×

แอมเนสตี้ออกแถลงการณ์ ประณามการประหารชีวิตรอบ 9 ปีของไทย ชี้น่าละอาย

โดย THE STANDARD TEAM
19.06.2018
  • LOADING...

หลังเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 กรมราชทัณฑ์ดำเนินการบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลด้วยการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชายธีรศักดิ์ หลงจิ อายุ 26 ปี ผู้ต้องขังในคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้ายเพื่อชิงทรัพย์ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 ที่จังหวัดตรัง

 

วันนี้ (19 มิ.ย.) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการประหารชีวิตดังกล่าว ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปีของไทย นับแต่เดือนสิงหาคม 2552

 

 

แคทเธอรีน เกอร์สัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เรื่องนี้นับเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตรอดอย่างน่าละอาย เป็นเรื่องน่าตกใจที่ประเทศไทยละเมิดต่อพันธกิจที่เคยประกาศไว้ว่า จะเดินหน้าไปสู่การยกเลิกโทษประหาร และการปกป้องสิทธิที่จะมีชีวิตรอด ทั้งยังเป็นการทำตัวไม่สอดคล้องกับกระแสโลก ซึ่งกำลังมุ่งหน้าออกจากโทษประหาร

 

“ไม่มีหลักฐานใดๆ ว่าโทษประหารจะส่งผลให้บุคคลยั้งคิดก่อนกระทำความผิดอย่างชัดเจน การที่ทางการไทยคาดหวังว่ามาตรการเช่นนี้จะช่วยลดการก่ออาชญากรรม จึงเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง โทษประหารนับเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีมากสุด ทั้งไม่ได้เป็น ‘คำตอบสำเร็จรูป’ ที่ช่วยแก้ปัญหาที่ทางการต้องการแก้ไขอย่างรวดเร็ว  

 

หลังผ่านไปเกือบ 10 ปีที่ไม่มีการประหารชีวิต การประหารชีวิตครั้งนี้นับเป็นความถดถอยสำคัญในเส้นทางไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตของไทย รัฐบาลไทยต้องยุติแผนการใดๆ ที่จะประหารชีวิตประชาชนอย่างต่อเนื่อง และจัดทำความตกลงชั่วคราวเพื่อยุติการใช้โทษประหารชีวิต”

 

นับเป็นการประหารชีวิตครั้งแรกของไทย หลังจากมีการประหารชีวิตด้วยการฉีดยาต่อนักโทษชายสองคนเมื่อเดือนสิงหาคม 2552 ซึ่งก่อนหน้านั้นก็ไม่มีการประหารชีวิตบุคคลเลยตั้งแต่ปี 2546

 

จากตัวเลขของกระทรวงยุติธรรมระบุว่า จนถึงสิ้นปี 2560 มีนักโทษประหารอยู่จำนวน 510 คน โดยเป็นผู้หญิง 94 คน ในจำนวนนี้ 193 คนเป็นนักโทษเด็ดขาดที่ผ่านกระบวนการอุทธรณ์คดีหมดสิ้นแล้ว เชื่อว่ากว่าครึ่งหนึ่งของนักโทษเหล่านี้ต้องโทษประหารชีวิตในคดียาเสพติด

 

แม้ว่าการใช้โทษประหารชีวิตเชิงบังคับถือเป็นข้อห้ามตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่โทษประหารยังเป็นโทษเชิงบังคับสำหรับความผิดหลายประการในประเทศไทย รวมทั้งคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณ โดยความผิดหลายประการที่มีการใช้โทษประหาร มีลักษณะไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของการเป็น ‘อาชญากรรมร้ายแรงสุด’ ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศอนุญาตให้ใช้โทษแบบนี้ได้

 

สำหรับประเทศต่างๆ ที่ยังไม่ยกเลิกโทษประหารเสียทีเดียวเมื่อ 40 ปีที่แล้ว มีเพียง 16 ประเทศ ที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต จนถึงทุกวันนี้ 106 ประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดทุกประเภท และ 142 ประเทศหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว นั่นแสดงให้เห็นว่าทัศนคติและความเชื่อดั้งเดิมสามารถเปลี่ยนแปลงได้

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตตามที่ประกาศไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และถือเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งมีงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอาชญากรรมที่เกิดขึ้น

 

ขณะที่ความเคลื่อนไหววันนี้ มีรายงานว่า นักกิจกรรมและอาสาสมัครของแอมเนสตี้ ประเทศไทย จะรวมตัวกันบริเวณด้านหน้าเรือนจำบางขวาง เวลา 14.00-14.30 น. เพื่อไว้อาลัยกับบุคคลที่ถูกประหารชีวิต และยืนยันจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต โดยนักกิจกรรมจะใส่เสื้อดำ ถือป้ายข้อความ แสดงเชิงสัญลักษณ์ วางดอกไม้และเทียนเพื่อไว้อาลัย

 

ด้าน พ.ต.อ. ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 ถึงปัจจุบันมีการบังคับโทษประหารชีวิตมาแล้ว จำนวน 325 ราย โดยแยกเป็น

 

  1. การใช้อาวุธปืนยิงจำนวน 319 ราย โดยมีการยิงรายสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2546
  2. การฉีดยาสารพิษ จำนวน 6 ราย มีการฉีดสารพิษครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2546 และครั้งล่าสุดก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2552

 

ทั้งนี้การประหารชีวิต ถือเป็นบทลงโทษทางอาญาที่หนักที่สุดตามกฎหมายไทย ซึ่งมีโทษ 5 อย่างคือ ปรับ ริบทรัพย์สิน กักขัง จำคุก และประหารชีวิต แม้หลายประเทศได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้วก็ตาม แต่ก็มีอีกหลายประเทศที่ยังคงมีโทษประหารชีวิตอยู่เช่นเดียวกับประเทศไทย อาทิ สหรัฐอเมริกาและจีน ถือเป็นการปกป้องสังคมและพลเมืองส่วนใหญ่ให้พ้นจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมมากกว่าเน้นสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่กระทำผิดกฎหมาย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising