วันนี้ (30 พฤษภาคม) ที่อาคารรัฐสภา รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ได้นำข้อเสนอเกี่ยวกับการพิจารณาความผิดที่เข้าข่ายการนิรโทษกรรมเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม
โดย รศ.ดร.ยุทธพร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ว่า ได้เสนอรายงาน 7 ประเด็นใหญ่ ดังนี้
- แรงจูงใจทางการเมือง ว่าจะนิยาม หรือใช้กรอบระยะเวลาอย่างไร
- การจำแนกประเภทการกระทำในคดีที่มีเหตุมาจากแรงจูงใจทางการเมือง โดยจะจำแนกเป็นคดีหลัก คดีรอง คดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง หรือคดีที่เกิดขึ้นในภาวะที่กระบวนการยุติธรรมไม่ปกติ เช่น ช่วงที่เกิดการรัฐประหาร
- การนำเสนอทางเลือกในการนิรโทษกรรม เช่น ทางเลือกให้แต่งตั้งคณะกรรมการนิรโทษกรรม ทางเลือกที่จะไม่ใช้คณะกรรมการนิรโทษกรรม และทางเลือกแบบผสมผสาน แต่ยังไม่ลงมติว่าจะเลือกในทางใด เนื่องจากยังมีความเห็นที่หลากหลาย
- นำเสนอโครงสร้าง องค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ หากเป็นกรณีที่แต่งตั้งคณะกรรมการนิรโทษกรรม
- กลไกและกระบวนการในการนิรโทษกรรม
- กรอบในการเยียวยาและการล้างมลทินผู้กระทำความผิด
และ 7. มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ
ส่วนการพูดคุยเรื่องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น รศ.ดร.ยุทธพร ยืนยันว่าไม่มีการพูดคุยเรื่องมาตรา 112 เลย แต่ไม่ได้หมายความว่าเราตัดทิ้ง เพราะจริงๆ แล้วเรื่องนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ไม่เคยตัดทิ้งเลย แต่มีกระบวนการไปบิดเบือนข้อมูลว่าตัดมาตรา 112
ขณะนี้อยู่ในช่วงการพิจารณา ย้ำว่าไม่เคยมีการพูดคุยว่าจะนิรโทษกรรมให้ใคร กลุ่มบุคคลใด เหตุการณ์ใด หรือการกระทำใดเป็นพิเศษ เพราะกฎหมายนิรโทษกรรมต้องช่วยทุกคนให้ได้รับประโยชน์ของกฎหมาย และไม่ว่าฐานความผิดใด หากกระทำไปโดยมีแรงจูงใจทางการเมืองก็สามารถอยู่ในข่ายนิรโทษกรรมได้
“สำหรับเงื่อนไขของความผิดตามมาตรา 112 นั้น เราถือว่าเป็นคดีที่มีความอ่อนไหวและละเอียดอ่อนในทางการเมือง จึงต้องมีกลไกในการพิจารณาอย่างละเอียด รอบคอบ และรอบด้าน เพราะจะต้องไม่ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองที่ซับซ้อนขึ้นไปอีก หรือก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองใหม่ ดังนั้นจึงต้องมีขั้นตอนในการกลั่นกรองมากกว่าคดีปกติ” รศ.ดร.ยุทธพร กล่าว
ส่วนในที่ประชุมมีความเห็นตรงกันหรือไม่ว่าหากนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 จะต้องนำเข้าทุกคดี ไม่เลือกปฏิบัติ รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวย้ำถึงหลักการไม่เลือกปฏิบัติว่า เป็นสิ่งที่เรายึดถืออยู่แล้ว แต่ในแง่กลไก กระบวนการจะมีขั้นตอนอย่างไรนั้น ยังไม่มีข้อสรุป
ทั้งนี้ รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวด้วยว่า ในที่ประชุมไม่ได้พูดคุยถึงกรณีที่อัยการสูงสุดฟ้องดำเนินคดีมาตรา 112 ทักษิณ ชินวัตร แม้แต่ครั้งเดียว ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ทั้งในคณะอนุกรรมาธิการฯ หรือคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แม้ก่อนหน้านี้จะมีกระแสข่าวว่าจะนิรโทษกรรมให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ก็ยืนยันมาโดยตลอดว่าทุกครั้งที่เข้าประชุมไม่เคยมีครั้งไหนที่พูดถึงชื่อของยิ่งลักษณ์เลย
“ไม่มีฐานความผิดที่ว่าด้วยเรื่องการทุจริตอยู่ใน 25 ฐานความผิด ไม่มีฐานความคิด มาตรา 157 ที่ว่าด้วยเรื่องเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ของคดียิ่งลักษณ์ และยิ่งลักษณ์ก็ไม่ได้ประโยชน์จากตรงนี้ เช่นเดียวกันกับกรณีของทักษิณ” รศ.ดร.ยุทธพร กล่าว
ส่วนท่าทีของพรรคเพื่อไทยในคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ภายหลังกรณีคดีทักษิณ รศ.ดร.ยุทธพร ระบุว่า ในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีที่มาจากหลายฝ่าย และไม่มีการแสดงท่าทีใดๆ ต่อเรื่องของทักษิณ แม้ก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยจะถูกมองว่าไม่ยุ่งเกี่ยวกับมาตรา 112 แต่ในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ยืนยันว่าทุกคนมีความเป็นอิสระ ไม่มีบทบาทหรืออิทธิพลของพรรคเพื่อไทยเข้ามาเลย
สำหรับการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในสัปดาห์หน้า รศ.ดร.ยุทธพร คาดว่าจะเป็นการหาข้อสรุปเรื่องการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดีที่เข้าข่ายการนิรโทษกรรมว่าจะมีหรือไม่ มีองค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ และมีกระบวนการนิรโทษกรรมอย่างไร
ขณะที่ประธานคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ดังกล่าวนั้นควรจะต้องเป็นใคร รศ.ดร.ยุทธพร ยอมรับว่าขณะนี้ยังมีความหลากหลายมาก เคยมีการเสนอว่าอาจจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังไม่มีข้อยุติ