×

พลังจากคนเล็กๆ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น เรียนรู้ผ่านมุมมองของแอนดรูว์ กลาส British Council, Country Director

20.01.2018
  • LOADING...

แม้จะได้ยินชื่อเสียงเรียงนามขององค์กรอย่าง บริติช เคานซิล (British Council) มานาน แต่เราเชื่อว่าหลายคนอาจจะแทบไม่เคยรู้เลยว่าองค์กรที่ส่งเสริมด้านศิลปะและวัฒนธรรมแห่งนี้อยู่คู่ประเทศไทยมานานกว่า 65 ปีแล้ว และหากนับอายุตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 1934 วันนี้บริติช เคานซิล ก็มีอายุกว่า 83 ปี นับว่าเป็นเวลาที่ยาวนานมากพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกและสังคมโดยรวม

 

ทุกวันนี้บริติช เคานซิล ทำงานร่วมกับ 100 ประเทศทั่วโลกในหลากหลายด้าน การเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่เราคุ้นเคยกันดีก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ไม่ใช่แค่นั้น

 

 

แอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย บอกเราตอนหนึ่งว่า “คนที่ทำงานในบริติช เคานซิล ไม่เคยประกาศว่าเราจะเปลี่ยนแปลงโลก และไม่มีใครหรอกที่จะเปลี่ยนได้ แต่พวกเราสามารถทำในสิ่งที่ต้องการจะทำได้ บางคนทำได้น้อย บางคนทำได้มาก แต่ก็สามารถไปรวมพลังกับบางเรื่องที่ใหญ่กว่าได้

 

มากไปกว่านั้น เราพบว่าจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่อาจไม่ได้อยู่ไกลไปกว่าภายในจิตใจของเราเอง  

 

อยากให้เล่าประสบการณ์ความสนใจส่วนตัวในการทำงานเพื่อสังคม (Social Impact)

ผมทำงานกับบริติช เคานซิล มานาน ที่ผ่านมาผมได้ทำงานในประเทศที่หลากหลายมา 7 ประเทศแล้ว และประเทศไทยก็เป็นประเทศที่ 8 บริติช เคานซิล เป็นองค์กรนานาชาติเพื่อส่งเสริมการศึกษา ศิลปะ และวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึงการสร้างโอกาส การสร้างความเชื่อมั่น และมิตรภาพระหว่างประเทศ โดยงานที่ผมสนใจมากเป็นพิเศษเรื่องหนึ่งก็คือการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตผู้คน หรือการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรภาคส่วนต่างๆ  

 

โดยทั่วไปเรามักจะเห็นแนวโน้มการช่วยเหลือเป็นไปในทางเดียว เช่น ประเทศ A ให้ความช่วยเหลือประเทศ B แต่บริติช เคานซิล พยายามที่จะให้การช่วยเหลือในแบบสองทางด้วย เช่น ประเทศไทยก็ได้ประโยชน์​ สหราชอาณาจักรก็ได้ประโยชน์ ซึ่งบางครั้งก็เป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้เห็นเป็นรูปธรรม

 

ที่ผ่านมาผมมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการต่างๆ มากมาย บางโครงการก็เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมอย่างชัดเจน  เช่น ในช่วง 2-3 ปีนี้เรามีโครงการอบรมครูสอนภาษาอังกฤษระดับภูมิภาคร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ มีเป้าหมายเพื่ออบรมครูกว่า 20,000 คนในโรงเรียนรัฐบาลทั่วประเทศ โดยในกระบวนการนี้จะมีการฝึกเทคนิคการสอนภาษาอังกฤษเพื่อปรับวิธีการสอนภาษาอังกฤษ ทำให้การเรียนภาษาอังกฤษนั้นเป็นเรื่องสนุก คุณครูเหล่านั้นได้พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น และท้ายที่สุด นักเรียนสามารถนำภาษาอังกฤษไปใช้ได้จริง และหากมองไปอีกระดับ โครงการนี้ทำให้ผมเห็นว่าเราสามารถช่วยสร้างโอกาสและสนับสนุนผู้คนทั่วประเทศไทยได้อย่างไรด้วย

 

ถ้าดูจากสถิติ ประเทศไทยติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของโลกที่มีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน จะเห็นได้ว่าคนกรุงเทพฯ​ มีโอกาสที่ครอบครัวจะสนับสนุนให้เข้าถึงการศึกษาได้ดีกว่า ซึ่งนำไปสู่การประสบความสำเร็จในด้านอาชีพและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า แต่เมื่อเทียบกับผู้คนที่อยู่ในต่างจังหวัดกลับพบว่าแค่การทำมาหาเลี้ยงชีพก็ยากลำบากมากแล้ว

 

หากเราเข้าไปช่วยเหลือเรื่องการสอนภาษาอังกฤษให้ดีผ่านการพัฒนาบุคลากร ‘ครู’ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในระบบการศึกษาให้เทียบเท่ากับโรงเรียนในกรุงเทพฯ​ มันจะช่วยพัฒนาคุณภาพในอีกหลายๆ เรื่องได้อีกด้วย  

 

 

เมื่อคุณพูดถึงการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้คน นอกจากเรื่องการสอนภาษาอังกฤษแล้ว มีเรื่องอื่นอีกไหม 

คุณน่าจะเคยเห็นโครงการด้านศิลปะและหัตถกรรมที่เราทำกับศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) และนิตยสาร Wallpaper ประเทศไทย ไปบ้างแล้ว อย่างเช่น แบรนด์ภูคราม ที่อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร ผู้ก่อตั้งแบรนด์ภูครามเริ่มจากความชอบในผ้าฝ้าย และชักชวนชาวบ้านให้กลับมาทำในสิ่งที่เชี่ยวชาญกันอย่างการทอผ้า ทำเป็นผ้าพันคอขายในหมู่บ้านที่สกลนคร แต่ถึงแม้ว่านี่จะเป็นผ้าพันคอที่สวยมาก แต่คนในหมู่บ้านนั้นก็ไม่มีใครมีเงินมาซื้ออยู่ดี

 

เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อตอนที่เธอมาลงเรียนคอร์สหนึ่งกับบริติช เคานซิล ซึ่งเป็นคอร์สที่ผสมผสานกันระหว่างการออกแบบ หัตถกรรม และโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม เธอได้เรียนรู้เรื่องกิจการเพื่อสังคมและการตลาดนำไปต่อยอดพัฒนาสินค้าต่อไป จากนั้นเธอก็กลับไปต่างจังหวัดแล้วปรับรูปแบบของสินค้า จนตอนนี้แบรนด์ภูครามของเธอสามารถอยู่ได้แล้ว อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มชาวบ้านทั้งผู้หญิงและคนพิการได้อีกด้วย 

 

เรื่องนี้สอนให้ผมรู้ว่าการมีความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นอีกนิด หรือการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ทำให้การออกแบบมีผลกับสินค้าพื้นบ้านมากขนาดไหน หรือการมีรูปแบบธุรกิจที่ดีสามารถทำให้ธุรกิจนั้นยั่งยืนได้อย่างไร 

 

นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการสร้างความเปลี่ยนแปลง จากคนเพียงคนเดียวที่มีความคิดอยากจะทำอะไรขึ้นมาสักอย่าง แต่เขาสามารถช่วยเหลือคนอื่นๆ ได้ ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ ที่เกิดในชุมชน แต่คุณสามารถเชื่อมโยงเรื่องนี้ให้เข้ากับประเด็นที่ใหญ่ขึ้นได้  เรื่องแบบนี้มีให้เห็นมากมายในประเทศแถบเอเชียที่ผู้คนจากต่างจังหวัดเดินทางมาหาโอกาสใหม่ๆ ในเมืองหลวง ทั้งที่จริงๆ คนเราสามารถใช้ชีวิตที่ดีได้ในเมืองเล็กๆ และช่วยกันพัฒนาเมืองเล็กๆ เหล่านั้น ยิ่งคนไปอยู่มากขึ้น เมืองก็จะมีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการต่างๆ เพื่อประชาชนมากขึ้นตามไปด้วย

 

คุณเห็นโอกาสอะไรในเมืองเล็กๆ ที่คุณพูดถึง 

ผมเดาว่าคำถามต่อไปคือใครจะสร้างงานหรือ?​ เพราะถ้าคุณมองกลับไปที่สหราชอาณาจักร จะพบว่าตำแหน่งงานส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นมากในรอบไม่กี่ปีมานี้ไม่ได้เกิดจากรัฐบาล และไม่ได้เกิดจากบริษัทใหญ่ๆ เลย แต่เกิดจากการประชุมร่วมกันในหน่วยงานที่ทำงานด้านการสร้างสรรค์ หรือ Creative Hub ต่างๆ เราพบว่างานในภาคส่วนที่เติบโตเร็วที่สุดเวลานี้ก็คืองานในอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งกลุ่มที่เราเรียกว่าสตาร์ทอัพ ที่กลุ่มคนเล็กๆ รวมตัวกันสร้างธุรกิจ สร้างงาน สร้างบริการต่างๆ ขึ้นมาพร้อมๆ กัน

 

นอกจากนั้นก็ยังมีกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคมที่ก่อตั้งขึ้นมาในพื้นที่ห่างไกลที่เกิดจากการเริ่มคิดหาวิธีแก้ปัญหาในสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญ อย่างในสหราชอาณาจักรก็มีบริษัทเล็กๆ ที่คิดค้นวิธีสร้างพลังงานไฟฟ้าขึ้นมาด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียนต่างๆ เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับคนได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีบริษัทที่ทำธุรกิจรถโดยสาร ซึ่งเป็นกิจการไม่หวังผลกำไรที่ช่วยแก้ปัญหาการเดินทางให้กับผู้สูงอายุเพื่อให้สามารถเดินทางไปตามที่ต่างๆ ได้อย่างสะดวก และในหลายๆ ประเทศก็มีตัวอย่างที่ดีในการทำธุรกิจที่พวกเขามีความคิดริเริ่มและบุกเบิกมันขึ้นมา

 

อย่างที่ทราบว่าคุณทำงานมาแล้วในหลายๆ ประเทศ เมื่อต้องเดินทางไปทำงานในประเทศต่างๆ คุณทำอย่างไรบ้างเพื่อให้รู้สึกเหมือนทุกที่คือบ้าน

ตอบยากเหมือนกัน เนื่องจากผมทำงานมาเกือบ 28 ปี ผมจะต้องย้ายประเทศไปทุกๆ 3-5 ปีอยู่แล้ว เหมือนถูกกำหนดมาแล้วว่า โอเค ได้เวลาเก็บของแล้ว ย้ายไปทำงานต่างประเทศ เริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่เพราะเป็นการทำงานกับองค์กรเดิม ผมจึงไม่ได้รู้สึกอะไรมาก เพราะเมื่อย้ายประเทศไปก็ทำความคุ้นเคยกันใหม่ ผมชอบเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง แล้วก็เรียนรู้ใหม่ไปเรื่อยๆ (หัวเราะ) แต่อาจจะไม่เป็นแบบนี้สำหรับทุกคนก็ได้  

 

 

การทำงานที่ผ่านมาทั้งหมด 7 ประเทศ คุณเห็นปัญหาสังคมอะไรบ้าง หรือมีปัญหาอะไรไหมที่แต่ละประเทศมีเหมือนๆ กัน

ต้องบอกก่อนว่าผมไปไหนมาบ้าง ที่ผ่านมาผมไปอยู่สเปน อิตาลี ซึ่งผมรู้สึกว่าโดยรวมคล้ายๆ กันนะ แม้จะมีวัฒนธรรมต่างกัน แต่รู้สึกว่าสภาพเศรษฐกิจของพวกเขาก็เหมือนๆ กัน ตอนไปอยู่เยอรมนีก็ไม่รู้สึกต่าง อาจเป็นเพราะทั้ง 3 ประเทศนี้ก็อยู่ในยุโรปด้วย จากนั้นก็ไปสโลวีเนีย แล้วก็เซอร์เบีย ซึ่งก็แตกต่างแน่นอน เซอร์เบียได้รับผลกระทบจากปัญหาของการเมืองและกองทัพ รวมทั้งสงครามด้วย จากนั้นผมก็ไปคูเวต แล้วก็มาประเทศไทย

 

แต่ในจำนวนนี้ ถ้าพูดถึงคูเวตก็เป็นประสบการณ์ที่สนุกนะ คูเวตเป็นประเทศเล็กๆ มีประชากรประมาณ 2.5 ล้านคนเห็นจะได้ ในจำนวนนั้น 1 ล้านคนเป็นพลเมืองชาวคูเวต แต่ที่เหลือเป็นชาวต่างชาติหรือคนที่ไปทำงานที่นั่น ประเด็นคือหลายคนที่ไม่ใช่ชาวคูเวตจะมีปัญหาคล้ายๆ กัน คือถึงแม้เขาอาจจะไปอยู่นานมาก หรือตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายย้ายไปอยู่ แต่พวกเขาก็ไม่สามารถเป็นพลเมืองได้ หลายคนทำงานจนเกษียณแล้วก็ต้องย้ายกลับไปประเทศตัวเอง 

 

สังคมที่คูเวตค่อนข้างมีลำดับชั้นทางสังคมสูงและเคร่งครัด มีปัญหาสังคมมากมายเกิดขึ้นที่นั่น คุณอาจจะถามว่าแล้วคนคูเวตแท้ๆ หรือประชากรที่นั่นเขามีชีวิตยังไง คำตอบคือเขามีฐานะดีมากในระดับหนึ่งเลย คุณคงเคยทราบดีว่าคนรวยที่นั่นก็รวยได้อย่างที่เราจินตนาการไม่ถึง คนคูเวตได้รับเงินเดือนที่สูง รัฐบาลเองก็ให้ความช่วยเหลือในหลายๆ ด้าน เมื่อคนที่นั่นรวยก็เลยมีเรื่องของวัตถุนิยมตามมา ใช้เงินไปกับการซื้อข้าวของหรูหรา เดินทางท่องเที่ยว ไปปาร์ตี้หนักๆ แต่สุดท้ายสิ่งเหล่านั้นก็ไม่สามารถสร้างความพึงพอใจได้

 

ทีนี้ก่อนที่ผมจะไปทำงานที่คูเวต งานของบริติช เคานซิล จะเน้นการฝึกอบรมเรื่องการศึกษา แต่ไม่เคยทำงานด้านศิลปะ ผมก็เลยไปริเริ่มจัดงานนิทรรศการศิลปะอังกฤษร่วมสมัยแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งถือว่าเป็นงานท้าทายในการสร้างกลุ่มคนดูงานศิลปะที่นั่นมาก เพราะถ้าคิดว่าเขาสามารถซื้องานศิลปะแพงๆ ได้อยู่แล้ว ทำไมยังจะต้องไปดูนิทรรศการอีก เราจึงต้องทำงานกันหนักมากในการสร้างกลุ่มคนดูขึ้นมา และริเริ่มโปรแกรมแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ หรือ Residency ระหว่างกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ของคูเวตกับอังกฤษ ทำให้พวกเขาได้แรงบันดาลใจในการสร้างงานศิลปะใหม่ๆ ทำให้แต่ละคนได้เห็นสังคมที่แตกต่างกัน เปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับตัวเอง

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากทำงานในภาคส่วนที่เกี่ยวกับสังคมมานาน เคยคิดสักครั้งไหมว่าบางทีเราก็เป็นคนตัวเล็กๆ เกินกว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้   

คนที่ทำงานในบริติช เคานซิล ไม่เคยประกาศว่าเราจะเปลี่ยนแปลงโลก และไม่มีใครหรอกที่จะเปลี่ยนได้ แม้แต่องค์กรการกุศลของบิล เกตต์ ที่มีเงินเป็นพันๆ ล้านเหรียญสหรัฐก็ตาม แต่พวกเราสามารถทำในสิ่งที่ต้องการจะทำได้ บางคนทำได้น้อย บางคนทำได้มาก แต่ก็สามารถไปรวมพลังกับบางเรื่องที่ใหญ่กว่าได้

 

จริงๆ แล้วสิ่งที่พวกเราทำอยู่ในมุมของบริติช เคานซิล นั้นให้ผลทางอ้อมมากกว่า มีสถิติบอกว่าประมาณ 30% ของคนที่เป็นผู้นำจากทั่วโลกจบการศึกษาจากสหราชอาณาจักร ซึ่งกล่าวได้ว่า ในจำนวนนั้นเราได้ทำงานร่วมกับสถานทูตอังกฤษในการสนับสนุนเรื่องทุนการศึกษาในสหราชอาณาจักรด้วย เมื่อพวกเขาเรียนจบก็กลับไปประเทศของตัวเองและสร้างความเปลี่ยนแปลงในแง่บวกให้กับประเทศของพวกเขาได้ ซึ่งล้วนแต่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสิ่งที่ได้จากสหราชอาณาจักร นั่นก็ถือเป็นงานหนึ่งที่พวกเราทำ

 

ยกตัวอย่างอีกงานหนึ่ง หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และวิจัยของไทยในการให้ทุนที่เรียกว่า กองทุนนิวตัน (Newton Fund) ซึ่งเป็นการร่วมมือกันของวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมระหว่างสองประเทศในการใช้วิทยาศาสตร์แก้ปัญหาระดับโลก นักวิจัยบางคนทำเรื่องการพัฒนาข้าว บางคนทำเรื่องสิ่งแวดล้อม เรายังทำเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาด้านดิจิทัลในต่างจังหวัด สนับสนุนให้ผู้หญิงเป็นผู้ประกอบการ สนับสนุนการวิจัยเรื่องการใช้ยารักษาโรคมาลาเรีย ผมคงไม่สามารถกล่าวได้ว่าเพราะกองทุนนิวตันทำให้บริติช เคานซิล ค้นพบวิธีการรักษาโรคมาลาเรียได้ แต่มันคือการสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศ

 

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมเจอผู้คนมากมายที่เข้ามาบอกผมว่าบริติช เคานซิล เคยช่วยพวกเขาอย่างไร บางคนเข้ามาขอบคุณและบอกว่าเคยได้ทุนไปเรียนที่อังกฤษเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เรื่องพวกนี้เป็นผลในแง่บวก ถ้ามองจากสิ่งที่สหราชอาณาจักรได้ทำและได้สร้างความสัมพันธ์ระดับบุคคล นอกเหนือไปจากเรื่องธุรกิจ เรื่องท่องเที่ยวต่างๆ

 

 

ถามเรื่องส่วนตัวบ้าง ทราบมาว่าคุณชอบเล่นกีฬาหรือใช้ชีวิตกลางแจ้ง มีกีฬาชนิดไหนที่คุณเล่นแล้วรู้สึกว่าเปลี่ยนชีวิตไปเลย และเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ผมคงไม่สามารถบอกได้ว่ามันเปลี่ยนชีวิตผม แต่บอกได้ว่ามันเป็นสิ่งที่น่าจดจำในชีวิตอันดับต้นๆ ที่ไม่มีวันลืม นั่นคือการเดินทางไกลที่สเปน กับเส้นทางที่เรียกว่า Santiago de Compostela เมื่อปี 2003 ตอนนั้นผมเดินทั้งหมด 29 วัน รวมระยะทางกว่า 750 กิโลเมตร ย้อนกลับไปช่วงนั้น มันเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่อย่างแท้จริงสำหรับผม ท่ามกลางเส้นทางที่สวยงาม แต่ผมก็ต้องก้าวเดินไปคนเดียวในระยะทางไกลมาก เหมือนเราเดินจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ ประสบการณ์ตรงนั้นสอนผมในเรื่องความเรียบง่ายและการใส่ใจกับชีวิตตัวเอง ได้มีเวลาหยุดสังเกตสิ่งต่างๆ ระหว่างทาง แวะเยี่ยมหมู่บ้าน แวะคุยกับผู้คนในเมือง มันเป็นช่วงเวลาที่ดีและได้ใช้เวลาไปเรื่อยๆ สบายๆ

 

แต่หนึ่งปีก่อนหน้าที่จะไปเดินที่สเปน ผมป่วยและเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลอยู่ 9 เดือน พอออกมาก็ต้องกินยาไปตลอดชีวิต ช่วงเวลานั้นส่งผลกับชีวิตผมมาก ตอนนั้นอายุเพิ่ง 40 ซึ่งเป็นช่วงที่เราทำงานหนักและละเลยสุขภาพไป แต่พอป่วยขึ้นมา คุณจะรู้เลยว่าสิ่งที่เราเคยกังวล วุ่นวายใจ หรือเคยโกรธใคร มันเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญเลยเมื่อเทียบกับภาพที่ใหญ่กว่าของชีวิตเรา ทำไมเราต้องกังวลหรือรู้สึกแย่กับเรื่องนี้ขนาดนั้น พอหายป่วย ผมก็คิดว่านี่คือช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้วที่จะลุกข้ึนมาเดินทาง ผมก็ไปปรึกษาเจ้านาย บอกว่าผมต้องลาประมาณครึ่งเดือนเพื่อไปสเปน ส่วนภรรยาผมก็เข้าใจ เพราะเราเคยคุยกันมาก่อนแล้ว เธอยังคิดเลยว่าผมจะไม่ทำแล้ว เพราะเราคุยกันมานานมาก สุดท้ายผมก็เดินทางไปตามที่ตั้งใจ

 

ผมอยากจะออกเดินทางอีกเท่าที่ผมยังไปไหว เพราะมันให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากชีวิตประจำวันมากๆ มันเหมือนการมีชีวิตในชีวิต life within a life ระหว่างการเดินทางไกลมันก็คล้ายๆ การได้เรียนรู้และทำความรู้จักตัวเองนะ อย่างผมก็จะคิดว่าเราจะทำได้ไหม จะเดินไหวไหม ช่วง 2-3 วันแรกเราจะเหนื่อยมากแทบขาดใจ แต่พอเวลาผ่านไป ร่างกายเราจะปรับสภาพได้เอง จากนั้นระหว่างทางเราก็จะเริ่มทำความรู้จักคนซึ่งมีที่มาแตกต่างกัน ได้คุยกันในเรื่องต่างๆ นั่นแหละคือประสบการณ์ที่มีค่า

 

มีงานหลายอย่างที่คุณประสบความสำเร็จ แต่มีงานไหนบ้างไหมที่คุณคิดว่ามันเป็นความล้มเหลวที่ดี

ในฐานะของการเป็นผู้นำองค์กร แต่ละคนก็มีวิธีการทำงานและการจัดการแตกต่างกันอยู่แล้วเพื่อที่จะทำให้งานดำเนินไปได้ด้วยดี แต่เมื่อนึกถึงด้านของความสัมพันธ์ บางทีระหว่างการทำงานเราอาจจะไม่สามารถได้ผลที่ดีที่สุดจากทุกคนหรือเพื่อทุกคน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นในทุกที่ของการทำงาน บางคนเข้าใจผมผิด บางทีผมก็เข้าใจคนอื่นผิดเช่นกัน เรื่องพวกนี้ก็เป็นธรรมดาของคน หรือการทำงานบางอย่างมันก็ไม่ได้ไปได้ดีอย่างที่เราคิด จะว่าไป สิ่งที่ผมเรียนรู้อาจจะไม่ใช่เรื่องการทำอะไรผิดพลาดร้ายแรง ที่ผ่านมาในการทำงาน ผมเองก็อาจจะตัดสินใจผิดพลาดไปบ้าง แต่ผมว่ามันเป็นกระบวนการเรียนรู้ของคนและการก้าวข้ามผ่านอุปสรรคนั้นมาได้อย่างไร

 

อะไรคือเกณฑ์ในการบอกว่างานไหนคืองานที่คุณพึงพอใจที่จะทำ

สิ่งที่จะทำให้ผมมีความสุขทุกวัน ทุกสัปดาห์ ผมว่ามันคือเรื่องความหลากหลายของการทำงาน เพราะผมชอบความหลากหลาย เช่น ได้ไปประชุมในเรื่องที่หลากหลาย ไปพูดหรือแชร์ความเห็นที่เวทีต่างๆ ในประเทศไทย หรือในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมสนุกกับการทำงานแบบนี้ แต่มันก็มีข้อเสียเช่นกัน เพราะเรื่องที่ต้องรับรู้มันเยอะมาก พอกำลังจะเรียนรู้เรื่องไหนให้ลึกซึ้งก็ต้องเปลี่ยนไปเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ แล้ว แน่นอนว่าบางทีคุณก็จะรู้สึกเครียดกับรูปแบบการทำงานแบบนี้ เพราะมันยุ่งและมีความเปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่มันก็ท้าทาย และผมก็ชอบเพื่อนร่วมงานที่ทุกคนให้การสนับสนุนกันและกัน

 

งานที่ภูมิใจที่สุดของคุณคืออะไร

มีหลายโครงการที่บริติช เคานซิล ทำมา โครงการของเราได้เปลี่ยนแปลงชีวิตคนด้วยภาษาอังกฤษและเข้าถึงคนจำนวนมาก อย่างโครงการที่ทำร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ อีกทั้งยังได้ปรับใช้ศิลปะกับการสร้างสายสัมพันธ์อันดีแก่กันอย่างโครงการที่คูเวต

 

แต่งานที่ผมภูมิใจที่สุดและอยากพูดถึงคือหนังสือ Serbia – My Case: A New European Generation เริ่มต้นมาจากโครงการของบริติช เคานซิล ในการทำวิจัยทางการตลาดกับคนรุ่นใหม่ในเซอร์เบีย โปแลนด์ และในยุโรปกลาง ที่เราตีพิมพ์ขึ้นในปี 2008 ซึ่งอยู่ในระหว่างที่ผมรับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศเซอร์เบีย เพื่อทำหน้าที่ประสานความสัมพันธ์ให้สหราชอาณาจักรและเซอร์เบีย 

 

ย้อนกลับไปตามประวัติศาสตร์ เซอร์เบียเป็นส่วนหนึ่งของยูโกสลาเวีย ก่อนแตกออกเป็น 7 ประเทศที่ต้องเผชิญช่วงเวลายากลำบากทั้งสงครามและการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมต่างๆ เราได้คุยกับคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในประเทศใหญ่ประเทศหนึ่ง แล้ววันหนึ่งต้องเห็นประเทศของตัวเองแบ่งออกเป็น 7 ประเทศ แล้วคนทั้งโลกก็หันหลังให้กับเขา และคิดว่าเขาไม่ใช่คนดีซึ่งเกิดจากปัญหาที่เขาไม่ได้ก่อ แต่มาจากการตัดสินแบบเหมารวม

 

งานของเราจึงการเป็นการปรับทำความเข้าใจกับการมองแบบเหมารวมนั้น เราพูดคุยกับกลุ่มคนรุ่นใหม่อายุ 25-30 ปี ถึงสิ่งที่พวกเขาสนใจและเป้าหมายในชีวิตของพวกเขา จากจุดเริ่มต้นของงานวิจัยทางการตลาด เราต่อยอดเป็นบทสัมภาษณ์หนังสือเล่มนี้โดยพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ 10 คนที่มีอาชีพหลากหลาย ตั้งแต่ผู้นำทางการศึกษา สถาปนิก นักข่าว นักการเมืองรุ่นใหม่ อาจารย์มหาวิทยาลัย พิธีกรรายการทีวี นักร้อง นักดนตรี โดยพูดถึงคนที่ผ่านเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดในประเทศของตัวเอง พูดถึงมุมมองของคนรุ่นใหม่ การศึกษา การใช้ชีวิต เส้นทางในการทำงานของแต่ละคนที่อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มันน่าจะยากมากในการที่คุณจะประสบความสำเร็จในชีวิต แต่สุดท้ายคนที่ดีมีความสามารถจะหาหนทางในการประสบความสำเร็จได้ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่คุณจะได้สัมผัสจากหนังสือเล่มนี้ และเป็นโปรเจกต์หนึ่งที่ผมภูมิใจ

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X