จากกรณีที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ดำเนินโครงการ CDM AMRO โดยให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งยืนยันตัวตนผู้ฝากเงินสดผ่านเครื่องอัตโนมัติ หรือเครื่อง CDM โดยใช้บัตรเดบิต บัตร ATM หรือบัตรเครดิตของลูกค้าเสียบที่ตู้ และใส่รหัส PIN ก่อนทำรายการฝากเงินสดทุกครั้ง เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการทำธุรกรรม และป้องกันการฟอกเงิน โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชน
ล่าสุด เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาเปิดเผยว่า ปปง. ได้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวออกไปก่อน โดยขอให้ ธปท. ทำงานร่วมกับสมาคมธนาคารไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาวิธีการยืนยันตัวตนรูปแบบอื่นมาใช้แทนการเสียบบัตร เพื่อไม่ให้เกิดภาระกับประชาชน แต่ขณะนี้ยังคงไม่ได้ข้อสรุปว่าจะนำการยืนยันรูปแบบใดมาใช้แทน
ผู้ว่า ธปท. ระบุว่า หนึ่งในข้อเสนอที่มีเข้ามาในขณะนี้คือ การใช้บัตรประชาชนยืนยันตัวตนที่ตู้ CDM แทนการใช้บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต เนื่องจากทุกคนมีบัตรประชาชนอยู่แล้ว แต่การใช้บัตรประชาชนยังมีเรื่องความเสี่ยงหากบัตรหาย และต้องติดตั้งเครื่องอ่านการ์ดที่ตู้ CDM ส่งผลให้ต้นทุนทางธุรกรรมสูงขึ้น ซึ่งอาจถูกส่งผ่านไปยังประชาชนไม่ทางตรงก็ทางอ้อม จึงอาจมีวิธีที่เหมาะสมมากกว่า
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนออื่นๆ เช่น การใช้โมบายล์แบงกิ้ง แอปพลิเคชันธนาคาร การใช้เฉพาะเลขบัตรประชาชน รวมถึงการยืนยันด้วย OTP โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการหารือเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด
“ขณะนี้เราอยู่ระหว่างหาวิธีการในการยืนยันตัวตนที่เหมาะกว่าการเสียบบัตร เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อคนไม่มีบัตร และไม่เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา โดย ธปท. จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ยังตอบไม่ได้ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน โดยระหว่างนี้ ปปง. จะเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวออกไปก่อน” เศรษฐพุฒิกล่าว