×

‘เกินความคาดหมายและราคาค่อนข้างแพง’ มุมมองนักวิเคราะห์ต่อดีลเจ้าสัวธนินท์ชนะการประมูล ‘เทสโก้ โลตัส’ มูลค่า 3.38 แสนล้านบาท

09.03.2020
  • LOADING...

สิ้นสุดเป็นที่เรียบร้อยสำหรับดีลสะเทือนวงการค้าปลีก เมื่อกลุ่ม CP ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ เป็นผู้ชนะการประมูลซื้อ ‘เทสโก้ โลตัส’ ที่ก่อนหน้านี้ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า “ความจริงเทสโก้ โลตัสเป็นลูกของผม ตอนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ผมขายไป ฝากให้คนอื่นเลี้ยง ในครั้งนี้เจ้าของที่เคยเลี้ยงลูกผมจะขายลูกกลับคืนมา ผมก็ต้องซื้อ”

 

นับตั้งแต่ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ Tesco ค้าปลีกรายใหญ่ของอังกฤษได้ออกมาเปิดเผยถึงทิศทางความเป็นไปได้ที่จะขายธุรกิจในไทยและมาเลเซีย กลายเป็นสิ่งที่หลายคนจับตาว่าดีลนี้จะเคาะราคาออกมาที่เท่าไร เบื้องต้นถูกประเมินที่ 2.1 แสนล้านบาท ก่อนขยับมาเป็น 2.7 แสนล้านบาท และตัวเลขล่าสุดก่อนปิดดีลคือ 3.14 แสนล้านบาท

 

แต่ที่สุดแล้วเจ้าสัวธนินท์ได้เข้ามาเคาะในราคา 3.38 แสนล้านบาท โดยให้บริษัทในเครือ 3 แห่งมาเป็นหุ้นส่วนในการซื้อ ได้แก่ ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง 40%, CP ALL ที่มี เซเว่น อีเลฟเว่นและแม็คโครอยู่ในมืออีก 40% ที่เหลือ CPF ที่ทำธุรกิจอาหารและการเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายอีก 20% โดยเป็นการลงทุนผ่านบริษัทลูก ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง

 

เอกสิทธิ์ คุณาดิเรกวงศ์ นักวิเคราะห์หุ้น การพาณิชย์ การท่องเที่ยว และการขนส่ง (อากาศ) บริษัท หลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด บอกกับ THE STANDARD ว่า การที่ CP ได้ไปถือเป็นเรื่องที่เกินความคาดหมาย เพราะคาดว่ากลุ่ม TCC ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี น่าจะเป็นผู้ที่ทุ่มสุดตัวในการเป็นเจ้าของ เพราะสามารถสร้างความแข็งในธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตซึ่งมีบิ๊กซีอยู่ในมือ

 

ที่สำคัญราคาที่เคาะออกมานี้ “ค่อนข้างมีราคาที่แพงอยู่เหมือนกัน เมื่อเทียบกับตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตที่ไม่ได้หวือหวาเหมือนเดิมอีกแล้ว รวมไปถึงเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง” 

 

ส่วนกลุ่ม Central ของตระกูลจิราธิวัฒน์ ที่ปรากฏชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้ยื่นข้อเสนอตามที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานออกมาเป็นระยะ ทั้ง Financial Times หรือ Bloomberg เอกสิทธิ์ให้ความเห็นว่า จากการประเมินตั้งแต่แรกมองว่า กลุ่ม Central  อาจจะไม่ได้สนใจ เพราะ Central มีกลยุทธ์ที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องการไปโตในตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตที่เวียดนาม

 

จากจดหมายที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยของทั้ง CP ALL และ CPF คาดว่าธุรกรรมจะเสร็จสิ้นภายในครึ่งปีหลัง 2563 ซึ่งสาเหตุที่ใช้เวลานานเพราะต้องรออนุมัติจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเสียก่อน

 

เอกสิทธิ์ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ขึ้นอยู่กับการตีความของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าว่าจะนับรวมตลาดไหนเข้ามาบ้าง เพราะข้อมูลจาก Euromonitor ระบุ ตลาดค้าปลีกปี 2561 มีมูลค่าทั้งหมด 3.67 ล้านล้านบาท เจาะลงไปมีกลุ่มหลักๆ คือ ร้านค้าแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) 1.887 ล้านล้านบาท และร้านค้าสมัยใหม่ (Modern Trade) 8.78 แสนล้านบาท 

 

“ในร้านค้าสมัยใหม่ยังแบ่งเป็นร้านสะดวกซื้อ 3.57 แสนล้านบาท และไฮเปอร์มาร์เก็ต 2.85 แสนล้านบาท เมื่อมองค้าร้านค้าปลีกที่ CP มีอยู่ในมือ รวมกับเทสโก้ โลตัสแล้ว หากนำมารวมกันทั้งหมดจะยังไม่ถึง 50% ของช่องทาง Traditional Trade และ Modern Trade รวมกัน ก็สามารถตีความว่าไม่ผูกขาดได้เช่นเดียวกัน”

 

สำหรับมูลค่าของดีลนี้ 3.38 แสนล้านบาท หรือ 1.06 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือ ธุรกิจในไทยมูลค่า 9.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตัวเลขสิ้นสุด 23 กุมภาพันธ์ 2562 มีสาขาทั้งสิ้น 1,967 แห่ง และธุรกิจในมาเลเซียมูลค่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสาขาทั้งสิ้น 68 แห่ง

 

จริงๆ แล้วหากเจาะผลประกอบการของธุรกิจในมาเลเซียจะพบว่า มีทั้งขาดทุนและกำไรสลับกัน แต่ปี 2562 ขาดทุนเสียด้วยซ้ำ แต่ที่กลุ่ม CP ต้องซื้อมาด้วยเป็นเพราะ Tesco แสดงความจำนงว่าจะขายรวมกัน ไม่ขายแยกกัน 

 

รายได้และกำไรของธุรกิจ Tesco ในมาเลเซีย

ปี 2560 มูลค่า 33,085 ล้านบาท ขาดทุน 1,046 ล้านบาท 

ปี 2561 มูลค่า 33,453 ล้านบาท กำไร 174 ล้านบาท

ปี 2562 มูลค่า 33,551 ล้านบาท ขาดทุน 339 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม กลุ่ม CP ยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ว่าเมื่อซื้อไปแล้วจะมีการผนึกกำลังกับธุรกิจในเครือ หรือมีทิศทางการทำธุรกิจอย่างไรบ้าง จนกว่าการซื้อขายจะสิ้นสุดลงในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 

 

ทั้งนี้หลังออกจากไทยและมาเลเซีย Tesco จะเหลือธุรกิจเฉพาะยุโรปเท่านั้น ประกอบไปด้วยร้านค้าในสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ 3,769 แห่ง และสาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย ฮังการี และโปแลนด์ รวมกันอีก 895 แห่งเท่านั้น

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising