×

กรมอนามัย เผยหลังขับเคลื่อนมาตรการจัดเก็บ ‘ภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่ม’ คนไทยบริโภคลดลง ตัวเลขคนอ้วนลดเช่นกัน

โดย THE STANDARD TEAM
23.09.2021
  • LOADING...
Suwanchai Wattanayingcharoenchai

วันนี้ (23 กันยายน) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การบริโภคเครื่องดื่มรสหวานส่งผลต่อความเสี่ยงของการเกิดภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และโรคฟันผุ พฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มรสหวานของ คนไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายในระยะเวลา 5 ปี จากปี 2546-2552 มีการบริโภคเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 31.6 ส่งผลให้คนไทยได้รับน้ำตาลจากเครื่องดื่มคิดเป็นร้อยละ 45.9 ซึ่งสอดคล้องกับความชุกของโรคอ้วนในคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.7 ในปี 2551 เป็น 37.5 ในปี 2557 อีกทั้งโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของคนไทย คิดเป็นร้อยละ 82 ของสาเหตุการตายทั้งหมดในปี 2556 

 

นอกจากนี้ในเด็กอายุ 12 ปี พบอัตราการเกิดโรคฟันผุเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 53.9 ในปี 2537 เป็นร้อยละ 57.3 ในปี 2543

 

จากปัญหาดังกล่าว นำมาสู่แนวคิดการจัดทำมาตรการจัดเก็บภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่มเพื่อสุขภาวะคนไทย โดยได้มีการออกพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ภายใต้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2560 กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล เครื่องดื่มผง (3 in 1) และเครื่องดื่มเข้มข้นตามปริมาณน้ำตาล  

 

​ด้าน ทพ.ปิยะดา ประเสริฐสม ทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านทันตสาธารณสุข) กล่าวเสริมว่า ผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนมาตรการจัดเก็บภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่มเพื่อสุขภาวะคนไทย ทำให้เกิดการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตของเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ได้แก่ 

 

  1. ในภาพรวม ราคาเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลที่ผลิตในประเทศและนำเข้ามีราคาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.7 และ 18.1 ตามลำดับ 

 

  1. เครื่องดื่มที่ผลิตในประเทศมีสัดส่วนจำนวนชนิดของเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 ในขณะที่เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูงมีสัดส่วนลดลง โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากกว่า 10 กรัม แต่ไม่เกิน 14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร มีสัดส่วนลดลงมากที่สุด 

 

  1. สัดส่วนรายได้จากภาษีเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบต่อรายได้ภาษีสรรพสามิตทั้งหมด 

 

ซึ่งจากการศึกษาปริมาณเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลที่ดื่มเฉลี่ยต่อวันในกลุ่มประชากรไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล 2563 พบกลุ่มตัวอย่างมีการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลลดลงจาก 283.6 มิลลิลิตร ในปี 2561 เป็น 275.8 มิลลิลิตร ในปี 2562 หรือลดลง ร้อยละ 2.8 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมีการบริโภคลดลงสูงสุด ร้อยละ 7.2 โดยเครื่องดื่มที่มีการบริโภคลดลงมากที่สุด พบว่าเครื่องดื่มผสมโซดาแบบกระป๋องมีสัดส่วนการบริโภคลดลงมากที่สุด ร้อยละ 17.7 ตามด้วยเครื่องดื่มสมุนไพร ร้อยละ 10.0 และน้ำผลไม้แบบกล่อง ร้อยละ 9.2 ตามลำดับ

 

​“นอกจากนี้การสำรวจปริมาณการบริโภคน้ำตาลของคนไทยในปี 2555-2562 โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล กระทรวงอุตสาหกรรม พบว่า ปี 2551-2560 คนไทยมีการบริโภคน้ำตาลจากเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น แต่หลังการบังคับใช้พระราชบัญญัติสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ในการจัดเก็บภาษี เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล เครื่องดื่มผง (3 in 1) และเครื่องดื่มเข้มข้นตามปริมาณน้ำตาล ส่งผลให้คนไทยมีการบริโภคน้ำตาลจากเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 15.3 และ 14.0 ในปี 2561 และ 2562 ตามลำดับ และในปี 2563 พบว่าคนเป็นโรคอ้วนลดลง 9,306 คน” ทพ.ปิยะดา กล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X