Anatomy of Time หรือ เวลา คือผลงานการกำกับของ เก่ง-จักรวาล นิลธำรงค์ ที่ได้เดินทางไปเข้าฉายรอบ World Premiere ในงาน Venice International Film Festival เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี และได้รับรางวัล Bisato Award for Best Screenplay มาได้สำเร็จ รวมถึงยังได้เดินทางไปเข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติอีกหลายแห่งและได้รับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์อย่างล้นหลาม
ภาพยนตร์จะพาผู้ชมไปติดตามเรื่องราวของ แหม่ม (เทวีรัตน์ ลีลานุช) หญิงชราวัย 70 ปีที่ยังคงดูแลสามี (โสระบดี ช้างศิริ) ผู้มีฐานะเป็นถึงนายพล ในช่วงสุดท้ายของชีวิตอย่างใกล้ชิด แม้ว่าจะสร้างความลำบากยากเข็ญให้เธอขนาดไหนก็ตาม และในช่วงเวลาเหล่านั้นก็ทำให้เธอได้มองย้อนกลับไปยังอดีตอันเปี่ยมไปด้วยความสูญเสีย ความขมขื่น แต่ก็ตราตรึงไปด้วยความสุขเมื่อครั้งเธอยังสาว
เพื่อขยายความให้ผู้อ่านที่ยังไม่ได้ชมภาพยนตร์ได้เห็นภาพมากขึ้น Anatomy of Time จะแบ่งพาร์ตการเล่าเรื่องออกเป็นสองช่วงหลักๆ คือ ช่วงเวลาปัจจุบันที่แหม่มจะต้องคอยดูแลสามีที่ป่วยติดเตียง ขนานไปกับเรื่องราวในวัยสาวของแหม่ม (ประภามณฑล เอี่ยมจันทร์) ในช่วงเวลาที่ความรักของของเธอและ เสธ. (วัลลภ รุ่งกำจัด) กำลังเบิงบาน
หากมองจากตัวอย่างและเรื่องย่อที่ถูกเปิดเผยออกมา Anatomy of Time อาจจะดูเป็นภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเรียบง่าย ไม่ได้หวือหวาอะไรมากนัก กระทั่งเราได้รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้จนจบ เราค้นพบว่าแกนหลักสำคัญของภาพยนตร์คือการพาผู้ชมมาร่วมกันขบคิดและไตร่ตรองถึงความสำคัญของคำว่า ‘เวลา’ ในแง่มุมที่เราอาจจะไม่เคยตระหนักถึงมาก่อน
โดยถูกบอกเล่าในจังหวะจะโคนที่เรียบนิ่ง แต่กลับเปี่ยมไปด้วยรายละเอียดยิบย่อยมากมายให้เราสังเกตและตีความ ไล่เรียงตั้งแต่บรรยากาศโดยรอบของตัวละครภายในเรื่องที่มีทั้ง ‘ของเก่า’ และ ‘ของใหม่’ หรือบรรยากาศของต้นไม้ใบหญ้าที่เต็มไปด้วย ‘ร่องรอย’ ของการเติบโต และแม่น้ำลำธารที่ ‘ไม่มีวันไหลย้อนกลับ’ ไปจนถึงการฉายภาพให้เราเห็นถึงผิวพรรณและริ้วรอยของมนุษย์ที่ค่อยๆ ‘แปรเปลี่ยนไป’ ตามอายุขัย
ขณะเดียวกันเรื่องราวของแหม่มทั้งในพาร์ตอดีตและปัจจุบันก็ทำหน้าที่บอกเล่า ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ผ่าน ‘กาลเวลา’ ในแง่มุมต่างๆ ของมนุษย์อย่างละเมียดละไม ทั้งมุมมองความรัก ความเยาว์วัย ความเชื่อ ความศรัทธา ชื่อเสียง ยศถาบรรดาศักดิ์ ที่สามารถแปรเปลี่ยนไปได้เฉกเช่นเดียวกับสิ่งของรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นตัวเราเองหรือผู้คนรอบข้างก็ตาม
รวมถึงประเด็นของ ‘ความตาย’ ที่ตัวภาพยนตร์ได้ตั้งคำถามกับเราว่าเรารู้จักคำๆ นี้มากน้อยแค่ไหน พร้อมชวนเราขบคิดต่อไปขั้นว่าเราเคยลองจินตนาการภาพของตนเองในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตไว้อย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นกับเราบ้าง ผู้คนรอบข้างเรา ณ เวลานั้นจะรู้สึกอย่างไร ไปจนถึงตัวตนของเรา ทั้งความคิด ความเชื่อ ความรู้สึกต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน
ซึ่งหนึ่งในมนตร์เสน่ห์ของภาพยนตร์ที่เราชื่นชอบมากๆ คือ ผู้กำกับไม่ได้บอกเล่าประเด็นที่ภาพยนตร์ต้องการนำเสนอออกมาอย่างชัดเจน แต่เลือกที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ร่วมกันตีความเรื่องราวที่เกิดขึ้นในมุมมองแต่ละคน และชักชวนให้ทุกคนได้มาร่วมพูดแลกเปลี่ยนความคิดต่อประเด็นต่างๆ หากผู้คนชมไหนที่ยังอยู่ในช่วงวัยหนุ่มสาว ก็อาจจะตีความเรื่องราวของภาพยนตร์เรื่องนี้ในแบบหนึ่ง ส่วนผู้ชมท่านไหนที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตหรือมองเห็นโลกใบนี้มายาวนานกว่านั้น ก็อาจจะมีความคิดเห็นต่อประเด็นที่ภาพยนตร์กำลังนำเสนอในแง่มุมที่แตกต่างออกไป
ในภาพรวมแล้ว Anatomy of Time อาจจะไม่ได้เป็นภาพยนตร์ที่สามารถเข้าถึงผู้ชมได้ทุกกลุ่มก็จริง แต่เราอยากเชิญชวนให้ผู้อ่านได้ลองตีตั๋วเข้าไปติดตามภาพยนตร์เรื่องนี้ดูสักครั้ง เพราะเราเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุดเรื่องราวของแหม่มจะมอบคำถามสั้นๆ ง่ายๆ (แต่ต้องไตร่ตรองในการตอบ) อย่าง “ที่ผ่านมาฉันได้ใช้เวลาอย่างคุ้มค่าแล้วหรือยัง” ให้เราได้ลองขบคิดพร้อมกับแบ่งปันความรู้สึกที่ได้รับกับเพื่อนที่มาดูด้วยกันอย่างแน่นอน
Anatomy of Time เข้าฉายอย่างเป็นทางการแล้ววันนี้ ในโรงภาพยนตร์
สามารถติดตามรอบฉายของภาพยนตร์ได้ที่นี่
https://www.facebook.com/CommonMove/
รับชมตัวอย่างได้ที่นี่