลเบิร์น 2 สมัยในฐานะกัปตันทีม ซึ่งในเวลานั้นเขาไม่เข้าใจเหตุผลนักว่าทำไมเขาจึงได้รับปลอกแขนกัปตันทีมในวัยแค่ 22 ปี ก่อนจะเข้าใจมากขึ้นในเวลาต่อมาว่าอาจเป็นเพราะเขามี ‘ทักษะผู้นำ’ บางอย่างที่ในเวลานั้นตัวเขาเองก็ไม่รู้ตัวมาก่อน
  • ความจริงปอสเตโคกลูควรจะได้มีโอกาสมาค้าแข้งในยุโรปแล้วแต่โชคร้ายเกิดบาดเจ็บเข่าขึ้นมาก่อน เขาต้องแขวนสตั๊ดด้วยวัยแค่ 27 ปีเท่านั้น เพียงแต่จุดจบของเส้นทางหนึ่งก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางใหม่ ปอสเตโคกลูเดินหน้าสู่การเป็นกุนซืออย่างเต็มตัว
  • เขาทำงานในวงการมานานแต่ไม่เป็นที่รู้จักนัก จนกระทั่งได้โอกาสคุมทีมกลาสโกว์ เซลติก และท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ซึ่งทั้งสองงานเขารู้ตัวว่าเป็น ‘ตัวเลือกสุดท้าย’ ในการสัมภาษณ์

หากใครได้เคยไปเดินแถวถนนโคเวนทรีสตรีท ทางใต้ของเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย จะพบว่าในบรรยากาศของตึกรามบ้านช่องที่เป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมจากยุค 1960 แล้ว มีผนังของอาคารแห่งหนึ่งที่ดูไม่ค่อยเข้าพวกนัก

 

บนผนังนั้นเป็นภาพวาด (Mural) ของชายคนหนึ่งที่คอห้อยเหรียญแชมป์ลีกฟุตบอลสกอตแลนด์ และในมือของเขาก็ถือโทรฟี่สีเงินอยู่

 

ชายในภาพคนดังกล่าวคือ แอนจ์ ปอสเตโคกลู ผู้ที่พากลาสโกว์ เซลติก คว้าแชมป์สกอตแลนด์ได้เมื่อฤดูกาลที่แล้ว

 

และในเวลานี้คือคนที่เปลี่ยนท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ให้กลับมาเป็นทีมที่ดีอีกครั้ง

 

ทั้งๆ ที่ตอนได้โอกาสมาคุมทีม หลายคนตั้งคำถามกับเขาว่า ‘ใครคือแอนจ์​?’

 

ย้อนกลับไปในช่วงปิดฤดูกาลที่ผ่านมา แดเนียล เลวี ประธานสโมสรสเปอร์ส มีงานช้าง 2 อย่างที่ต้องจัดการเป็นการเร่งด่วน

 

หนึ่งคือการจัดการเรื่องอนาคตของ แฮร์รี เคน ศูนย์หน้าหมายเลขหนึ่งตลอดกาลของสโมสรว่าจะอยู่หรือไปจากทีม

 

แต่สิ่งที่ต้องทำเป็นการเร่งด่วนมากกว่าคืออีกเรื่อง กับการค้นหาคนที่จะมารับตำแหน่งผู้จัดการทีมคนใหม่ภายหลังจากที่ประสบปัญหาอีกครั้งกับ อันโตนิโอ คอนเต กุนซือผู้แข็งกร้าวชาวอิตาเลียน ที่มีจุดจบไม่สวยงามนักและทำเอาสเปอร์สระส่ำระสายถึงขั้นหลุดวงโคจรจากการลุ้นไปรายการสโมสรยุโรป

 

ในช่วงนั้นมีชื่อของผู้จัดการทีมหลายคนที่เข้าข่าย รวมถึง ยูเลียน นาเกิลส์มันน์ ที่ยังว่างงานอยู่หลังถูกปลดจากบาเยิร์น มิวนิก เพียงแต่การเจรจาไม่มีความคืบหน้าก่อนที่เรื่องจะเงียบไป

 

สุดท้ายกลายเป็น แอนจ์ ปอสเตโคกลู จากทีมกลาสโกว์ เซลติก ที่ได้โอกาสมารับงานนี้แทน

 

 

เด็กน้อยผู้อพยพมาพบชีวิตใหม่

 

ตามทะเบียนบ้านแล้วปอสเตโคกลูเป็นชาวออสเตรเลียก็จริง แต่จริงๆ เขาเกิดที่กรีซ และชื่อของเขา​ ‘แอนจ์’ ในความหมายในภาษากรีกนั้นหมายถึง ‘เทวดา’​ เพียงแต่โชคชะตานำพาเขาและครอบครัวอพยพมาอยู่ออสเตรเลียตั้งแต่ยังเด็ก หลังจากที่เกิดการปฏิวัติโดยทหารในกรีซ และครอบครัวของเขาสูญเสียธุรกิจและทุกสิ่งทุกอย่างไปจนหมด

 

“เราเป็นชาวต่างด้าว ถึงผมจะดูไม่เหมือนผู้อพยพในแบบที่ทุกคนเข้าใจสักเท่าไร ผมมาที่นี่ตอนอายุ 5 ขวบ เรานั่งเรือกันมาโดยที่ไม่มีอะไรที่แน่นอนเลย

 

“ในช่วงเวลานั้นออสเตรเลียต้องการคนต่างด้าวมาเพื่อเป็นแรงงาน พ่อของผมเป็นแรงงานที่ไม่มีทักษะ ดังนั้นเราต้องอยู่ในแคมป์ผู้อพยพรอจนกระทั่งเราได้บ้านอยู่”

 

ชีวิตของแอนจ์ในวัยเด็กจึงเรียกว่าไม่มีคำว่าสบาย และไม่ได้ใช้จ่ายวันเวลากับพ่อมากนักแม้ว่าจะอยากอยู่เล่นใกล้ๆ แต่พ่อก็ต้องทำงานตลอดเวลาในการเป็นช่างเฟอร์นิเจอร์

 

แต่จะมีสิ่งหนึ่งที่เชื่อมโยงระหว่างเขาและพ่อเข้าด้วยกัน สิ่งนั้นคือ ‘ฟุตบอล’

 

เจ้าหนูแอนจ์เกิดไม่ไกลจากสนามของเออีเค เอเธนส์ ทีมรักของพ่อ และนั่นทำให้เมื่อมีการตั้งทีมฟุตบอลในหมู่ชาวต่างด้าวด้วยกัน ซึ่งทีมท้องถิ่นของพวกเขาคือทีมกรีก (Greek) ที่เป็นชาวกรีกผู้อพยพมาด้วยกัน เมื่อถึงสุดสัปดาห์จะมีเกมการแข่งขัน พ่อลูกปอสเตโคกลูจะพากันไปนั่งดูฟุตบอลด้วยกัน

 

มันเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ แค่วันละไม่กี่ชั่วโมงในวันอาทิตย์ที่พ่อของเขาจะได้ปลดปล่อยตัวเองจากภาระหน้าที่ในการทำงาน ต่อจากนั้นเมื่อกลับถึงบ้านทั้งคู่จะอยู่จนดึกเพื่อรอดูฟุตบอลด้วยกัน ซึ่งส่วนมากจะเป็นฟุตบอลอังกฤษ แล้วต่อด้วยการนั่งดูไฮไลต์ในรายการ Match of the Day

 

มันเป็น Quality Time ที่พ่อลูกได้ใช้ร่วมกัน

 

และช่วงเวลานั้นกลายเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้เจ้าหนูแอนจ์เข้าสู่วงการฟุตบอลด้วยตัวของเขาเองในเวลาต่อมา

 

ฝีเท้าของเขาอาจจะไม่ถึงกับโดดเด่นอะไรนักเมื่อเทียบกับดาวดังของวงการฟุตบอลออสเตรเลียในอดีต แต่อย่างน้อยก็ดีพอจะเล่นให้ทีมฟุตบอลอาชีพในขณะนั้นอย่างเซาท์ เมลเบิร์น เฮลลาส (ซึ่งก็เป็นทีมที่ก่อตั้งโดยชาวกรีกที่อพยพมาเมลเบิร์นก่อนหน้านี้) และเคยได้รับการเรียกตัวติดทีมชาติ 4 ครั้งด้วยกัน

 

“ผมเป็นพวกสายบู๊ แต่เป็นฟูลแบ็กที่ไม่ชอบเล่นเกมรับ” ปอสเตโคกลูบอกถึงสไตล์การเล่นของตัวเองเมื่อครั้งเป็นนักเตะอาชีพ ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในปมในใจเพราะพ่อก็อยากเห็นเขาไปให้สุดทาง

 

เพียงเขาเองรู้ว่าฝีเท้าของเขามันไปได้แค่ไหน

 

 

 

วุ้นแปลภาษาของปุสกัส

 

ปอสเตโคกลูยอมรับว่าบางทีเขาอาจจะตีกรอบให้ตัวเองมากเกินไป แต่กระนั้นเขาก็เคยได้แชมป์กับเซาท์ เมลเบิร์น 2 สมัยในฐานะกัปตันทีม ซึ่งในเวลานั้นเขาไม่เข้าใจเหตุผลนักว่าทำไมเขาจึงได้รับปลอกแขนกัปตันทีมในวัยแค่ 22 ปี ก่อนจะเข้าใจมากขึ้นในเวลาต่อมาว่าอาจเป็นเพราะเขามี ‘ทักษะผู้นำ’ บางอย่างที่ในเวลานั้นตัวเขาเองก็ไม่รู้ตัวมาก่อน

 

สิ่งเหล่านี้รวมกับความขี้สงสัยที่มักจะถามโค้ชทุกคนถึงเหตุผลในการตัดสินใจต่างๆ กลายเป็นต้นทุนที่สำคัญในการก้าวมาเป็นกุนซือด้วยตัวเองในเวลาต่อมา

 

โดยเฉพาะสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโค้ชที่เคยเป็นโคตรนักเตะระดับตำนานของโลกอย่าง เฟเรนซ์ ปุสกัส ซึ่งเคยมาคุมทีมเซาท์ เมลเบิร์นอยู่พักหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่บังเอิญนัก เพราะปุสกัสซึ่งเป็นชาวฮังการีพูดภาษาอังกฤษได้ไม่ดีนัก

 

เขาต้องการใครสักคนที่จะถ่ายทอดคำพูดให้ และเป็นไอ้หนุ่มแอนจ์ที่สื่อสารด้วยได้ จึงทำหน้าที่เป็น ‘วุ้นแปลภาษา’ ให้ปุสกัสที่จะคอยถ่ายทอดว่าเขาต้องการให้นักเตะทำอะไรบ้างในสนาม สิ่งเหล่านั้นได้กลายเป็นแนวทางในการเล่นของทีม

 

และแน่นอนปอสเตโคกลูได้วิชาไปเต็มๆ

 

วิชาที่ดีที่สุดจากปุสกัสไม่ใช่ในเรื่องของแท็กติกการเล่น เพราะแม้เขาจะเป็นพระเอกในทีมชาติฮังการียุคมหัศจรรย์ ‘Magical Magyars’ แต่เป็นเรื่องของการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ทุกคน เพื่อให้ทุกคนไปให้ถึงในจุดเดียวกับที่เขาเคยทำได้

 

แบ็กซ้ายที่ถนัดเท้าขวาจึงเป็นส่วนสำคัญในทีมเซาท์ เมลเบิร์น ที่คว้าแชมป์ลีกสมัยที่ 2 ภายใต้การนำของปุสกัสได้ในฤดูกาล 1990/91 (หลังจากเคยได้ครั้งแรกในปี 1984) ในแง่ของการเป็นศูนย์รวมจิตใจของทีม และถ่ายทอดปรัชญาการเล่นฟุตบอลเกมรุกบุกแหลก

 

มันนำไปสู่เส้นทางใหม่ของเขาในเวลาต่อมา

 

 

ปรัชญา ‘Angeball’

 

ความจริงปอสเตโคกลูควรจะได้มีโอกาสมาค้าแข้งในยุโรปแล้วเมื่อมีโอกาสจะได้ไปเล่นในกรีซ 2-3 ครั้ง แต่โชคร้ายเกิดบาดเจ็บเข่าขึ้นมาก่อน จนทำให้ทุกอย่างต้องจบลง

 

เขาต้องแขวนสตั๊ดด้วยวัยแค่ 27 ปีเท่านั้น

 

เพียงแต่จุดจบของเส้นทางหนึ่งก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางใหม่ ปอสเตโคกลูเดินหน้าสู่การเป็นกุนซืออย่างเต็มตัว “ผมอยากจะเป็นผู้จัดการทีมมาตลอด ผมรักเกมฟุตบอล ผมรักทุกอย่างของมันไม่ใช่เฉพาะแค่การลงไปเล่น”

 

ในวัยเด็กเขาเก็บสะสมฐานข้อมูลทุกอย่างจากหนังสือฟุตบอลทุกเล่ม ไม่ว่าจะเป็น Shoot นิตยสารฟุตบอล หรือ Roy of the Rovers คอมิกลูกหนังระดับตำนาน ที่ต่อให้หนังสือมันจะเก่าและมาถึงเมลเบิร์นล่าช้าแค่ไหน เขาก็จะนั่งอ่านมันแบบนั้นวนไป

 

ทีมรักของเขาก็เป็นทีมในอังกฤษอย่างลิเวอร์พูล “ผมเป็นแฟนลิเวอร์พูลตัวยง ผมรัก บิลล์ แชงคลีย์ ผมรักเรื่องราวของห้องบูทรูม (ห้องเก็บรองเท้าที่สตาฟฟ์ของลิเวอร์พูลจะหารือวางแผนทีมกัน)

 

อย่างไรก็ดี ปรัชญาฟุตบอลของเขามาจากพ่อด้วย พ่อของเขาชอบทีมที่เล่นฟุตบอลเกมรุกไม่ชอบทีมที่เล่นเกมรับ ดังนั้นปอสเตโคกลูจะได้ดูทีมอย่างลิเวอร์พูลหรือทีมชาติเนเธอร์แลนด์ในยุค 1970 ตั้งแต่วัยเด็ก และเมื่อโตมาโค้ชอย่างปุสกัสเองก็เน้นฟุตบอลเกมรุก ไม่คิดถึงเรื่องเกมรับเลย

 

สิ่งเหล่านี้ค่อยๆ ถูกนำมาประยุกต์กับการทำงานในแบบของเขาเอง ฟุตบอลที่ให้ความสำคัญกับการเล่นเกมรุก การครองบอล และความกล้าหาญในการเล่น

 

งานแรกในชีวิตของเขาคือการคุมทีมเก่าเซาท์ เมลเบิร์น ทันทีหลังแขวนสตั๊ด และสามารถพาทีมคว้าแชมป์ได้อีก 2 สมัย ทำให้กลายเป็นคนที่พาทีมคว้าแชมป์ลีกได้ทั้งในฐานะนักฟุตบอลและโค้ชรวมกันถึง 4 สมัย

 

ก่อนที่จะกลายเป็นจอมพเนจรคนหนึ่งของวงการ

 

 

กุนซือจอมพเนจร

 

Resume ประวัติการทำงานของปอสเตโคกลูถือว่าน่าสนใจมาก

 

เพราะรายชื่อทีมที่เขาผ่านงานด้วยเยอะพอสมควร และดูไม่ค่อยจะมีจุดเชื่อมโยงกันมากเท่าไรนัก

 

จากการคุมทีมเซาท์ เมลเบิร์น (1996-2000) เขาได้โอกาสในการคุมทีมชาติออสเตรเลียในระดับยู-17 (2000-2005) และยู-20 (2000-2007) แล้วข้ามฟากไปทำงานในกรีซ (เสียที) กับสโมสรพานาไชกิ (2008) แต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก จึงย้อนกลับมาทำงานในออสเตรเลียอีกครั้งกับ 3 สโมสร

 

เริ่มจากการคุมทีมสั้นๆ กับวิทเธิลซี ซีบราส์ (2009) สโมสรในเมลเบิร์น ก่อนจะไปบริสเบน โรว์ (2009-2012) พาทีมคว้าแชมป์เอลีกได้ 2 สมัยติดต่อกัน ก่อนจะอำลาทีมกลับมาบ้านคุมทีมเมลเบิร์น วิคตอรี (2012-2013)

 

แต่หลังจากนั้นเขาก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นโค้ชทีมชาติออสเตรเลีย (2013-2017) เคยคุมทีมลงสนามในศึกฟุตบอลโลก 2014 ที่ประเทศบราซิลมาแล้ว และคว้าแชมป์เอเชียนคัพได้ในปี 2015 ก่อนจะอำลาทีมชาติในปี 2017 หลังจากที่พา ‘ซอคเกอรูส์’ เข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลก 2018

 

ทีมต่อมาของเขาคือโยโกฮามา เอฟ มารินอส ที่แฟนบอลชาวไทยหลายคนน่าจะเริ่มจำได้ เพราะเป็นคนช่วยปั้น ธีราทร บุญมาทัน ให้กลายเป็นแบ็กระดับชั้นนำของเจลีก และพาทีมคว้าแชมป์เจลีกมาครองได้อีกด้วยในปี 2019 เป็นแชมป์สมัยแรกในรอบ 15 ปีของสโมสรเลยทีเดียว

 

เพียงแต่ในวงการฟุตบอลชื่อของเขาไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก และเป็นสิ่งที่ทำให้เขาเองก็ไม่ค่อยเข้าใจนัก เพราะเขาทำงานมานานกว่า 2 ทศวรรษในวงการฟุตบอล แต่ผลงานไม่เป็นที่ประจักษ์ในสายตาของชาวโลก

 

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาสงสัยในความสามารถของตัวเอง

 

ขอแค่มีโอกาสสักครั้งเถอะ!

 

 

ตัวเลือกสุดท้ายที่ดีที่สุด

 

แล้ววันนั้นก็มาถึงจริงๆ

 

มันเริ่มจากการติดต่อมาของกลาสโกว์ เซลติก ซึ่งต้องหาผู้จัดการทีมคนใหม่ในปี 2021 และความจริงทีมดังแดนวิสกี้ต้องการได้ตัว เอ็ดดี ฮาว มาเป็นผู้จัดการทีมมากกว่า เพียงแต่อดีตกุนซือบอร์นมัธไม่สนใจที่จะรับข้อเสนอในเวลานั้น

 

โอกาสมันเลยตกมาอยู่กับปอสเตโคกลูที่ยอมรับแบบตรงไปตรงมาว่าเขาเป็นตัวเลือกสุดท้าย เพราะขณะนั้นเซลติกกำลังจะเริ่มเข้าช่วงพรีซีซันแล้ว สโมสรต้องรีบตัดสินใจ ซึ่งก็เป็น ปีเตอร์ ลอว์เวลล์ อดีตซีอีโอของสโมสรที่บอกให้ เดอร์มอต เดสมอนด์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของสโมสรชาวไอริชไปเอาตัวกุนซือชาวออสซีคนนี้มาให้ได้! ทั้งๆ ที่ยังอ่านชื่อไม่ถูกด้วย

“ในตอนนั้นเรามีชื่ออยู่ 5 คน และแอนจ์ก็เป็นหนึ่งในนั้น” เดสมอนด์บอก “ผมไม่รู้หรอกว่าแอนจ์คือใคร ผมสะกดชื่อเขาไม่ได้ด้วย แต่ปีเตอร์ (ลอว์เวลล์) ยืนยันหนักแน่นว่าเราต้องใส่ชื่อเขาในลิสต์ เพราะประวัติการทำงานของเขาดีมากๆ”

 

สุดท้ายเมื่อฮาวปฏิเสธข้อเสนอในช่วงเที่ยงครึ่งของวันหนึ่ง เดสมอนด์ก็เลยนัดสัมภาษณ์กับปอสเตโคกลูดู เพียงแต่ก็มีการทำการบ้านด้วยการเช็กบทสัมภาษณ์ต่างๆ และพบว่าเป็นคนที่มีความมุ่งมั่น เป็นผู้นำตัวจริงที่น่าสนใจมาก

 

นั่นกลายเป็นงานแรกของปอสเตโคกลูในยุโรปที่เริ่มทำให้คนรู้จักเขามากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่เซลติกคว้า ‘ดับเบิลแชมป์’ ในฤดูกาลแรก 2021/22 ต่อด้วย ‘เทรเบิลแชมป์’ ในฤดูกาลที่แล้ว

 

ก่อนที่เรื่องราวแบบเดียวกันจะเกิดขึ้นอีกครั้งในอีก 2 ปีต่อมา คราวนี้เป็นกับท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ที่ต้องการใครสักคนที่จะพาสโมสรกลับมาจากการหลงทางอีกครั้ง

 

“ผมคิดว่างานทั้งสองตำแหน่งถึงจะไม่มีคนเคยพูดมาก่อน แต่ผมเป็นตัวเลือกสุดท้ายของพวกเขา เซลติกและสเปอร์สถูกปฏิเสธจากคนอื่นมาก่อน และผมเป็นชื่อสุดท้ายในลิสต์พอดี

 

“แต่ไม่เป็นไร ผมยินดีรับมัน”

 

การพูดแบบตรงไปตรงมาจากใจแบบนี้ของปอสเตโคกลูกลายเป็นหนึ่งในเสน่ห์เฉพาะตัวของเขา วิธีการสื่อสารนี้ได้ผลกับเป็นอย่างดีแม้กระทั่งทีมอย่างสเปอร์สที่บ้านแตกสาแหรกขาดตั้งแต่ เมาริซิโอ โปเชตติโน จากทีมไปในปี 2019

 

เขารู้ว่าสเปอร์สต้องการการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่ก็เลือกจะค่อยๆ ปรับความเข้าใจกับนักเตะในทีม เรียกขวัญและกำลังใจของทุกคนกลับมา พร้อมมอบแนวทางในการเล่นที่จะช่วยทำให้สเปอร์สกลับมาเป็นทีมที่ดีอีกครั้ง

 

สัญญาณบวกเริ่มเห็นได้ตั้งแต่ช่วงพรีซีซันที่สเปอร์สเล่นในสไตล์ใหม่ที่นอกจากจะมีการเล่นแบบ Inverted Fullback ตามสมัยนิยมแล้ว ยังเน้นการครองเกมได้อย่างน่าประทับใจ จนเริ่มมีการพูดถึง ‘Angeball’ ตั้งแต่ตอนนั้น

 

ก่อนที่จะนำพาสโมสรก้าวผ่านความสูญเสียครั้งใหญ่ในการตัดสินใจจากไปอยู่กับบาเยิร์น มิวนิกของ แฮร์รี เคน ฮีโร่ตลอดกาลของทีม

 

แต่แทนที่สเปอร์สจะทรุด ปรากฏว่าปอสเตโคกลูสามารถเปลี่ยนแปลงให้ทีมดีขึ้นไปอีกขั้น ทั้งเล่นอย่างมีสไตล์ ไปจนถึงการทำให้กองกลางจอมแกร่งอย่าง อีฟส์ บิสซูมา กลับมาเป็นหัวใจของทีม และทีเด็ดที่สุดคือการทำให้ เจมส์ แมดดิสัน เล่นเข้าคู่กับ ซนฮึงมิน ได้เป็นอย่างดี

 

ไม่นับการดูแลสภาพจิตใจของลูกทีมที่ประสบปัญหาอย่าง ริชาร์ลิซอน ด้วยการมองนักฟุตบอลแบบ ‘มนุษย์’ และพร้อมยื่นมือช่วยเหลือในทุกอย่างจนกองหน้าชาวบราซิลเองก็ดูจะเอาชนะปัญหาได้ และมักจะพูดให้แง่คิดดีๆ ให้ทุกคนได้ฟังเสมอในการแถลงข่าว จนกลายเป็นขวัญใจของผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษไปแล้ว

 

ตอนนี้พรีเมียร์ลีกเริ่มมา 6 นัด อาจจะเร็วเกินไปถ้าจะบอกว่าสเปอร์สจะกลับมาเป็นทีมที่ยิ่งใหญ่ไล่บี้กับทีมระดับท็อปทีมอื่น

 

เพียงแต่อย่างน้อยการบุกไปไล่ตีเสมอคู่ปรับร่วมเมืองอย่างอาร์เซนอลได้ถึงเอมิเรตส์สเตเดียม ทั้งๆ ที่เป็นฝ่ายตามหลังถึง 2 ครั้ง 2 คราในเกม ก็น่าจะพอพูดได้เต็มปากมากขึ้นว่ากุนซือชาวออสเตรเลียเลือดกรีกคนนี้ที่ไม่มีใครคาดหวัง กำลังพาสเปอร์สกลับมาเป็นทีมฟุตบอลที่ดีและน่าเชียร์อีกครั้ง

 

และมันก็เป็นการพิสูจน์ให้โลกได้เห็น

 

เพชรไม่ว่าอยู่ที่ไหน หรือถูกค้นพบเมื่อไร มันก็ยังเป็นเพชรเสมอ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising