×

วิเคราะห์ระบบแข่งขันทางการศึกษาของจีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ ที่ทำให้ ‘ฉลาดเกมส์โกง’ แรงไม่หยุด

24.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • การสอบ ‘เกาเข่า’ ของจีน คือการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ติดอันดับยากที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลก เป็นการสอบที่เข้มงวดถึงขนาดที่ใครทำการทุจริตมีสิทธิ์ต้องโทษจำคุกนานถึง 7 ปี
  • รัฐบาลไต้หวันได้เปลี่ยนแปลงตัวเองจากประเทศผลิตผู้ใช้แรงงานในช่วงปี 1960 มาเป็นประเทศผู้นำองค์ความรู้สมัยใหม่และวิทยาการระดับสูงภายในช่วงเวลาไม่กี่สิบปี โดยในปี 2006 เด็กนักเรียนชาวไต้หวันทำคะแนนสอบ PISA (โครงการประเมินระดับผลการศึกษาระดับนานาชาติ) ได้เป็นอันดับ 1 ในหมวดคณิตศาสตร์ และได้อันดับ 4 ในหมวดวิทยาศาสตร์ได้สำเร็จ
  • ฮ่องกงคัดเลือกเด็กเป็น 3 กลุ่มตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา เพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมที่มีชื่อเสียงตามระดับความรู้ทางวิชาการ ทำให้เด็กๆ ต้องเข้าสู่ระบบการแข่งขันตั้งแต่ชั้นประถม และเป็นเช่นนั้นต่อไปเรื่อยๆ จนถึงระดับมหาวิทยาลัย
  • การสอบ ‘ซูนึง’ เพื่อเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยของเกาหลีใต้คือภารกิจสำคัญอันดับ 1 ของคนทั้งประเทศ โดยทุกคนมีเป้าหมายเพียงแค่สอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ 3 แห่งให้ได้เท่านั้น เพราะนั่นคือสิ่งที่เป็นเหมือนเครื่องการันตีความสำเร็จในอนาคต ถ้าสอบไม่ติด หลายคนพร้อมที่จะยอมเสียเวลาอีก 1 ปี เพื่อสอบใหม่อีกครั้ง โดยที่ไม่สนใจมหาวิทยาลัยอื่นๆ เลย

     การสร้างสถิติระดับปรากฏการณ์ของ ‘ฉลาดเกมส์โกง’ ในหลายประเทศในแถบเอเชีย เช่น การทำรายได้รวมสูงสุดที่ไต้หวัน ที่สูงถึง 120 ล้านบาท และทำสถิติเปิดตัวสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง Box Office ในฮ่องกง โดยทำรายได้ 6 ล้านเหรียญฮ่องกง (ประมาณ 25 ล้านบาท) ในการฉาย 3 วันแรก ไปจนถึงปรากฏการณ์ล่าสุดกับการกวาดรายได้จากประเทศจีนไปมากกว่า 200 ล้านหยวน (ประมาณ 1,000 ล้านบาท) ทุกๆ ความสำเร็จและความท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้น่าคิดวิเคราะห์ว่าอะไรกันแน่ที่ทำให้ ฉลาดเกมส์โกง สร้างสถิติในหลายประเทศได้อย่างน่าสนใจ

 

 

     จริงๆ แล้ว ฉลาดเกมส์โกง ที่มีโปรแกรมฉายประมาณ 20 ประเทศทั่วโลก แต่จะมีก็ 4 ประเทศอย่าง ฮ่องกง, ไต้หวัน, จีน และเกาหลีใต้ (ที่เราเชื่อว่าเรื่องนี้ต้องประสบความสำเร็จถล่มทลายอีกแน่นอน) ที่เรื่องนี้ทุบทุกสถิติและกลายเป็นประเด็นระดับ Talk of The Town ได้ในเวลาอันรวดเร็ว

     ถ้ามองลงไปให้ลึกนอกจากความ ‘สนุก’ เราพบคำตอบว่า ‘ระบบการศึกษา’ คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ฉลาดเกมส์โกง เดินทางมาได้ไกลขนาดนี้

     เพราะทั้ง 4 ประเทศที่เราพูดถึงมีวัฒนธรรมการแข่งขันเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยในระดับสูงลิ่ว เพราะมีความเชื่อว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีได้นั้นคือการการันตีความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้กับตัวเองได้ดีที่สุด ทุกคนต่างมองหา ‘ครูพี่ลิน’ และอยากได้ความจำที่เป็นเลิศอย่าง ‘แบงค์’ เพื่อใช้เป็นอาวุธในการทำ ‘สงคราม’ เพื่อต่อสู้กับ ‘ผู้เข้าสอบ’ หลายล้านคนในประเทศให้ได้

     ทำให้เมื่อครูพี่ลินและแบงค์ปรากฏตัวให้เห็น จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมทุกคนถึงพร้อมให้การต้อนรับทั้งคู่กันแบบล้นหลามมากขนาดนี้

 

 

จาก ‘จอหงวน’ สู่ ‘เกาเข่า’ วัฒนธรรมการแข่งขันที่หยั่งรากลึกในแผ่นดินใหญ่

     ถ้าจะพูดถึงวัฒนธรรมการแข่งขันอันเข้มข้นของระบบการศึกษาในประเทศจีน ต้องย้อนไปในช่วง ค.ศ. 655 ราชวงศ์ถัง ตอนที่สมเด็จพระจักรพรรดินีบูเช็กเทียนขึ้นครองราชย์ นับว่าเป็นช่วงที่การสอบคัดเลือกขุนนางเริ่มมีระบบระเบียบมากที่สุด โดยความเชื่อของชาวจีนในยุคนั้น การเป็น ‘ขุนนาง’ คือเครื่องยกระดับสถานะที่มีความมั่นคงมากที่สุด ทำให้ทุกๆ ปีมีคนคร่ำเคร่งกับการท่องตำราความรู้ทางด้านปรัชญาขงจื้ออย่างหนัก เพื่อเข้ารับการทดสอบที่จัดขึ้นเพียงแค่ 1 ครั้งต่อปี และจะมีคนแค่ไม่กี่สิบคนจากทั่วประเทศเท่านั้นที่ได้รับการคัดเลือก

 

 

     การสอบในสมัยนั้นถือว่า ‘โหด’ มาก เพราะกินเวลานาน 3 วัน 2 คืน ที่ผู้เข้าสอบจะต้องเข้าไปอยู่ในห้องหรือคอกเล็กๆ พร้อมกับเหยือกน้ำ อาหาร เครื่องนอน หมึก และพู่กัน โดยไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกัน หยุดพัก หรือออกไปไหน บางครั้งความเครียดที่สะสมและความอ่อนล้าจากการสอบ ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นจนเป็นเรื่องปกติ และสิ่งที่ผู้คุมสอบตอบแทนให้กับความพยายามของผู้เสียชีวิตก็คือการนำเสื่อมาห่อศพและโยนข้ามกำแพงสนามสอบออกไปเพียงเท่านั้น

 

 

     วัฒนธรรมการสอบจอหงวนอันเข้มงวดได้ดำเนินต่อไปจนกระทั่งมาสิ้นสุดลงในปี 1905 ก่อนที่จะเกิด ‘ระบบ’ การสอบ National Higher Education Entrance Examination ที่เปลี่ยนจาก ‘จอหงวน’ เป็น ‘นักศึกษามหาวิทยาลัย’ ในปี 1952 กลายเป็นการสอบที่เรียกว่า ‘เกาเข่า’ (Gaokao หรือ 高考) ที่ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่ง ‘ตำนาน’ แห่งการแข่งขันสืบต่อจากระบบจอหงวนมาจนถึงปัจจุบัน

     การสอบเกาเข่าจะจัดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี ในปี 2017 จัดขึ้นวันที่ 7-9 มิถุนายน มีผู้เข้าสอบจำนวน 9.4 ล้านคน และมีแฮชแท็กที่พูดถึงการสอบเกาเข่าใน Weibo โซเชียลมีเดียของจีนมากถึง 1.33 พันล้านครั้ง!

     มีคนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ประมาณ 75% มองในแง่นี้อาจจะดูเยอะ แต่อย่าลืมว่าคนที่จะได้งานทำจริงๆ ก็คือเด็กที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำไม่กี่แห่งเท่านั้น และทันทีที่เรียนจบอาจมีบัณฑิตจบใหม่ 16% ที่ไม่สามารถหางานทำได้ เพราะฉะนั้นในแต่ละปี เด็กที่สอบไม่ติดมหาวิทยาลัยชั้นนำมากกว่า 50% ยอมสละสิทธิ์เพื่อเข้าสอบใหม่อีกครั้งในปีต่อไป

     การสอบแต่ละวันจะมีสอบวันละ 2 วิชา มีเวลาวิชาละ 120-150 นาที โดย 2 วันแรกจะเป็นการสอบวิชาบังคับคือ ภาษาจีน, คณิตศาสตร์, ภาษาอังกฤษ และวิชาเฉพาะของสายวิทย์และสายศิลป์ ส่วนอีกวันจะเป็นการสอบวิชาเฉพาะทางอื่นๆ ตามแต่ที่คณะหรือมหาวิทยาลัยนั้นๆ กำหนด

 

 

     การสอบเกาเข่าถูกจัดให้อยู่อันดับ 8 ในการสอบที่ยากที่สุดในโลกจาก www.youthincmag.com และมีเงื่อนไขในการสอบที่สนุกและน่าสนใจเป็นจำนวนมาก (แต่สำหรับคนที่ต้องเจอแบบนั้นกับตัวเองคงไม่สนุกเท่าไร) เช่น การออกข้อสอบ รัฐบาลจะออกข้อสอบ 4 ชุด ผู้ปกครองเขตทั่วประเทศจะมาจับฉลากว่าผู้เข้าสอบในเขตนั้นจะได้ข้อสอบชุดไหน (ถ้าจับได้ชุดที่ยาก หมายความว่าเด็กทั้งเขตจะต้องทำข้อสอบชุดที่ยากไปด้วย) โดยรัฐบาลจะเชิญอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละวิชามาเป็นผู้ออกข้อสอบ เหล่าอาจารย์จะต้องใช้ชีวิตอยู่ในหน่วยงานการศึกษาของรัฐบาลเป็นเวลา 1 ปี โดยห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ ถ้าติดต่อกับบุคคลภายนอกไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม จะมีเจ้าหน้าที่คอยคุมเข้มตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อสอบ จนกระทั่งวันที่นักเรียนทั้งประเทศสอบเสร็จ ทั้งผู้เข้าสอบและผู้ออกข้อสอบถึงจะได้รับอิสระไปพร้อมๆ กัน

     รวมทั้งมาตรการป้องกันการทุจริตในวันสอบ ที่จะมีการติดตั้งกล้องวงจรปิด เครื่องสแกนโลหะ ใช้โดรนบินเพื่อดักจับสัญญาณวิทยุ และถ้าใครคิดใช้บริการ ‘ครูพี่ลิน’ แบบในเรื่อง ฉลาดเกมส์โกง ล่ะก็คิดให้ดีๆ เพราะถ้าถูกจับได้จะถูกตัดสิทธิ์จากการสอบนาน 3 ปี และอาจโดนลงโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี บอกไว้ก่อนว่าที่นี่เขาเอาจริงเอาจังกับการป้องกันการทุจริตแบบสุดๆ

     เมื่อการแข่งขันทุกอย่างพุ่งถึงขีดสุด ทำให้ ‘ความเครียด’ ของผู้เข้าสอบพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งที่จีนจะมีวัฒนธรรมการคลายเครียดที่นิยมมากคือการฉีกหนังสือเรียนแล้วเอาเศษกระดาษโปรยขึ้นฟ้า และการตะโกนเรียกกำลังใจเวลาอยู่ตามที่สาธารณะต่างๆ

 

 

     จนในปี 2016 สำนักงานด้านการศึกษาของเมืองเซียเหมินต้องออกกฎห้ามนักศึกษาระบายความเครียดด้วยวิธีการดังกล่าว และแนะนำให้ใช้กิจกรรมอื่น เช่น การเหยียบลูกโป่งหรือการเล่นปิดตาตีแตงโมแทน ซึ่งอย่าเพิ่งบอกว่าเป็นเรื่องตลกหรือไร้สาระ เพราะกิจกรรมอย่างปิดตาตีแตงโมนี่แหละที่ช่วยชีวิตผู้เข้าสอบหลายคนจากความเครียดมานักต่อนักแล้ว

     จะเห็นได้ว่าถึงแม้ระบบ ‘ขุนนาง’ จะหายไปจากประเทศจีนเป็นเวลานาน แต่วัฒนธรรมแห่งการแข่งขันเพื่อยกระดับสถานะและการันตีความสำเร็จยังไม่เคยจางหายไปจากแผ่นดินมังกรแห่งนี้ และตราบใดที่ ‘การศึกษา’ ยังเป็นเพียงเครื่องมือบอก ‘สถานะ’ และ ‘ความสำเร็จ’ ของเด็กๆ ก็คงจะต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่เด็กๆ เหล่านี้จะหลุดจากการแข่งขันและพบ ‘ความสุข’ แห่งช่วงวัยเยาว์แบบที่พวกเขาควรได้พบเจอ

 

 

ฮ่องกงและไต้หวัน ถึงประเทศจะเล็ก แต่การแข่งขันเข้มข้นไม่แพ้กัน

     ไม่ใช่แค่ประเทศแผ่นดินใหญ่อย่างจีนที่มีการแข่งขันเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยอย่างดุเดือด ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไต้หวันและฮ่องกงที่มีวัฒนธรรมคล้ายกันก็มีการแข่งขันที่เข้มข้นไม่แพ้กัน

     รัฐบาลไต้หวันได้เปลี่ยนแปลงตัวเองจากประเทศผลิตผู้ใช้แรงงานในช่วงปี 1960 มาเป็นประเทศผู้นำองค์ความรู้สมัยใหม่และวิทยาการระดับสูงภายในช่วงเวลาไม่กี่สิบปี โดยในปี 2006 เด็กนักเรียนชาวไต้หวันทำคะแนนสอบในโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (The Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ได้เป็นอันดับ 1 ในหมวดคณิตศาสตร์ และได้อันดับ 4 ในหมวดวิทยาศาสตร์ได้สำเร็จ

     ทั้งจากการสนับสนุนด้านการศึกษาอย่างเต็มที่ของรัฐบาล รวมทั้งพื้นฐานการอ่านหนังสือและระเบียบวินัยที่ดีเยี่ยมของชาวไต้หวัน ทำให้สามารถพัฒนาด้านการศึกษาได้อย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องแลกมากับ ‘การแข่งขัน’ และความเครียดที่พุ่งขึ้นตามมาด้วย

 

 

     ใน 1 สัปดาห์จะมี 3 วันที่ทางโรงเรียนทำการสอบเก็บคะแนนก่อนเข้าเรียนตั้งแต่เวลา 7.30 น. เป็นแบบนี้ทุกสัปดาห์ไปตลอดทั้งเทอม แถมยังเป็นประเทศที่มีวันหยุดราชการน้อยมาก (ถ้าตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ ก็ไม่มีการหยุดชดเชย) เพราะเชื่อว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ หากหยุดเรียนเพียง 1 วัน ก็อาจตามคนอื่นไม่ทันแล้ว หลังจากเรียนที่โรงเรียนเสร็จก็ต้องไปเรียนพิเศษเพิ่มเติมต่อถึง 5 ทุ่ม ทำทุกวิถีทางเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐบาลให้ได้ เพราะค่าเทอมของมหาวิทยาลัยรัฐบาลนั้นถูกกว่าค่าเทอมของมหาวิทยาลัยเอกชนค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับรายได้ของชาวไต้หวันที่อาจจะไม่ได้สูงมาก ทำให้การสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐบาลให้ได้คือสิ่งที่ทั้งผู้ปกครองและเด็กทุกคนมองว่าเป็นภารกิจสำคัญอันดับหนึ่ง

 

 

     ทางฮ่องกงเองก็ไม่แพ้กัน หลังพ้นจากการปกครองของอังกฤษและกลับเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ รัฐบาลได้ยกเลิกระบบการศึกษาดั้งเดิมของอังกฤษที่ใช้มานานถึง 99 ปี และเริ่มปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา โดยมีการทุ่มงบประมาณให้กับด้านการศึกษามากถึงปีละ 340,000 ล้านบาท และเช่นเคยที่ทุกอย่างพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว คนที่อยู่ในระบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องแข่งขันเพื่อยกระดับตัวเองให้ทันกับการพัฒนา จนฮ่องกงกลายเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการแข่งขันด้านการศึกษาสูงไปโดยปริยาย

     ฮ่องกงมีการคัดเลือกเด็กอย่างเข้มงวดตั้งแต่จบชั้นประถมศึกษาแบ่งออก 3 กลุ่ม โดยเด็กที่เรียนเก่งมากๆ หรือมีความสามารถพิเศษด้านใดด้านหนึ่งจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ 1 สามารถเลือกโรงเรียนมัธยมตามที่ต้องการได้ ส่วนกลุ่มที่ 2 จะสามารถเลือกโรงเรียนได้ลดหลั่นลงมา กับกลุ่มสุดท้ายที่ไม่มีความรู้ทางด้านวิชาการโดดเด่น ก็มีสิทธิ์เลือกโรงเรียนน้อยลงไปอีก ซึ่งเด็กจากกลุ่มที่ 3 เมื่อจบ ม.3 หรือ ม.6 มักจะเลือกทำงานต่อทันที หรือไม่ก็เลือกเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าแทน

 

 

     ด้วยระบบดังกล่าวนี้เองทำให้ในช่วงแรกทุกคนต้องพยายามแข่งขันกันเพื่อพาตัวเองเข้าไปอยู่ในกลุ่มที่ 1 หรือกลุ่มที่ 2 ให้ได้ เรียกว่าปลูกฝังวัฒนธรรมการแข่งขันมาตั้งแต่ประถม และนิสัยนั้นก็ติดตัวต่อมาจนถึงชั้นมัธยมที่ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ยังดีที่ในช่วงปีหลังๆ รัฐบาลฮ่องกงเริ่มมองเห็นปัญหาและให้ความสำคัญกับเด็กกลุ่มที่ 3 มากขึ้น โดยมีการสนับสนุนงานสายวิชาชีพให้กับเด็กที่ไม่ต้องการ หรือไม่สามารถเรียนต่อด้านมหาวิทยาลัยได้ ทำให้ปัญหาเรื่องการแข่งขันในระดับสูงลดลงได้บ้าง แต่ก็ได้เพียงแค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะสุดท้ายคนส่วนใหญ่ก็ยังอยากพาตัวเองเข้าไปสู่จุดที่อยู่ใกล้กับ ‘ความสำเร็จ’ ให้มากที่สุดอยู่ดี

 

 

เกาหลีใต้และการสอบซูนึง สถานีต่อไปของ ฉลาดเกมส์โกง

     ถึงแม้พัฒน์จะพูดไว้ในฉากปลุกใจเพื่อนๆ ก่อนทำภารกิจในเรื่อง ฉลาดเกมส์โกง ว่า “เราต้องเป็นคนเลือกมหาวิทยาลัย ไม่ใช่มหาวิทยาลัยเป็นคนเลือกเรา” แต่ประโยคนั้นใช้กับเด็กๆ ในเกาหลีใต้ไม่ได้ เพราะที่นี่เด็กทุกคนจำเป็นที่จะต้อง ‘ยอม’ ให้มหาวิทยาลัยเลือก ถึงขนาดมีคนรับจ้างให้คำปรึกษาเพื่อปรับทัศนคติและลักษณะของเด็กคนนั้นให้ตรงกับคุณลักษณะที่มหาวิทยาลัยต้องการ

 

 

     ถ้าวัดจากสิ่งที่เราได้รับจากการดูสารคดีเรื่อง Reach for the SKY ฝากฝันไว้ที่ปลายฟ้า ที่พูดถึงชีวิตของเด็กวัยรุ่นเกาหลีใต้ที่ต้องเผชิญกับสงครามการสอบเข้าระดับมหาวิทยาลัยของเกาหลีใต้ จนถูกยกให้เป็นหนึ่งในประเทศที่นักเรียน ม.ปลาย เครียดมากที่สุดในโลก โดยจะพูดถึงการเตรียมตัวสอบซูนึง (การสอบวัดระดับทั่วประเทศของเกาหลีใต้) ของวัยรุ่นเกาหลีทั้งประเทศ

 

 

     ท่ามกลางมหาวิทยาลัยมากมายที่มีให้เลือก มีเพียง 3 มหาวิทยาลัยอย่าง Seoul National University, Korea University และ Yonsei University เท่านั้นที่เป็นที่หมายปองของผู้เข้าสอบ (รวมทั้งผู้ปกครอง) ทุกคน เพราะเชื่อว่ามีเพียง ‘SKY’ เท่านั้นที่จะช่วยยืนยันความสำเร็จจากหน้าที่การงานในอนาคตให้กับพวกเขาได้

 

 

     และหากมองในแง่ตัวเลขว่าจากผู้เข้าสอบประมาณ 650,000 คน จะมีไม่ถึง 1% เท่านั้นที่จะได้เข้า 3 มหาวิทยาลัยอย่างที่ตัวเองใฝ่ฝัน นั่นเท่ากับว่าระดับ ‘ความกดดัน’ ของการสอบซูนึงนั้นมีมากกว่าการสอบเกาเข่าอยู่หลายช่วงตัว

     ทุกคนต้องเตรียมตัวอ่านหนังสือแบบไม่ได้หยุดพัก การอ่านหนังสือหลังเที่ยงคืนเป็นเหมือนกิจกรรมบังคับที่ใครไม่ทำต้องแพ้ มีโรงเรียนประจำที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเด็กที่รอสอบใหม่โดยเฉพาะ และชีวิตในนั้นโหดร้ายและเข้มงวดไม่ต่างอะไรจากค่ายทหาร รวมทั้งการเรียนพิเศษถึง 5 ทุ่มในทุกๆ วัน และการเชิดชู ‘ติวเตอร์’ ไม่ต่างอะไรจากเทพเจ้าแห่งวงการการศึกษา (ติดตามอ่านชีวิตของเด็กเกาหลีใต้กับการสอบซูนึงแบบเต็มๆ ได้ที่นี่)

 

 

     ถ้ามองในแง่นี้แล้วเทียบกับความสำเร็จของเรื่อง ฉลาดเกมส์โกง ที่ทำรายได้จากจีน ฮ่องกง และไต้หวันไปอย่างถล่มทลาย ทำให้พอเดาได้ไม่ยากว่าวันในที่ ‘ครูพี่ลิน’ ไปเปิดตัวต่อหน้าชาวเกาหลีใต้ ทุกคนจะต้องให้การตอบรับครูพี่ลินอย่างล้นหลามแน่นอน

           

 

การแบกกระสอบแห่งความฝันที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นของใคร

     พัฒน์กับเกรซเองก็ไม่ได้เรียนเพราะอยากเรียน พวกเขาต้องดิ้นรนทำข้อสอบ STIC ให้ได้เพียงเพราะพ่อของเขากำหนดว่าจะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่อเมริกาให้ได้เท่านั้น

     เช่นเดียวกับความคาดหวังของพ่อแม่นับร้อยล้านคนจากจีน ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ฯลฯ ที่เอา ‘ความฝัน’ ของตัวเองแพ็กใส่กระสอบแล้ววางไว้บนบ่าของลูกๆ ให้พวกเขาต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยอันเป็นหลักประกันความสำเร็จขั้นพื้นฐานให้ได้ ซึ่งเอาเข้าจริงคำว่า ‘ความฝัน’ หรือ ‘ความสำเร็จ’ ก็ไม่ได้รับการยืนยันด้วยซ้ำว่านอกจากความต้องการของพ่อแม่แล้ว ตัวเด็กที่แบกกระสอบแห่งความคาดหวังนั้นเอาไว้ จะอยากดำเนินชีวิต และดัชนีความสำเร็จที่ว่าจะเป็นตัวบ่งชี้ระดับ ‘ความสุข’ ในอนาคตของพวกเขาได้หรือเปล่า

 

 

     เพราะหลายครั้งที่เราเห็นเวลาพ่อแม่ไปพูดคุยกับเพื่อนบ้านหรือคนในสังคมด้วยหน้าตาภาคภูมิใจ บอกว่าลูกของตัวเองสอบเข้าได้ที่นั่นที่นี่ แต่ใบหน้าของเด็กๆ เหล่านั้นกลับเต็มไปด้วยความกระอักกระอ่วน ไม่มั่นใจ และต้องยืนหลบอยู่ด้านหลัง เพราะกลัวคำถามที่ว่า “จบแล้วจะไปทำอะไรต่อ?” ที่มักจะสร้างความลำบากใจตามมาให้พวกเขาทุกครั้ง

     หากมองในแง่นี้ เราจะเห็นว่าเด็กๆ ในประเทศของเรายังถือว่าโชคดีมากที่วัฒนธรรมการแข่งขันยังไม่สูงและกดดันมากเท่า 4 ประเทศข้างต้น แต่ก็ต้องยอมรับว่า ‘วัฒนธรรมการแข่งขัน’ และ ‘การการันตีความสำเร็จด้วยชื่อเสียงสถาบัน’ ก็กำลังเพิ่มความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

     เด็กๆ หลายคนเริ่มตอบไม่ได้ว่าที่จริงแล้วเขาอยาก ‘เรียน’ และอยากที่จะ ‘เป็น’ อะไรกันแน่ในอนาคต เพราะคำตอบที่ตอบได้มีเพียงเขาอยากเรียน ‘ที่ไหน’ เท่านั้น และหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่แน่ว่าในอนาคตหากมีหนังเกี่ยวกับการแข่งขันในระบบการศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาดังที่ประเทศไทย ก็อาจจะมีคนต้องมาถอดบทเรียนและวิเคราะห์ถึงการแข่งขันและสิ่งที่เด็กๆ ของเราจะต้องเผชิญไม่ต่างจากบทความนี้ก็เป็นได้

 

อ้างอิง:

FYI
  • การสอบจอหงวนในยุคก่อนของจีนมีการทุจริตเกิดขึ้นเยอะมาก ถึงขนาดมีระบบ ‘ผู้คัดลอกคำตอบ’ เพื่อคัดลอกคำตอบจากผู้สมัครก่อน 1 ครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ตรวจข้อสอบจำลายมือของผู้เข้าสอบและเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เข้าสอบที่อาจมีผลประโยชน์ร่วมกันได้
  • แม้แต่ แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba ก็เคยผ่านการสอบดังกล่าวนี้ถึง 3 ครั้งกว่าจะเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยได้
  • ก่อนสอบเกาเข่ามีนักเรียนยอมนอนให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดเพราะเชื่อว่าจะช่วยให้มีสมาธิดีขึ้น หรือรับประทานยาเลื่อนประจำเดือนเพื่อให้ทำข้อสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ฉลาดเกมส์โกง ยังเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ที่ผ่านระบบการทำ Digital Media Remastering (DMR) เพื่อปรับปรุงคุณภาพทั้งภาพและเสียงเพื่อฉายบนจอยักษ์ในระบบ IMAX ที่ประเทศจีน
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising