การส่งออกไทยโดน ‘ข่าวร้าย’ ซ้ำเติมอีกครั้ง หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งเพิกถอนสิทธิพิเศษทางภาษี หรือ GSP ในสินค้าไทยเพิ่มอีก 231 รายการ เริ่มวันที่ 30 ธันวาคม 2563
‘สหรัฐฯ’ ถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย เพราะตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน การส่งออกไทยไปสหรัฐฯ มีสัดส่วนสูงถึง 14.7% ของการส่งออกทั้งหมด ถือเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย และในช่วง 9 เดือนแรกปี 2563 การส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ‘ขยายตัว’ ถึง 7.9% สวนทางกับตัวเลขการส่งออกโดยรวมที่ ‘หดตัว’ 7.3%
สำหรับสินค้าที่โดนตัดสิทธิรอบนี้มีจำนวน 231 รายการ เป็นสินค้าที่ใช้สิทธิจริงในปี 2562 จำนวน 147 รายการ คิดเป็นมูลค่าที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ในปี 2562 ราว 604 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.87 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็นภาษีที่ต้องกลับไปเสียในอัตราปกติประมาณ 19 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 589 ล้านบาท
สินค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ พวงมาลัยรถยนต์ ล้อรถยนต์ กระปุกเกียร์ กรอบโครงสร้างแว่นตาทำด้วยพลาสติก เคมีภัณฑ์ เกลือฟลูออรีน ที่นอนและฟูกทำด้วยยางหรือพลาสติก หลอด และท่อทำด้วยยางวัลคาไนซ์ อะลูมิเนียมเจือแผ่นบาง เป็นต้น
การตัดสิทธิ GSP ในครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะเมื่อเดือนเมษายน 2563 ไทยเพิ่งโดนสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP มาก่อนแล้วจากประเด็นด้านแรงงาน โดยครั้งนั้นมีสินค้าที่ถูกตัดสิทธิราว 573 รายการ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 4 หมื่นล้านบาท
สำหรับการใช้สิทธิ GSP ช่วง 7 เดือนแรกปี 2563 (มกราคม-กรกฎาคม) การส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ใช้สิทธิรวม 2,243 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.49%
5 อันดับสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ สูงสุดในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม-สิงหาคม)
- อุปกรณ์ประมวลผล มูลค่ารวม 4,108 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 52.98%
- อุปกรณ์ไฟฟ้า มูลค่ารวม 1,914 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 25.91%
- ยางรถยนต์อัดอากาศ มูลค่ารวม 1,710 ล้านดอลลาร์ ลดลง 4.32%
- ไดโอด/ทรานซิสเตอร์ มูลค่ารวม 1,078 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 215.72%
- เครื่องจักรด้านการพิมพ์ มูลค่ารวม 560 ล้านดอลลาร์ ลดลง 22.22%
นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กล่าวว่า ผลกระทบทางตรงจากการถูกตัดสิทธิ GSP ครั้งนี้ ไม่มากเท่ากับครั้งที่แล้ว ดังนั้นผลโดยรวมต่อการส่งออกของไทยคงไม่ได้ลดลงมากนัก
แต่ประเด็นที่น่ากังวลกว่าคือ การระงับสิทธิ GSP ของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ เปรียบเหมือนการแสดงสัญลักษณ์ให้ผู้ลงทุนรับทราบว่า สหรัฐฯ กำลังจับตาดูการส่งออกของไทยอยู่ ทำให้นักลงทุนที่คิดจะย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อมาไทย อาจต้องหยิบประเด็นนี้มาพิจารณา ส่งผลให้ไทยอาจสูญเสียโอกาสการลงทุนจากต่างประเทศได้เช่นกัน
นริศ กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้ยังต้องติดตามดูว่า สหรัฐฯ จะตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยเพิ่มเติมอีกหรือไม่ โดยกลุ่มสินค้าที่ต้องติดตามคือ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เพราะถือเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงถึง 2,385 ล้านดอลลาร์ต่อปี
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์