ย้อนไปเมื่อ 9,000 ปีที่แล้ว กลางทุ่งหญ้าบนที่ราบสูงแห่งเทือกเขาแอนดีส กลุ่มนักล่ากำลังซุ่มตัว หนึ่งในนั้นลุกขึ้นยืนง้างแขนเตรียมขว้างหอกปลายแหลมที่ประดิษฐ์ขึ้นมาจากหินเรียบง่าย หมายปลิดชีพบิกุญญาที่อยู่ห่างไปไม่ไกล เมื่อการล่าสิ้นสุดลง กลุ่มนักล่าเดินทางกลับที่พักพร้อมซากสัตว์ที่จะนำไปใช้ปรุงอาหารสำหรับค่ำคืนนี้
จากข้อความสมมติข้างต้น ความคิดแวบแรกที่โผล่ขึ้นมาคิดว่านักล่าผู้ขว้างหอกออกไปเป็นเพศอะไรกันครับ ถ้านึกกันเร็วๆ หลายคนอาจจะนึกเทียบเคียงไปถึงการ์ตูน มนุษย์หินฟลินต์สโตนส์ ที่ผู้ชายจะต้องรับหน้าที่ออกไปล่าสัตว์ ส่วนผู้หญิงนั้นอยู่กับเหย้าเฝ้ากับถ้ำเพื่อเลี้ยงดูลูกและจัดการงานครัวต่างๆ
นักโบราณคดีก็หนีไม่พ้นภาพจำแบบเหมารวมทางเพศ (Sexual Stereotype) เหมือนกัน เป็นเวลากว่าร้อยปีที่วิถีชีวิตแบบผู้ล่า-ผู้เก็บของป่า ผูกโยงติดอยู่กับผู้ชาย-ผู้หญิง มันเป็นเรื่องง่ายที่เราจะโยงผู้ชายเข้ากับฮอร์โมนเพศชายที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดทำให้ร่างกายกำยำ แข็งแรง และกล้าได้กล้าเสีย ส่วนผู้หญิงถึงอย่างไรก็คงไม่สะดวกที่จะอุ้มท้องหรือกระเตงลูกเข้าเต้าพลางวิ่งไล่สัตว์ที่หมายจะล่ามาเป็นอาหาร
แต่ผลการวิเคราะห์โครงกระดูกและข้าวของเครื่องใช้จากแหล่งขุดค้นในประเทศเปรูที่ตีพิมพ์ผ่านวารสาร Science Advances เมื่อปลายปี 2020 กำลังจะทำให้พวกเราต้องหันกลับมาตั้งคำถามกับแนวคิดนี้กันใหม่
ขุดหินพลิกประวัติศาสตร์
ในปี 2013 สูงขึ้นไปเหนือระดับน้ำทะเลราว 4,000 เมตร ทางตอนใต้ของประเทศเปรู Pilco Quispe นักโบราณคดีท้องถิ่นประจำชุมชน Mulla Fasiri ได้ค้นพบโบราณวัตถุจำนวนหนึ่ง นำมาสู่โครงการขุดค้นทางโบราณคดีในอีก 5 ปีให้หลัง โดย Randall Hass และลูกทีม บริเวณ Wilamaya Patjxa ซึ่งกินพื้นที่ประมาณ 36.5 ตารางเมตร ผลการศึกษาเบื้องต้นพบโบราณวัตถุรวมกว่า 20,000 ชิ้น ส่วนมากเป็นเศษหินที่หลงเหลือจากการทำเครื่องมือ อุปกรณ์ล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่ และหลุมฝังศพ 5 หลุมที่มีโครงกระดูก 6 ร่างอยู่ข้างใน หนึ่งในนั้นทำให้ทีมนักโบราณคดีต้องประหลาดใจ
“เขาจะต้องเป็นนักล่าผู้ยิ่งใหญ่ มีความสำคัญต่อเผ่ามากแน่ๆ” Randall Hass อ้างถึงคำพูดที่ครั้งหนึ่งเขาเคยพูดกับลูกทีม โครงกระดูกดังกล่าวได้รับการเรียกขานว่า WMP6 อันที่จริงมีร่องรอยหลงเหลืออยู่ไม่มาก พบเพียงซากกะโหลก ฟัน และส่วนขาเล็กน้อย แต่เพียงพอที่จะทำให้ทีมนักวิจัยทราบว่าเจ้าของร่างถูกฝังโดยที่ลำตัวขดงอหันไปทางซ้าย หันหัวไปทางทิศตะวันตก
การศึกษาคาร์บอนกัมมันตรังสีที่หลงเหลืออยู่ในกระดูกทำให้ประมาณอายุสืบย้อนไปได้เกือบ 9,000 ปี ช่วงอายุที่เจ้าของโครงกระดูกเสียชีวิต อยู่ที่ราว 17-19 ปี โดยดูจากร่องรอยการเจริญของฟัน จากนั้นทีมนักวิจัยศึกษาองค์ประกอบของโปรตีนอะเมโลเจนินที่หลงเหลืออยู่บนสารเคลือบฟัน โปรตีนชนิดนี้จะมีกรดอะมิโนที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างเพศชายและเพศหญิง ซึ่งผลการวิเคราะห์ระบุว่าเป็นอย่างหลัง
เมื่อวิเคราะห์โบราณวัตถุที่ถูกฝังอยู่รอบๆ แล้วก็พบว่า WMP6 และโครงกระดูกอื่นๆ น่าจะเป็นสมาชิกของกลุ่มล่าสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ (Big-Game Hunting) เพราะปลายหอกแหลมที่พบอาจจะเคยผูกติดอยู่กับด้ามไม้ ซึ่งด้านที่ใช้มือจับจะสวมเข้ากับปลอกเพื่อเสริมประสิทธิภาพการขว้างหอกให้แรงและแม่นยำยิ่งขึ้น เครื่องมือหินอีกชนิดหนึ่งพบว่ามีร่องรอยของสารสีแดงติดอยู่ ซึ่งอาจเคยถูกใช้แล่เนื้อ ขัดกระดูก และสกัดเอาไขกระดูกที่มีคุณค่าทางสารอาหารอย่างเหลือล้นออกมากิน ทีมนักวิจัยมุ่งค้นหากันต่อไปว่า การค้นพบโครงกระดูกเพศหญิงที่พบเจอในแถบนี้เป็นเพียงเหตุบังเอิญ หรือพบเจอได้ทั่วไป
การจะตอบคำถามนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้นำข้อมูลจากงานวิจัยอื่นๆ มาวิเคราะห์เพิ่มจนพบว่า จากโครงกระดูก 27 ร่างที่เข้าข่ายว่าทำหน้าที่เป็นผู้ล่าสัตว์ใหญ่ในกลุ่ม ทั่วทวีปอเมริกามีถึง 11 ร่างจากแหล่งขุดค้น 10 หลุมที่เป็นเพศหญิง ทำให้นำข้อมูลมาประเมินทางสถิติได้ว่า มีผู้หญิงเข้าร่วมกลุ่มการล่า 30-50% นับว่าสูงกว่าที่เคยคิดกันไว้มากเลยทีเดียว
ความท้าทายก่อนจะตัดสินอดีต
ไม่ว่าจะหาหลักฐานมาได้มากเพียงใดก็ตาม ทีมนักวิจัย โดยเฉพาะทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ต้องใช้ความระมัดระวังและความรอบคอบอย่างมากในการไปตัดสินอดีตอันไกลโพ้น
อันดับแรก แม้การวิเคราะห์โปรตีนอะเมโลเจนินจะชี้ชัดว่า WMP6 มีเพศทางชีววิทยาเป็นผู้หญิง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์คนนี้จะมีเพศสภาพเป็นผู้หญิง ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าบทบาททางเพศในสังคมมนุษย์เมื่อ 9,000 ปีก่อนเป็นอย่างไร การฝังศพไปพร้อมๆ กับเครื่องมือล่า อาจไม่ได้หมายความว่าเจ้าของร่างเป็นผู้ล่าที่เก่งกาจ แต่เป็นสัญลักษณ์ส่วนหนึ่งของพิธีกรรมการฝังศพที่ทำกันเป็นปกติทั่วไปในย่านนั้น หรือหินแหลมที่พบอาจจะเป็นอาวุธที่ทำให้เจ้าของร่างถึงแก่ความตายก็เป็นได้
ข้อมูลมีอยู่ตรงหน้าแล้ว ที่เหลือขึ้นอยู่กับการตีความและให้ความหมาย
“แม้ WMP6 อาจเป็นนักล่าหญิงเพียงคนเดียวจากตัวอย่างที่ขุดค้นขึ้นมาได้ นั่นก็แปลว่านักล่าหญิงอาจมีอยู่ราว 10% ซึ่งผมไม่แปลกใจที่มันเป็นเช่นนั้น” Randall Hass กล่าวปิดท้าย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- https://advances.sciencemag.org/content/6/45/eabd0310
- https://www.sciencenews.org/article/female-game-hunters-ancient-americas
- https://www.nytimes.com/2020/11/04/science/ancient-female-hunter.html
- https://www.nationalgeographic.com/science/2020/11/prehistoric-female-hunter-discovery-upends-gender-role-assumptions/