“หากประชากรโลกยังคงใช้ทรัพยากรธรรมชาติกันแบบในปัจจุบันนี้ต่อไปเรื่อยๆ ภายในปี 2050 เราจะต้องใช้โลกเพิ่มอีกอย่างน้อยหนึ่งใบครึ่ง ถึงจะเพียงพอกับความต้องการของเรา”
ชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และ รองผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงข้อมูลที่น่าตกใจของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในปัจจุบันที่อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อโลกในอนาคต
ทุกวันนี้ขยะทั่วโลกมีปริมาณที่เพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ และน่าเศร้าที่ปลายทางของขยะเหล่านั้นมักจะจบลงที่ท้องทะเลโดยที่เราไม่รู้ตัว ผลการสำรวจพบว่าจริงๆ แล้ว 80% ของขยะที่อยู่ในทะเลมีต้นตออยู่บนพื้นดิน ขยะพลาสติกเหล่านี้ไหลผ่านแม่น้ำและลำคลองลงสู่ทะเลรวมกว่า 8 ล้านตันต่อปี และ 60% ของขยะเหล่านี้เริ่มต้นมาจาก 5 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในขณะที่บางประเทศในพื้นที่ยุโรปอย่างเยอรมนีสามารถดักจับและรวบรวมขยะพลาสติกจากแม่น้ำลำคลองได้มากถึง 99% หรือประเทศนอร์เวย์ที่กำลังจะนำเข้าขยะพลาสติกจากประเทศใกล้เคียง เพื่อให้เพียงพอกับกำลังการจัดการพลาสติกที่ผู้ประกอบการภายในประเทศสามารถทำได้ ประเทศไทยยังสามารถจัดการขยะพลาสติกได้เพียง 25% เท่านั้น เหลือขยะอีกมากถึง 1.5 ล้านตันที่ยังไม่ถูกจัดการ และนั่นทำให้ประเทศไทยติดอันดับ 6 ในประเทศที่มีขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก
“จริงๆ แล้วพลาสติกเป็นวัสดุที่ดีมากๆ กับโลกและสิ่งแวดล้อม มี Carbon Footprint ที่น้อยที่สุด ในขณะเดียวกันยังสามารถใช้งานได้หลากหลายรูปแบบที่สุดด้วย เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ได้ต้องการหาสิ่งอื่นมาทดแทนพลาสติก หรือกำจัดพลาสติก แต่เราต้องการกำจัดพลาสติกที่เป็นขยะ โดยที่ยังสามารถรักษาประโยชน์ที่ได้จากพลาสติกด้วยเช่นเดียวกัน” จิม ซีวอร์ด (Jim Seward) Vice President, Sustainability, Technology and Joint Ventures, LyondellBasell, a representative of AEPW ได้อธิบายถึงประโยชน์ที่มากมายของพลาสติก
นี่จึงเป็นโอกาสที่ดีในการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในประเทศไทย กับการเปิดตัวสุดยอดความร่วมมือระดับโลกที่ร่วมก่อตั้งโดยหลายบริษัทชั้นนำในเครือห่วงโซ่อุตสาหกรรมพลาสติก ‘Alliance to End Plastic Waste’ ความหวังใหม่ของการแก้ปัญหาขยะพลาสติก อันตรายร้ายแรงในโลกปัจจุบัน ที่การร่วมมือกันคือทางออกเพียงหนึ่งเดียว
‘Alliance to End Plastic Waste’ รวมพลังสานฝันโลกไร้ขยะพลาสติกให้เป็นจริง
Alliance to End Plastic Waste (AEPW) คือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระดับโลกที่เกิดจากความร่วมมือของกลุ่มบริษัทที่ทำงานร่วมกันในเครือห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค ไปจนถึงผู้ที่จัดการพลาสติกหลังจากที่ผู้บริโภคใช้แล้ว เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาขยะพลาสติกโดยเฉพาะในมหาสมุทรให้ได้อย่างยั่งยืน
“เราคือกลุ่มพันธมิตรที่ขับเคลื่อนด้วยบริษัทชั้นแนวหน้าที่อยู่ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมพลาสติก จุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันมาจาก สมาชิกมีความสนใจ มีเป้าหมาย และมีความตั้งใจอยากเห็นผลสำเร็จแบบเดียวกัน อีกสิ่งหนึ่งคือตำแหน่งในเครือห่วงโซ่อุตสาหกรรมของเรามีความแตกต่างกัน บริษัทที่เป็นสมาชิกมีความเชี่ยวชาญ และความสามารถเฉพาะด้าน ผลจากความแตกต่างกันในด้านนี้ ทำให้ AEPW มีความแข็งแกร่ง สามารถจัดการกับปัญหาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญคือทำให้เกิดความยั่งยืนและมีเอกภาพในการจัดการปัญหาของพลาสติก ที่อยู่ผิดที่ผิดทางในสิ่งแวดล้อม”
จิม ซีวอร์ด อธิบายถึงแนวคิดหลักของการร่วมมือกันในครั้งนี้ที่จะทำให้การแก้ปัญหาขยะพลาสติกทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกเป็นจริงขึ้นได้ เพราะการร่วมมือกันจะทำให้ได้รับสองทรัพยากรที่สำคัญซึ่งได้แก่ เงินทุน และความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่หลากหลาย
ความตั้งใจหลักของ AEWP ข้อแรกคือการทำให้ทุกคนสามารถเข้าใจ ใช้งาน และทิ้งพลาสติกอย่างมีความรับผิดชอบได้ และสองคือผลักดันให้บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ง่ายต่อการรีไซเคิล ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว การออกแบบสิ่งเหล่านี้มักจะสนใจเพียงแค่การใช้งานและความสวยงามเท่านั้น ไม่เคยนึกถึงเรื่องเหล่านี้มาก่อน
แบรนดอน เอดเจอร์ตัน (Brendan Edgerton), Director of Circular Economy from World Business Council for Sustainable Development เสริมถึงประเด็นความร่วมมือว่า “ในปัจจุบัน หลายๆ บริษัทอาจได้มีส่วนร่วมในโครงการที่มีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดในสองสามปีที่ผ่านมาก็คือโครงการเหล่านี้ไม่เพียงพอ ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เท่าที่ควร หรืออาจไม่เร็วเท่าที่ควร และนั่นทำให้การร่วมมือกันสำคัญเป็นอย่างยิ่ง”
กลยุทธ์ 4 ด้าน วางรากฐานสู่การจัดการพลาสติกอย่างยั่งยืน
AEPW มีการทำงานอย่างเป็นระบบ ผลักดันโครงการที่เน้นผลสัมฤทธิ์ (Action-based Projects) และการเป็น Action Orientated Organization หรือการเป็นองค์กรที่โฟกัสการลงมือทำจริง โดยมีกระบวนการดำเนินงานที่วางอยู่บนรากฐากสำคัญ 4 ด้านอันได้แก่
1. Infrastructure การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน
สร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง และสามารถรองรับทุกขั้นตอนของวงจรชีวิตพลาสติกได้ ตั้งแต่การรวบรวมขยะ แยกประเภท และเปลี่ยนขยะเหล่านั้นให้กลับมามีประโยชน์อีกครั้ง
2. Innovation การพัฒนานวัตกรรม
ผลักดันและเร่งให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งมีความจำเป็นมากในกระบวนการจัดการขยะ เพราะนวัตกรรมคือสิ่งที่สำคัญมากที่หลายภูมิภาคยังคงขาดแคลน เนื่องจากต้องการการลงทุนซึ่งมีความเสี่ยงและต้องใช้เงินจำนวนมาก
3. Education and Engagement การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและความมีส่วนร่วม
เสริมความรู้และเข้าใจเรื่องการใช้และการทิ้งพลาสติกอย่างมีความรับผิดชอบ เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น และเข้าใจว่าจะแก้ไขอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ
4. Clean-up การฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทั้งหมด และมีความพร้อมที่จะเริ่มต้นแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านการลงมือทำโดยไม่รีรอตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของความสำเร็จในอนาคต
“สิ่งที่สำคัญคือความเข้าใจว่าทั้งสี่อย่างนี้สัมพันธ์กันอย่างไร หลายๆ อย่างคงจะเกิดขึ้นจริงไม่ได้ถ้าโครงสร้างพื้นฐานยังไม่พร้อม แต่ในขณะเดียวกัน หลังจากที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีแล้ว เราก็ต้องสร้างความรู้เกี่ยวกับการใช้พลาสติกด้วยเช่นกัน เราอาจมองเป็นขั้นตอนได้ว่าในช่วงไหนอะไรสำคัญที่สุด แต่ในท้ายที่สุดทั้งหมดคือสิ่งที่สำคัญที่จะพาเราไปให้ถึงเป้าหมาย” เครก บุคเฮิลซ์ (Craig Buchholz) Chief Communication Officer, Procter & Gamble หรือ P&G บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของโลก กล่าวถึงความสัมพันธ์ของรากฐานทั้งสี่ที่มีความสำคัญต่อกันและกันอย่างเป็นลำดับ
40 บริษัท 400 ไอเดีย และเงินทุน 1 พันล้านดอลลาร์ใน 8 เดือน
เป้าหมายที่สำคัญในอนาคตของ AEPW คือการตั้งเป้าลงทุนให้ได้ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 5 ปี เพื่อพัฒนาแนวทางการลดปริมาณและจัดการขยะพลาสติก รวมถึงส่งเสริมวิธีการหลังการใช้ ซึ่งหลังจากเปิดตัวครั้งแรกเมื่อต้นปี 2019 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันรวมระยะเวลาได้ประมาณแปดเดือน ภายในช่วงเวลาแปดเดือนนี้เกิดโครงการต่างๆ ซึ่งได้รับการอนุมัติและลงมือทำจริง และสามารถแก้ปัญหาขยะพลาสติกได้แล้วมากมาย
“สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจากการร่วมมือกันของ SCG, DOW คือมีการใช้เทคโนโลยีรีไซเคิลนำขยะพลาสติกผสมกับยางมะตอยมาทำเป็นถนน ล่าสุดได้จับมือกับ 7-Eleven ในการนำขยะพลาสติกมาทำถนนบริเวณหน้าร้าน 7-Eleven หลายสาขา ซึ่งถนนพลาสติกนี้เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาและเผยแพร่ให้กับพาร์ตเนอร์ของเราในอีกหลายประเทศทั่วโลก โครงการนี้สามารถรีไซเคิลขยะพลาสติกไปได้แล้วกว่า 200 ตัน ดังนั้นสิ่งที่เราให้ความสำคัญคือการไม่หวงเทคโนโลยี และทำให้ทุกคนเข้าถึงและใช้งานได้” จอน เพนไรซ์ (Jon Penrice), Asia Pacific President of Dow เล่าถึงหนึ่งในโครงการเด่นที่เกิดขึ้น
กว่า 40 บริษัทที่เข้าร่วม 400 ไอเดียของโครงการแก้ปัญหาขยะพลาสติก และจำนวนเงินในการลงทุนที่สูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เป้าหมายของการลงทุน 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอยู่ไม่ไกลนัก
อย่างไรก็ตาม จิม ซีวอร์ด เล่าว่าจำนวนเงินนี้ถือว่าน้อยมากในการแก้ปัญหานี้ให้สำเร็จ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือแนวคิดของการลงทุนเพื่อใช้เงินเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ถึงเงินจำนวนนี้จะไม่เพียงพอที่จะทำให้เราแก้ปัญหานี้ได้ แต่มันอาจเพียงพอที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าทั้งหมดนี้เป็นจริงได้ และสามารถดึงดูดเงินทุนอื่นๆ จากทุกอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันให้เข้ามาช่วยกันได้อย่างแน่นอน
ความร่วมมือคือทางออก ทุกบริษัทและทุกคน ตั้งแต่เอกชนไปจนถึงภาครัฐ
“กลุ่มสมาชิกของเราส่วนหนึ่งเป็นบริษัทใหญ่ แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งที่เป็นบริษัทท้องถิ่นเช่นเดียวกัน เพราะการจะหาทางออกให้กับปัญหาที่มีความซับซ้อน เราต้องการความเข้าใจ ความเชี่ยวชาญ และความรู้จากพื้นที่จริง ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับหลายๆ องค์กรใหญ่ที่จะเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้” อองตวน กรอนจ์ (Antoine Grange), CEO Recycling and Recovery, SUEZ Asia กล่าวถึงอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่จะทำให้การร่วมมือกันในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ
ทีน่า รอวิค (Tina Rorvik) Global Director of Circular Economy Chemicals Business, SCG พร้อมเสริมในประเด็นนี้ และเน้นย้ำว่าอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือความร่วมมือของภาครัฐ องค์กรส่วนท้องถิ่น และบริษัทภายในพื้นที่เช่นเดียวกัน
“รัฐบาลหรือองค์กรส่วนท้องถิ่นเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จ มีบางโครงการที่เราต้องเข้าไปเคาะประตูทุกบ้านเพื่อขอขยะพลาสติกจากพวกเขา หรือเข้าไปหาห้างสรรพสินค้าเพื่อพูดคุยและขอความร่วมมือบางอย่าง เพราะฉะนั้นการร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่นสำคัญมาก เราต้องการทำให้เกิดโครงสร้างแบบ โครงการ PPP (Public Private Partnership) หรือการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลและเอกชน เราอยากให้หลายๆ คนที่ได้รับข่าวนี้ติดต่อเข้ามา เพราะถ้าเราไม่ได้รับความร่วมมือจากองค์กรภายในพื้นที่จริงๆ เราจะไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้”
งานเสวนา ‘A New Cross-Value Chain Synergy to Remove Plastic Waste from the Environment’ ภายใต้หัวข้อ ‘To End Plastic Waste: Why Cross-Value Chain Collaboration is Key?’ ครั้งสำคัญนี้ เกิดขึ้นได้ภายใต้ความร่วมมือกันของพาร์ตเนอร์ผู้จัดงานอย่าง SCG, Dow Thailand และ SUEZ ซึ่งต่างก็เป็นหนึ่งในบริษัทสมาชิกของ AEPW
ความร่วมมือกันของทั้งสามบริษัทในเครือห่วงโซ่อุตสาหกรรมพลาสติกนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นจุดประกายความหวังของความร่วมมือกันที่จะทำให้การแก้ปัญหาขยะพลาสติกเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือบริษัททั้งสามรายนี้เห็นตรงกันเป็นอย่างยิ่งว่า “การร่วมมือกันของทุกบริษัทที่มีส่วนได้ส่วนเสีย คือทางเดียวที่จะสามารถแก้ปัญหาขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน”
หากบริษัทหรือองค์กรใดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเครือห่วงโซ่ขยะพลาสติก สามารถเข้าร่วมเป็นหนึ่งใน Alliance to End Plastic Waste ได้โดยผ่านการสมัครเข้าร่วม หรือส่งไอเดียของโครงการในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.endplasticwaste.org
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์