ความพยายามของไทยในการเดินหน้าเจรจานโยบายภาษีศุลกากรกับสหรัฐฯ ถูกจับตามองมากขึ้น หลังรัฐบาลไทยแถลงเลื่อนการเจรจาออกไป ท่ามกลางข้อสงสัยของหลายฝ่ายว่า อะไรที่เป็นอุปสรรคของการเจรจา
ที่ผ่านมา สหรัฐฯ แสดงท่าทีต้องการพูดคุยกับไทย โดย สก็อตต์ เบสเซนต์ (Scott Bessent) รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่า ตั้งใจที่จะเจรจาการค้ากับ 14 ประเทศคู่ค้าสำคัญ ซึ่งรวมถึงไทยที่มีตัวเลขเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงสุดเป็นอันดับ 10
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ มองว่า การเจรจากับสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลทรัมป์ 2.0 นั้นอาจ ‘ยากเย็น’ และ ‘ยากจะเข้าใจ’ เพราะไม่อิงกับระบบราชการแบบเก่า แต่ขึ้นอยู่กับทรัมป์และวงในทางการเมืองในวอชิงตัน
ขณะที่ไทยเองยังมีประเด็นร้อน ที่สหรัฐฯ จับจ้อง ทั้งกรณีการส่งกลุ่มชาวอุยกูร์ให้จีน และกรณีล่าสุดคือการจับกุมและดำเนินคดี พอล แชมเบอร์ อาจารย์ชาวอเมริกัน ประจำสถานประชาคมอาเซียนศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ในข้อหาความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
รัฐบาลสหรัฐฯ แสดงออกชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยต่อทั้ง 2 กรณี ในขณะที่นักวิเคราะห์จับตามองว่า ประเด็นเหล่านี้ อาจกลายเป็น ‘เผือกร้อน’ ที่ทำให้การเจรจากับสหรัฐฯ ยากขึ้นอีกหรือไม่?
ระบบพันธมิตรแบบเก่าใช้ไม่ได้
ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การเจรจากับ ‘ทำเนียบขาว’ ยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นั้น ยากเย็นกว่าการจัดการกับกลุ่มอำนาจทางการเมืองภายในประเทศไทย โดยรัฐบาลไทยนั้น ไม่เข้าใจชุดความคิดทรัมป์
เขามองว่า รัฐบาลไทยไม่สามารถใช้วิธีคิดแบบเดิมในการเข้าถึงรัฐบาลสหรัฐฯ ได้อีก เพราะโครงสร้างการตัดสินใจของทรัมป์ ไม่ได้ยึดหลักราชการแบบเก่า แต่พึ่งพาวงในทางการเมืองเป็นหลัก
ขณะที่ ดร.สุรชาติ ชี้ว่า การคาดหวังความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้นำอย่างทรัมป์ หรือการยึดติดกับระบบพันธมิตรแบบเก่า เป็นเรื่องที่ใช้ไม่ได้อีกต่อไปในยุคนี้ เพราะทรัมป์ไม่ให้ความสำคัญกับพันธมิตรหากไม่มีผลประโยชน์ที่จับต้องได้
จับ พอล แชมเบอร์ส กระทบเจรจา?
กรณีการจับกุม ดร.พอล ในคดี 112 เป็นอีกประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลว่า อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเจรจากับสหรัฐฯ
ก่อนหน้านี้ คิต แชมเบอร์ส พี่ชายของ ดร.พอล ได้เผยแพร่บทความแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์สำนักข่าว The Oklahoman ชี้ว่า หนึ่งในประเด็นสำคัญของการเจรจาที่ไม่ควรมองข้าม คือกรณีของ ดร.พอล ซึ่งเขาอ้างว่า ถูกกักขังอย่างผิดกฎหมายในประเทศไทย และมองว่า การเจรจาไม่อาจเริ่มต้นได้ จนกว่าพอลจะได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านเกิดในรัฐโอคลาโฮมา
อย่างไรก็ตาม ดร.ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ อาจารย์ประจำสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าบทความดังกล่าว เป็นเพียงการแสดงความเห็นส่วนตัวของพี่ชาย ดร.พอล ในรูปแบบ Premium Op-ed ผ่านหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เพื่อสื่อสารความต้องการของเขาไปยังรัฐบาลสหรัฐ หรือผู้มีอำนาจอย่าง สส. ของรัฐโอคลาโฮมา เพื่อที่จะนำเรื่องนี้ไปบอกทรัมป์ว่ามีเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้น
เขามองว่ากรณีของ ดร.พอล อาจจะกลายเป็น ‘ปัจจัย’ ที่สหรัฐฯ สามารถนำเอามาพิจารณาเป็น ‘ข้อต่อรอง’ กับไทยได้ และเชื่อว่าทีมงานของทรัมป์ที่ทำงานในนโยบายเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียในทำเนียบขาวก็น่าจะทราบเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะเป็นประเด็นที่สำคัญ และอาจจะต้องมีการรายงานให้กับกลุ่มต่างๆ รวมถึงทีมเจรจาและผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ ได้รับทราบอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการหยิบยกกรณีนี้มาเป็นข้อต่อรองระหว่างเจรจาหรือไม่
ดร.ฟูอาดี้ มองว่า ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนนี้ ไทยควรลดโอกาสและลดไพ่ในมือที่สหรัฐฯ จะนำมาต่อรอง โดยไม่ควรให้มีประเด็นใดมาทำให้การเจรจาเบี่ยงเบนจากวัตถุประสงค์หลัก ซึ่งจะทำให้ทีมเจรจาฝ่ายไทยทำงานได้ยากขึ้น
โดยแม้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์ อาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับมิติด้านสิทธิมนุษยชนมากนัก แต่หากประเด็นนี้เอื้อประโยชน์ต่อการเจรจาต่อรอง เขาก็อาจหยิบยกขึ้นมาใช้ได้
“เราก็ต้องพยายามลดแรงเสียดทานและปัจจัยต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องลง ซึ่งถ้ามองในมุมมองสิทธิมนุษยชน สิ่งนี้ไม่ควรเกิดขึ้นอยู่แล้ว เราก็รู้ว่า ทรัมป์อาจจะไม่ได้แคร์เรื่องนี้ แต่ทรัมป์จะแคร์ ถ้าสิ่งนี้ ‘เป็นประโยชน์’ ต่อการเจรจาต่อรอง ถ้าเรื่องนี้ใช้แล้วได้ผล เขาก็อาจจะใช้ เราจึงควรลดแรงเสียดทานตรงนี้ลงให้ได้มากที่สุด”
ส่วนแนวทางในการลดแรงเสียดทานตามที่พี่ชาย ดร.พอล เสนอในบทความ คือให้น้องชายได้เดินทางกลับสหรัฐฯ ดร.ฟูอาดี้ มองว่า รัฐบาลไทยต้องพิจารณาว่า สามารถทำอะไรได้บ้าง แม้ว่าอาจจะมองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ก้าวก่ายไม่ได้ เป็นเรื่องของฝ่ายตุลาการ
เขามองว่า รัฐบาลมีหน้าที่ต้องบอกกล่าวไปยังองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้การเจรจาของไทยกับสหรัฐฯ ทำได้ยากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ และทุกฝ่ายต้องเข้าใจว่า มีอะไรที่ไทยผ่อนปรนและทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้บ้าง เพื่อช่วยเหลือแผนการเจรจาที่จะเกิดขึ้น
ปมอุยกูร์ อาจทำเจรจายิ่งยากขึ้น
การส่งตัวกลุ่มชาวอุยกูร์-กลับไปยังจีน เป็นอีกกรณีที่อาจเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ มีไพ่เหนือกว่าไทยในการเจรจา ซึ่ง ดร.ฟูอาดี้ ชี้ว่า หากสหรัฐฯ รู้สึกว่าไทยเอนเอียงไปทางจีน ก็อาจเป็นข้อต่อรองที่ทำให้การเจรจาทำได้ยากขึ้น
“ประเด็นสิทธิมนุษยชนถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่ปัญหาคือในการดีลกับสหรัฐฯ รัฐบาลทรัมป์ จะเลือกใช้อะไรก็ได้ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง”
ขณะที่การส่งชาวอุยกูร์ที่เหลือในไทยอีก 5 คนกลับไปจีน อาจยิ่งทำให้สถานการณ์บานปลายมากขึ้น
อีกปัญหาใหญ่จากกรณีอุยกูร์ คือรัฐบาลไทยไม่สามารถจัดทีมเจรจานโยบายภาษีและการค้ากับสหรัฐฯ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากสหรัฐฯ ยังไม่เปิดเผยรายชื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยที่ถูกคว่ำบาตรห้ามเดินทางเข้าสหรัฐฯ ซึ่งจะรู้ก็ต่อเมื่อมีการยื่นขอวีซ่า จึงทำให้เกิดคำถามสำคัญว่า นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีต่างประเทศ จะสามารถเดินทางไปร่วมเจรจาที่สหรัฐฯได้หรือไม่ โดยข้อจำกัดนี้ อาจส่งผลต่อการกำหนดยุทธศาสตร์และทีมเจรจาของไทย
เตือนละเลยคำทักท้วงสหรัฐฯ
ทางด้าน ดร.สุรชาติ ให้ความเห็นว่า ประเด็นที่น่ากังวลสำหรับไทย คือความไม่เข้าใจในชุดความคิดของทรัมป์ ซึ่งอาจนำไปสู่ความผิดพลาดในระดับนโยบาย อาทิ การละเลยต่อคำทักท้วงของสหรัฐฯ ทั้งกรณีการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน และการจับกุม ดร.พอล ในคดี 112 ซึ่งกลายเป็นเรื่องใหญ่ถึงระดับรัฐสภาอเมริกัน
โดยเขาเผยว่า ช่วงที่ผ่านมา สว.รัฐโอคลาโฮมา บ้านเกิดของ ดร.พอล ได้มีการโทรติดต่อครอบครัว ดร.พอล ในเมืองไทย ในขณะที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเทพ ก็ถูกสั่งให้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
ดร.สุรชาติ กล่าวว่า คนในสังคมไทยต้องไม่คิดว่าท่าทีของสหรัฐฯ ต่อกรณี ดร.พอล คือการแทรกแซง แต่ต้องทำความเข้าใจว่า รัฐบาลสหรัฐฯ รู้สึกว่า การจับกุมที่เกิดขึ้นนั้นไม่เป็นธรรมและไม่ถูกต้อง
“ต้องไม่ทำให้อุยกูร์กับการจับอาจารย์ พอล แชมเบอร์กลายเป็นปัจจัยในการทำลายทุกอย่างที่เป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของไทย” เขากล่าว
เขาเตือนว่า ไทยไม่ควรคิดแก้ไขปัญหาด้วยทัศนคติแบบชาตินิยม ที่คิดว่าสามารถชนกับสหรัฐฯ ได้โดยไม่ต้องสนใจผลกระทบ แต่ต้องคิดว่า จะทำอย่างไรที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ และเลิกคิดว่า จีนจะช่วยไทยทุกอย่าง เพราะต้องไม่ลืมว่า ตลาดหลักของไทยยังคงเป็นสหรัฐฯ
คุยกับคนบ้าหรือคนฉลาด
ขณะที่ รศ. ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ ชี้ถึงผลกระทบจากกรณีที่เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งเรื่อง ดร.พอล ชาวอุยกูร์ หรือแม้แต่ประเด็นของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาที่มาเยือนไทย ต่อการเจรจากับสหรัฐฯ
เขามองว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลไทยเชื่อว่า ทรัมป์หรือผู้เจรจาที่จะคุยด้วย เป็นอย่างไรและเรารู้จักเขาขนาดไหน โดยแบ่งเป็น 2 ทฤษฎี ได้แก่ ทฤษฎีคนบ้า (Madman Theory) หรือคือที่คุยไม่รู้เรื่อง ทำลายระบบ ป่วยการที่จะไปคุย อีกทั้งยังเรียกร้องเกินความเป็นจริง เช่น สหรัฐฯ ที่เป็นหนี้มากมาย แต่ก็ผลิตสินค้าไม่เก่ง โดยเขาเชื่อว่า หากเป็นไปตามทฤษฎีนี้สหรัฐฯ จะแพ้ภัยตัวเองในท้ายที่สุด
ส่วนทฤษฎีที่ 2 คือเรามองว่า สหรัฐฯ เป็นนักต่อรองที่ฉลาดและเก่งในวงการธุรกิจ ที่นำเทคนิคการต่อรองมาใช้ในการเมืองระหว่างประเทศ โดยต้องการกู้ศักดิ์ศรี เพิ่มรายได้ให้คนอเมริกัน จัดการกับจีน และรักษาอำนาจของตน
อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์ตอนนี้ที่มีความไม่แน่นอนสูง ดร.ฟูอาดี้ ให้ความเห็นว่า ท่าทีที่ดีในการเจรจากับสหรัฐฯ อาจจะต้องไม่รีบเกินไป และต้องไม่ช้าเกินไป
แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดอาจเป็นเรื่องที่ประชาชนไม่รู้สึกว่า ‘รัฐบาล’ โดยเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร มีภาวะผู้นำมากเพียงพอที่จะจัดการเรื่องนี้ได้ วิธีการตอบคำถามหรือสื่อสารของนายกฯ ทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อไปว่า ในภาวะสงครามการค้าเช่นนี้ เธอสามารถเป็นผู้นำ ในภาวะสงครามได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับประเทศไทยหรือไม่