วันนี้ (19 พฤศจิกายน) สถาบันวิจัยด้านอวกาศแห่งชาติของบราซิล (INPE) เผยข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การทำลายป่าไม้ในแอมะซอนที่ถูกทำลายลงมากที่สุดในรอบ 15 ปี โดยเพิ่มขึ้นสูงถึง 22% ภายในปีเดียว มีพื้นที่ถูกทำลายไปราว 13,235 ตารางกิโลเมตร สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2016
แอมะซอนถือเป็นผืนป่าที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก จนได้รับฉายาว่าเป็น ‘ปอดของโลก’ มีส่วนช่วยรับมือกับก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์กว่า 3 ล้านสปีชีส์ อีกทั้งยังเป็นบ้านของชนพื้นเมืองราว 1 ล้านคน
ทางด้าน โยอาคิม เลเต้ รัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของบราซิล ชี้ว่าข้อมูลดังกล่าวสะท้อนถึงความท้าทายที่เกิดขึ้น ซึ่งเราจำเป็นต้องช่วยกันยุติการกระทำดังกล่าว ซึ่งสถิติการตัดไม้ทำลายป่าในแอมะซอนมีแนวโน้มสูงขึ้น ภายในช่วงรัฐบาลของประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู ที่สนับสนุนให้มีการทำการเกษตรและขุดเหมืองในเขตพื้นที่ป่าไม้
ในขณะที่โบลโซนารูกล่าวหาว่า INPE พยายามที่จะทำลายเครดิตของตัวเขาและทำลายชื่อเสียงของบราซิล พร้อมอ้างว่า แท้ที่จริงแล้วป่าไม้ราว 90% ของบราซิลยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี แต่กระนั้นโบลโซนารูเองก็ไม่ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุม COP26 ที่สกอตแลนด์ด้วยตัวเอง แต่ส่งผู้แทนเข้าร่วม โดยบราซิลถือเป็นหนึ่งในประเทศสำคัญที่ร่วมลงนามในดีลข้อตกลงยุติการตัดไม้ทำลายป่าและพลิกฟื้นป่าไม้ที่ถูกทำลาย ภายในปี 2030 ที่ COP26 ที่ผ่านมา
ภาพ: Ricardo Beliel / Brazil Photos / LightRocket via Getty Images
อ้างอิง: